ฉบับสำเนาโบราณจะรู้อายุได้อย่างไร?
ฉบับสำเนาโบราณจะรู้อายุได้อย่างไร?
ในปี 1844 คอนสแตนติน ฟอน ทิเชินดอร์ฟ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลได้ไปที่อารามเซนต์ แคเทอรีน ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาไซนายในอียิปต์. เขาได้เที่ยวค้นตามห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วอารามนั้น. ที่อาราม เขาได้พบแผ่นหนังที่สำคัญยิ่งจำนวนหนึ่ง. เนื่องจากเป็นนักศึกษาด้านอักขระโบราณ * ทิเชินดอร์ฟรู้ว่าแผ่นหนังเหล่านั้นมาจากฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษากรีกของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู หรือ “พันธสัญญาเดิม.” เขาเขียนว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นอะไรที่จะถือได้ว่าเก่าแก่ยิ่งไปกว่าแผ่นหนังแห่งภูเขาไซนายเหล่านี้อีกแล้ว.”
แผ่นหนังเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของฉบับสำเนาที่รู้จักกันในภายหลังว่า ฉบับสำเนาแห่งไซนาย (โคเดกซ์ไซนายติคุส) ซึ่งมีการระบุว่าเขียนขึ้นในศตวรรษที่สี่. ฉบับสำเนานี้เป็นเพียงสำเนาโบราณที่คัดลอกด้วยมือหนึ่งในหลายพันฉบับของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและภาษากรีก ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งสำหรับการศึกษาค้นคว้าที่ใหญ่โตของพวกผู้คงแก่เรียน.
ความเป็นมาของการศึกษาด้านอักขระกรีกโบราณ
บาทหลวงแห่งคณะเบเนดิกทิน เบอร์นาร์ด เดอ มองโฟกง (ปี 1655-1741) ได้วางพื้นฐานไว้สำหรับการศึกษาฉบับสำเนาภาษากรีกอย่างเป็นระบบ. ต่อมา ผู้คงแก่เรียนคนอื่น ๆ ก็ได้เพิ่มงานศึกษาค้นคว้าของตนเข้าไปอีก. ทิเชินดอร์ฟทำงานหนักมากในการรวบรวมรายชื่อฉบับสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดตามหอสมุดต่าง ๆ ในยุโรป. นอกจากนี้ เขายังเดินทางไปตะวันออกกลางหลายรอบเพื่อศึกษาเอกสารนับร้อยชิ้น และตีพิมพ์งานศึกษาค้นคว้าของเขา.
ในศตวรรษที่ 20 มีเครื่องมือเพิ่มเติมอีกสำหรับนักศึกษาด้านอักขระโบราณ. เครื่องมือชิ้นหนึ่งคือรายชื่อที่มาร์เซล ริชาร์ด ได้รวบรวมขึ้น. ในรายชื่อนี้ได้แสดงบัญชีรายชื่อประมาณ 900 บัญชี ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับฉบับสำเนาภาษากรีก 55,000 ฉบับทั้งที่เป็นคัมภีร์ไบเบิลและไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิล และฉบับสำเนาเหล่านี้เป็นของห้องสมุดหรือของเอกชน 820 ราย. ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ช่วยบรรดาผู้แปลและช่วยนักศึกษาด้านการเขียนอักขระโบราณให้สามารถระบุปีที่เขียนฉบับสำเนาต่าง ๆ ได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น.
จะรู้อายุของฉบับสำเนาได้อย่างไร?
ลองนึกภาพว่าคุณกำลังทำความสะอาดห้องใต้หลังคาบ้านเก่า ๆ หลังหนึ่ง แล้วคุณก็พบจดหมายที่เขียนโดยไม่ลงวันที่ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าจนกลายเป็นสีเหลือง. คุณนึกสงสัยว่า ‘จดหมายฉบับนี้มีอายุเท่าไร?’ แล้วคุณก็พบจดหมายอีกฉบับหนึ่ง. ลักษณะโดยทั่วไป, การเขียน, เครื่องหมายวรรคตอน,
และลักษณะอื่น ๆ ดูคล้ายกับจดหมายฉบับแรก. แต่ที่ทำให้คุณดีใจอย่างมากก็คือ จดหมายฉบับที่สองลงวันที่ไว้. แม้ว่าคุณไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าจดหมายฉบับแรกเขียนขึ้นปีไหน แต่ตอนนี้คุณก็มีเครื่องช่วยที่เป็นประโยชน์เพื่อประเมินว่าจดหมายฉบับที่ไม่ได้ลงวันที่นั้นเขียนขึ้นในช่วงเวลาใด.นักคัดลอกพระคัมภีร์ในสมัยโบราณส่วนใหญ่ไม่ได้ลงวันที่ที่คัดลอกเสร็จไว้ในฉบับสำเนาพระคัมภีร์ของพวกเขา. เพื่อจะรู้ปีที่เขียนได้ ผู้คงแก่เรียนจะเปรียบเทียบฉบับสำเนาเหล่านั้นกับงานเขียนอื่น ๆ รวมทั้งเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลซึ่งรู้ปีที่เขียนแล้ว จากนั้นก็ลงความเห็นโดยพิจารณาลักษณะการเขียน, เครื่องหมายวรรคตอน, อักษรย่อ, และอื่น ๆ ประกอบกัน. อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบฉบับสำเนาพระคัมภีร์หลายร้อยฉบับที่ระบุวันที่ที่เขียนเอาไว้. ฉบับสำเนาเหล่านี้ถูกคัดลอกด้วยมือเป็นภาษากรีกและเขียนขึ้นตั้งแต่ประมาณปี ส.ศ. 510 ไปจนถึงปี ส.ศ. 1593.
แกะรอยจากลักษณะการเขียน
นักศึกษาด้านอักขระโบราณแบ่งลักษณะการเขียนภาษากรีกโบราณออกเป็นประเภทหลัก ๆ สองประเภทคือตัวอักษรใหญ่ ซึ่งดูงดงามและเป็นทางการ กับตัวเขียน ซึ่งเป็นการเขียนตัวอักษรแบบต่อเนื่องกัน. การเขียนแบบนี้มักใช้กับงานเขียนที่ไม่ใช่วรรณกรรม. นอกจากนี้ นักคัดลอกภาษา
กรีกยังใช้ตัวอักษรหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจจำแนกเป็นแบบต่าง ๆ ได้อย่างเช่น ตัวอักษรใหญ่, ตัวอักษรแบบอันเชียล (ตัวอักษรใหญ่แบบหนึ่ง), ตัวเขียน, และตัวอักษรแบบเล็ก. การเขียนที่ใช้ตัวอักษรแบบอันเชียล ซึ่งเป็นตัวอักษรใหญ่แบบหนึ่งนั้นได้ใช้กันตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ก่อน ส.ศ. จนถึงศตวรรษที่แปดหรือเก้า ส.ศ. ส่วนงานเขียนที่ใช้ตัวอักษรแบบเล็ก ซึ่งเป็นตัวอักษรเล็กแบบหนึ่งก็ใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 หรือศตวรรษที่ 9 ส.ศ. จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 15 เมื่อเริ่มมีการใช้แท่นพิมพ์ระบบตัวเรียงพิมพ์ในยุโรป. ตัวอักษรแบบเล็กเขียนได้เร็วกว่าและใช้เนื้อที่น้อยกว่า ซึ่งประหยัดเวลาและแผ่นหนังด้วย.นักศึกษาด้านอักขระโบราณมีวิธีระบุอายุของสำเนาพระคัมภีร์ในแบบที่ตัวเองชอบ. โดยทั่วไปแล้ว ทีแรกพวกเขาจะดูสำเนานั้นคร่าว ๆ ก่อน คือดูจากมุมกว้าง แล้วก็ค่อย ๆ ดูละเอียดขึ้น โดยพินิจพิเคราะห์ตัวอักษรแต่ละตัว. เนื่องจากโดยปกติแล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ เกิดขึ้นในลักษณะการเขียนทั่วไป การตรวจฉบับสำเนาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแม้จะเป็นประโยชน์ แต่ก็บอกช่วงเวลาที่เขียนได้แค่คร่าว ๆ เท่านั้น.
น่ายินดีที่มีวิธีอื่นอีกที่ช่วยระบุอายุได้แน่นอนกว่านั้น. วิธีเหล่านี้รวมถึงการระบุและการหาเวลาที่มีการเริ่มนำวิธีการบางอย่างมาใช้ในการเขียน. เพื่อเป็นตัวอย่าง ในข้อความภาษากรีกหลังปี ส.ศ. 900 พวกนักคัดลอกเริ่มใช้วิธีเขียนแบบเชื่อมตัวอักษร (เขียนติดกันสองสามตัวหรือมากกว่านั้น). นอกจากนี้ นักคัดลอกยังเริ่มนำการเขียนแบบใต้บรรทัด (เขียนตัวอักษรกรีกบางตัวใต้เส้นบรรทัด) มาใช้ รวมทั้งเครื่องหมายที่ช่วยในการออกเสียงซึ่งเรียกว่าตัวกำหนดการหายใจ.
ลายมือของคนเรามักจะไม่เปลี่ยนตลอดอายุของเขา. ฉะนั้น การระบุปีที่เขียนจึงมักจะไม่สามารถเจาะจงให้แคบกว่า 50 ปีได้. ยิ่งกว่านั้น บางครั้งนักคัดลอกใช้ฉบับสำเนาที่เขียนขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นต้นแบบ ทำให้สำเนาที่เขาคัดลอกดูมีอายุมากกว่าอายุของมัน. ทั้ง ๆ ที่มีข้อท้าทายมากมาย แต่ก็มีการระบุปีที่เขียนฉบับสำเนาพระคัมภีร์สำคัญ ๆ หลายฉบับแล้ว.
การระบุอายุฉบับสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกที่สำคัญ ๆ
ฉบับสำเนาอะเล็กซานดรีน (โคเดกซ์อะเล็กซานดรินุส) ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งบริเตน เป็นฉบับสำเนาคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่สำคัญฉบับแรกที่ผู้คงแก่เรียนสามารถศึกษา *
ได้. ฉบับสำเนานี้มีข้อความในคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่และเขียนด้วยอักษรกรีกแบบอันเชียลบนแผ่นหนังเนื้อบาง. มีการระบุว่าโคเดกซ์นี้เขียนขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ห้า ส.ศ. ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเขียนแบบอันเชียลระหว่างศตวรรษที่ห้าและหก ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือหนังสือที่ลงวันที่ไว้ที่ชื่อ ดิโอสโกรีดิส ออฟ เวียนนา.สำเนาพระคัมภีร์ฉบับสำคัญฉบับที่สองที่ผู้คงแก่เรียนสามารถศึกษาได้คือ ฉบับสำเนาแห่งไซนาย (โคเดกซ์ไซนายติคุส) ซึ่งทิเชินดอร์ฟได้มาจากอารามเซนต์ แคเทอรีน. ฉบับสำเนาที่เขียนบนแผ่นหนังเป็นตัวอักษรกรีกแบบอันเชียลนี้มีส่วนของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูจากฉบับกรีกเซปตัวจินต์ รวมทั้งพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกทั้งเล่มด้วย. ในโคเดกซ์นี้ มี 43 แผ่นเก็บรักษาไว้ที่เมืองไลพ์ซิก เยอรมนี, 347 แผ่นเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งบริเตนในกรุงลอนดอน, และอีก 3 แผ่นเก็บไว้ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย. ฉบับสำเนานี้มีการระบุว่าเขียนในช่วงปลายของศตวรรษที่สี่ ส.ศ. อายุของสำเนานี้ได้รับการสนับสนุนโดยตารางริมหน้ากระดาษในกิตติคุณซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าคิดค้นขึ้นโดยยูเซบิอุสแห่งซีซาเรีย นักประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่สี่. *
สำเนาที่สำคัญฉบับที่สามคือ ฉบับสำเนาวาติกันหมายเลข 1209 (โคเดกซ์วาติกานุส) ซึ่งเดิมทีมีคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มเป็นภาษากรีก. โคเดกซ์นี้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของหอสมุดวาติกันเป็นครั้งแรกในปี 1475. สำเนานี้เขียนด้วยตัวอักษรกรีกแบบอันเชียลบนแผ่นหนังเนื้อดี 759 แผ่น โคเดกซ์นี้มีข้อความของคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่ เว้นแต่เพียงเยเนซิศเกือบทั้งหมด, ส่วนหนึ่งของบทเพลงสรรเสริญ, และบางส่วนของคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. ผู้คงแก่เรียนได้ระบุว่าสำเนาฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นราวต้นของศตวรรษที่สี่. พวกเขาสรุปเช่นนั้นได้อย่างไร? ลักษณะการเขียนนี้คล้ายกับสำเนาแห่งไซนายซึ่งมาจากศตวรรษที่สี่เช่นกัน. แต่โดยทั่วไปแล้วฉบับสำเนาแห่งวาติกันถูกมองว่ามีอายุมากกว่าเล็กน้อย. เรื่องนี้มีเหตุผลหลายข้อ เพื่อเป็นตัวอย่าง สำเนาฉบับนี้ไม่มีข้ออ้างอิงที่โยงไปถึงข้อคัมภีร์อื่น ๆ แบบสารบบพระคัมภีร์ของยูเซบิอุส.
สมบัติล้ำค่าจากกองขยะ
ในปี 1920 หอสมุดจอห์น ไรแลนด์ส ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้รับพาไพรัสกองใหญ่ซึ่งเพิ่งค้นพบจากกองขยะของชาวอียิปต์สมัยโบราณ. ขณะที่กำลังตรวจดูสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งจดหมาย, ใบเสร็จรับเงิน, เอกสารการสำรวจจำนวนประชากร โคลิน โรเบิตส์ ผู้คงแก่เรียนก็ได้เห็นชิ้นส่วนหนึ่งซึ่งมีข้อคัมภีร์เขียนอยู่ เขาจำได้ว่านั่นเป็นส่วนของคัมภีร์บางข้อจากโยฮัน บท 18. ชิ้นส่วนนั้นเป็นข้อความของคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งรู้จักกันในเวลานั้น.
ชิ้นส่วนนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อจอห์น ไรแลนด์ส พาไพรัส 457 ชื่อที่นานาชาติเรียกกันก็คือ P52. ชิ้นส่วนนี้เขียนด้วยตัวอักษรกรีกแบบอันเชียล และมีการระบุว่าเขียนขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่สอง—ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากมีการเขียนต้นฉบับกิตติคุณของโยฮัน! ที่น่าสังเกตคือ ข้อความเหล่านั้นแทบจะเหมือนกันเลยกับข้อความที่มีอยู่ในฉบับสำเนาส่วนใหญ่ที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นเป็นเวลานาน.
เก่าแก่แต่ถูกต้องแม่นยำ!
เซอร์ เฟรเดอริก เคนยอน นักวิจารณ์ข้อความพระคัมภีร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือคัมภีร์ไบเบิลและโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) เกี่ยวกับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกว่า “ทั้งความเชื่อถือได้ และความถูกต้องตามต้นฉบับโดยทั่วไป ของพระธรรมเล่มต่าง ๆ ในพันธสัญญาใหม่อาจถือว่าได้รับการพิสูจน์แล้วในที่สุด.” คล้ายกัน ผู้คงแก่เรียนที่ชื่อวิลเลียม เอช. กรีน ได้กล่าวถึงเรื่องความเชื่อถือได้ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูว่า “อาจกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ไม่มีผลงานยุคโบราณอื่นใดที่มีการถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้องแม่นยำเช่นนี้.”
ข้อสังเกตเหล่านั้นทำให้นึกถึงถ้อยคำของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “มนุษย์ทั้งสิ้นเป็นเหมือนต้นหญ้า และความรุ่งเรืองของมนุษย์เป็นเหมือนดอกหญ้า ต้นหญ้าเหี่ยวแห้งไป และดอกก็ร่วงโรยไป แต่คำตรัสของพระยะโฮวาดำรงอยู่เป็นนิตย์.”—1 เปโตร 1:24, 25.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 “ศาสตร์ว่าด้วยอักขระโบราณ . . . ก็คือการศึกษาเรื่องการเขียนตัวอักขระในยุคโบราณและยุคกลาง. ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการศึกษาข้อความที่เขียนบนวัสดุที่เปื่อยสลายได้อย่างเช่น พาไพรัส, แผ่นหนัง, หรือกระดาษ.”—สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก.
^ วรรค 16 ดิโอสโกรีดิส ออฟ เวียนนา เขียนขึ้นเป็นพิเศษเพื่อจูเลียนา อานีเซีย ซึ่งเสียชีวิตในปี ส.ศ. 527 หรือไม่ก็ปี ส.ศ. 528. หนังสือนี้เป็น “ตัวอย่างเก่าแก่ที่สุดของตัวอักษรแบบอันเชียลที่เขียนบนแผ่นหนัง ซึ่งสามารถบอกปีที่เขียนโดยประมาณได้.”—หนังสือแนะนำวิธีเขียนตัวอักขระกรีกและลาตินโบราณ (ภาษาอังกฤษ) โดยอี. เอ็ม. ทอมป์สัน.
^ วรรค 17 ที่เรียกกันว่าสารบบพระคัมภีร์ของยูเซบิอุส ก็คือตารางหรือระบบอ้างอิงซึ่งโยงไปถึงข้อคัมภีร์อื่น ๆ “เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อความไหนในกิตติคุณแต่ละเล่มที่คล้ายกับข้อความในกิตติคุณเล่มอื่น.”—สำเนาของพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก (ภาษาอังกฤษ) โดย บรูซ เอ็ม. เมตซ์เกอร์.
[คำโปรยหน้า 21]
โดยการตรวจดูฉบับสำเนาที่มีการลงวันที่ไว้อย่างละเอียด นักศึกษาด้านอักขระโบราณสามารถบอกอายุของงานเขียนที่ไม่มีการระบุปีที่เขียนไว้
[กรอบหน้า 20]
การระบุอายุของม้วนหนังสือทะเลตาย
ม้วนหนังสือทะเลตายม้วนแรกของพระธรรมยะซายาที่ค้นพบเมื่อปี 1947 นั้นเขียนบนแผ่นหนังด้วยตัวอักษรฮีบรูแบบก่อนสมัยของพวกมาโซเรต. มีการระบุว่าม้วนหนังสือดังกล่าวเขียนขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ. พวกผู้คงแก่เรียนลงความเห็นเช่นนั้นได้อย่างไร? พวกเขาเปรียบเทียบงานเขียนนี้กับข้อความและคำจารึกอื่น ๆ ที่เป็นภาษาฮีบรู และระบุอายุของม้วนหนังสือนั้นตามหลักวิชาอักขระโบราณไว้ว่าอยู่ระหว่างปี 125 ก่อน ส.ศ. ถึงปี 100 ก่อน ส.ศ. การตรวจสอบอายุของม้วนหนังสือดังกล่าวโดยใช้คาร์บอน-14 ทำให้มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้น.
น่าทึ่ง การเปรียบเทียบม้วนหนังสือทะเลตายกับฉบับสำเนามาโซเรต ซึ่งนักคัดลอกพระคัมภีร์ที่เรียกว่าพวกมาโซเรตได้ทำขึ้นในอีกหลายศตวรรษต่อมานั้นแสดงให้เห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องหลักคำสอนเลย. * ข้อแตกต่างหลายอย่างก็มีแค่เรื่องการสะกดและไวยากรณ์เท่านั้น. นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ มีการใช้เททรากรัมมาทอน ซึ่งเป็นอักษรฮีบรูสี่ตัวที่ประกอบกันเป็นพระนามของพระยะโฮวาอย่างเสมอต้นเสมอปลายในม้วนหนังสือยะซายา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 34 พวกมาโซเรต ซึ่งเป็นนักคัดลอกพระคัมภีร์ชาวยิวที่เข้มงวดและพิถีพิถัน มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาประมาณปี ส.ศ. 500 ถึงปี ส.ศ. 1000.
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 20, 21]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
การเขียนภาษากรีก
ตัวอักษรใหญ่ (อันเชียล)
จากศตวรรษที่ 4 ก่อน ส.ศ. ถึงศตวรรษที่ 8 หรือ 9 ส.ศ.
ตัวอักษรแบบเล็ก
จากศตวรรษที่ 8 หรือ 9 ส.ศ. ถึงศตวรรษที่ 15 ส.ศ.
ฉบับสำเนาที่สำคัญ
400
200
ม้วนหนังสือทะเลตาย
ปลายศตวรรษที่ 2 ก่อน ส.ศ.
ก่อน ส.ศ.
ส.ศ.
100
จอห์น ไรแลนด์ส พาไพรัส 457
ปี ส.ศ. 125
300
ฉบับสำเนาวาติกัน หมายเลข 1209
ต้นศตวรรษที่ 4
ฉบับสำเนาแห่งไซนาย
ศตวรรษที่ 4
400
ฉบับสำเนาอะเล็กซานดรีน
ต้นศตวรรษที่ 5
500
700
800
[ภาพหน้า 19]
บน: คอนสแตนติน ฟอน ทิเชินดอร์ฟ
ขวา: เบอร์นาร์ด เดอ มองโฟกง
[ที่มาของภาพ]
© Réunion des Musées Nationaux/ Art Resource, NY
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Dead Sea Scroll: Shrine of the Book, Israel Museum, Jerusalem
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Typographical facsimile of Vatican Manuscript No. 1209: From the book Bibliorum Sacrorum Graecus Codex Vaticanus, 1868; Reproduction of Sinaitic Manuscript: 1 Timothy 3:16, as it appears in the Codex Sinaiticus, 4th century C.E.; Alexandrine Manuscript: From The Codex Alexandrinus in Reduced Photographic Facsimile, 1909, by permission of the British Library