พระเจ้าให้อภัยบาปที่ร้ายแรงไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
พระเจ้าให้อภัยบาปที่ร้ายแรงไหม?
ความเมตตาเป็นคุณลักษณะเด่นที่สุดประการหนึ่งของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 86:15) พระทัยเมตตาของพระองค์แผ่กว้างไกลเพียงใด? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจารึกไว้ดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ถ้าหากพระองค์จะทรงจดจำการอสัตย์อธรรมทั้งหมดไว้, ใครจะทนไหว? แต่พระองค์ทรงมีการอภัยโทษ, ประสงค์จะให้เขาทั้งหลายเกรงกลัวพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 130:3, 4) อีกตอนหนึ่งอ่านว่า “ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด, พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น. บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด, พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น. เพราะพระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.”—บทเพลงสรรเสริญ 103:12-14.
เห็นได้ชัดว่า ด้วยพระทัยเมตตา พระยะโฮวาโปรดอภัยโทษอย่างครบถ้วนเต็มที่ และทรงคำนึงถึงขีดจำกัดและความไม่สมบูรณ์ของเราว่าเราเป็นแค่ “ผงคลีดิน.” ขอพิจารณาบางตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเปิดเผยขอบเขตความเมตตาของพระเจ้า.
อัครสาวกเปโตรได้ปฏิเสธพระคริสต์ถึงสามครั้ง. (มาระโก 14:66-72) ส่วนอัครสาวกเปาโลได้ข่มเหงบรรดาสาวกของพระคริสต์ตอนที่ท่านยังไม่มีความเชื่อ. เมื่อสาวกบางคนจะถูกฆ่า เปาโลก็ออกเสียงสนับสนุน. ท่านถึงกับเห็นชอบกับการฆ่าสาวกคนหนึ่ง. (กิจการ 8:1, 3; 9:1, 2, 11; 26:10, 11; กาลาเทีย 1:13) ก่อนเข้ามาเป็นคริสเตียน สมาชิกบางคนในประชาคมโครินท์เคยเป็นคนขี้เมา, คนกรรโชกทรัพย์, และเป็นขโมย. (1 โครินท์ 6:9-11) ถึงกระนั้น คนเหล่านี้ทั้งหมดในที่สุดก็ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. พระเจ้าทรงอภัยโทษพวกเขาเพราะเหตุใด?
สามขั้นตอนที่จะได้รับความเมตตาจากพระเจ้า
เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าก็ได้รับพระเมตตา เพราะเมื่อก่อนข้าพเจ้าไม่รู้และทำไป เพราะยังไม่มีความเชื่อ.” (1 ติโมเธียว 1:13) คำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาของท่านทำให้เรารู้ขั้นตอนแรก ที่จำเป็นเพื่อจะได้ รับการอภัยโทษจากพระเจ้า—การกำจัดความโง่เขลาโดยการรับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระยะโฮวาและมาตรฐานของพระองค์ตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) แน่นอน เราจะไม่สามารถทำให้พระผู้สร้างพอพระทัยถ้าเราไม่รู้จักพระองค์ดีพอ. พระเยซูตรัสในคำอธิษฐานถึงพระบิดาว่า “พวกเขาจะมีชีวิตนิรันดร์ ถ้าพวกเขารับความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือเยซูคริสต์.”—โยฮัน 17:3.
เมื่อบุคคลที่มีหัวใจสุจริตเข้าถึงความรู้ดังกล่าวแล้ว เขารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการทำผิดพลาดในอดีต และข้อนี้เองกระตุ้นเขาให้กลับใจ. นั่นคือขั้นตอนที่สอง เพื่อจะรับการอภัยจากพระเจ้า. ดังที่บอกไว้ในกิจการ 3:19 ว่า “ฉะนั้น จงกลับใจและเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อบาปของพวกท่านจะถูกลบล้าง.”
ข้อคัมภีร์นี้บอกขั้นตอนที่สาม ด้วย นั่นคือการเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือการหันกลับ. ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตหมายถึงผู้นั้นต้องละทิ้งรูปแบบชีวิตและเจตคติเดิม ๆ ของตนแล้วรับเอามาตรฐานของพระเจ้ารวมถึงเจตคติของพระองค์. (กิจการ 26:20) พูดง่าย ๆ การที่เขาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่แสดงว่าเขาหมายความอย่างที่พูดจริง ๆ เมื่อเขาทูลพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเสียใจ.”
การอภัยโทษจากพระเจ้ามีขอบเขต
บางคนไม่ได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้า. เปาโลเขียนดังนี้: “ถ้าเราจงใจทำบาปเป็นอาจิณหลังจากได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริงแล้ว จะไม่มีเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปให้อีกต่อไป แต่จะมีการพิพากษาอันน่ากลัวรออยู่.” (ฮีบรู 10:26, 27) สำนวน “จงใจทำ บาปเป็นอาจิณ” ชวนให้นึกถึงอุปนิสัยชั่วที่ฝังรากลึก หรือใจชั่วอย่างแท้จริง.
ยูดาอิสการิโอตได้พัฒนาหัวใจอย่างนั้น. พระเยซูตรัสว่า “ถ้าคนนั้นไม่ได้เกิดมาก็ดีกว่า.” (มัดธาย 26:24, 25) และพระเยซูทรงกล่าวถึงผู้นำทางศาสนาบางคนสมัยนั้นว่า “พวกเจ้ามาจากมารซึ่งเป็นพ่อของเจ้า . . . เมื่อพูดมุสา มันก็พูดตามสันดานของมัน เพราะมันเป็นผู้พูดมุสาและเป็นพ่อของการพูดมุสา.” (โยฮัน 8:44) คนเหล่านั้นก็ชั่วในนิสัยที่ฝังลึกเหมือนซาตาน. เขาไม่เสียใจสำนึกผิดในสิ่งที่ทำไปแต่กลับแข็งกระด้างยิ่งขึ้นในแนวทางชั่วของตน. * เป็นความจริงที่ว่าเนื่องจากความไม่สมบูรณ์และอ่อนแอ แม้แต่คริสเตียนแท้ก็ยังทำบาป และบางครั้งเป็นบาปร้ายแรง. แต่การพลาดผิดของเขาไม่ได้เกิดจากสันดานชั่ว.—กาลาเทีย 6:1.
ทรงเมตตากระทั่งสิ้นพระชนม์
พระยะโฮวาทรงสังเกตไม่เพียงแต่บาปเท่านั้น แต่สังเกตเจตคติของผู้กระทำบาปด้วย. (ยะซายา 1:16-19) โปรดไตร่ตรองสักหน่อยในเรื่องของอาชญากรสองคนที่ถูกตรึงอยู่ข้างพระเยซู. ปรากฏว่าทั้งสองคนได้กระทำความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง เพราะหนึ่งในสองคนนั้นยอมรับดังนี้: “พวกเรากำลังรับโทษที่สาสมกับสิ่งที่พวกเราได้ทำ แต่ท่านผู้นี้ [พระเยซู] ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย.” คำพูดของผู้ร้ายแสดงว่าเขารู้บางสิ่งเกี่ยวกับพระเยซู. และการรู้เช่นนั้นคงจะนำสู่การเปลี่ยนทัศนะไปในทางที่ดี. คำพูดต่อจากนั้นบ่งชี้ว่า เมื่อเขาอ้อนวอนพระเยซู “ขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าเมื่อพระองค์เป็นกษัตริย์.” พระคริสต์ทรงตอบรับคำขอร้องที่จริงใจนั้นอย่างไร? พระองค์ตรัสว่า “ในวันนี้ เราบอกเจ้าตามจริงว่า เจ้าจะอยู่กับเราในอุทยานเป็นแน่.”—ลูกา 23:41-43.
ขอให้คิดถึงเหตุการณ์ตอนนั้น: คำพูดท้าย ๆ ของพระองค์ขณะเป็นมนุษย์ก็ยังเป็นถ้อยคำที่แสดงความเมตตาต่อชายที่ยอมรับว่าตัวเองสมควรถูกลงโทษให้ตาย. ช่างเป็นการชูใจสักเพียงใด! ดังนั้น เราย่อมแน่ใจได้ว่าทั้งพระเยซูคริสต์และพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์จะทรงเมตตาบรรดาผู้ที่กลับใจจริง ๆ ไม่ว่าการกระทำของเขาในอดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม.—โรม 4:7.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 โปรดดูบทความเรื่อง “คุณได้ทำบาปต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ไหม?” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 2007 หน้า 16-20.
คุณเคยสงสัยไหม?
▪ คุณจะพรรณนาความเมตตาของพระเจ้าอย่างไร?—บทเพลงสรรเสริญ 103:12-14; 130:3, 4.
▪ มีขั้นตอนอะไรบ้างที่คนเราต้องทำเพื่อได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า?—โยฮัน 17:3; กิจการ 3:19.
▪ พระเยซูทรงสัญญาอะไรกับผู้ร้ายที่ถูกตรึง?—ลูกา 23:43.
[ภาพหน้า 10]
พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่าบาปร้ายแรงก็สามารถได้รับการอภัย