ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน”

“เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน”

“เมื่อ​กลางวัน​กลาย​เป็น​กลางคืน”

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​เบนิน

“คน​นับ​ล้าน​ตะลึง​กับ​สุริยุปราคา!” หนังสือ​พิมพ์​เดลี กราฟิก ใน​กานา ประโคม​ข่าว​ขึ้น​พาด​หัว​เช่น​นั้น​หนึ่ง​วัน​หลัง​จาก​ที่​เกิด​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ใน​วัน​ที่ 29 มีนาคม 2006. สุริยุปราคา​ซึ่ง​เห็น​ได้​ที่​แรก​ทาง​ตะวัน​ออก​สุด​ของ​บราซิล​นั้น พาด​ผ่าน​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ด้วย​ความ​เร็ว​ประมาณ 1,600 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง​ไป​ถึง​ประเทศ​แถบ​ชายฝั่ง​ทะเล เช่น กานา, โตโก, และ​เบนิน​โดย​เริ่ม​ตั้ง​แต่​เวลา​ประมาณ 8 นาฬิกา​ใน​ตอน​เช้า. ประเทศ​ทาง​แถบ​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​เหล่า​นี้​คาด​หวัง​ว่า​จะ​ได้​เห็น​อะไร​บ้าง?

สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ครั้ง​สุด​ท้าย​ที่​คน​ใน​ประเทศ​กานา​ได้​เห็น​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1947. เตโอดอร์ ซึ่ง​ตอน​นั้น​อายุ 27 ปี​เล่า​ว่า “หลาย​คน​ที่​อยู่​ใน​สมัย​นั้น​ไม่​เคย​เห็น​สุริยุปราคา​มา​ก่อน ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ไม่​รู้​เลย​ว่า​กำลัง​เกิด​อะไร​ขึ้น. ด้วย​เหตุ​นี้ ผู้​คน​จึง​พรรณนา​ปรากฏการณ์​ครั้ง​นั้น​ว่า ‘เมื่อ​กลางวัน​กลาย​เป็น​กลางคืน.’”

รณรงค์​ให้​รู้​กัน​ถ้วน​หน้า

พวก​เจ้าหน้าที่​เริ่ม​ทำ​การ​รณรงค์​ไป​ทั่ว​เพื่อ​เตือน​ประชาชน​ให้​รู้​ถึง​อันตราย​ที่​เกิด​จาก​การ​มอง​ดู​ดวง​อาทิตย์​ด้วย​ตา​เปล่า​ระหว่าง​ที่​เกิด​สุริยุปราคา. ป้าย​โปสเตอร์​ต่าง ๆ ที่​สะดุด​ตา​ใน​โตโก​เตือน​ว่า “จง​ป้องกัน​ตา​ให้​ดี! คุณ​อาจ​ตา​บอด​ได้!”

เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​เน้น​ย้ำ​สอง​ทาง​เลือก​คือ หนึ่ง ให้​ประชาชน​อยู่​ภาย​ใน​บ้าน และ​ดู​ปรากฏการณ์​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​นี้​ทาง​โทรทัศน์. สอง ถ้า​อยู่​นอก​บ้าน ควร​สวม​แว่น​ที่​ออก​แบบ​มา​โดย​เฉพาะ​สำหรับ​ดู​สุริยุปราคา. หลาย​ล้าน​คน​เฝ้า​อยู่​หน้า​จอ​โทรทัศน์​และ​จอ​คอมพิวเตอร์​เพื่อ​จะ​ได้​เห็น​ภาพ​ที่​น่า​ประทับใจ​นี้​ด้วย​ตัว​เอง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หน้า​จอ​เหล่า​นั้น​ไม่​มี​ทาง​ที่​จะ​จับ​ภาพ​บรรยากาศ​อัน​น่า​ตื่นเต้น​ที่​เกิด​จาก​ความ​กระหาย​ใคร่​รู้​และ​ความ​โกลาหล​วุ่นวาย​ใน​ช่วง​ก่อน​และ​ระหว่าง​ที่​เกิด​สุริยุปราคา​ได้. ให้​เรา​นึก​ภาพ​ย้อน​ดู​เหตุ​การณ์​นั้น​ด้วย​กัน.

ความ​คาด​หวัง​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ

โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว เช้า​วัน​นี้​ก็​ดู​ปกติ​เหมือน​กับ​วัน​อื่น ๆ ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ตก คือ​มี​แสง​แดด​จัด​และ​ท้องฟ้า​โปร่ง. สุริยุปราคา​จะ​เกิด​ขึ้น​จริง ๆ ไหม? ขณะ​ที่​นาฬิกา​เดิน​ไป​จน​จวน​จะ​ถึง​เวลา​ที่​มี​การ​ประกาศ​ไว้​ว่า​จะ​เริ่ม​เกิด​สุริยุปราคา คน​ที่​อยู่​นอก​บ้าน​ก็​สวม​แว่นตา​แล้ว​แหงน​หน้า​ขึ้น​ไป​ดู​ท้องฟ้า. บาง​คน​ใช้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​โทร​ไป​ถาม​เพื่อน​ฝูง​ที่​อยู่​ใน​เขต​อื่น​ว่า​พวก​เขา​เห็น​อะไร​กัน​บ้าง.

เหนือ​ผู้​สังเกตการณ์​เหล่า​นี้​ขึ้น​ไป 350,000 กิโลเมตร ดวง​จันทร์​ซึ่ง​แม้​ว่า​จะ​มอง​ไม่​เห็น​ใน​ตอน​แรก​ก็​ค่อย ๆ เคลื่อน​เข้า​ไป​หา​ดวง​อาทิตย์​อย่าง​ที่​ไม่​อาจ​หยุด​ยั้ง​ได้. ทันใด​นั้น ดวง​จันทร์​ก็​ปรากฏ​เป็น​เงา​ดำ​มืด​ที่​เริ่ม​บดบัง​ดวง​อาทิตย์. ความ​ตื่นเต้น​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​เรื่อย ๆ ขณะ​ที่​ผู้​สังเกตการณ์​คน​แล้ว​คน​เล่า​เห็น​ปรากฏการณ์​นี้.

ใน​ช่วง​หนึ่ง​ชั่วโมง​แรก ผู้​สังเกตการณ์​ไม่​ได้​สังเกต​เห็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใด ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​รอบ​ตัว​เขา. แต่​เมื่อ​ดวง​จันทร์​ค่อย ๆ บดบัง​ดวง​อาทิตย์​มาก​ขึ้น บรรยากาศ​ก็​เปลี่ยน​ไป. ท้องฟ้า​สี​คราม​เริ่ม​มืด​สลัว. อากาศ​เย็น​ลง. ถนน​ที่​ติด​ตั้ง​ระบบ​ไฟ​แสง​สว่าง​อัตโนมัติ​และ​ไฟ​ฉุกเฉิน​ก็​สว่าง​ขึ้น​ใน​ขณะ​ที่​เช้า​วัน​นั้น​กลับ​ค่อย ๆ มืด​ลง. ถนน​ก็​โล่ง ร้าน​ค้า​ปิด​กัน​หมด. เสียง​ร้อง​จิ๊บ ๆ ของ​นก​เงียบ​หาย​ไป และ​สัตว์​ทั้ง​หลาย​กลับ​เข้า​ที่​พัก​อาศัย​เตรียม​นอน​หลับ​พักผ่อน​กัน. ความ​มืด​กำลัง​แผ่​คลุม​ไป​ทั่ว. จาก​นั้น​ดวง​จันทร์​ก็​บัง​ดวง​อาทิตย์​มิด แล้ว​ความ​เงียบ​สงัด​ก็​เกิด​ขึ้น.

สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​ได้

ดวง​ดาว​เริ่ม​เปล่ง​แสง​ระยิบระยับ. ชั้น​บรรยากาศ​คอ​โร​นา (ชั้น​บรรยากาศ​นอก​สุด) ที่​สว่าง​เรือง​รอง​ของ​ดวง​อาทิตย์​ก็​ดู​เหมือน​กับ​วง​แหวน​สี​ขาว​ราว​ไข่มุก​ปรากฏ​ล้อม​รอบ​ดวง​จันทร์​ที่​มืด​มิด. จุด​แสง​อัน​แวว​วาว​หลาย​จุด​ซึ่ง​เรียก​ว่า ปรากฏการณ์​ลูกปัด​เบลีย์ * ก็​ส่อง​แสง​เป็น​ประกาย​อยู่​ตรง​ขอบ​นอก​ของ​ดวง​จันทร์ เมื่อ​แสง​อาทิตย์​ลอด​ผ่าน​หุบเขา​และ​พื้น​ผิว​ที่​ขรุขระ​ของ​ดวง​จันทร์. จาก​นั้น​ก็​เกิด​ปรากฏการณ์​แหวน​เพชร​ตาม​มา. แสง​วาบ​สี​แดง​อม​ชมพู​ที่​งดงาม​จับตา​ก็​ปรากฏ​ขึ้น​ใน​ชั้น​บรรยากาศ​โครโมสเฟียร์ (ชั้น​บรรยากาศ​ที่​อยู่​ต่ำ​กว่า​ชั้น​คอ​โร​นา). ผู้​สังเกตการณ์​คน​หนึ่ง​อุทาน​ออก​มา​ว่า “นี่​เป็น​ภาพ​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ที่​สุด​เท่า​ที่​ผม​เคย​เห็น​มา มัน​งดงาม​อย่าง​น่า​อัศจรรย์​จริง ๆ.”

สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​เกิด​ขึ้น​ราว ๆ สาม​นาที. แล้ว​ดวง​อาทิตย์​ก็​เริ่ม​กลับ​มา​ส่อง​สว่าง​อีก​ครั้ง. ผู้​สังเกตการณ์​หลาย​คน​พา​กัน​โห่​ร้อง​ยินดี. ท้องฟ้า​สว่าง​ขึ้น และ​ดวง​ดารา​ทั้ง​หลาย​ก็​หาย​ลับ​ไป. บรรยากาศ​ที่​น่า​กลัว​ก็​จาง​หาย​ไป​ราว​กับ​หมอก​ยาม​เช้า.

ดวง​จันทร์​เป็น “พยาน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ใน​ท้องฟ้า.” ด้วย​เหตุ​นี้ การ​เกิด​สุริยุปราคา​จึง​อาจ​คำนวณ​เวลา​ได้​หลาย​ศตวรรษ​ล่วง​หน้า. (บทเพลง​สรรเสริญ 89:37, ล.ม.) คน​ใน​แถบ​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​ต้อง​คอย​เกือบ 60 ปี​จึง​ได้​เห็น​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ครั้ง​นี้. สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ที่​จะ​เห็น​ได้​ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​ครั้ง​หน้า​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 2081. บาง​ที​คุณ​อาจ​จะ​มี​โอกาส​ได้​เห็น​สุริยุปราคา​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​เลือน​ได้​ใน​เขต​ของ​คุณ​เร็ว​กว่า​นั้น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​นี้​ตาม​ชื่อ​ของ​ฟรานซิส เบลีย์ นัก​ดาราศาสตร์​ชาว​อังกฤษ ซึ่ง​บันทึก​ปรากฏการณ์​นี้​เป็น​คน​แรก​ตอน​ที่​เกิด​สุริยุปราคา​ใน​ปี 1836.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 29]

สุริยุปราคา​ใน​คราว​ที่​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์​หรือ?

มาระโก 15:33 กล่าว​ว่า “พอ​ถึง​เวลา​เที่ยง​วัน​ก็​เกิด​ความ​มืด​ทั่ว​แผ่นดิน​จน​ถึง​บ่าย​สาม​โมง.” ความ​มืด​เป็น​เวลา​สาม​ชั่วโมง​ตั้ง​แต่​เที่ยง​ถึง​บ่าย​สาม​โมง​นี้​เป็น​การ​อัศจรรย์. ความ​มืด​นั้น​จะ​เป็น​สุริยุปราคา​ไม่​ได้. ประการ​แรก สุริยุปราคา​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​นาน​ที่​สุด​ไม่​ว่า​ที่​ใด ๆ บน​โลก​นี้​จะ​กิน​เวลา​ประมาณ​เจ็ด​นาที​ครึ่ง. ประการ​ที่​สอง พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​ตาม​ปฏิทิน​ทาง​จันทรคติ. วัน​ที่​หนึ่ง​ของ​เดือน​ไนซาน​ถูก​กำหนด​ให้​ตรง​กับ​วัน​ขึ้น​หนึ่ง​ค่ำ ซึ่ง​ใน​ตอน​นั้น​ดวง​จันทร์​จะ​โคจร​มา​อยู่​ระหว่าง​โลก​และ​ดวง​อาทิตย์ จึง​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​สุริยุปราคา​ได้. เมื่อ​ถึง​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน ดวง​จันทร์​โคจร​ไป​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​วงโคจร​แล้ว. ตอน​นั้น​โลก​อยู่​ระหว่าง​ดวง​อาทิตย์​และ​ดวง​จันทร์ และ​แทน​ที่​ดวง​จันทร์​จะ​บดบัง​ดวง​อาทิตย์ มัน​กลับ​สะท้อน​แสง​จาก​ดวง​อาทิตย์​อย่าง​เต็ม​ที่. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​เห็น​ดวง​จันทร์​เต็ม​ดวง เป็น​บรรยากาศ​อัน​ยอด​เยี่ยม​สำหรับ​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู.

[รูปภาพ]

วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน ตรง​กับ​วัน​ที่​ดวง​จันทร์​เต็ม​ดวง​หรือ​ใกล้ ๆ กับ​ช่วง​เวลา​นั้น​เสมอ

[แผนภูมิ/แผนที่​หน้า 29]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เส้น​ทาง​ที่​เงา​มืด​ของ​สุริยุปราคา​พาด​ผ่าน

⇧ แอฟริกา

เบนิน ●

โตโก ●

กานา ●

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Map: Based on NASA/Visible Earth imagery

[ภาพ​หน้า 28]

สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​เมื่อ​วัน​ที่ 29 มีนาคม 2006

[ภาพ​หน้า 28]

แว่นตา​กันแสง​ชนิด​พิเศษ​ช่วย​ให้​ผู้​สังเกตการณ์​มอง​ดู​สุริยุปราคา​ได้​โดย​ตรง