ต้นไม้ที่อยู่ในน้ำ
ต้นไม้ที่อยู่ในน้ำ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
พวกมันให้ที่คุ้มภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, นก, และสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว. นอกจากนี้ พวกมันยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมโดยการกรองของเสียออกจากน้ำ. ทางใต้ของรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของปลาที่ถูกจับเพื่อการกีฬาและ 90 เปอร์เซ็นต์ของปลาที่ถูกจับเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าต่างก็พึ่งพาอาศัยพวกมัน. และพวกมันยังสร้างแนวป้องกันพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลไว้จากพายุและกระแสน้ำขึ้นน้ำลง. พวกมันคืออะไร? พืชชายเลน!
มากกว่าครึ่งหนึ่งของแนวชายฝั่งทะเลเขตร้อนของโลกมีพืชชายเลนขึ้นอยู่. พืชชายเลนเป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่มที่มีพืชหลายวงศ์รวมอยู่ด้วย. โดยทั่วไปแล้ว พวกมันงอกขึ้นในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำเค็มผสมกับน้ำจืด. แม้ว่าน้ำจะเค็มจนเกินกว่าที่พืชส่วนใหญ่จะรอดชีวิตอยู่ได้ แต่พืชชายเลนก็เจริญงอกงามในสภาพแวดล้อมแบบนั้นได้สบาย. อย่างไรล่ะ? โดยใช้วิธีการที่น่าทึ่งหลายอย่าง และบางครั้งก็ใช้หลายวิธีผสมกัน.
แวดล้อมไปด้วยเกลือ
พืชชายเลนบางชนิดมีที่กรองพิเศษซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกลือผ่านเข้าไปในรากของมันได้. ที่กรองของมันมีประสิทธิภาพเยี่ยมถึงขนาดที่นักเดินทางผู้หิวกระหายจะสามารถหาน้ำจืดดื่มได้โดยการเอารากของพืชชนิดนี้มาทุบให้แตก. พืชชายเลนบางชนิดก็ดูดซับน้ำเกลือเข้าไปในระบบของมัน แล้วเอาไปสะสมไว้ตามใบแก่ ๆ หรือส่วนอื่นของลำต้นที่จะร่วงหล่นไปในภายหลัง.
ส่วนพืชชายเลนชนิดอื่น ๆ ที่มีต่อมสกัดน้ำเกลือ มันจะดูดซับน้ำเกลือเข้าไปในลำต้นแล้วขับออกมาอย่างรวดเร็ว ตามปกติแล้วก็มักจะสกัดน้ำเกลือออกทางต่อมพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ที่มีอยู่ในใบ. ถ้าลองเอาลิ้นแตะใบของพืชชายเลนชนิดที่ว่านั้น คุณจะรู้สึกว่ามันเค็มมาก. แต่ก็ต้องดูให้ดี ๆ ด้วยว่าเป็นใบของพืชชายเลนชนิดไหน! หากยางจากใบของพืชชายเลนชนิดที่อาจทำให้ตาบอดได้เข้าตาคุณ ก็อาจทำให้คุณมองไม่เห็นไปสักระยะหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ยางของมันมีสรรพคุณทางยา และมีการนำไปใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและแมลงกัดต่อย.
วิธีที่มันอยู่รอดได้
พืชส่วนใหญ่ต้องการดินที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีเพื่อจะอยู่รอดและเจริญงอกงาม. ทว่า โดยทั่วไปแล้วดินแถบที่มีพืชชายเลนงอกขึ้นมักจะเป็นดินชุ่มน้ำ. เคล็ดลับที่ทำให้มันอยู่รอดได้ก็คือรากอากาศของมัน ซึ่งค่อย ๆ งอกขึ้นเหนือพื้นดิน และด้วยเหตุนี้จึงสามารถรับอากาศได้โดยตรง. รากอากาศเหล่านี้มีหลายรูปร่าง. รากอากาศบางชนิดที่เรียกว่ารากรูปหัวเข่า พอมันงอกขึ้นมาแล้ว มันจะโค้งตัวเสียบกลับลงไปในดินเลน เกิดเป็นปุ่มกลม ๆ คล้ายหัวเข่าที่งออยู่.
รากดินสอ คือรากหายใจที่งอกขึ้นจากดินเลนแล้วตั้งขึ้นเป็นแท่ง ๆ. รากค้ำยันซึ่งต่อไปก็จะกลายเป็นรากค้ำ เป็นรากที่แตกออกมาจากโคนต้น. รากพูพอน เป็นรากที่แผ่ขยายออกไปจากโคนต้นในลักษณะเป็นสันโค้ง โดยมีส่วนยอดอยู่เหนือพื้นดิน. รากแบบต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ต้นไม้หายใจได้แต่ยังช่วยให้มันยึดเกาะดินที่อ่อนปวกเปียกได้อย่างมั่นคงด้วย.
พวกมันสืบพันธุ์อย่างไร?
ต้นตะบูนขาวมีผลกลมโตพร้อมกับมีเมล็ดรูปร่างแบบต่าง ๆ. เมื่อผลสุก มันจะแตกออกมา แล้วเมล็ดก็กระจัดกระจายไปในน้ำ. เมล็ดบางส่วนที่ลอยไปกับกระแสน้ำ ในที่สุดก็พบที่ที่มันจะงอกขึ้นได้.
ส่วนเมล็ดของพืชชายเลนชนิดอื่น ๆ งอกขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังเกาะติดอยู่กับต้นพ่อแม่ของมัน. นี่เป็นอะไรที่แปลกประหลาดเหลือเกินในอาณาจักรต้นไม้. พืชชายเลนเหล่านี้มีกล้าไม้เล็ก ๆ ห้อยติดอยู่กับต้น เมื่อกล้าไม้ตกลงไปในน้ำ
มันก็อาจจะลอยไปเป็นเวลาหลายเดือนหรือถึงกับเป็นปีเพื่อหาที่ที่เหมาะจะเจริญงอกงามขึ้น.วิธีที่กล้าไม้ลอยไปในน้ำทำให้มันมีโอกาสสูงมากที่จะปักอยู่ตรงบริเวณที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยม. เมื่อลอยอยู่ในน้ำทะเล กล้าไม้จะลอยไปในแนวนอนแต่เมื่อมาถึงบริเวณน้ำกร่อย กล้าไม้จะชันตัวขึ้นลอยไปในแนวตั้ง และด้วยเหตุนี้มันจึงปักลงในโคลนได้ง่ายขึ้น.
โลกที่อยู่ในอีกโลกหนึ่ง
พืชชายเลนทำให้เกิดสายใยอาหารที่สลับซับซ้อน. เศษใบไม้และส่วนที่เน่าเปื่อยผุพังของพืชเหล่านั้นเป็นแหล่งอาหารสำหรับพวกจุลชีพ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นอาหารสำหรับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในห่วงโซ่อาหาร. สิ่งมีชีวิตนานาชนิดอาศัยป่าชายเลนเป็นบ้าน, เป็นแหล่งอาหาร, เป็นแหล่งผสมพันธุ์, หรือเป็นที่สำหรับเลี้ยงลูก ๆ ของมัน.
ตัวอย่างเช่น นกนับร้อยชนิดใช้พืชชายเลนเป็นที่ทำรังและเป็นแหล่งอาหาร รวมทั้งเป็นที่หยุดพักระหว่างการอพยพ. เฉพาะเบลีซเพียงประเทศเดียว มีนกชนิดต่าง ๆ มากกว่า 500 ชนิดมาอาศัยอยู่ในป่าชายเลน. ปลาเป็นจำนวนมากเริ่มชีวิตในป่าชายเลนหรือไม่ก็พึ่งอาศัยระบบนิเวศของป่านี้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร. มีการจับปลามากกว่า 120 ชนิดในป่าชายเลนซุนดาร์บันส์ที่อยู่ระหว่างประเทศอินเดียกับบังกลาเทศ.
พืชพรรณก็เจริญงอกงามดีในป่าชายเลนด้วย. บนชายฝั่งทางตะวันออกของออสเตรเลีย มีการพบไลเค็นถึง 105 ชนิดงอกขึ้นบนพืชชายเลน. เฟิร์น, กล้วยไม้, มิสเซิลโท, และพืชชนิดอื่น ๆ ก็เจริญงอกงามในแถบนี้ด้วย. ที่จริง พืชชายเลนที่มีอยู่ทั่วโลกให้การค้ำจุนที่จำเป็นสำหรับพืชและสัตว์ ตั้งแต่ไลเค็นไปจนถึงเสือโคร่ง และมนุษย์ด้วย.
มีประโยชน์ต่อมนุษย์นานัปการ
นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว พืชชายเลนยังเป็นแหล่งของผลิตผลหลายอย่างทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างเช่น ฟืน, ถ่าน, แทนนิน, อาหารสัตว์, และยา. ป่าชายเลนยังทำให้มีอาหารอันโอชะอย่างเช่น ปลา, สัตว์จำพวกกุ้งและปู, หอย, และน้ำผึ้ง. ที่จริง กะลาสีบางคนเคยเชื่อกันว่า หอยนางรมงอกบนต้นไม้ เพราะพวกเขาสามารถเก็บหอยจากพืชชายเลนได้ง่าย ๆ ตอนที่เรือนรากพืชเหล่านั้นโผล่ขึ้นมาเมื่อเวลาน้ำลง.
นอกจากนี้ พืชชายเลนยังทำให้มีผลผลิตมากมายสำหรับวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น กระดาษ, สิ่งทอ, หนังสัตว์, และการก่อสร้าง. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้ประโยชน์จากพืชชายเลนก็คือการท่องเที่ยวและการประมง.
แม้ว่าการสำนึกถึงความสำคัญของป่าชายเลนกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่พื้นที่ป่าชายเลนก็กำลังลดลงเรื่อย ๆ ในอัตราราว ๆ 625,000 ไร่ต่อปี. บ่อยครั้ง ป่าเหล่านี้ถูกทำลายไปเพื่อจะมีพื้นที่สำหรับโครงการที่ดูเหมือนจะทำกำไรได้มากกว่า อย่างเช่นโครงการเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตรและการสร้างบ้านพักอาศัย. ผู้คนจำนวนมากมองว่า ป่าชายเลนเป็นเพียงหนองน้ำที่เฉอะแฉะไปด้วยโคลน, เหม็นคลุ้ง, และเป็นที่ที่มียุงชุมซึ่งไม่พึงย่างกรายเข้าไป.
อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือพืชชายเลนมีคุณค่าในหลายทาง กระทั่งช่วยปกปักรักษาชีวิต. รากอากาศที่ปรับตัวได้ดีเป็นพิเศษและรากแก้วซึ่งช่วยกรองเกลือออกไปนั้นได้ทำให้เกิดระบบนิเวศที่ซับซ้อนและอุดมสมบูรณ์. พืชชายเลนจำเป็นต่อการประมงตามแนวชายฝั่ง, อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าไม้, และสัตว์ป่า. และพวกมันช่วยป้องกันพื้นที่ตามแนวชายฝั่งไม่ให้ถูกเซาะกร่อนไป โดยช่วยรับแรงปะทะที่มีกำลังแรงมากจากพายุเฮอร์ริเคน ซึ่งไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจคร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นทีเดียว. แน่นอนว่า เราน่าจะรู้สึกขอบคุณพืชชายเลนจริง ๆ!
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
การหาน้ำผึ้งป่าในป่าชายเลน
ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในซุนดาร์บันส์ ซึ่งเป็นส่วนของดินดอนสามเหลี่ยมอันกว้างใหญ่ของแม่น้ำคงคาที่อยู่ระหว่างประเทศอินเดียกับบังกลาเทศ. ท่ามกลางผู้คนที่อยู่ในแถบนั้น ก็มีชาวโมวาลีที่พึ่งอาศัยป่าชายเลนเพื่อการยังชีพ. พวกเขาประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอาชีพหนึ่งในประเทศ.
ชาวโมวาลีเป็นคนเก็บน้ำผึ้งป่า. ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี พวกเขาจะท่องไปในป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อเสาะหารวงผึ้งของผึ้งยักษ์. ผึ้งเหล่านี้เมื่อเติบโตเต็มที่จะมีลำตัวยาวราว ๆ หนึ่งนิ้วครึ่ง. พวกมันดุร้าย และเล่าลือกันว่ามันต่อยช้างตายได้!
ดังนั้น คนเก็บน้ำผึ้งจะถือคบเพลิงที่ทำจากพืชชายเลน ซึ่งมีควันที่สามารถขับไล่ผึ้งได้. คนเก็บน้ำผึ้งที่ฉลาดจะเหลือรวงผึ้งไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้ผึ้งมาสร้างรังขึ้นใหม่ โดยวิธีนี้ก็จะมีน้ำผึ้งให้เก็บได้ทุกปีโดยไม่ขาด.
ผึ้งไม่ได้เป็นภัยเพียงอย่างเดียวสำหรับคนเก็บน้ำผึ้ง. ภัยคุกคามอื่น ๆ นั้นรวมถึงจระเข้และงูพิษที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน. นอกจากนี้ พวกหัวขโมยยังแอบซุ่มโจมตีคนหาน้ำผึ้ง ขณะที่พวกเขาออกมาจากป่าพร้อมกับน้ำผึ้งและขี้ผึ้ง. แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นภัยอันตราย แต่ภัยที่ร้ายแรงที่สุดนั้นมาจากเสือโคร่งรอยัล เบงกอล. ทุกปีเสือโคร่งเหล่านี้ฆ่าคนหาน้ำผึ้งปีละประมาณ 15 ถึง 20 คน.
[ที่มาของภาพ]
Zafer Kizilkaya/Images & Stories
[ภาพหน้า 23]
พืชชายเลนและกล้าไม้เจริญงอกงามในสภาพแวดล้อมที่พืชชนิดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ไม่อาจรอดชีวิตอยู่ได้
[ที่มาของภาพ]
Top right: Zach Holmes Photography/Photographers Direct; lower right: Martin Spragg Photography (www.spraggshots.com)/Photographers Direct