ระบบระบายอากาศในจอมปลวก
มีผู้ออกแบบไหม?
ระบบระบายอากาศในจอมปลวก
▪ จอมปลวกถูกเรียกว่าสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม และนั่นนับว่ามีเหตุผลดีทีเดียว. โครงสร้างที่น่าประทับใจเหล่านี้ซึ่งทำขึ้นจากดินและน้ำลายสามารถสร้างเป็นจอมสูงขึ้นไปถึง 6 เมตร. ผนังจอมปลวกที่หนา 45 เซนติเมตรถูกแสงอาทิตย์แผดเผาจนแข็งราวกับคอนกรีต. จอมปลวกบางจอมถูกสร้างขึ้นภายในคืนเดียวเท่านั้น.
นางพญาปลวกจะอยู่บริเวณกลางรัง ซึ่งมันอาจวางไข่หลายพันฟองในแต่ละวัน. “ปลวกกรรมกร” ที่ไม่มีปีกและตาบอดจะลำเลียงไข่ไปเก็บไว้ตามห้องเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ. พวกมันจะดูแลตัวอ่อนที่นั่นจนกว่าตัวอ่อนฟักออกมา. แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุดของจอมปลวกอาจจะเป็นระบบระบายอากาศ.
ขอพิจารณา: ช่องหรือโพรงต่าง ๆ ในจอมปลวกช่วยรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่อยู่เสมอ แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนไปก็ตาม. ตัวอย่างเช่น ในซิมบับเว แอฟริกา อุณหภูมิภายนอกอาจเปลี่ยนจากราว ๆ 2 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืนขึ้นไปจนถึงกว่า 38 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน. กระนั้น อุณหภูมิภายในจอมปลวกยังคงอยู่ที่ 31 องศาเซลเซียสตลอดเวลา. เพราะเหตุใด?
ช่องระบายอากาศซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ยอดเยี่ยมตรงฐานจอมปลวกทำให้อากาศที่สดชื่นผ่านเข้ามาได้ ในขณะที่อากาศร้อนและอับถูกระบายออกไปทางยอดจอมปลวก. อากาศที่เย็นกว่าเข้ามาในจอมปลวกทางโพรงที่อยู่ใต้ดิน แล้วไหลเวียนไปตามช่องทางเดินและห้องเล็ก ๆ. ปลวกจะเปิดและปิดรูต่าง ๆ เพื่อปรับอุณหภูมิเมื่อจำเป็น. การมีอุณหภูมิคงที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปลวกในการทำสวนเห็ดราซึ่งเป็นอาหารหลักของมัน.
แบบของจอมปลวกนั้นน่าประทับใจมากเสียจนสถาปนิกได้นำแบบคล้าย ๆ กันนั้นมาใช้ในการสร้างอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งในซิมบับเว. อาคารหลังนี้ใช้พลังงานเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ต้องใช้ในอาคารทั่วไปที่มีขนาดเดียวกัน.
คุณคิดอย่างไรล่ะ? ความสามารถของปลวกในการควบคุมอุณหภูมิภายในจอมปลวกเกิดขึ้นโดยบังเอิญไหม? หรือแสดงให้เห็นว่ามีผู้ออกแบบ?
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Top: Stockbyte/Getty Images; bottom: Scott Bauer/Agricultural Research Service, USDA