ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เผชิญกับข้อท้าทายที่เกิดจากกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์

เผชิญกับข้อท้าทายที่เกิดจากกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์

เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​เกิด​จาก​กลุ่ม​อาการ​แอสเพอร์เกอร์

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

คุณ​อยาก​มี​เพื่อน แต่​การ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย. กระนั้น คุณ​สามารถ​พูด​ได้​เป็น​ชั่วโมง ๆ ใน​เรื่อง​ที่​คุณ​ชอบ. คุณ​ชอบ​ทำ​อะไร​เป็น​กิจวัตร; การ​เปลี่ยน​สิ่ง​ที่​ทำ​อยู่​เป็น​ประจำ​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​หงุดหงิด. บ่อย​ครั้ง คุณ​รู้สึก​กังวล​และ​ข้องขัดใจ แถม​บาง​ครั้ง​คุณ​ยัง​ซึมเศร้า​ด้วย.

ผู้​คน​เข้าใจ​คุณ​ผิด. พวก​เขา​บอก​ว่า​คุณ​เป็น​คน​ประหลาด, เข้า​กับ​คน​ยาก, หรือ​ถึง​กับ​หยาบคาย​เสีย​ด้วย​ซ้ำ. คุณ​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​เข้าใจ​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​คุณ​ไม่​สามารถ​อ่าน​สี​หน้า​หรือ​ท่า​ทาง​ที่​พวก​เขา​แสดง​ออก​มา. หลาย​คน​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์​มัก​จะ​เผชิญ​กับ​สถานการณ์​ที่​กล่าว​มา​นั้น​อยู่​เป็น​ประจำ.

คน​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์​จะ​มี​รูป​ร่าง​หน้า​ตา​เหมือน​กับ​คน​ทั่ว ๆ ไป และ​บ่อย​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​ฉลาด​มาก​ด้วย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​มี​พัฒนาการ​ที่​ผิด​ปกติ​ใน​ส่วน​ของ​ระบบ​ประสาท ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​วิธี​ที่​พวก​เขา​สื่อ​ความ​และ​ปฏิสัมพันธ์​กับ​คน​อื่น ๆ. กลุ่ม​อาการ​แอสเพอร์เกอร์​มี​หลาก​หลาย​ลักษณะ และ​ผล​กระทบ​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​แต่​ละ​คน​ก็​ต่าง​กัน. กระนั้น คน​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์​ก็​อาจ​เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นี้​ได้. ขอ​พิจารณา​เรื่อง​ราว​ของ​แคลร์.

ใน​ที่​สุด​ก็​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย!

ใน​วัย​เด็ก แคลร์​พูด​น้อย​มาก​และ​ชอบ​เก็บ​ตัว. เธอ​ไม่​กล้า​สบ​ตา​ผู้​คน​และ​กลัว​เมื่อ​เห็น​คน​มาก ๆ. เธอ​พูด​ได้​ชัด​ถ้อย​ชัด​คำ​แม้​แต่​ตอน​ที่​เธอ​ยัง​เป็น​เด็ก​มาก แต่​เธอ​จะ​ใช้​คำ​พูด​น้อย​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้​และ​พูด​เสียง​ระดับ​เดียว​กัน​ตลอด. เธอ​ชอบ​ทำ​อะไร​เป็น​กิจวัตร และ​จะ​วิตก​กังวล​หาก​มี​การ​เปลี่ยน​ให้​เธอ​ไป​ทำ​อะไร​อย่าง​อื่น.

ที่​โรง​เรียน ครู​หลาย​คน​รู้สึก​เอือม​ระอา​กับ​แคลร์ เพราะ​พวก​เขา​คิด​ว่า​เธอ​เจตนา​ก่อ​เรื่อง และ​เด็ก​คน​อื่น ๆ ก็​ชอบ​แกล้ง​เธอ. คุณ​แม่​ของ​เธอ​ก็​ทุกข์​ใจ​เช่น​กัน เนื่อง​จาก​ถูก​คน​อื่น​ตำหนิ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ของ​แคลร์. ใน​ที่​สุด คุณ​แม่​ก็​ตัดสิน​ใจ​สอน​หนังสือ​ให้​แคลร์​เอง​ที่​บ้าน ใน​ช่วง​ปี​ท้าย ๆ ของ​การ​ศึกษา.

หลัง​จาก​นั้น แคลร์​ได้​งาน​ทำ​หลาย​แห่ง แต่​ก็​ถูก​ให้​ออก​จาก​งาน​หมด​ทุก​แห่ง เนื่อง​จาก​เธอ​ไม่​สามารถ​รับมือ​กับ​การ​เปลี่ยน​กิจวัตร​และ​สิ่ง​ที่​มี​การ​คาด​หมาย​จาก​เธอ. งาน​ที่​สุด​ท้าย​ที่​เธอ​ทำ ซึ่ง​อยู่​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา ผู้​ดู​แล​บ้าน​พัก​สังเกต​ว่า​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ผิด​ปกติ​มาก. ใน​ที่​สุด​เมื่อ​แคลร์​อายุ 16 ปี เธอ​ก็​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​แอสเพอร์เกอร์.

ใน​ที่​สุด คุณ​แม่​ของ​แคลร์​ก็​รู้​ว่า​ทำไม​ลูก​สาว​ของ​ตน​จึง​มี​พฤติกรรม​ที่​แตกต่าง​จาก​คน​อื่น​มาก. เพื่อน​คน​หนึ่ง​ได้​พบ​ข้อมูล​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​กลุ่ม​อาการ​แอสเพอร์เกอร์ และ​เมื่อ​แคลร์​อ่าน​ข้อมูล​เหล่า​นั้น เธอ​ก็​ถาม​ด้วย​ความ​ประหลาด​ใจ​ว่า “หนู​ทำ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ หรือ? หนู​เป็น​อย่าง​นั้น​หรือ​คะ?” สำนักงาน​บริการ​สังคม​ใน​ท้องถิ่น​ได้​แนะ​นำ​ให้​แคลร์​ทำ​กิจกรรม​บำบัด. คริส พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​เคย​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​ช่วยเหลือ​เด็ก​ที่​มี​ความ​จำเป็น​พิเศษ ได้​เตรียม​การ​ให้​แคลร์​ซึ่ง​ก็​เป็น​พยาน​ฯ ไป​ทำ​งาน​อาสา​สมัคร​และ​ดู​แล​อาคาร​หลัง​หนึ่ง​ซึ่ง​พยาน​ฯ ใช้​เพื่อ​การ​นมัสการ​ของ​คริสเตียน.

เรียน​ที่​จะ “อยู่​ใน​โลก​แห่ง​ความ​เป็น​จริง”

ใน​ตอน​แรก ๆ แคลร์​ไม่​ค่อย​พูด​จา​กับ​เพื่อน ๆ ที่​เป็น​อาสา​สมัคร​ด้วย​กัน. เมื่อ​เธอ​มี​ปัญหา เธอ​ก็​เขียน​ใส่​กระดาษ​ให้​คริส เนื่อง​จาก​การ​เขียน​ง่าย​กว่า​การ​ถ่ายทอด​ความ​คิด​ออก​มา​เป็น​คำ​พูด. คริส​ค่อย ๆ ชวน​เธอ​มา​นั่ง​คุย​กับ​เขา​และ​พูด​ถึง​ปัญหา​ต่าง ๆ อย่าง​เปิด​อก. ดัง​ที่​เขา​บอก เขา​เพียร​สอน​เธอ​ด้วย​ความ​อด​ทน​เพื่อ​เธอ​จะ “อยู่​ใน​โลก​ของ​ความ​เป็น​จริง.” เขา​อธิบาย​กับ​เธอ​ว่า การ​หลีก​เลี่ยง​ไม่​ข้อง​เกี่ยว​กับ​คน​อื่น​และ​ทำ​เฉพาะ​แต่​สิ่ง​ที่​ตัว​เอง​ชอบ​นั้น​ไม่​สอดคล้อง​กับ “โลก​แห่ง​ความ​เป็น​จริง.” ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​เช่น​นั้น แคลร์​เริ่ม​เรียน​ที่​จะ​ร่วม​มือ​กับ​คน​อื่น​เพื่อ​ทำ​งาน​ให้​เสร็จ.

ประสบการณ์​ใน​อดีต​ที่​ไม่​น่า​ยินดี​ของ​แคลร์​ทำ​ให้​เธอ​เป็น​คน​ที่​ขาด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง ดัง​นั้น เมื่อ​มี​การ​ขอ​ให้​เธอ​ทำ​งาน​อะไร​ก็​ตาม เธอ​จะ​ตอบ​ทันที​ว่า “ฉัน​ทำ​ไม่​ได้.” คริส​แก้​ปัญหา​นี้​อย่าง​ไร? เขา​จะ​ให้​เธอ​ทำ​งาน​ชิ้น​เล็ก ๆ และ​อธิบาย​ว่า “ทำ​อย่าง​นี้​นะ” แล้ว​ก็​พูด​ต่อ​ว่า “เธอ​ก็​ทำ​ได้.” เมื่อ​เธอ​ทำ​สำเร็จ เธอ​รู้สึก​มี​ความ​สุข​มาก. คริส​ชมเชย​เธอ​อย่าง​กรุณา​แล้ว​ก็​ให้​เธอ​ทำ​งาน​ชิ้น​อื่น​อีก. การ​จำ​คำ​สั่ง​ที่​ยืด​ยาว​นั้น​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​แคลร์ แต่​การ​ดู​รายการ​ที่​เขียน​เป็น​ข้อ ๆ นั้น​ไม่​เป็น​ปัญหา​เลย. ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย เธอ​ก็​รู้สึก​มั่น​ใจ​ขึ้น​ว่า​เธอ​สามารถ​ทำ​งาน​ต่าง ๆ ได้.

เนื่อง​จาก​แคลร์​ไม่​ชอบ​ที่​ที่​มี​ผู้​คน​มาก​มาย การ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น ๆ ณ การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​ปัญหา​ใหญ่​สำหรับ​เธอ. เธอ​ชอบ​นั่ง​คน​เดียว​ใน​เก้าอี้​แถว​หน้า​ของ​หอ​ประชุม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เธอ​ตั้ง​เป้า​ให้​ตัว​เอง​ว่า หลัง​จาก​จบ​การ​ประชุม​เธอ​จะ​รีบ​เดิน​ไป​ด้าน​หลัง​หอ​ประชุม แล้ว​เข้า​ไป​ทักทาย​พูด​คุย​กับ​พี่​น้อง​คริสเตียน​สัก​คน​หนึ่ง.

ต่อ​มา แคลร์​เริ่ม​พูด​คุย​กับ​หลาย​คน​มาก​ขึ้น. เธอ​บอก​ว่า “แต่​มัน​ไม่​ง่าย​เลย.” ถึง​แม้​ว่า​อาการ​ของ​เธอ​ทำ​ให้​การ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น​เป็น​เรื่อง​ยาก แต่​เธอ​ก็​ทำ​ส่วน​ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​อยู่​เป็น​ประจำ ซึ่ง​โรง​เรียน​นี้​จัด​ขึ้น​เพื่อ​ช่วย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทุก​คน​ให้​สามารถ​พูด​ได้​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​ขึ้น.

เอา​ชนะ​อุปสรรค​ที่​ใหญ่​กว่า

เมื่อ​แคลร์​มี​ความ​มั่น​ใจ​มาก​ขึ้น​แล้ว คริส​ได้​แนะ​เธอ​ให้​ลอง​เป็น​ไพโอเนียร์​สมทบ คำ​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใช้​เรียก​พยาน​ฯ ที่​รับ​บัพติสมา​แล้ว ซึ่ง​ใช้​เวลา 50 ชั่วโมง​หรือ​มาก​กว่า​นั้น​ใน​แต่​ละ​เดือน​ใน​การ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น ๆ ถึง​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก. แคลร์​ตอบ​ว่า “หนู​ทำ​ไม่​ได้.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คริส​ได้​หนุน​ใจ​เธอ​โดย​พูด​ว่า ถึง​แม้​เธอ​จะ​ไม่​บรรลุ​เป้า 50 ชั่วโมง​ใน​เดือน​นั้น แต่​อย่าง​น้อย​เธอ​ก็​คง​จะ​มี​ความ​สุข​ที่​ได้​พยายาม. ดัง​นั้น แคลร์​จึง​ลอง​พยายาม​ทำ​ดู และ​เธอ​ก็​รู้สึก​ชอบ​งาน​นี้​จริง ๆ. เธอ​เป็น​ไพโอเนียร์​สมทบ​อีก​หลาย​ครั้ง แล้ว​เธอ​ก็​ยิ่ง​ชอบ​งาน​นี้​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. งาน​นี้​ช่วย​เสริม​สร้าง​ความ​มั่น​ใจ​ให้​เธอ โดย​เฉพาะ​เมื่อ​เธอ​ได้​พบ​ผู้​คน​มาก​มาย​ที่​ต้องการ​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล.

แคลร์​ใส่​ใจ​กับ​เรื่อง​ที่​เธอ​ได้​ฟัง ณ การ​ประชุม​คริสเตียน ซึ่ง​หนุน​ใจ​ให้​พิจารณา​ว่า​มี​อะไร​ไหม​ที่​เป็น​อุปสรรค​ขัด​ขวาง​ไม่​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์​ประจำ หรือ​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา. เธอ​ตัดสิน​ใจ​เป็น​ไพโอเนียร์​ประจำ. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? จาก​คำ​พูด​ของ​แคลร์ “นี่​เป็น​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​ดี​ที่​สุด​ค่ะ!” เธอ​สนิท​กับ​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​มาก​ขึ้น และ​ได้​สร้าง​มิตรภาพ​กับ​อีก​หลาย​คน. เด็ก ๆ ก็​ชอบ​มา​คุย​เล่น​กับ​เธอ และ​เธอ​ก็​ดีใจ​มาก​ที่​ได้​ช่วย​เด็ก​เหล่า​นั้น​เมื่อ​ทำ​งาน​เผยแพร่​ด้วย​กัน.

ให้​การ​สนับสนุน

จริง​อยู่ ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์​จะ​สามารถ​ทำ​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ได้. กระนั้น ประสบการณ์​ของ​แคลร์​เป็น​หลักฐาน​ยืน​ยัน​ว่า คน​ที่​มี​อาการ​ดัง​กล่าว​สามารถ​ทำ​อะไร ๆ ได้​มาก​กว่า​ที่​พวก​เขา​อาจ​จะ​รู้​ด้วย​ซ้ำ. ตาราง​เวลา​ที่​แคลร์​ทำ​เป็น​ประจำ​ช่วย​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​เธอ​ที่​ชอบ​ทำ​อะไร​เป็น​กิจวัตร และ​ความ​สำนึก​ใน​หน้า​ที่​รวม​ทั้ง​การ​เป็น​คน​ที่​ไว้​ใจ​ได้​ก็​ช่วย​เธอ​ให้​ทำ​งาน​ประจำ​ชีพ​ที่​เธอ​เลือก​ได้​อย่าง​ดี​เยี่ยม.

แคลร์​รู้สึก​ว่า เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​ผู้​คน​จะ​รู้​ว่า​เธอ​เป็น​แอสเพอร์เกอร์ เพื่อ​พวก​เขา​จะ​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​เธอ​จึง​มอง​โลก​และ​ทำ​อะไร ๆ ใน​วิธี​ที่​ต่าง​จาก​คน​อื่น. เธอ​อธิบาย​ว่า “เพราะ​ว่า​บาง​ครั้ง​คุณ​จะ​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​ออก​มา​ได้​ไม่​ชัดเจน ผู้​คน​จึง​มอง​ว่า​คุณ​คิด​ไม่​เป็น.” การ​ที่​มี​ใคร​สัก​คน​หนึ่ง​ที่​คุณ​สามารถ​พูด​คุย​ได้​ทุก​เรื่อง​นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​มาก.

สำหรับ​คน​ที่​มี​อาการ​คล้าย ๆ กัน​นี้ ทั้ง​คริส​และ​แคลร์​แนะ​ให้​ตั้ง​เป้าหมาย​เล็ก ๆ ขึ้น​มา แล้ว​ก็​ค่อย ๆ ทำ​ไป​ที​ละ​อย่าง. การ​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ใคร​สัก​คน​ที่​เข้าใจ​คน​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์​นั้น​อาจ​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก. ผล​ก็​คือ ความ​รู้สึก​ที่​ว่า​ตัว​เอง​มี​ค่า​อาจ​ได้​รับ​การ​เสริม​สร้าง​ขึ้น​และ​อาจ​ช่วย​ให้​เอา​ชนะ​ข้อ​ท้าทาย​ต่าง ๆ ได้.

เรื่อง​ราว​ของ​แคลร์​แสดง​ว่า ด้วย​ความ​อด​ทน​และ​การ​หนุน​กำลังใจ​ก็​อาจ​ช่วย​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์​ได้​มาก. แคลร์​ยืน​ยัน​เรื่อง​นี้​โดย​กล่าว​ว่า “เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ ดิฉัน​ไม่​เคย​นึก​ฝัน​เลย​ว่า​ดิฉัน​จะ​สามารถ​ทำ​อะไร ๆ ได้​อย่าง​ที่​ทำ​อยู่​ใน​เวลา​นี้.”

[คำ​โปรย​หน้า 24]

แคลร์​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​ผู้​คน​จะ​รู้​ว่า​เธอ​เป็น​แอสเพอร์เกอร์

[กรอบ​หน้า 22]

กลุ่ม​อาการ​แอสเพอร์เกอร์

กลุ่ม​อาการ​นี้​ถูก​เรียก​ตาม​ชื่อ​ของ​ดร. ฮันส์ แอสเพอร์เกอร์ ซึ่ง​ได้​อธิบาย​ถึง​เรื่อง​นี้​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1944. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพียง​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​เอง​ที่​ได้​มี​การ​ค้นคว้า​วิจัย​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​และ​ช่วยเหลือ​คน​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ที่​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​แอสเพอร์เกอร์. พวก​นัก​วิจัย​ด้าน​การ​แพทย์​ไม่​สามารถ​บอก​ได้​ว่า​แอสเพอร์เกอร์​เป็น​ออทิสติก​ชนิด​ที่​ไม่​รุนแรง​แบบ​หนึ่ง​หรือ​ไม่ หรือ​เป็น​ความ​ผิด​ปกติ​อีก​ชนิด​หนึ่ง. ตราบ​จน​ทุก​วัน​นี้​ก็​ยัง​ไม่​มี​ใคร​รู้​ว่า​กลุ่ม​อาการ​แอสเพอร์เกอร์​มี​สาเหตุ​มา​จาก​อะไร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม กลุ่ม​อาการ​นี้​ไม่​ได้​เกิด​จาก​การ​ขาด​ความ​รัก​ความ​อบอุ่น หรือ​วิธี​ที่​เด็ก​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู.

[กรอบ​หน้า 24]

การ​ช่วยเหลือ​คน​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์

จง​แสดง​ความ​สนใจ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เป็น​แอสเพอร์เกอร์ และ​พยายาม​ที่​จะ​ทำ​ความ​รู้​จัก​พวก​เขา. ถึง​แม้​พวก​เขา​อาจ​จะ​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​เป็น​ฝ่าย​เริ่ม​การ​สนทนา แต่​ขอ​ให้​ตระหนัก​ว่า​คน​เหล่า​นั้น​อยาก​มี​เพื่อน​และ​ต้องการ​เพื่อน. พวก​เขา​ไม่​ได้​จงใจ​ที่​จะ​ทำ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​คน​อื่น​ยาก​หรือ​แกล้ง​ทำ​อะไร​แปลก ๆ.

จง​อด​ทน และ​พยายาม​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​พวก​เขา. นอก​จาก​นี้ ขอ​ให้​ตระหนัก​ว่า​คุณ​ต้อง​อธิบาย​เรื่อง​ต่าง ๆ อย่าง​ละเอียด​และ​ชัดเจน เพราะ​พวก​เขา​อาจ​จะ​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​คุณ​พูด​ตาม​ตัว​อักษร​จริง ๆ. ถ้า​จำเป็น​ต้อง​เปลี่ยน​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ​อยู่​เป็น​ประจำ ก็​ควร​อธิบาย​ราย​ละเอียด​ให้​ชัดเจน บาง​ที​อาจ​ถึง​กับ​ต้อง​สาธิต​ให้​ดู​ใหม่​ว่า​คุณ​คาด​หมาย​จะ​ให้​พวก​เขา​ทำ​อย่าง​ไร.

ถ้า​คุณ​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​วิตก​กังวล​อย่าง​หนัก​เกี่ยว​กับ​อะไร​ก็​ตาม​ที่​พวก​เขา​มอง​เห็น​หรือ​ได้​ยิน ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ที่​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ ก็​ให้​ชวน​พวก​เขา​หัน​ไป​สนใจ​สิ่ง​อื่น​แทน อย่าง​เช่น การ​ดู​ภาพ​ที่​สวย​งาม​หรือ​การ​ฟัง​ดนตรี​เบา ๆ.

[ภาพ​หน้า 23]

แคลร์​เรียน​ที่​จะ​เป็น​ฝ่าย​เข้า​ไป​พูด​คุย​เป็น​เพื่อน​กับ​คน​อื่น​ก่อน

[ภาพ​หน้า 23]

คริส​อธิบาย​กับ​แคลร์​ถึง​วิธี​ที่​จะ​ร่วม​มือ​กับ​คน​อื่น​เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​ให้​เสร็จ