ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ดินแดนที่แม่น้ำไหลย้อนกลับ

ดินแดนที่แม่น้ำไหลย้อนกลับ

ดินแดน​ที่​แม่น้ำ​ไหล​ย้อน​กลับ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​กัมพูชา

คุณ​เคย​เห็น​แม่น้ำ​ไหล​ย้อน​กลับ​ไหม? แล้ว​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​ป่า​ไม้​ที่​ปี​หนึ่ง​จม​อยู่​ใต้​น้ำ​เป็น​เวลา​ถึง​หก​เดือน? คุณ​รู้​ไหม​ว่า​มี​คน​อาศัย​อยู่​ใน​บ้าน​ลอย​น้ำ​ที่​ต้อง​เคลื่อน​ย้าย​ไป​เพราะ​น้ำ​ใน​แม่น้ำ​ลด​ลง? คุณ​พูด​ไหม​ว่า “เป็น​ไป​ไม่​ได้​หรอก”? ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​อาจ​จะ​เปลี่ยน​ความ​คิด​ก็​ได้ หลัง​จาก​ที่​ได้​ไป​เยือน​กัมพูชา​ใน​ช่วง​ฤดู​มรสุม​หรือ​ฤดู​ฝน.

ทุก ๆ วัน ตั้ง​แต่​ช่วง​กลาง​เดือน​พฤษภาคม​ถึง​เดือน​ตุลาคม ท้องฟ้า​ที่​ปลอด​โปร่ง​ใน​ยาม​เช้า​กลับ​มืด​ครึ้ม และ​ใน​ตอน​บ่าย​ฝน​ก็​เท​ลง​มา​อย่าง​หนัก. น้ำ​ฝน​เอ่อ​ท่วม​พื้น​ดิน​ที่​เคย​แห้ง​แล้ง​และ​เต็ม​ไป​ด้วย​ฝุ่น แล้ว​น้ำ​ใน​แม่น้ำ​ก็​ไหล​ล้น​ตลิ่ง​ออก​มา.

ทำไม​จึง​ไหล​ย้อน​กลับ?

ลอง​ดู​แผนที่​ใน​หน้า​ถัด​ไป​สิ. สังเกต​ตรง​จุด​ที่​แม่น้ำ​โขง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ไหล​มา​บรรจบ​กับ​แม่น้ำ​โตนเลสาบ. ไม่​ไกล​จาก​จุด​นั้น สาย​น้ำ​ที่​ไหล​มา​บรรจบ​กัน​นี้​แยก​ออก​เป็น​สอง​สาย​คือ​แม่น้ำ​โขง​สาย​หลัก​และ​แม่น้ำ​บาสัก. แล้ว​แม่น้ำ​ทั้ง​สอง​สาย​ก็​ไหล​ลง​ไป​ทาง​ใต้​ผ่าน​ประเทศ​เวียดนาม เกิด​เป็น​ดิน​ดอน​สาม​เหลี่ยม​ปาก​แม่น้ำ​โขง​ซึ่ง​กิน​อาณา​บริเวณ​กว้าง​ใหญ่​มาก.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ที่​ฤดู​ฝน​เริ่ม​ขึ้น บริเวณ​ที่​ลุ่ม​ต่ำ​แถบ​ดินดอน​สาม​เหลี่ยม​ก็​มี​น้ำ​เอ่อ​ท่วม. น้ำ​ที่​ไหล​บ่า​มา​ใน​ช่วง​ฤดู​ฝน​นี้​ไหล​ไป​ท่วม​ลำ​น้ำ​ที่​แห้ง​ขอด. ขณะ​ที่​ฝน​ยัง​โปรย​ปราย​ลง​มา​เรื่อย ๆ แม่น้ำ​โตนเลสาบ​ก็​เริ่ม​ไหล​ย้อน​กลับ โดย​ไหล​ย้อน​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​แทน​ที่​จะ​ไหล​ลง​ไป​ทาง​ใต้​ซึ่ง​เป็น​เส้น​ทาง​ตาม​ปกติ. โดย​วิธี​นี้ แม่น้ำ​ที่​มี​น้ำ​ท่วม​ตลิ่ง​ก็​ไหล​ย้อน​กลับ​ไป​จน​กระทั่ง​มัน​ไหล​ลง​สู่​ทะเลสาบ​โตนเลสาบ.

ทะเลสาบ​นี้​อยู่​ใน​ที่​ราบ​ซึ่ง​เป็น​แอ่ง​ตื้น ๆ ประมาณ 100 กิโลเมตร​จาก​พนมเปญ เมือง​หลวง​ของ​กัมพูชา. ใน​ช่วง​ฤดู​แล้ง ทะเลสาบ​นี้​จะ​มี​อาณา​เขต​ประมาณ 3,000 ตาราง​กิโลเมตร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ช่วง​ฤดู​ฝน น้ำ​จะ​เอ่อ​ท่วม​รอบ​บริเวณ​นั้น​จน​ทำ​ให้​มี​อาณา​เขต​เพิ่ม​ขึ้น​สี่​หรือ​ห้า​เท่า ทำ​ให้​ทะเลสาบ​แห่ง​นี้​กลาย​เป็น​ทะเลสาบ​น้ำ​จืด​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​เอเชีย​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้.

บริเวณ​ที่​เคย​เป็น​นา​ข้าว, ถนน​หน​ทาง, ต้น​ไม้, และ​หมู่​บ้าน ตอน​นี้​จม​มิด​อยู่​ใน​น้ำ. ชาว​ประมง​ซึ่ง​เคย​พาย​เรือ​อยู่​ใน​น้ำ​ที่​ลึก​เพียง​หนึ่ง​เมตร​ก็​กลับ​ต้อง​พาย​เรือ​เหนือ​ยอด​ไม้​ที่​สูง​ถึง 10 เมตร! ใน​ที่​อื่น ๆ น้ำ​ที่​ท่วม​เอ่อ​ล้น​ออก​ไป​อย่าง​กว้าง​ไกล​เช่น​นั้น​มัก​จะ​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​ภัย​พิบัติ. แต่​สำหรับ​ชาว​กัมพูชา พวก​เขา​มัก​จะ​ถือ​ว่า​นั่น​เป็น​ประโยชน์. เพราะ​เหตุ​ใด?

เมื่อ​น้ำ​ท่วม​กลาย​เป็น​ประโยชน์

การ​ไหล​ย้อน​กลับ​ของ​น้ำ​ใน​แม่น้ำ​โตนเลสาบ​ได้​ช่วย​พัด​พา​ตะกอน​ที่​อุดม​สมบูรณ์​ไป​ทับ​ถม​กัน​เป็น​ชั้น ๆ ใน​ทะเลสาบ​โตนเลสาบ. นอก​จาก​นี้ ปลา​เป็น​จำนวน​มาก​จะ​ว่าย​จาก​แม่น้ำ​โขง​ขึ้น​ไป​ที่​ทะเลสาบ และ​วาง​ไข่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มี​อาหาร​อุดม​สมบูรณ์. ที่​จริง ทะเลสาบ​โตนเลสาบ​เป็น​แหล่ง​ที่​มี​ปลา​น้ำ​จืด​ชุกชุม​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​โลก. หลัง​จาก​ที่​ฤดู​ฝน​ผ่าน​ไป ทะเลสาบ​ก็​แห้ง​เหือด​เร็ว​เสีย​จน​บาง​ครั้ง​ชาว​ประมง​สามารถ​เก็บ​ปลา​ที่​ติด​ค้าง​อยู่​ตาม​ต้น​ไม้​ได้!

น้ำ​ที่​เอ่อ​ท่วม​เป็น​ประจำ​ทุก​ปี​ทำ​ให้​เกิด​ระบบ​นิเวศ​ที่​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​อยู่​เสมอ. ต้น​ไม้​และ​พืช​พรรณ​อื่น ๆ ใน​บริเวณ​ที่​ราบ​น้ำ​ท่วม​ถึง​มี​วัฏจักร​การ​เจริญ​เติบโต​ต่าง​จาก​บริเวณ​ที่​ไม่​มี​น้ำ​ท่วม. ตาม​ปกติ​แล้ว​ต้น​ไม้​ใน​เขต​ร้อน​มัก​จะ​โต​ช้า ผลัด​ใบ​ใน​ช่วง​ฤดู​ร้อน และ​แตก​ยอด​ใหม่​ใน​ช่วง​ฤดู​ฝน. ตรง​กัน​ข้าม ต้น​ไม้​ใน​เขต​โตนเลสาบ​จะ​ไม่​ผลัด​ใบ​จน​กว่า​พวก​มัน​จะ​จม​มิด​อยู่​ใต้​น้ำ​ที่​ไหล​บ่า​มา​พร้อม​กับ​น้ำ​ฝน. และ​อัตรา​การ​เจริญ​เติบโต​ใน​ฤดู​ฝน​แทน​ที่​จะ​เร็ว​ขึ้น​ก็​กลับ​ช้า​ลง. หลัง​จาก​น้ำ​ลด​และ​ฤดู​แล้ง​เริ่ม​ขึ้น ต้น​ไม้​ก็​แตก​กิ่ง​ก้าน และ​ใบ​ก็​ผลิ​ออก​มา​อย่าง​รวด​เร็ว. เมื่อ​ทะเลสาบ​แห้ง​ลง พื้น​ดิน​บริเวณ​นั้น​จะ​มี​ใบ​ไม้​ที่​เน่า​เปื่อย​กอง​ทับ​ถม​อยู่​เป็น​ชั้น ๆ ซึ่ง​กลาย​เป็น​ปุ๋ย​สำหรับ​ต้น​ไม้​และ​พืช​ชนิด​อื่น ๆ ใน​ช่วง​ฤดู​แล้ง​ที่​ตาม​มา.

ชีวิต​บน​บ้าน​ใต้​ถุน​สูง​และ​บ้าน​ลอย​น้ำ

แล้ว​ผู้​คน​ล่ะ? ชาว​บ้าน​บาง​คน​ที่​อยู่​ใน​ทะเลสาบ​นี้​สร้าง​บ้าน​หลัง​เล็ก ๆ แบบ​ที่​มี​ใต้​ถุน​สูง. ใน​ช่วง​ฤดู​แล้ง ใต้​ถุน​บ้าน​เหล่า​นี้​สูง​จาก​พื้น​ดิน​ถึง 6 เมตร. แต่​ใน​ช่วง​ที่​น้ำ​ท่วม​สูง⁠สุด เรือ​หา​ปลา​และ​กะละมัง​ใบ​ใหญ่​ที่​บาง​ครั้ง​เอา​ไว้​ให้​เด็ก ๆ พาย​ไป​ไหน​มา​ไหน​ก็​มา​เทียบ​ถึง​หน้า​ประตู​บ้าน​เลย​ที​เดียว.

ส่วน​ชาว​บ้าน​บาง​คน​ก็​อาศัย​อยู่​ใน​บ้าน​ที่​สร้าง​บน​เรือ​หรือ​แพ. เมื่อ​ครอบครัว​ใหญ่​ขึ้น พวก​เขา​ก็​จะ​เอา​แพ​อีก​อัน​หนึ่ง​มา​ต่อ​เข้า​ด้วย​กัน แล้ว​บ้าน​ก็​ขยาย​ออก​ไป. ใน​ทะเลสาบ​นี้​มี​หมู่​บ้าน​ลอย​น้ำ​อยู่​ประมาณ 170 แห่ง.

ใน​ตอน​กลางวัน ทั้ง​คน​หนุ่ม​และ​คน​แก่​ต่าง​ก็​ออก​หา​ปลา​กัน โดย​ใช้​เครื่อง​ดัก​ปลา​และ​อวน. เมื่อ​ระดับ​น้ำ​สูง​ขึ้น​หรือ​ลด​ลง พวก​เขา​ก็​อาจ​จะ​เคลื่อน​ย้าย​บ้าน​หรือ​ทั้ง​หมู่​บ้าน​จาก​ตำแหน่ง​เดิม​ออก​ไป​หลาย​กิโลเมตร เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ยัง​คง​พัก​อาศัย​อยู่​ตาม​ริม​ทะเลสาบ หรือ​ใน​บริเวณ​ที่​สามารถ​จับ​ปลา​ได้​มาก​กว่า.

เรือ​ลำ​ยาว ๆ ก็​กลาย​เป็น​ร้าน​ขาย​ของชำ​หรือ​เป็น​ตลาด​น้ำ ซึ่ง​มี​ข้าวของ​หลาย​อย่าง​ที่​ชุมชน​นั้น​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน แม้​กระทั่ง​เป็น​เรือ​โดยสาร​สาธารณะ. พวก​เด็ก​นัก​เรียน​ก็​จะ​ไป​เรียน​ที่​โรง​เรียน​ลอย​น้ำ. ทุก​สิ่ง​สรรพ ตั้ง​แต่​ต้น​ไม้​ไป​จน​ถึง​ผู้​คน​ต่าง​ก็​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​จังหวะ​การ​ขึ้น​ลง​ของ​ระดับ​น้ำ​ใน​ดินแดน​ที่​แม่น้ำ​ไหล​ย้อน​กลับ.

[แผนที่​หน้า 23]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ฤดู​แล้ง

ฤดู​ฝน

กัมพูชา

ทะเลสาบ​โตนเลสาบ

แม่น้ำ​โตนเลสาบ

แม่น้ำ​โขง

พนมเปญ

แม่น้ำ​บาสัก

เวียดนาม

ดินดอน​สาม​เหลี่ยม​ปาก​แม่น้ำ​โขง

[ภาพ​หน้า 23]

เด็ก​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​กำลัง​พาย​เรือ​ไป​ตาม​แม่น้ำ​โตนเลสาบ

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​ของ​หมู่​บ้าน​เดียว​กัน ใน​ช่วง​ฤดู​แล้ง​และ​ใน​ช่วง​ฤดู​ฝน

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Map: Based on NASA/Visible Earth imagery; village photos: FAO/Gordon Sharpless