ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เปอร์โตริโก—ขุมทรัพย์ธรรมชาติกลางแสงตะวัน

เปอร์โตริโก—ขุมทรัพย์ธรรมชาติกลางแสงตะวัน

เปอร์โตริโก—ขุม​ทรัพย์​ธรรมชาติ​กลาง​แสง​ตะวัน

ใน​วัน​ที่ 19 พฤศจิกายน 1493 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส พร้อม​ด้วย​กอง​เรือ​สเปน​มา​ถึง​อ่าว​หนึ่ง​ใน​เกาะ​แคริบเบียน​ที่​เขียว​ชอุ่ม. ตอน​ที่​อยู่​ใน​อ่าว​นี้ เขา​ตั้ง​ชื่อ​เกาะ​นี้​ว่า ซานฮวน​เบาติสตา (นัก​บุญ​ยอห์น​ผู้​ให้​บัพติสมา). หลัง​จาก​แวะ​พัก​สั้น ๆ เพื่อ​เติม​เสบียง เขา​ก็​แล่น​เรือ​จาก​ไป​และ​ทำ​การ​สำรวจ​ใน​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สอง​ของ​เขา​ต่อ.

หาด​ทราย​สี​ทอง​ที่​เรียง​ราย​ไป​ด้วย​ต้น​ปาล์ม​และ​อุดม​ด้วย​พืช​พรรณ​ใน​เขต​ร้อน​ไม่​ได้​เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​สำหรับ​นัก​สำรวจ​ผู้​นี้. โคลัมบัส​มอง​หา​เกาะ​ที่​ใหญ่​กว่า​นั้น และ​สิ่ง​ที่​เขา​มุ่ง​มั่น​ค้น​หา​ก็​คือ​ขุม​ทรัพย์​อัน​ล้ำ​ค่า.

ปอนเซ เด เลออง ชาว​สเปน​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​บาง​คน​บอก​ว่า​เขา​เดิน​ทาง​มา​กับ​โคลัมบัส ตั้งใจ​ที่​จะ​กลับ​ไป​ยัง​เกาะ​นั้น ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ภาษา​พื้นเมือง​ว่า​โบริเกน. เนื่อง​จาก​ได้​ข่าว​ว่า​ชน​พื้นเมือง​สวม​ใส่​เครื่อง​ประดับ​ที่​เป็น​ทองคำ เขา​จึง​เชื่อ​ว่า​ภูเขา​บน​เกาะ​นี้​ต้อง​มี​ทองคำ. สิบ​ห้า​ปี​ต่อ​มา เขา​ก็​กลับ​มา​อ้าง​สิทธิ​ใน​การ​ขุด​หา​ทองคำ​บน​เกาะ​นี้. ใน​ปี 1521 ชาว​สเปน​ได้​ตั้ง​อาณานิคม​สำคัญ​ของ​พวก​เขา​ขึ้น​บน​ชายฝั่ง​ทาง​เหนือ​ของ​เกาะ​นี้. ปอนเซ เด เลออง เรียก​เมือง​ใหม่​นี้​ว่า​เปอร์โตริโก หมาย​ความ​ว่า “ท่า​เรือ​ที่​มั่งคั่ง” เนื่อง​จาก​เขา​คาด​หวัง​ว่า​จะ​พบ​ทองคำ​ปริมาณ​มหาศาล. *

การ​มอง​ใน​แง่​ดี​ของ​ปอนเซ เด เลออง ปรากฏ​ว่า​ไม่​มี​มูล​ความ​จริง. ทองคำ​เพียง​น้อย​นิด​ที่​พบ​ใน​เปอร์โตริโก​หมด​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว และ​ปัญหา​ทาง​การ​เมือง​ก็​เกิด​ขึ้น​มาก​มาย. ใน​ที่​สุด​ปอนเซ เด เลออง ก็​ออก​จาก​เกาะ​นี้​และ​ย้าย​ไป​อยู่​ใน​ที่​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​รัฐ​ฟลอริดา สหรัฐ​อเมริกา.

แม้​ว่า​เกาะ​นี้​จะ​มี​สิน​แร่​ที่​มี​ค่า​อยู่​ไม่​มาก​นัก แต่​ไม่​นาน​ชาว​สเปน​ก็​ตระหนัก​ว่า อ่าว​สำคัญ​ของ​เปอร์โตริโก​เป็น​ขุม​ทรัพย์​อัน​ล้ำ​ค่า. ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 16 พวก​เขา​ได้​เปลี่ยน​เมือง​หลวง​ของ​เกาะ​นี้​ให้​เป็น​ท่า​เรือ​ที่​ปลอด​ภัย​สำหรับ​การ​คุ้มครอง​เรือใบ​ขนาด​ใหญ่​ที่​ขน​ทองคำ​จาก​อเมริกา​กลาง​และ​ใต้​ไป​สเปน. จาก​นั้น​ไม่​นาน เมือง​ซานฮวน​ก็​กลาย​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า “ฐาน​ที่​มั่น​ที่​แข็งแรง​ที่​สุด​ของ​สเปน​ใน​อเมริกา.”

กำแพง​ที่​แข็งแรง​สูง 13 เมตร​และ​หนา​ถึง 6 เมตร รวม​ทั้ง​ป้อม​ปราการ​ขนาด​ยักษ์​สอง​ป้อม ล้วน​เป็น​พยาน​หลักฐาน​ที่​แสดง​ถึง​ความ​พยายาม​อย่าง​ใหญ่​หลวง​ของ​ชาว​เมือง​ซานฮวน​ที่​จะ​ปก​ป้อง​เมือง​ของ​พวก​เขา. ปัจจุบัน ซานฮวน​ยัง​คง​เป็น​เมือง​ท่า​แห่ง​หนึ่ง​ใน​แถบ​แคริบเบียน​ที่​ผู้​คน​นิยม​มา​แวะ​เยือน. นัก​ท่อง​เที่ยว​สามารถ​จินตนาการ​ได้​ว่า​ชีวิต​ใน​อาณานิคม​สมัย​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร ขณะ​ที่​พวก​เขา​เดิน​ชม​รอบ​กำแพง​เมือง​และ​สำรวจ​ดู​อาคาร​อัน​เก่า​แก่​เหล่า​นั้น.

ชม​เมือง​ซานฮวน​เก่า

เมือง​ที่​มี​กำแพง​ล้อม​อยู่​นั้น​เรียก​กัน​ว่า​เมือง​ซานฮวน​เก่า ซึ่ง​ต่าง​กัน​มาก​กับ​เมือง​ที่​คึกคัก​ทัน​สมัย​ที่​อยู่​รอบ ๆ นั้น. เมือง​ซานฮวน​เก่า​ดู​คล้าย ๆ กับ​เรือ​ที่​ลอย​อยู่​กลาง​มหาสมุทร. เนื่อง​จาก​มี​ทะเล​ห้อม​ล้อม​อยู่​แทบ​ทุก​ด้าน ส่วน​หัว​แหลม​ของ​ผืน​แผ่นดิน​หรือ “หัว​เรือ” ยื่น​ออก​ไป​ใน​มหาสมุทร​แอตแลนติก. บน​พื้น​ที่​รูป​ลิ่ม​อัน​เป็น​จุด​ยุทธศาสตร์​นี้​มี​ป้อม​เอลมอร์โร​ตั้ง​อยู่ นี่​เป็น​ป้อม​ปราการ​ที่​ชาว​สเปน​สร้าง​ไว้​เพื่อ​ป้องกัน​ปาก​อ่าว. ด้าน​หลัง​ป้อม​เอลมอร์โร​มี​กำแพง​กั้น​อยู่​ทั้ง​สอง​ด้าน​ตลอด​แนว​ชายฝั่ง​ทะเล​ที่​มี​ลักษณะ​แคบ​เป็น​คอ​คอด ซึ่ง​รูป​ร่าง​ของ​มัน​ก็​คล้าย ๆ กับ​หัว​เรือ. ประมาณ 1.6 กิโลเมตร​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก มี​ป้อม​ปราการ​ขนาด​ใหญ่​อีก​ป้อม​หนึ่ง​ตั้ง​อยู่​เรียก​ว่า​ซานกริสโตบาล ป้อม​นี้​มี​ไว้​เพื่อ​ป้องกัน “ท้าย​เรือ” จาก​การ​โจมตี​ใด ๆ ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ทาง​บก. ยูเนสโก​ได้​ประกาศ​ให้​เมือง​ซานฮวน​เก่า​ที่​อยู่​ระหว่าง​ป้อม​ปราการ​สอง​ป้อม​นี้​เป็น​มรดก​โลก​ใน​ปี 1983.

เมือง​เก่า​นี้​ได้​รับ​การ​บูรณะ​เป็น​อย่าง​ดี. ชาว​เมือง​ทาสี​บ้าน​ด้วย​สี​อ่อน​เย็น​ตา​ที่​ดู​มี​ชีวิต​ชีวา, ตกแต่ง​ระเบียง​ที่​มี​ราว​เหล็ก​ดัด​ด้วย​ดอกไม้​ที่​มี​สี​สัน​สวย​งาม, และ​แต่ง​เติม​ลาน​บ้าน​ด้วย​พันธุ์​ไม้​เขต​ร้อน. ก้อน​หิน​สี​เทา​อม​น้ำเงิน​ที่​ใช้​ทำ​ถนน​แคบ ๆ ใน​เมือง​ซานฮวน​นี้​ได้​มา​จาก​เหมือง​เหล็กใน​สเปน. กาก​ที่​ได้​จาก​เหมือง​แร่​ถูก​นำ​ไป​ทำ​เป็น​หิน​ปู​ถนน และ​เรือ​ของ​สเปน​ที่​แล่น​ไป​ยัง​เปอร์โตริโก​ก็​เอา​ไป​ใช้​ถ่วง​ท้อง​เรือ.

บน​กำแพง​ป้อม​ซานกริสโตบาล​ยัง​มี​ปืน​ใหญ่​อัน​เก่า​แก่​ของ​สเปน​ตั้ง​หัน​ปาก​กระบอก​ปืน​ออก​ไป​ทาง​ปาก​อ่าว. แทน​ที่​จะ​เป็น​เรือใบ​ของ​สเปน​ที่​บรรทุก​ทองคำ​มา ตอน​นี้​เรือ​ที่​เข้า​มา​ใน​ท่า​อยู่​เนือง ๆ กลับ​เป็น​เรือ​สำราญ​ลำ​ยักษ์​ที่​บรรทุก​นัก​ท่อง​เที่ยว. บรรยากาศ​ที่​ผ่อน​คลาย​และ​ความ​เป็น​มิตร​ของ​ชาว​เกาะ​ก็​ยิ่ง​ทำ​ให้​เมือง​นี้​เป็น​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ที่​นัก​ท่อง​เที่ยว​นิยม​มา​แวะ​เยือน​มาก​ขึ้น. ใน​เมือง​เก่า​นี้​ยวดยาน​ต้อง​หยุด​ให้​คน​เดิน​ถนน​ไป​ก่อน ดัง​นั้น คน​ขับ​รถ​ที่​ใจ​เย็น​จึง​มัก​จะ​คอย​ด้วย​ความ​อด​ทน ขณะ​ที่​นัก​ท่อง​เที่ยว​ลง​มา​ยืน​ถ่าย​รูป​กัน​บน​ถนน.

สี่​ระบบ​นิเวศ​สำคัญ​ที่​ควร​ค่า​แก่​การ​ปก​ป้อง

แม้​ว่า​ประชากร​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​เกาะ​นี้​จะ​อาศัย​อยู่​ใน​ย่าน​เมือง​ซานฮวน แต่​ที่​เปอร์โตริโก​ก็​มี​สิ่ง​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​อื่น ๆ หลาย​อย่าง. เกาะ​นี้​อาจ​จะ​ค่อนข้าง​เล็ก แต่​สภาพ​ภูมิอากาศ​และ​ภูมิ​ประเทศ​ที่​หลาก​หลาย​ก็​ทำ​ให้​มัน​เป็น​ที่​ที่​เหมาะ​สำหรับ​การ​เจริญ​เติบโต​ของ​พืช​และ​สัตว์​นานา​ชนิด. ต่อ​ไป​นี้​เป็น​เพียง​ระบบ​นิเวศ​สี่​ตัว​อย่าง​ที่​ไม่​เหมือน​ที่​ใด ๆ ซึ่ง​พวก​เจ้าหน้าที่​ใน​เปอร์โตริโก​พยายาม​จะ​สงวน​รักษา​ไว้.

อุทยาน​แห่ง​ชาติ​เอลยุงเก เป็น​เขต​ป่า​สงวน​ที่​เป็น​ป่า​ดิบ​ชื้น​แห่ง​หนึ่ง​ใน​แค่​ไม่​กี่​แห่ง​ที่​เหลือ​อยู่​ใน​แถบ​ทะเล​แคริบเบียน. ป่า​สงวน​นี้​มี​น้ำ​ตก​เสริม​แต่ง​ไหล่​เขา​ให้​ดู​งดงาม. ต้น​ออเรนจ์ โบรมีเลียด ออก​ดอก​บาน​สะพรั่ง​จน​ทำ​ให้​ต้น​ไม้​ที่​เขียว​ชอุ่ม​ใน​ป่า​ดิบ​เขา​ซึ่ง​มี​เมฆ​ปก​คลุม​นั้น​ดู​สดใส​ขึ้น ขณะ​ที่​ต้น​เฟิร์น​ยักษ์​ก็​เบียด​พื้น​ที่​แข่ง​กับ​ต้น​ไลนา​และ​ต้น​ปาล์ม. แม้​ว่า​จะ​ใกล้​สูญ​พันธุ์ แต่​นก​แก้ว​เปอร์โตริโก​ก็​ยัง​สามารถ​รอด​ชีวิต​อยู่​ได้​ใน​ป่า​สงวน​แห่ง​นี้ และ​โกกี หรือ​กบ​เปอร์โตริโก​ตัว​กระจ้อยร่อย​ที่​อาศัย​อยู่​บน​ต้น​ไม้​ซึ่ง​เป็น​สัญลักษณ์​อย่าง​หนึ่ง​ของ​เกาะ​นี้ ก็​ได้​ขับ​กล่อม​พง​ไพร​ด้วย​เสียง​ร้อง​อัน​ไพเราะ​ของ​มัน​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน.

เมื่อ​มอง​จาก​ระยะ​ไกล ไหล่​เขา​ของ​เอลยุงเก ดู​ราว​กับ​มี​ผ้า​คลุม​หน้า​สี​เงิน​ปิด​คลุม​อยู่. สี​ที่​มอง​เห็น​นั้น​เป็น​สี​จาก​ใบ​ของ​ต้น​ไม้​ที่​มี​ชื่อ​ว่า​ยากรูโม ซึ่ง​เป็น​ต้น​ไม้​ชนิด​หนึ่ง​ที่​งอก​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว หลัง​จาก​ที่​อุทยาน​แห่ง​นี้​ถูก​พายุ​เฮอร์ริเคน​ฮูโก​ถล่ม​จน​ย่อยยับ​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน. ต้น​พืช​ที่​งอก​ขึ้น​ใหม่​นี้​เป็น​สัญญาณ​ที่​ดี. นัก​ชีววิทยา​ของ​อุทยาน​คน​หนึ่ง​อธิบาย​ว่า “ป่า​สามารถ​ฟื้น​ตัว​จาก​ภัย​ธรรมชาติ​ได้​โดย​ที่​ไม่​ต้อง​ช่วย​อะไร​มาก​นัก. สิ่ง​ที่​เป็น​ภยันตราย​จริง ๆ ก็​คือ​การ​ที่​มนุษย์​เข้า​ไป​รุก​ป่า.” อุทยาน​นี้​มี​ต้น​ไม้​ชนิด​ต่าง ๆ ประมาณ 225 ชนิด, เฟิร์น 100 ชนิด, และ​กล้วยไม้ 50 ชนิด. เนื่อง​จาก​อุดม​ด้วย​พืช​พรรณนา​นา ป่า​สงวน​แห่ง​นี้​จึง​ถูก​จัด​ให้​เป็น​เขต​สงวน​ชีวมณฑล​แห่ง​หนึ่ง​ของ​สหประชาชาติ.

เขต​สงวน​ชีวมณฑล​กัวนิกา. เป็น​ไป​ได้​ว่า​ป่า​แล้ง​ใน​เขต​ร้อน​ของ​โลก​ยัง​มี​เหลือ​อยู่​แค่ 1 เปอร์เซ็นต์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เด่น​ชัด​มาก เพียง​ขับ​รถ​จาก​เอลยุงเก​ไป​อีก​แค่​ไม่​กี่​ชั่วโมง​เท่า​นั้น. นัก​พฤกษศาสตร์​บาง​คน​พรรณนา​ว่า กัวนิกา​อาจ​จะ​เป็น “ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​โลก​ของ​พรรณ​ไม้​ป่า​แล้ง​กึ่ง​เขต​ร้อน.” เขต​สงวน​นี้​เป็น​ถิ่น​อาศัย​ของ​นก​ประจำ​ถิ่น​ส่วน​ใหญ่​ที่​อยู่​บน​เกาะ​เปอร์โตริโก รวม​ทั้ง​พืช​ต่าง ๆ 750 ชนิด ซึ่ง 7 เปอร์เซ็นต์​ของ​พืช​เหล่า​นั้น​เกือบ​จะ​สูญ​พันธุ์​แล้ว. ดอกไม้​แปลก ๆ ดึงดูด​นก​ฮัมมิงเบิร์ด​และ​ฝูง​ผีเสื้อ​ให้​มาด​อม​ดม. บริเวณ​ชาย​ป่า​แล้ง​เป็น​ชายฝั่ง​ทะเล​อัน​ยาว​เหยียด​ที่​ยัง​อุดม​สมบูรณ์​อยู่ ซึ่ง​เต่า​ตนุ​และ​เต่า​มะ​เฟือง​ขึ้น​มา​วาง​ไข่​ของ​มัน​ที่​นี่.

ป่า​ชาย​เลน​และ​พืด​หิน​ปะการัง. เขต​สงวน​กัวนิกา​ยัง​มี​ป่า​ชาย​เลน​ทอด​ตัว​ยาว​อยู่​ตาม​แนว​ชายฝั่ง​ด้วย. เจ้าหน้าที่​อุทยาน​คน​หนึ่ง​อธิบาย​ว่า “เขต​สงวน​ของ​เรา​ช่วย​ปก​ปัก​รักษา​ป่า​ชาย​เลน​ให้​อุดม​สมบูรณ์ เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ของ​เสีย​จาก​โรง​งาน​อุตสาหกรรม​หรือ​การ​ทำ​เกษตรกรรม​ไหล​ไป​ที่​นั่น. และ​ป่า​ชาย​เลน​ก็​เป็น​แหล่ง​เพาะ​พันธุ์​ที่​ดี​เยี่ยม​สำหรับ​ปลา​หลาย​ชนิด​ที่​ชอบ​อาศัย​อยู่​ตาม​พืด​หิน​ปะการัง.” แหล่ง​ท่อง​เที่ยว​อื่น ๆ ที่​น่า​ประทับใจ​เป็น​พิเศษ​ซึ่ง​พึ่ง​อาศัย​ป่า​ชาย​เลน​อัน​อุดม​สมบูรณ์​นี้​ก็​คือ​อ่าว​ที่​เรือง​แสง​ได้ ซึ่ง​หลาย​อ่าว​ก็​มี​อยู่​ที่​เปอร์โตริโก​ด้วย.—โปรด​ดู​ กรอบ​ข้าง​ล่าง​นี้.

มี​การ​ห้าม​การ​จับ​ปลา​มาก​เกิน​ไป​บริเวณ​พืด​หิน​ปะการัง​นอก​ชายฝั่ง และ​มี​การ​ประกาศ​ให้​หลาย​อ่าว​รวม​ทั้ง​แนว​ปะการัง​ใต้​ทะเล​เป็น​อุทยาน​แห่ง​ชาติ. อุทยาน​ที่​อยู่​ใต้​น้ำ​เหล่า​นี้​เป็น​ภาพ​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​สำหรับ​นัก​ดำ​น้ำ​ทั้ง​หลาย ซึ่ง​สามารถ​มอง​เห็น​เต่า​ทะเล​และ​มานา​ที (สัตว์​คล้าย​พะยูน) ได้​อย่าง​เต็ม​ตา รวม​ทั้ง​ปลา​ที่​มี​สี​สัน​สวย​งาม​มาก​มาย​หลาก​หลาย​ชนิด.

แม้​ว่า​เปอร์โตริโก​จะ​ไม่​น่า​ประทับใจ​สำหรับ​โคลัมบัส และ​ทำ​ให้​นัก​ล่า​อาณานิคม​ที่​ต้องการ​แสวง​หา​ความ​มั่งคั่ง​รู้สึก​ผิด​หวัง แต่​เปอร์โตริโก​ก็​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​นัก​ท่อง​เที่ยว​ใน​สมัย​ปัจจุบัน. สำหรับ​พวก​เขา​แล้ว เปอร์โตริโก​เต็ม​ไป​ด้วย​ขุม​ทรัพย์​ทาง​ธรรมชาติ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ความ​เข้าใจ​ผิด​ใน​หมู่​นัก​ทำ​แผนที่​ก็​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สับสน​ระหว่าง​ชื่อ​ของ​เกาะ​กับ​เมือง​สำคัญ​ของ​เกาะ​นี้. ตั้ง​แต่​นั้น​เป็น​ต้น​มา เปอร์โตริโก​ซึ่ง​ควร​จะ​เป็น​ชื่อ​ของ​เมือง​หลวง​ก็​กลับ​กลาย​เป็น​ชื่อ​ของ​เกาะ ส่วน​ซานฮวน​ซึ่ง​เดิม​เคย​เป็น​ชื่อ​ของ​เกาะ​ก็​กลาย​เป็น​ชื่อ​ของ​เมือง​หลวง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16]

หอ​ดู​ดาว​ที่​โดด​เด่น​กว่า​ที่​ใด ๆ

สถาน​ที่​ที่​ควร​ไป​แวะ​ชม​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ก็​คือ​หอ​ดู​ดาว​อาเรซีโบ ห่าง​จาก​เมือง​ซานฮวน​ออก​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​ประมาณ 80 กิโลเมตร. หอ​นี้​มี​กล้อง​โทรทรรศน์​คลื่น​วิทยุ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก คือ​มี​จาน​หรือ​ตัว​สะท้อน​คลื่น​ซึ่ง​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง 305 เมตร. ขนาด​ของ​กล้อง​โทรทรรศน์​นี้​ทำ​ให้​นัก​ดาราศาสตร์​สามารถ​มอง​เห็น​วัตถุ​ต่าง ๆ ที่​กล้อง​ตัว​อื่น ๆ ไม่​สามารถ​จับ​ภาพ​ได้.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Arecibo Observatory/ David Parker/Science Photo Library

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

 “แหวก​ว่าย​อยู่​ใน​ทะเล​ดาว”

บน​เกาะ​เวียเกส ใกล้​ชายฝั่ง​ของ​เกาะ​เปอร์โตริโก มี​ทาง​น้ำ​เข้า​เล็ก ๆ ที่​เรียก​กัน​ว่า อ่าว​ไบโอลูมิเนสเซนต์ (อ่าว​เรือง​แสง​ชีวภาพ). อ่าว​นี้​ได้​ชื่อ​เช่น​นั้น​ก็​เพราะ​มัน​มี​สิ่ง​มี​ชีวิต​ใน​ทะเล​ที่​เรือง​แสง​ได้​อยู่​อย่าง​หนา​แน่น​ที่​สุด​ใน​โลก. เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​มี​การ​รบกวน​สิ่ง​มี​ชีวิต​ขนาด​จิ๋ว​เหล่า​นี้​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ไดโนแฟลเจลเลต มัน​จะ​เรือง​แสง​ขึ้น​มา​เป็น​สี​ฟ้า​อม​เขียว. ลักษณะ​เด่น​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เกิด​ภาพ​ที่​น่า​พิศวง​ภาพ​หนึ่ง​ใน​ธรรมชาติ.

สิ่ง​แรก​ที่​พวก​นัก​ท่อง​เที่ยว​มอง​เห็น​เมื่อ​มา​ที่​ทะเลสาบ​น้ำ​เค็ม​แห่ง​นี้​ใน​ตอน​กลางคืน​ก็​คือ​การ​เรือง​แสง เมื่อ​ปลา​ที่​ตกใจ​รีบ​ว่าย​หนี​เรือ​ของ​พวก​เขา. ทาง​ที่​ปลา​แหวก​ว่าย​ไป​ซึ่ง​สว่างไสว​ขึ้น​ท่ามกลาง​น้ำ​ที่​มืด​มิด​นั้น​ดู​ราว​กับ​หมู่​ดาว​ตก​สี​เขียว. เมื่อ​นัก​ท่อง​เที่ยว​ลง​ไป​ว่าย​น้ำ ทุก​อิริยาบถ​ที่​พวก​เขา​เคลื่อน​ไหว​ก็​สามารถ​มอง​เห็น​ได้​ท่ามกลาง​ความ​มืด. เมื่อ​พวก​เขา​ชู​แขน​ขึ้น​เหนือ​น้ำ น้ำ​ที่​หยด​ลง​มา​ก็​ดู​ไม่​ต่าง​อะไร​กับ​ประกาย​ดาว​อัน​ระยิบระยับ. นัก​ท่อง​เที่ยว​คน​หนึ่ง​ร้อง​ออก​มา​ว่า “เหมือน​กับ​ว่า​เรา​กำลัง​แหวก​ว่าย​อยู่​ใน​ทะเล​ดาว​เลย!”

[ภาพ​หน้า 15]

เอลมอร์โร

[ภาพ​หน้า 15]

ทิวทัศน์​ของ​เมือง​ซานฮวน​เก่า​เมื่อ​มอง​จาก​ซานกริสโตบาล

[ภาพ​หน้า 15]

เมือง​ซานฮวน​เก่า

[ภาพ​หน้า 16]

เฟิร์น​ต้น​หนึ่ง​ใน​ป่า​ดิบ​เอลยุงเก

[ภาพ​หน้า 16, 17]

ชายฝั่ง​ทะเล​ใน​กัวนิกา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]© Heeb Christian/age fotostock

[ภาพ​หน้า 17]

นก​แก้ว​เปอร์โตริโก

[ภาพ​หน้า 17]

พืด​หิน​ปะการัง

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

Passport Stock/age fotostock

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

All photos: Passport Stock/age fotostock

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 17]

Parrots: U.S. Geological Survey/Photo by James W. Wiley; reef: © Stuart Westmorland 2005; swimmer: Steve Simonsen