ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เสียงเงียบที่มีผู้ได้ยิน

เสียงเงียบที่มีผู้ได้ยิน

เสียง​เงียบ​ที่​มี​ผู้​ได้​ยิน

ดิฉัน​ให้​กำเนิด​ลูก​สาว​ชื่อ​ฮิลลารี หลัง​จาก​ที่​ตั้ง​ครรภ์​ตาม​ปกติ. เธอ​ดู​แข็งแรง​สมบูรณ์​ดี แต่​แพทย์​พบ​ว่า​เธอ​เป็น​โรค​ปาก​แหว่ง​เพดาน​โหว่. แพทย์​บอก​ว่า​รอย​แยก​ใน​เพดาน​อ่อน​ชนิด​นี้​ปกติ​แล้ว​แก้ไข​ได้​ง่าย ๆ โดย​การ​ผ่าตัด​ตอน​ที่​เด็ก​อายุ​ประมาณ​สอง​ขวบ. ปัญหา​เร่ง​ด่วน​เพียง​อย่าง​เดียว​ก็​คือ เธอ​ไม่​สามารถ​ดูด​นม​ได้​สะดวก. เมื่อ​เพดาน​ปาก​ส่วน​หนึ่ง​โหว่​ไป เธอ​ก็​ไม่​สามารถ​ดูด​นม​ได้​เหมือน​เด็ก​ทั่ว ๆ ไป.

ใน​ช่วง​สาม​เดือน​แรก ฮิลลารี​ต้อง​อาศัย​การ​ป้อน​นม​ใส่​ปาก​เธอ. พอ​เดือน​ที่​สี่ เธอ​ก็​เรียน​รู้​โดย​วิธี​ใด​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ปิด​รู​จมูก​ไม่​ให้​อากาศ​เข้า​ไป. วิธี​นี้​ทำ​ให้​เธอ​ดูด​นม​ได้. ช่าง​โล่ง​อก​จริง ๆ! ไม่​นาน ฮิลลารี​ก็​เริ่ม​มี​น้ำหนัก​เพิ่ม​ขึ้น และ​ทุก​สิ่ง​ดู​เหมือน​เป็น​ปกติ​ดี. เธอ​ใช้​มือ​จับ​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ ได้. นอก​จาก​นี้​เธอ​ยัง​ส่ง​เสียง​อ้อ​แอ้​และ​หัด​นั่ง​ได้​ด้วย.

อาการ​ลึกลับ​ปรากฏ​ขึ้น

เมื่อ​ถึง​วัย​ที่​ฮิลลารี​น่า​จะ​เริ่ม​คลาน ดู​เหมือน​เธอ​ไม่​อยาก​หัด​คลาน. ตัว​อย่าง​เช่น แทน​ที่​เธอ​จะ​ใช้​แขน​และ​หัวเข่า​ดัน​ตัว​ขึ้น เธอ​จะ​นั่ง​กับ​พื้น​แล้ว​ถัด​ตัว​ไป​รอบ ๆ. นี่​ทำ​ให้​ดิฉัน​งง​มาก เพราะ​พฤติกรรม​ของ​เธอ​แตกต่าง​อย่าง​มาก​จาก​สิ่ง​ที่​ลอรี​ลูก​สาว​คน​โต​ของ​ดิฉัน​เคย​ทำ ตอน​ที่​เธอ​อยู่​ใน​วัย​เดียว​กัน​นั้น. เมื่อ​คุย​กับ​แม่​คน​อื่น ๆ ดิฉัน​จึง​ได้​ทราบ​ว่า เด็ก​ที่​สมบูรณ์​แข็งแรง​ดี​บาง​คน​ไม่​เคย​คลาน​เลย. หลัง​จาก​ได้​ยิน​เช่น​นั้น ดิฉัน​ก็​ไม่​ได้​กังวล​อะไร​มาก​นัก​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ของ​ฮิลลารี.

ตอน​ที่​ฮิลลารี​อายุ​จวน​จะ​ครบ​หนึ่ง​ขวบ เธอ​พูด​ได้​เพียง​ไม่​กี่​คำ. เรื่อง​นี้​ก็​ดู​แปลก​อยู่​บ้าง ทว่า เด็ก​ก็​ไม่​ได้​เหมือน​กัน​ทุก​คน และ​การ​หัด​พูด​ของ​เด็ก​บาง​คน​ก็​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​มาก​กว่า​เด็ก​คน​อื่น ๆ. นอก​จาก​นี้ ฮิลลารี​ยัง​ไม่​พยายาม​ที่​จะ​หัด​เดิน​หรือ​หัด​ยืน​เลย. ดิฉัน​พา​ฮิลลารี​ไป​พบ​กุมาร​แพทย์​ซึ่ง​บอก​ว่า ลูก​ดิฉัน​ไม่​ยอม​หัด​เดิน​เพราะ​เธอ​เท้า​แบน. ใน​ช่วง​สอง​เดือน​ถัด​มา เธอ​ก็​ยัง​ไม่​พยายาม​ที่​จะ​หัด​ยืน.

เรา​ไป​พบ​แพทย์​อีก และ​คราว​นี้​แพทย์​บอก​ว่า​ฮิลลารี​ขี้​เกียจ. เมื่อ​เธอ​อายุ 18 เดือน เธอ​ไม่​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​เดิน​ได้​เลย​แถม​เธอ​ยัง​เลิก​ใช้​คำ​สอง​สาม​คำ​ที่​เธอ​เคย​พูด​ได้​แล้ว. ดิฉัน​โทร​ไป​หา​กุมาร​แพทย์​แล้ว​บอก​เขา​ว่า ลูก​สาว​ของ​ดิฉัน​ต้อง​มี​อะไร​ผิด​ปกติ​แน่ ๆ. เรา​นัด​กับ​ประสาท​แพทย์​คน​หนึ่ง. เขา​สั่ง​ให้​ทำ​การ​ทดสอบ​หลาย​อย่าง รวม​ทั้ง​การ​ตรวจ​คลื่น​สมอง (อีอีจี) ซึ่ง​ทำ​ให้​แพทย์​สามารถ​วิเคราะห์​คลื่น​ไฟฟ้า​ของ​สมอง​ได้. การ​ตรวจ​คลื่น​สมอง​แสดง​ว่า​เธอ​เคย​มี​อาการ​ชัก. แพทย์​คน​นั้น​ยัง​บอก​ด้วย​ว่า เธอ​มี​ลักษณะ​ทาง​กาย​บาง​อย่าง รวม​ทั้ง​มี​ปาน​สี​กาแฟ​ใส่​นม​หลาย​ตำแหน่ง ซึ่ง​สี​ของ​ผิวหนัง​บริเวณ​นั้น​มัก​จะ​เป็น​สี​น้ำตาล​อ่อน และ​ตา​ของ​เธอ​ก็​มี​ลักษณะ​บาง​อย่าง​ที่​มัก​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​โรค​ทาง​ระบบ​ประสาท. แน่นอน​ว่า ฮิลลารี​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ผิด​ปกติ แต่​ประสาท​แพทย์​คน​ดัง​กล่าว​ก็​ไม่​สามารถ​อธิบาย​ได้​ว่า​ความ​ผิด​ปกติ​นั้น​คือ​อะไร.

ขณะ​ที่​การ​ทดสอบ​หลาย​ครั้ง​บ่ง​ชี้​ว่า​ฮิลลารี​เคย​มี​อาการ​ชัก แต่​เรา​ก็​ไม่​เคย​เห็น​อะไร​เลย​ที่​บ่ง​ชี้​ว่า​เธอ​เคย​ชัก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​ปัญหา​อย่าง​อื่น​ที่​สังเกต​เห็น​ได้. เธอ​จะ​ร้องไห้​งอ​แง​นาน​มาก​แทบ​ทุก​วัน. สิ่ง​เดียว​ที่​ดู​เหมือน​จะ​ช่วย​ได้​ก็​คือ การ​พา​เธอ​นั่ง​รถ​วน​ไป​วน​มา​อยู่​แถว ๆ บ้าน แล้ว​ก็​ร้อง​เพลง​กล่อม​เธอ. เรา​ขับ​รถ​พา​เธอ​วน​ไป​วน​มา​หลาย​รอบ​เสีย​จน​เพื่อน​บ้าน​ถาม​เรา​ว่า ทำไม​เรา​ชอบ​ขับ​รถ​ผ่าน​หน้า​บ้าน​เขา​อยู่​เรื่อย!

ตอน​ที่​ฮิลลารี​อายุ​สอง​ขวบ เธอ​เริ่ม​เคลื่อน​ไหว​มือ​แบบ​แปลก ๆ คือ​เธอ​จะ​เอา​มือ​ตี​ปาก​เป็น​จังหวะ ๆ อยู่​ตลอด​เวลา. ใน​ที่​สุด เธอ​ก็​ทำ​เช่น​นั้น​แทบ​จะ​ไม่​หยุด​เลย​ระหว่าง​ช่วง​ที่​เธอ​ตื่น​อยู่. นอก​จาก​นี้ เธอ​ยัง​ต้อง​เจอ​กับ​ปัญหา​เรื่อง​การ​นอน​หลับ​ยาก. บาง​ครั้ง​เธอ​จะ​นอน​หลับ​แค่​งีบ​หนึ่ง​ใน​ตอน​บ่าย แล้ว​เธอ​ก็​ตื่น​ตลอด​ทั้ง​คืน.

ฮิลลารี​ชอบ​ฟัง​เพลง. เธอ​จะ​เฝ้า​ดู​การ​แสดง​ดนตรี​ของ​เด็ก ๆ ทาง​ทีวี​เป็น​เวลา​หลาย​ชั่วโมง. แต่​ปัญหา​ทาง​ระบบ​ประสาท​ของ​เธอ​ดู​เหมือน​จะ​ยิ่ง​แย่​ลง. เธอ​เริ่ม​มี​อาการ​หายใจ​ผิด​ปกติ​บาง​อย่าง เช่น การ​หายใจ​เร็ว​เป็น​พัก ๆ และ​การ​กลั้น​หายใจ. บาง​ครั้ง​เธอ​กลั้น​หายใจ​จน​ปาก​กลาย​เป็น​สี​ม่วง. นั่น​ทำ​ให้​เรา​ตกใจ​จริง ๆ.

เรา​ลอง​ใช้​ยา​บาง​อย่าง​ที่​รักษา​อาการ​ชัก แต่​นั่น​ดู​เหมือน​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​อื่น ๆ ตาม​มา. จาก​จุด​นั้น เรา​พยายาม​หา​วิธี​รักษา​หลาย ๆ ทาง คือ​หา​แพทย์​หลาย​คน, ทำ​การ​ทดสอบ​มาก​ขึ้น, ใช้​ทั้ง​การ​แพทย์​แผน​ปัจจุบัน​และ​การ​แพทย์​ทาง​เลือก รวม​ทั้ง​ไป​พบ​ผู้​เชี่ยวชาญ​เฉพาะ​ทาง. นอก​จาก​จะ​ไม่​รู้​วิธี​รักษา​แล้ว พวก​เขา​ยัง​วินิจฉัย​โรค​ไม่​ได้​ด้วย.

ใน​ที่​สุด​ความ​ลับ​ก็​ได้​รับ​การ​เปิด​เผย

เมื่อ​ฮิลลารี​อายุ​ประมาณ​ห้า​ขวบ เพื่อน​สนิท​ของ​ดิฉัน​คน​หนึ่ง​ได้​อ่าน​บทความ​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ท้องถิ่น​ของ​เธอ​เกี่ยว​กับ​เด็ก​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​พันธุกรรม​ชนิด​ที่​ไม่​ค่อย​มี​ใคร​รู้​จัก ซึ่ง​เรียก​ว่า​กลุ่ม​อาการ​เรทท์ (เรทท์ ซินโดรม หรือ​โรค​อาร์เอส). เพื่อน​ของ​ดิฉัน​รู้​ว่า​ฮิลลารี​มี​อาการ​คล้าย ๆ กัน ดัง​นั้น เธอ​จึง​ส่ง​บทความ​ดัง​กล่าว​มา​ให้​ดิฉัน.

เมื่อ​ได้​ข้อมูล​แล้ว เรา​ก็​ไป​พบ​ประสาท​แพทย์​อีก​คน​หนึ่ง ซึ่ง​มี​ประสบการณ์​ใน​ด้าน​นี้. ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1990 พวก​นัก​วิจัย​ค่อนข้าง​แน่​ใจ​ว่า อาร์เอส คือ​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​พันธุกรรม​อย่าง​หนึ่ง เนื่อง​จาก​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​โรค​นี้​มัก​จะ​เป็น​ใน​เด็ก​ผู้​หญิง. แต่​ยีน​ที่​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​อาร์เอส​ก็​ยัง​ไม่​มี​การ​ค้น​พบ และ​หลาย​คน​ที่​เป็น​โรค​นี้​ก็​มี​อาการ​คล้าย​กับ​คน​ที่​เป็น​โรค​ออทิซึม หรือ​โรค​อัมพาต​สมอง​ใหญ่. ดัง​นั้น โรค​อาร์เอส​จึง​ต้อง​วินิจฉัย​โดย​ดู​จาก​อาการ​ต่าง ๆ ของ​โรค. ฮิลลารี​มี​อาการ​เหล่า​นั้น​แทบ​ทุก​อย่าง. ประสาท​แพทย์​ได้​ยืน​ยัน​การ​วินิจฉัย​ว่า​เธอ​เป็น​โรค​อาร์เอส.

ดิฉัน​เริ่ม​อ่าน​ทุก​สิ่ง​ที่​เกี่ยว​กับ​โรค​นี้ ซึ่ง​ใน​ตอน​นั้น​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​โรค​นี้​ก็​ยัง​มี​ไม่​มาก​นัก. ดิฉัน​ได้​รู้​ว่า โรค​อาร์เอส​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​ทารก​เพศ​หญิง​ที่​คลอด​ออก​มา​ประมาณ 1 คน​ใน​ทุก ๆ 10,000 ถึง 15,000 คน แล้ว​ก็​ยัง​ไม่​มี​ใคร​รู้​วิธี​รักษา​หรือ​วิธี​บำบัด​โรค​นี้​โดย​เฉพาะ. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​บาง​สิ่ง​ที่​ดิฉัน​ไม่​น่า​จะ​รับ​รู้​เลย คือ​ดิฉัน​ได้​รู้​ว่า​เด็ก​ผู้​หญิง​เพียง​ไม่​กี่​เปอร์เซ็นต์​ที่​เป็น​โรค​เรทท์​จะ​เสีย​ชีวิต​แบบ​ที่​ไม่​สามารถ​อธิบาย​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ดิฉัน​ได้​เรียน​รู้​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​โล่ง​ใจ​ขึ้น. ดิฉัน​จะ​เล่า​ให้​ฟัง. ความ​พิการ​ระดับ​พื้น​ฐาน​ของ​คน​ที่​เป็น​โรค​อาร์เอส​เรียก​ว่า​อะแพรกเซีย (apraxia). หนังสือ​คู่มือ​เรทท์ ซินโดรม (ภาษา​อังกฤษ) นิยาม​ไว้​ดัง​นี้: “อะแพรกเซีย​คือ สภาวะ​ที่​สมอง​ไม่​สามารถ​สั่ง​ร่าง​กาย​ให้​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ได้​อย่าง​ที่​ต้องการ. นี่​เป็น​ความ​พิการ​ขั้น​พื้น​ฐาน​ที่​สุด​ที่​พบ​ใน​โรค​อาร์เอส และ​ยัง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เคลื่อน​ไหว​ร่าง​กาย​ทั้ง​หมด ตลอด​จน​การ​พูด​และ​การ​บังคับ​สายตา. แม้​เด็ก​ผู้​หญิง​ที่​เป็น​เรทท์ ซินโดรม จะ​สามารถ​เคลื่อน​ไหว​ได้ แต่​ก็​ไม่​สามารถ​สั่ง​ร่าง​กาย​ได้​ว่า​จะ​เคลื่อน​ไหว​อย่าง​ไร​และ​เมื่อ​ไร. เด็ก​อาจ​จะ​อยาก​และ​ต้องการ​ขยับ​ตัว แต่​ก็​ไม่​สามารถ​สั่ง​ร่าง​กาย​ได้.”

ทำไม​การ​รู้​เรื่อง​นี้​จึง​ช่วย​ให้​รู้สึก​โล่ง​ใจ? เพราะ​อะแพรกเซีย​ไม่​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​สติ​ปัญญา ที่​จริง อะแพรกเซีย​ปิด​ซ่อน สติ​ปัญญา​เอา​ไว้ เนื่อง​จาก​มัน​ทำ​ให้​คน​นั้น​แทบ​จะ​ไม่​สามารถ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​กับ​คน​อื่น ๆ ได้​เลย. ดิฉัน​รู้สึก​เสมอ​ว่า​ฮิลลารี​สามารถ​รับ​รู้​ทุก​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​รอบ ๆ ตัว​เธอ แต่​เนื่อง​จาก​สื่อ​ความ​กัน​ไม่​ได้ ดิฉัน​จึง​ไม่​อาจ​รู้​ได้​แน่นอน​จริง ๆ.

เนื่อง​จาก​อะแพรกเซีย​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​การ​เคลื่อน​ไหว​และ​การ​พูด ฮิลลารี​จึง​สูญ​เสีย​ความ​สามารถ​ใน​การ​เดิน​และ​การ​พูด. นอก​จาก​นี้ เด็ก​ผู้​หญิง​หลาย​คน​ที่​เป็น​โรค​อาร์เอส​ยัง​มี​ปัญหา​เรื่อง​อาการ​ชัก, อาการ​กระดูก​สัน​หลัง​คด, การ​กัด​ฟัน, และ​ปัญหา​ทาง​กาย​อื่น ๆ อีก​หลาย​อย่าง. ฮิลลารี​ก็​มี​ปัญหา​แบบ​เดียว​กัน​นั้น.

ความ​หวัง​ที่​แน่นอน

เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​มี​การ​ค้น​พบ​ยีน​ที่​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​อาร์เอส. ที่​จริง ยีน​ตัว​นี้​เป็น​ยีน​ที่​มี​ความ​สลับ​ซับซ้อน​มาก คือ​เป็น​ยีน​ตัว​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​หน้า​ที่​ควบคุม​ยีน​ตัว​อื่น ๆ โดย​จะ​สั่ง​ให้​ยีน​ตัว​ที่​ไม่​ได้​ใช้​แล้ว​หยุด​ทำ​งาน. ปัจจุบัน​นี้​กำลัง​มี​การ​ค้นคว้า​อย่าง​ละเอียด โดย​มี​เป้าหมาย​ที่​จะ​หา​วิธี​บำบัด​โรค​อย่าง​ได้​ผล​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​รักษา​ให้​หาย​ได้.

ตอน​นี้​ฮิลลารี​อายุ 20 ปี และ​เธอ​ต้อง​พึ่ง​อาศัย​คน​อื่น​ทั้ง​หมด​เพื่อ​ช่วย​ป้อน​อาหาร, ใส่​เสื้อ​ผ้า, อาบ​น้ำ, และ​เปลี่ยน​ผ้า​อ้อม​ให้. แม้​เธอ​มี​น้ำหนัก​แค่​ประมาณ 45 กิโลกรัม​เท่า​นั้น แต่​ก็​ไม่​ง่าย​เลย​ที่​จะ​ยก​ตัว​เธอ​ขึ้น​มา. ดัง​นั้น ดิฉัน​กับ​ลอรี​จึง​ใช้​เครื่อง​ยก​ไฟฟ้า​เพื่อ​ยก​เธอ​ขึ้น​ลง​จาก​เตียง​และ​อ่าง​อาบ​น้ำ. เพื่อน​สนิท​คน​หนึ่ง​ได้​ใส่​ล้อ​เล็ก ๆ ไว้​ใต้​เก้าอี้​แบบ​ปรับ​เอน​ได้​ของ​ฮิลลารี ทำ​ให้​สามารถ​เข็น​เก้าอี้​ตัว​นี้​ไป​ไว้​ใต้​เครื่อง​ยก แล้ว​เรา​ก็​สามารถ​หย่อน​ตัว​เธอ​ลง​บน​เก้าอี้​ได้.

เนื่อง​จาก​ฮิลลารี​มี​สภาพ​เช่น​นี้ ดิฉัน​กับ​ลอรี​จึง​ไม่​ค่อย​ได้​พา​เธอ​ไป​ที่​การ​ประชุม​คริสเตียน ณ หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. แต่​นั่น​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เรา​ไม่​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​นมัสการ​พระเจ้า. เรา​สามารถ​ฟัง​การ​ประชุม​ที่​บ้าน​ได้​โดย​การ​เชื่อม​ต่อ​ทาง​โทรศัพท์. การ​ฟัง​ทาง​โทรศัพท์​ทำ​ให้​ดิฉัน​กับ​รอ​ลี​สามารถ​ผลัด​กัน​ดู​แล​ฮิลลารี​ได้. เรา​ไม่​คน​ใด​ก็​คน​หนึ่ง​จะ​อยู่​บ้าน​กับ​ฮิลลารี ขณะ​ที่​อีก​คน​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ที่​หอ​ประชุม.

ฮิลลารี​สดใส​และ​มี​ความ​สุข​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​ตาม​สภาพการณ์​ของ​เธอ. เรา​อ่าน​หนังสือ​ของ​ฉัน​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​ราว​ใน​พระ​คัมภีร์​ไบเบิล และ​หนังสือ​จง​เรียน​จาก​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่ ให้​เธอ​ฟัง. * ดิฉัน​มัก​จะ​บอก​เธอ​บ่อย ๆ ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​รัก​เธอ​มาก​สัก​เพียง​ไร. ดิฉัน​ย้ำ​เตือน​เธอ​ว่า​สัก​วัน​หนึ่ง​ใน​ไม่​ช้า​นี้​พระ​ยะโฮวา​จะ​ทำ​ให้​เธอ​หาย​เป็น​ปกติ แล้ว​ตอน​นั้น​เธอ​จะ​สามารถ​พูด​ทุก​สิ่ง​ที่​ดิฉัน​รู้​ว่า​เธอ​อยาก​จะ​พูด แต่​ไม่​สามารถ​พูด​ได้​ใน​ตอน​นี้.

เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​รู้​ว่า​ฮิลลารี​สามารถ​เข้าใจ​อะไร​ได้​บ้าง เนื่อง​จาก​เธอ​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​สื่อ​ความ​น้อย​มาก. แต่​เธอ​ก็​สามารถ​สื่อ​ความ​ได้​มาก​ที​เดียว​โดย​การ​ชำเลือง​หรือ​กะพริบ​ตา และ​เปล่ง​เสียง​อยู่​ใน​ลำคอ. ดิฉัน​บอก​เธอ​ว่า ถึง​แม้​ดิฉัน​จะ​ไม่​ได้​ยิน​ว่า​เธอ​พูด​อะไร แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ได้​ยิน. (1 ซามูเอล 1:12-20) และ​ด้วย​การ​สื่อ​ความ​ที่​ทำ​ได้​จำกัด​มาก​ตลอด​ช่วง​เวลา​หลาย​ปี​ที่​เรา​ได้​พยายาม​สื่อ​ความ​กับ​เธอ เธอ​แสดง​ให้​ดิฉัน​ทราบ​ว่า​เธอ​ได้​พูด​คุย​กับ​พระ​ยะโฮวา. ดิฉัน​คอย​ท่า​เวลา​ที่​การ​จัด​เตรียม​ภาย​ใต้​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ทำ​ให้ ‘ลิ้น​ของ​คน​ใบ้​ร้อง​ด้วย​ความ​ปีติ.’ (ยะซายา 35:6, ล.ม.) ตอน​นั้น ดิฉัน​เอง​ก็​คง​จะ​ได้​ยิน​เสียง​ของ​ลูก​สาว​ดิฉัน​ด้วย.—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 22 หนังสือ​ทั้ง​สอง​เล่ม​นี้​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[คำ​โปรย​หน้า 19]

ฮิลลารี​เริ่ม​เคลื่อน​ไหว​มือ​แบบ​แปลก ๆ คือ​เธอ​จะ​เอา​มือ​ตี​ปาก​เป็น​จังหวะ ๆ อยู่​ตลอด​เวลา

[คำ​โปรย​หน้า 19]

เธอ​เริ่ม​มี​อาการ​หายใจ​ผิด​ปกติ​บาง​อย่าง เช่น การ​หายใจ​เร็ว​เป็น​พัก ๆ และ​การ​กลั้น​หายใจ

[คำ​โปรย​หน้า 20]

“[คน​ที่​เป็น​โรค​อาร์เอส] อาจ​จะ​อยาก​และ​ต้องการ​ขยับ​ตัว แต่​ก็​ไม่​สามารถ​สั่ง​ร่าง​กาย​ได้.”—หนังสือ​คู่มือ​เรทท์ ซินโดรม

[คำ​โปรย​หน้า 21]

ดิฉัน​บอก​เธอ​ว่า ถึง​แม้​ดิฉัน​จะ​ไม่​ได้​ยิน​ว่า​เธอ​พูด​อะไร แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ได้​ยิน

[กรอบ​หน้า 21]

อาการ​ต่าง ๆ ของ​เรทท์ ซินโดรม

เมื่อ​ถึง​จุด​หนึ่ง​หลัง​จาก​มี​อายุ 6 เดือน​ถึง 18 เดือน พัฒนาการ​ทุก​ด้าน​ของ​เด็ก​ที่​เป็น​เรทท์ ซินโดรม จะ​เสื่อม​ถอย​ลง. อาการ​ที่​ว่า​นั้น​มี​ดัง​ต่อ​ไป​นี้:

□ การ​เจริญ​เติบโต​ของ​ศีรษะ​ช้า​ลง​ตั้ง​แต่​ช่วง​อายุ​สี่​เดือน​ถึง​สี่​ขวบ.

□ สูญ​เสีย​ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​มือ​ทำ​สิ่ง​ที่​ต้องการ​จะ​ทำ.

□ สูญ​เสีย​ความ​สามารถ​ใน​การ​พูด.

□ เคลื่อน​ไหว​มือ​ใน​ท่า​ซ้ำ ๆ เช่น ตบ​มือ, เคาะ​มือ, หรือ​บีบ​มือ. เด็ก​หลาย​คน​ที่​เป็น​โรค​อาร์​เอส​มัก​จะ​ทำ​ท่า​มือ​ที่​เป็น​ลักษณะ​จำเพาะ​เหมือน​กับ​กำลัง “ล้าง​มือ” และ/หรือ​ชอบ​เอา​มือ​เข้า​ปาก​อยู่​เรื่อย ๆ.

□ ถ้า​เด็ก​คน​นั้น​เดิน​ได้ การ​เดิน​ก็​มัก​จะ​แข็ง​ทื่อ และ​ขา​ก็​ถ่าง​มาก. เมื่อ​เด็ก​โต​ขึ้น การ​เคลื่อน​ไหว​หรือ​การ​เดิน​ก็​อาจ​จะ​ลำบาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

□ การ​หายใจ​ไม่​สม่ำเสมอ​คือ มี​การ​กลั้น​หาย​ใจ (apnea) หรือ​หายใจ​เร็ว​เป็น​พัก ๆ (hyperventilation).

□ อาการ​ชัก เป็น​อาการ​ที่​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​สมอง​ปล่อย​สัญญาณ​ไฟฟ้า​ออก​มา​มาก​ผิด​ปกติ ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​พฤติกรรม​และ​การ​เคลื่อน​ไหว. โดย​ปกติ​แล้ว​อาการ​ชัก​ที่​เกิด​จาก​เรทท์ ซินโดรม มัก​จะ​ไม่​เป็น​อันตราย.

□ กระดูก​สัน​หลัง​คด หรือ​กระดูก​สัน​หลัง​โค้ง อาจ​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​เด็ก​ตัว​เอียง​ไป​ข้าง​ใด​ข้าง​หนึ่ง หรือ​โน้ม​ตัว​ไป​ข้าง​หน้า.

□ เด็ก​ผู้​หญิง​บาง​คน​ชอบ​กัด​ฟัน​บ่อย ๆ.

□ เท้า​มี​ขนาด​เล็ก และ​เนื่อง​จาก​โลหิต​ไหล​เวียน​ไม่​สะดวก​จึง​ทำ​ให้​เท้า​เย็น​มาก​และ/หรือ​เท้า​บวม.

□ เด็ก​ผู้​หญิง​มัก​จะ​ตัว​เล็ก​กว่า​เด็ก​ใน​วัย​เดียว​กัน รวม​ทั้ง​ความ​สูง​และ​น้ำหนัก​ตัว​ด้วย. เด็ก​เหล่า​นี้​อาจ​หงุดหงิด​ง่าย​และ​นอน​หลับ​ยาก, เคี้ยว​และ​กลืน​อาหาร​ลำบาก, และ/หรือ​มี​อาการ​ตัว​สั่น​เมื่อ​อารมณ์​เสีย​หรือ​เมื่อ​รู้สึก​กลัว.

[ที่​มา​ข้อ​มูล]

แหล่ง​ข้อมูล: สมาคม​เรทท์ ซินโดรม ระหว่าง​ประเทศ