ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การมองเห็นอวัยวะในร่างกาย—โดยไม่ต้องผ่าตัด

การมองเห็นอวัยวะในร่างกาย—โดยไม่ต้องผ่าตัด

การ​มอง​เห็น​อวัยวะ​ใน​ร่าง​กาย—โดย​ไม่​ต้อง​ผ่าตัด

ด้วย​วิทยา​การ​ก้าว​หน้า​ด้าน​คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และ​วิทยาศาสตร์ มีด​ผ่าตัด​จึง​กำลัง​หลีก​ทาง​ให้​แก่​เครื่อง​มือ​อื่น ๆ สำหรับ​การ​วินิจฉัย​โรค​บาง​ประเภท. เทคโนโลยี​เหล่า​นี้ นอก​เหนือ​ไป​จาก​การ​ถ่าย​ภาพ​ด้วย​รังสี​เอกซ์ ซึ่ง​ใช้​กัน​มา​นาน​กว่า 100 ปี​แล้ว ก็​ยัง​มี​การ​ถ่าย​ภาพ​รังสี​ส่วน​ตัด​อาศัย​คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), การ​สร้าง​ภาพ​ด้วย​การ​ปล่อย​โพซิตรอน (เพทสแกน), การ​สร้าง​ภาพ​ด้วย​กำธร​แม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ), และ​การ​สร้าง​ภาพ​ด้วย​คลื่น​เสียง​ความ​ถี่​สูง (อัลตราซาวนด์). แต่​ละ​เทคนิค​วิธี​ทำ​งาน​อย่าง​ไร? มี​ความ​เสี่ยง​อะไร​ที่​ร่าง​กาย​อาจ​ได้​รับ? และ​ประโยชน์​ของ​แต่​ละ​วิธี​มี​อะไร​บ้าง?

การ​ถ่าย​ภาพ​ด้วย​รังสี​เอกซ์

ทำ​งาน​อย่าง​ไร? รังสี​เอกซ์​มี​ความ​ยาว​คลื่น​สั้น​กว่า​แสง​ที่​เรา​มอง​เห็น​ด้วย​ตา​เปล่า และ​สามารถ​ทะลุ​ทะลวง​ผ่าน​เนื้อ​เยื่อ​ต่าง ๆ ของ​ร่าง​กาย​ได้. เมื่อ​รังสี​เอกซ์​ผ่าน​เข้า​สู่​ร่าง​กาย เนื้อ​เยื่อ​ความ​หนา​แน่น​สูง​อย่าง​เช่น​กระดูก​จะ​ดูด​ซับ​รังสี​ไว้ ปรากฏ​ภาพ​เป็น​สี​ขาว​บน​แผ่น​ฟิล์ม​ที่​ล้าง​ใน​น้ำ​ยา​เคมี ภาพ​ที่​ได้​นี้​เรียก​กัน​ว่า​ภาพ​รังสี​เอกซ์​หรือ​ภาพ​เอกซเรย์. เนื้อ​เยื่อ​ความ​หนา​แน่น​น้อย​กว่า​จะ​ปรากฏ​ภาพ​เป็น​สี​เทา​ที่​มี​ความ​เข้ม​แตกต่าง​กัน. โดย​ทั่ว​ไป​มี​การ​ใช้​รังสี​เอกซ์​เพื่อ​วินิจฉัย​ความ​ผิด​ปกติ​หรือ​โรค​ที่​เกิด​กับ​ฟัน กระดูก เต้า​นม และ​ทรวง​อก. เพื่อ​ให้​เห็น​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​เนื้อ​เยื่อ​ที่​ต้องการ​ตรวจ​กับ​เนื้อ​เยื่อ​ใกล้​เคียง​ที่​มี​ความ​หนา​แน่น​พอ ๆ กัน แพทย์​อาจ​ฉีด​สาร​ทึบ​รังสี​เข้า​เส้น​เลือด​ของ​ผู้​ป่วย​เพื่อ​เพิ่ม​ความ​แตกต่าง​ให้​เด่น​ชัด​ขึ้น. ทุก​วัน​นี้ มัก​มี​การ​บันทึก​ภาพ​เอกซเรย์​เป็น​ข้อมูล​ดิจิตอล และ​แสดง​ภาพ​บน​จอ​คอมพิวเตอร์.

ความ​เสี่ยง: มี​โอกาส​ที่​เซลล์​และ​เนื้อ​เยื่อ​จะ​ได้​รับ​อันตราย​อยู่​บ้าง แต่​ปกติ​แล้ว​ความ​เสี่ยง​มี​น้อย​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​ผล​ประโยชน์​ที่​จะ​ได้​รับ. * สตรี​ที่​สงสัย​ว่า​ตั้ง​ครรภ์​ควร​แจ้ง​ให้​แพทย์​ทราบ​ก่อน​รับ​การ​เอกซเรย์. สาร​เพิ่ม​ความ​แตกต่าง​อย่าง​พวก​ไอโอดีน​อาจ​ทำ​ให้​แพ้​ได้. ฉะนั้น หาก​คุณ​เคย​มี​ประวัติ​แพ้​ไอโอดีน หรือ​อาหาร​ทะเล​ที่​มี​ไอโอดีน​เป็น​ส่วน​ประกอบ ให้​แจ้ง​กับ​แพทย์​หรือ​เจ้าหน้าที่​รังสี​เทคนิค.

ประโยชน์: การ​ถ่าย​ภาพ​เอกซเรย์​ทำ​ได้​รวด​เร็ว และ​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ไม่​ก่อ​ความ​เจ็บ​ปวด มี​ค่า​ใช้​จ่าย​ต่ำ และ​ใช้​งาน​ค่อนข้าง​ง่าย. ดัง​นั้น จึง​เป็น​ประโยชน์ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​การ​เอกซเรย์​เต้า​นม​และ​การ​วินิจฉัย​ฉุกเฉิน. หลัง​จาก​เอกซเรย์ จะ​ไม่​มี​รังสี​ตก​ค้าง​ใน​ร่าง​กาย และ​ปกติ​ก็​ไม่​มี​ผล​ข้าง​เคียง. *

การ​ถ่าย​ภาพ​รังสี​ส่วน​ตัด​อาศัย​คอมพิวเตอร์

ทำ​งาน​อย่าง​ไร? ซีทีสแกน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​รังสี​เอกซ์​ปริมาณ​มาก​กว่า​ใน​ลักษณะ​ที่​ซับซ้อน​กว่า ร่วม​กับ​การ​ใช้​ตัว​รับ​รังสี​ชนิด​พิเศษ. ผู้​ป่วย​จะ​นอน​บน​เตียง​ที่​เลื่อน​ผ่าน​เข้า​อุโมงค์​ของ​เครื่อง. ภาพ​จะ​ถูก​สร้าง​ขึ้น​จาก​การ​ฉาย​รังสี​หลาย ๆ ลำ​ไป​ยัง​ตัว​รับ​รังสี​ที่​หมุน​เป็น​วง​รอบ​ตัว​ผู้​ป่วย. กระบวนการ​นี้​เทียบ​ได้​กับ​การ​ตรวจ​ดู​ก้อน​ขนมปัง​ด้วย​การ​เฉือน​เป็น​แผ่น​บาง ๆ เพื่อ​จะ​ได้​ภาพ​ตัด​ของ​แต่​ละ​แผ่น. คอมพิวเตอร์​ประกอบ​ภาพ​จาก​แต่​ละ​แผ่น​นี้​เข้า​ด้วย​กัน สร้าง​ขึ้น​เป็น​ภาพ​ตัด​ขวาง​ที่​เห็น​ราย​ละเอียด​อวัยวะ​ร่าง​กาย. เครื่อง​รุ่น​ใหม่ ๆ สแกน​ร่าง​กาย​ใน​ลักษณะ​วน​เป็น​เกลียว ทำ​ให้​ใช้​เวลา​ตรวจ​สั้น​ลง. ซีทีสแกน​ให้​ภาพ​คม​ชัด จึง​นิยม​ใช้​ใน​การ​ตรวจ​วินิจฉัย​ทรวง​อก ช่อง​ท้อง และ​กระดูก รวม​ถึง​มะเร็ง​และ​ความ​ผิด​ปกติ​อื่น ๆ บาง​อย่าง​ด้วย.

ความ​เสี่ยง: โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ซีทีสแกน​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ได้​รับ​ปริมาณ​รังสี​สูง​กว่า​เอกซเรย์​ธรรมดา. การ​ได้​รับ​ปริมาณ​รังสี​มาก​ขึ้น​นี้​ทำ​ให้​เสี่ยง​เพิ่ม​ขึ้น​เล็ก​น้อย​ที่​จะ​เป็น​มะเร็ง​ได้ แม้​มี​ความ​เสี่ยง​ไม่​สูง​แต่​ก็​มาก​พอ​ที่​จะ​มอง​ข้าม​ไป​ไม่​ได้ จึง​ควร​ชั่ง​ผล​ดี​ผล​เสีย​ของ​การ​ใช้​ซีทีสแกน​ให้​รอบคอบ. ผู้​ป่วย​บาง​ราย​แพ้​สาร​เพิ่ม​ความ​แตกต่าง ซึ่ง​ปกติ​มี​ไอโอดีน​อยู่​ด้วย สาร​พวก​นี้​ยัง​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​ไต​ของ​บาง​คน. ถ้า​มี​การ​ใช้​สาร​เพิ่ม​ความ​แตกต่าง มารดา​ที่​ให้​นม​ทารก​อาจ​ต้อง​คอย​ให้​เวลา​ผ่าน​ไป​อย่าง​น้อย 24 ชั่วโมง​ก่อน​จะ​เริ่ม​ให้​นม​บุตร​อีก​ครั้ง.

ประโยชน์: ด้วย​วิธี​ที่​ไม่​ก่อ​ความ​เจ็บ​ปวด​หรือ​บาดแผล ซีทีสแกน​ให้​ข้อมูล​ภาพ​ที่​มี​ความ​ละเอียด​สูง ซึ่ง​คอมพิวเตอร์​สามารถ​นำ​ข้อมูล​ที่​ได้​ไป​สร้าง​ภาพ​สาม​มิติ. การ​สแกน​ใช้​เวลา​สั้น​และ​ค่อนข้าง​สะดวก อีก​ทั้ง​ยัง​สามารถ​ช่วย​ชีวิต​ไว้​ได้​โดย​ทำ​ให้​แพทย์​เห็น​การ​บาดเจ็บ​ที่​เกิด​กับ​อวัยวะ​ภาย​ใน. ซีทีสแกน​ไม่​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​อุปกรณ์​ทาง​การ​แพทย์​ที่​ฝัง​อยู่​ใน​ร่าง​กาย​ผู้​ป่วย.

การ​สร้าง​ภาพ​ด้วย​การ​ปล่อย​โพซิตรอน

ทำ​งาน​อย่าง​ไร? สำหรับ​เพทสแกน มี​การ​นำ​สาร​กัมมันตรังสี​ไป​ติด​ฉลาก​กับ​สาร​ประกอบ​ธรรมชาติ​ที่​ใช้​ใน​ร่าง​กาย ซึ่ง​ส่วน​มาก​จะ​นำ​ไป​ติด​ฉลาก​กับ​น้ำตาล​กลูโคส จาก​นั้น​จึง​ฉีด​เข้า​ไป​ใน​ร่าง​กาย. ภาพ​เพทสแกน​ได้​จาก​การ​ปล่อย​โพซิตรอน อนุภาค​ประจุ​บวก ออก​มา​จาก​สาร​กัมมันตรังสี​ที่​อยู่​ใน​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ร่าง​กาย. การ​ทำ​งาน​ของ​เพทสแกน​อาศัย​หลักการ​ที่​ว่า​เซลล์​มะเร็ง​จะ​ใช้​กลูโคส​เป็น​พลัง​งาน​มาก​กว่า​เซลล์​ปกติ​ของ​ร่าง​กาย เซลล์​มะเร็ง​จึง​จับ​สาร​กัมมันตรังสี​เข้า​ไป​ใน​ปริมาณ​ที่​มาก​กว่า. ผล​คือ เนื้อ​เยื่อ​ที่​มี​ความ​ผิด​ปกติ​จะ​ปล่อย​โพซิตรอน​ออก​มา​มาก​กว่า​เนื้อ​เยื่อ​อื่น ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​จะ​ปรากฏ​เป็น​ภาพ​ที่​มี​สี​หรือ​ความ​สว่าง​ที่​ต่าง​ออก​ไป.

ขณะ​ที่​ซีทีสแกน​และ​เอ็ม​อาร์​ไอ​ให้​ข้อมูล​ด้าน​รูป​ทรง​หรือ​โครง​สร้าง​ของ​อวัยวะ​กับ​เนื้อ​เยื่อ เพทสแกน​จะ​เผย​ข้อมูล​การ​ทำ​งาน​ของ​อวัยวะ​หรือ​เนื้อ​เยื่อ​เหล่า​นั้น จึง​ช่วย​ให้​ตรวจ​พบ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​ระยะ​แรก​ได้. เพทสแกน​สามารถ​ใช้​ร่วม​กับ​ซีทีสแกน การ​ซ้อน​ทับ​ภาพ​จาก​การ​สแกน​ทั้ง​สอง​แบบ​เข้า​ด้วย​กัน​จะ​ยิ่ง​ทำ​ให้​ได้​ราย​ละเอียด​ข้อมูล​มาก​ขึ้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพทสแกน​อาจ​ให้​ผล​ลวง​ได้​หาก​ผู้​ป่วย​บริโภค​อาหาร​ก่อน​เข้า​รับ​การ​ตรวจ​ภาย​ใน​ช่วง​ระยะ​เวลา​หนึ่ง หรือ​หาก​ระดับ​น้ำตาล​ใน​เลือด​เกิน​กว่า​ระดับ​ที่​ยอม​รับ​ได้ เช่น​กรณี​เป็น​โรค​เบาหวาน. นอก​จาก​นี้ เนื่อง​จาก​ช่วง​ชีวิต​ของ​สาร​กัมมันตรังสี​สั้น​มาก การ​สแกน​ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​สม​จึง​นับ​ว่า​สำคัญ.

ความ​เสี่ยง: เนื่อง​จาก​ปริมาณ​สาร​กัมมันตรังสี​ที่​ใช้​อยู่​ใน​ระดับ​ต่ำ​มาก​และ​มี​ช่วง​ชีวิต​สั้น ปริมาณ​รังสี​ที่​ได้​รับ​จึง​ไม่​สูง. กระนั้น ปริมาณ​รังสี​ขนาด​นี้​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​ทารก​ใน​ครรภ์. ด้วย​เหตุ​นี้ สตรี​ที่​สงสัย​ว่า​ตั้ง​ครรภ์​ควร​แจ้ง​ให้​แพทย์​และ​เจ้าหน้าที่​ทราบ. นอก​จาก​นี้ สตรี​วัย​เจริญ​พันธุ์​ยัง​อาจ​ถูก​ขอ​ให้​ตรวจ​เลือด​หรือ​ปัสสาวะ​เพื่อ​ทดสอบ​การ​ตั้ง​ครรภ์. หาก​มี​การ​ใช้​เพทสแกน​ร่วม​กับ​ซีทีสแกน ก็​ควร​คำนึง​ถึง​ความ​เสี่ยง​ที่​มา​พร้อม​กับ​การ​ใช้​ซีทีสแกน​ด้วย.

ประโยชน์: เนื่อง​จาก​เพทสแกน​ไม่​เพียง​ให้​ข้อมูล​ด้าน​โครง​สร้าง​ของ​อวัยวะ​กับ​เนื้อ​เยื่อ​เท่า​นั้น แต่​ยัง​บอก​ให้​ทราบ​ด้วย​ว่า​อวัยวะ​หรือ​เนื้อ​เยื่อ​เหล่า​นั้น​ทำ​งาน​ปกติ​หรือ​ไม่ เพทสแกน​จึง​ช่วย​ให้​พบ​ความ​ผิด​ปกติ​ที่​ซ่อน​อยู่​ก่อน​จะ​เห็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​โครง​สร้าง​เนื้อ​เยื่อ​นั้น​โดย​ซีทีสแกน​หรือ​เอ็มอาร์ไอ.

การ​สร้าง​ภาพ​ด้วย​กำธร​แม่เหล็ก

ทำ​งาน​อย่าง​ไร? เอ็มอาร์ไอ​ใช้​สนาม​แม่เหล็ก​ความ​แรง​สูง และ​คลื่น​วิทยุ (ไม่​ใช่​รังสี​เอกซ์) ร่วม​กับ​คอมพิวเตอร์​เพื่อ​สร้าง​ภาพ​ตัด​บาง ๆ ลักษณะ​เป็น “แผ่น ๆ” ที่​ให้​ความ​ละเอียด​สูง​สำหรับ​โครง​สร้าง​ภาย​ใน​ร่าง​กาย​แทบ​ทุก​ส่วน. ภาพ​ที่​ได้​ทำ​ให้​แพทย์​สามารถ​ตรวจ​สอบ​ร่าง​กาย​ส่วน​ต่าง ๆ ได้​อย่าง​ละเอียด​มาก และ​ค้น​พบ​ความ​ผิด​ปกติ​ที่​ไม่​อาจ​ตรวจ​พบ​ได้​ด้วย​เทคนิค​อย่าง​อื่น. ตัว​อย่าง​เช่น เอ็ม​อาร์​ไอ​เป็น​หนึ่ง​ใน​เครื่อง​มือ​บันทึก​ภาพ​เพื่อ​การ​วินิจฉัย​เพียง​ไม่​กี่​อย่าง​ที่​สามารถ​เห็น​ทะลุ​ผ่าน​กระดูก ทำ​ให้​เอ็ม​อาร์​ไอ​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​ดี​มาก​สำหรับ​ตรวจ​วินิจฉัย​สมอง​และ​เนื้อ​เยื่อ​อ่อน​อื่น ๆ.

ผู้​ป่วย​ต้อง​นอน​นิ่ง ๆ ระหว่าง​การ​บันทึก​ภาพ. และ​เนื่อง​จาก​ตัว​ของ​ผู้​ป่วย​จะ​เลื่อน​ผ่าน​อุโมงค์​ขนาด​เล็ก​ของ​เครื่อง​ใน​ขณะ​ตรวจ บาง​คน​จึง​มี​อาการ​กลัว​ที่​แคบ. ไม่​นาน​มา​นี้ มี​การ​สร้าง​เครื่อง​เอ็ม​อาร์​ไอ​แบบ​เปิด​สำหรับ​ผู้​ป่วย​ที่​หวาด​กลัว​หรือ​รูป​ร่าง​อ้วน. แน่นอน​ว่า​จะ​ไม่​อนุญาต​ให้​นำ​วัตถุ​ที่​เป็น​โลหะ เช่น ปากกา นาฬิกา​ข้อ​มือ เครื่อง​ประดับ กิ๊บ​ติด​ผม ซิป​โลหะ รวม​ถึง​บัตร​เครดิต​และ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​จะ​ก่อ​อันตราย​หรือ​ได้​รับ​ผล​เสียหาย​จาก​สนาม​แม่เหล็ก เข้า​ไป​ใน​ห้อง​ตรวจ.

ความ​เสี่ยง: ถ้า​มี​การ​ใช้​สาร​เพิ่ม​ความ​แตกต่าง จะ​มี​ความ​เสี่ยง​ต่อ​การ​แพ้​สาร​นี้​อยู่​บ้าง แต่​โอกาส​แพ้​ต่ำ​กว่า​การ​ใช้​ไอโอดีน ซึ่ง​เป็น​ส่วน​ประกอบ​หลัก​ของ​สาร​ทึบ​รังสี​ที่​นิยม​ใช้​ใน​เอกซเรย์​และ​ซีทีสแกน. นอก​เหนือ​ไป​จาก​นี้​แล้ว เท่า​ที่​ทราบ​กัน​เอ็ม​อาร์​ไอ​ไม่​ก่อ​ความ​เสี่ยง​อะไร​อื่น​อีก​ต่อ​ผู้​ป่วย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​ผล​ของ​สนาม​แม่เหล็ก​แรง​สูง ผู้​ป่วย​ที่​เคย​รับ​การ​ผ่าตัด​ฝัง​สิ่ง​ที่​เป็น​โลหะ​ไว้​ใน​ร่าง​กาย หรือ​มี​ชิ้น​โลหะ​ฝัง​ใน​ร่าง​กาย​จาก​การ​บาดเจ็บ จึง​อาจ​ไม่​สามารถ​รับ​การ​ตรวจ​ด้วย​เอ็ม​อาร์​ไอ​ได้. ฉะนั้น ถ้า​ใน​ร่าง​กาย​ของ​คุณ​มี​ส่วน​ที่​เป็น​โลหะ​อย่าง​หนึ่ง​อย่าง​ใด​ดัง​กล่าว และ​คุณ​ได้​รับ​การ​เสนอ​ให้​ตรวจ​ด้วย​เอ็ม​อาร์​ไอ คุณ​ต้อง​แจ้ง​ให้​แพทย์​และ​เจ้าหน้าที่​เอ็มอาร์ไอ​ทราบ.

ประโยชน์: เอ็มอาร์ไอ​ไม่​ได้​ใช้​รังสี​ซึ่ง​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​ร่าง​กาย. เอ็มอาร์ไอ​ตรวจ​เห็น​ความ​ผิด​ปกติ​ของ​เนื้อ​เยื่อ​ได้​ดี​เป็น​พิเศษ โดย​เฉพาะ​ส่วน​ที่​อาจ​มี​กระดูก​บัง​อยู่.

การ​สร้าง​ภาพ​ด้วย​คลื่น​เสียง​ความ​ถี่​สูง

ทำ​งาน​อย่าง​ไร? อีก​ชื่อ​หนึ่ง​คือ​การ​อัลตราซาวนด์. โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว เทคโนโลยี​นี้​คือ​โซนาร์​รูป​แบบ​หนึ่ง​ที่​ใช้​คลื่น​เสียง​ช่วง​ความ​ถี่​สูง​กว่า​ที่​มนุษย์​ได้​ยิน. เมื่อ​คลื่น​เสียง​ไป​กระทบ​ขอบ​เขต​ที่​มี​ความ​ต่าง​ระหว่าง​ความ​หนา​แน่น​ของ​เนื้อ​เยื่อ อย่าง​เช่น ผิว​ด้าน​นอก​ของ​อวัยวะ ก็​จะ​เกิด​การ​สะท้อน​ของ​คลื่น​ขึ้น. คอมพิวเตอร์​จะ​วิเคราะห์​คลื่น​ที่​สะท้อน​กลับ​มา และ​ให้​ข้อมูล​ลักษณะ​ต่าง ๆ ของ​อวัยวะ​นั้น​ใน​เชิง​สอง​หรือ​สาม​มิติ เช่น ความ​ลึก ขนาด รูป​ร่าง และ​ความ​หนา​แน่น. คลื่น​ความ​ถี่​ต่ำ​จะ​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​อวัยวะ​ภาย​ใน​ของ​ร่าง​กาย​ส่วน​ลึก​ลง​ไป ส่วน​ความ​ถี่​สูง​จะ​ใช้​ตรวจ​อวัยวะ​ส่วน​ตื้น​ของ​ร่าง​กาย เช่น ลูก​ตา ผิวหนัง​ชั้น​ต่าง ๆ โดย​อาจ​ใช้​ช่วย​วินิจฉัย​มะเร็ง​ผิวหนัง​ได้.

ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่ ผู้​ตรวจ​จะ​ใช้​ตัว​แปลง​สัญญาณ​ขนาด​มือ​ถือ​ที่​เรียก​ว่า​หัว​ตรวจ. หลัง​จาก​ทา​เจล​ใส​ลง​บน​ผิว​แล้ว เขา​จะ​เลื่อน​หัว​ตรวจ​นี้​ถู​ไป​มา​เหนือ​ส่วน​ที่​จะ​ทำ​การ​ตรวจ ซึ่ง​ก็​จะ​มี​ภาพ​ปรากฏ​ขึ้น​บน​จอ​คอมพิวเตอร์​ทันที. เมื่อ​จำเป็น ก็​สามารถ​ต่อ​สาย​กับ​หัว​ตรวจ​พิเศษ​ขนาด​เล็ก และ​สอด​เข้า​ไป​ทาง​รู​เปิด​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​ร่าง​กาย​เพื่อ​ทำ​การ​ตรวจ​ภาย​ใน​บาง​อย่าง​ได้.

เทคโนโลยี​ที่​เรียก​ว่า​ดอปเพลอร์​อัลตราซาวนด์​ตรวจ​ลักษณะ​การ​เคลื่อน​ที่​ได้ และ​มี​การ​นำ​มา​ใช้​ตรวจ​การ​ไหล​ของ​โลหิต. เทคนิค​ดัง​กล่าว​จึง​อาจ​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​วินิจฉัย​อวัยวะ​ต่าง ๆ และ​เนื้อ​งอก ซึ่ง​มัก​จะ​มี​จำนวน​หลอด​เลือด​ไป​เลี้ยง​มาก​ผิด​ปกติ.

อัลตราซาวนด์​ช่วย​ให้​แพทย์​วินิจฉัย​ความ​ผิด​ปกติ​ได้​หลาย​อย่าง​และ​สามารถ​ค้น​พบ​ต้น​เหตุ​ของ​อาการ​ที่​ปรากฏ นับ​ตั้ง​แต่​ลิ้น​หัวใจ​ผิด​ปกติ ก้อน​ใน​เต้า​นม ไป​จน​ถึง​สภาพ​ทารก​ใน​ครรภ์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​คลื่น​เสียง​ความ​ถี่​สูง​จะ​สะท้อน​เมื่อ​กระทบ​แก๊ส จึง​มี​ข้อ​จำกัด​เมื่อ​ใช้​ตรวจ​ช่อง​ท้อง​บาง​ส่วน. นอก​จาก​นี้ ความ​ละเอียด​ชัดเจน​ของ​ภาพ​จะ​ไม่​สูง​เท่า​กับ​เทคนิค​อื่น ๆ เช่น การ​ถ่าย​ภาพ​รังสี.

ความ​เสี่ยง: แม้​โดย​ทั่ว​ไป​อัลตราซาวนด์​จะ​มี​ความ​ปลอด​ภัย​เมื่อ​ใช้​อย่าง​ถูก​ต้อง แต่​คลื่น​เสียง​ความ​ถี่​สูง​ก็​เป็น​พลัง​งาน​รูป​แบบ​หนึ่ง​และ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ต่อ​เนื้อ​เยื่อ​ได้ ซึ่ง​รวม​ถึง​ทารก​ใน​ครรภ์​ด้วย. ดัง​นั้น จึง​ไม่​ควร​คิด​ว่า​อัลตราซาวนด์​จะ​ปลอด​อันตราย​อย่าง​สิ้นเชิง​ต่อ​ทารก​ใน​ครรภ์.

ประโยชน์: เทคโนโลยี​นี้​มี​ใช้​อย่าง​กว้างขวาง ไม่​ก่อ​บาดแผล และ​มี​ค่า​ใช้​จ่าย​ค่อนข้าง​ถูก. นอก​จาก​นี้ ยัง​สามารถ​เห็น​ภาพ​ส่วน​ที่​กำลัง​ตรวจ​ใน​ทันที.

เทคโนโลยี​ใน​อนาคต

ปัจจุบัน งาน​วิจัย​ส่วน​ใหญ่​มุ่ง​ไป​ที่​การ​ปรับ​ปรุง​เทคโนโลยี​ที่​มี​อยู่​แล้ว​ให้​ดี​ขึ้น. ตัว​อย่าง​เช่น นัก​วิจัย​กำลัง​พัฒนา​เครื่อง​เอ็ม​อาร์​ไอ​ที่​ใช้​ความ​แรง​สนาม​แม่เหล็ก​ต่ำ​กว่า​เดิม​มาก ซึ่ง​จะ​ช่วย​ลด​ค่า​ใช้​จ่าย​ลง​ได้​ไม่​น้อย. การ​สร้าง​ภาพ​ระดับ​โมเลกุล (เอ็ม​ไอ) เป็น​เทคโนโลยี​ใหม่​ที่​อยู่​ระหว่าง​การ​พัฒนา. เนื่อง​จาก​ถูก​ออก​แบบ​สำหรับ​ตรวจ​จับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ระดับ​โมเลกุล​ภาย​ใน​ร่าง​กาย จึง​เชื่อ​ว่า​เอ็ม​ไอ​จะ​ช่วย​ให้​พบ​ความ​ผิด​ปกติ​และ​รักษา​ได้​ตั้ง​แต่​ใน​ระยะ​แรก​ของ​โรค.

เทคโนโลยี​การ​บันทึก​ภาพ​เพื่อ​การ​วินิจฉัย​ได้​ทำ​ให้​ความ​จำเป็น​ใน​การ​ผ่าตัด​ที่​ก่อ​ความ​เจ็บ​ปวด มี​ความ​เสี่ยง แม้​กระทั่ง​การ​ผ่าตัด​ที่​ไม่​จำเป็น​เพื่อ​ค้น​หา​สาเหตุ​ความ​ผิด​ปกติ ลด​ลง​ไป​ได้​หลาย​ราย. และ​เมื่อ​ภาพ​นำ​ไป​สู่​การ​วินิจฉัย​และ​การ​รักษา​ตั้ง​แต่​ใน​ระยะ​แรก​ของ​โรค ผล​การ​รักษา​ก็​อาจ​ดี​กว่า​มาก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อุปกรณ์​พวก​นี้​มี​ราคา​แพง บาง​เครื่อง​แพง​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​ดอลลาร์​ที​เดียว.

แน่นอน การ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​โรค​ย่อม​ดี​กว่า​การ​ตรวจ​พบ​ว่า​เป็น​โรค​แล้ว​รักษา. ดัง​นั้น จง​พยายาม​รักษา​สุขภาพ​ให้​แข็งแรง​ด้วย​การ​กิน​อาหาร​ที่​เหมาะ​สม ออก​กำลัง​กาย​เป็น​ประจำ พักผ่อน​อย่าง​เพียง​พอ และ​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก. สุภาษิต 17:22 กล่าว​ว่า “ใจ​ที่​ร่าเริง​เป็น​เหมือน​โอสถ​วิเศษ.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 เพื่อ​เปรียบ​เทียบ​ปริมาณ​รังสี​ที่​ได้​รับ ดู​กรอบ  “ได้​รับ​รังสี​มาก​น้อย​แค่​ไหน?”

^ วรรค 6 บทความ​นี้​ให้​ความ​รู้​เพียง​กว้าง ๆ เกี่ยว​กับ​เทคนิค​การ​บันทึก​ภาพ​เพื่อ​การ​วินิจฉัย และ​ข้อ​ดี​ข้อ​เสีย​ของ​แต่​ละ​วิธี​เท่า​นั้น. ถ้า​ต้องการ​ข้อมูล​ลึก​กว่า​นี้ ให้​ค้นคว้า​จาก​แหล่ง​ข้อมูล​ด้าน​นี้​โดย​ตรง​หรือ​สอบ​ถาม​รังสี​แพทย์.

[กรอบ​หน้า 13]

ได้​รับ​รังสี​มาก​น้อย​แค่​ไหน?

  เรา​ได้​รับ​รังสี​ตาม​ธรรมชาติ​อยู่​ทุก ๆ วัน ไม่​ว่า​จะ​เป็น​รังสี​จาก​นอก​โลก หรือ​จาก​สาร​กัมมันตรังสี​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ เช่น ก๊าซ​เรดอน. การ​เปรียบ​เทียบ​ปริมาณ​รังสี​ต่อ​ไป​นี้​อาจ​ช่วย​คุณ​ประเมิน​ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​ได้​รับ​จาก​การ​ตรวจ​บาง​อย่าง​ทาง​การ​แพทย์. ปริมาณ​รังสี​วัด​เป็น​ค่า​เฉลี่ย​ใน​หน่วย​มิลลิ​ซี​เวิร์ต (mSv).

โดยสาร​เครื่องบิน​พาณิชย์​นาน​ห้า​ชั่วโมง: 0.03 mSv

ได้​รับ​รังสี​ตาม​ธรรมชาติ​นาน​สิบ​วัน: 0.1 mSv

เอกซเรย์​ฟัน​หนึ่ง​ครั้ง: 0.04-0.15 mSv

เอกซเรย์​ทรวง​อก​หนึ่ง​ครั้ง: 0.1 mSv

เอกซเรย์​เต้า​นม​หนึ่ง​ครั้ง: 0.7 mSv

ซีทีสแกน​ทรวง​อก​หนึ่ง​ครั้ง: 8.0 mSv

ถ้า​คุณ​ต้อง​รับ​การ​ตรวจ อย่า​ลังเล​ที่​จะ​ขอ​ข้อมูล​จาก​แพทย์​หรือ​รังสี​แพทย์​ใน​เรื่อง​ปริมาณ​รังสี​ที่​คุณ​จะ​ได้​รับ หรือ​ใน​เรื่อง​อื่น​ใด​ที่​คุณ​อาจ​เป็น​ห่วง.

[ภาพ​หน้า 11]

เอกซเรย์

[ภาพ​หน้า 12]

ซีที

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Philips

[ภาพ​หน้า 12]

เพท

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy Alzheimer’s Disease Education and Referral Center, a service of the National Institute on Aging

[ภาพ​หน้า 13]

เอ็มอาร์ไอ

[ภาพ​หน้า 14]

อัลตราซาวนด์