ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รถไฟที่ไม่มีล้อ

รถไฟที่ไม่มีล้อ

รถไฟ​ที่​ไม่​มี​ล้อ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฮ่องกง

แม้​แต่​ก่อน​ที่​จะ​ได้​ขึ้น​รถไฟ​ขบวน​ใหม่​เอี่ยม​อ่อง​ที่​มี​รูป​ร่าง​เพรียว​ลม​ใน​เมือง​เซี่ยงไฮ้ ประเทศ​จีน พวก​ผู้​โดยสาร​ต่าง​ก็​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​จะ​เดิน​ทาง​บน​รถไฟ​ที่​ไม่​ธรรมดา. ความ​รู้สึก​นั้น​ยิ่ง​ทวี​ขึ้น​เมื่อ​รถไฟ​เคลื่อน​ขบวน​อย่าง​เงียบ​เชียบ​ออก​จาก​สถานี​ที่​ล้ำ​สมัย และ​เร่ง​ความ​เร็ว​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​และ​นิ่มนวล​จน​ทำ​ความ​เร็ว​ได้​มาก​กว่า 430 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง ซึ่ง​นับ​ว่า​เป็น​รถไฟ​พาณิชย์​ที่​วิ่ง​เร็ว​ที่​สุด⁠ใน​โลก. รถไฟ​ขบวน​นี้​วิ่ง​ไป​ถึง​สนามบิน​นานา​ชาติ​ผูตง​ที่​มี​ระยะ​ทาง 30 กิโลเมตร​ได้​ภาย​ใน​เวลา​แค่​แปด​นาที. แต่​รถไฟ​ขบวน​นี้​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​พิเศษ​กว่า​นั้น คือ​มัน​ไม่​มี​ล้อ!

รถไฟ​สาย​เซี่ยงไฮ้-ผูตง​เป็น​รถไฟ​พาณิชย์​เพียง​ขบวน​เดียว​ของ​โลก​ที่​ใช้​พลัง​แม่เหล็ก หรือ​ที่​เรียก​ว่า​รถไฟ​แมกเลฟ. แทน​ที่​จะ​วิ่ง​บน​ล้อ​เหล็ก รถไฟ​แมกเลฟ​ทรง​ตัว​โดย​อาศัย​สนาม​แม่เหล็ก​ล้วน ๆ. และ​แทน​ที่​จะ​ใช้​มนุษย์​เป็น​ผู้​ขับ มี​การ​ติด​ตั้ง​เทคโนโลยี​ที่​สามารถ​ติด​ตาม​ขบวน​รถไฟ​ได้​ตลอด​เวลา​ไม่​ว่า​จะ​วิ่ง​ไป​ถึง​ที่​ใด และ​ใช้​วิทยุ​ส่ง​ข้อมูล​กลับ​ไป​ยัง​สถานี​ควบคุม​กลาง. ที่​สถานี​นั้น มนุษย์​จะ​เป็น​ผู้​ควบคุม​โดย​ใช้​คอมพิวเตอร์​เป็น​เครื่อง​ช่วย ซึ่ง​ทำ​ให้​สามารถ​ควบคุม​การ​เคลื่อน​ขบวน​ของ​รถไฟ​ได้​อย่าง​แม่นยำ.

รถไฟ​แมกเลฟ​กับ​รถไฟ​ธรรมดา

การ​สร้าง​รถไฟ​ชนิด​พิเศษ​นี้​และ​ทาง​วิ่ง (guideway) นั้น​มี​ปัญหา​หลาย​อย่าง. ตัว​อย่าง​เช่น มี​เพียง​ระยะ​ห่าง​เพียง⁠เล็ก​น้อย​เท่า​นั้น​ที่​อยู่​ระหว่าง​รถไฟ​ที่​กำลัง​ขับ​เคลื่อน​กับ​ทาง​วิ่ง​ของ​รถไฟ. ดัง​นั้น เนื่อง​จาก​ดิน​ใน​เซี่ยงไฮ้​เป็น​ดิน⁠อ่อน พวก​วิศวกร​จึง​ต้อง​ใส่​ข้อ​ต่อ​ชนิด​พิเศษ​เข้า​ไป​ใน​ทาง​วิ่ง​ซึ่ง​สามารถ​ปรับ​ได้​ตาม​การ​ทรุด​ตัว​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​ดิน. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​ยัง​ต้อง​คำนึง​ถึง​การ​เปลี่ยน​แปลง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​คาน​คอนกรีต รวม​ทั้ง​การ​ขยาย​และ​การ​หด​ตัว​อัน​เนื่อง​มา​จาก​อุณหภูมิ.

ถึง​กระนั้น เทคโนโลยี​แมกเลฟ​ก็​มี​ข้อ​ดี​หลาย​ประการ. ตัว​อย่าง​เช่น เทคโนโลยี​นี้​ทำ​ให้​รถไฟ​วิ่ง​ได้​โดย​ไม่​มี​เสียง​เครื่อง​ยนต์​หรือ​เสียง​ล้อ​รบกวน และ​รถไฟ​เอง​ก็​ไม่​ปล่อย​ไอ​เสีย​ที่​เป็น​อันตราย​ออก​มา. ทาง​วิ่ง​และ​อุปกรณ์​ต่าง ๆ ต้องการ​การ​ซ่อม​บำรุง​น้อย​กว่า. และ​เมื่อ​ใช้​ใน​การ​ขน​ส่ง​มวลชน รถไฟ​นี้​ใช้​พลัง​งาน​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​กว่า​รถยนต์​ประมาณ​สาม​เท่า และ​มาก​กว่า​เครื่องบิน​ประมาณ​ห้า​เท่า. ที่​จริง พลัง​งาน​ที่​รถไฟ​ใช้​ใน​การ​ยก​ตัว​ก็​ยัง​น้อย​กว่า​พลัง​งาน​ที่​ใช้​ใน​ระบบ​ปรับ​อากาศ​ของ​รถไฟ​ด้วย​ซ้ำ! นอก​จาก​นี้ รถไฟ​แมกเลฟ​ยัง​สามารถ​ไต่​ขึ้น​ไป​ตาม​ไหล่​เขา​ที่​ชัน​กว่า และ​เลี้ยว​ได้​วง​แคบ​กว่า​เมื่อ​เทียบ​กับ​รถไฟ​แบบ​มี​ล้อ. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​ช่วย​ลด​ความ​จำเป็น​ใน​การ​ปรับ​สภาพ​ภูมิ​ประเทศ.

ด้วย​ข้อ​ดี​ทั้ง​หมด​นี้ จึง​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​แปลก​ที่​ไม่​มี​การ​สร้าง​รถไฟ​แมกเลฟ​ให้​มาก​ขึ้น. ปัจจัย​อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​ตอน​เริ่ม​ต้น​สูง​กว่า. ที่​จริง เจ้าหน้าที่​ของ​จีน​ได้​ตัดสิน​ใจ​พัก​โครงการ​ก่อ​สร้าง​รถไฟ​แมกเลฟ​เส้น​ทาง​ระหว่าง​เซี่ยงไฮ้​กับ​ปักกิ่ง​เอา​ไว้​ก่อน เนื่อง​จาก​ค่า​ก่อ​สร้าง​จะ​สูง​กว่า​รถไฟ​ความ​เร็ว​สูง​แบบ​ธรรมดา​ถึง​สอง​เท่า. นอก​จาก​นี้ ทาง​รถไฟ​แมกเลฟ​นี้​ยัง​เชื่อม​ต่อ​กับ​ระบบ​ทาง​รถไฟ​ที่​จีน​มี​อยู่​แล้ว​ไม่​ได้.

รถไฟ​แมกเลฟ​ใน​เซี่ยงไฮ้​ใช้​เทคโนโลยี​ของ​ประเทศ​เยอรมนี และ​มี​การ​ศึกษา​วิจัย​เรื่อง​นี้​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ทั้ง​ใน​เยอรมนี, ญี่ปุ่น, และ​ที่​อื่น ๆ ใน​โลก. ใน​เดือน​ธันวาคม​ปี 2003 ญี่ปุ่น​ได้​พัฒนา​รถไฟ​แมกเลฟ​ที่​ทำ​ความ​เร็ว​ได้ 581 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง​ซึ่ง​ถือ​เป็น​สถิติ​โลก​ของ​รถไฟ. จน​ถึง​บัด​นี้​รถไฟ​แมกเลฟ​ใน​เซี่ยงไฮ้​ยัง​คง​เป็น​รถไฟ​แมกเลฟ​ที่​ใช้​ใน​เชิง​พาณิชย์​แห่ง​เดียว​เท่า​นั้น.

เมื่อ​รถไฟ​แมกเลฟ​ออก​จาก​ผูตง​เที่ยว​กลับ​สู่​เมือง​เซี่ยงไฮ้ ผู้​โดยสาร​จะ​จับตา​ดู​มาตร​วัด​ความ​เร็ว​แบบ​ดิจิตอล​ซึ่ง​ติด​ตั้ง​ไว้​ใน​รถไฟ​แต่​ละ​คัน เพื่อ​ดู​ว่า​เมื่อ​ไร​ความ​เร็ว​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​ไป​จน​ถึง​จุด​สูง​สุด. ที่​จริง ใน​การ​ขึ้น​รถไฟ​เที่ยว​แรก​ผู้​โดยสาร​หลาย​คน​แทบ​ไม่​ได้​ดู​ทิวทัศน์​เท่า​ไร​นัก ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ขึ้น​อีก​เป็น​เที่ยว​ที่​สอง. เมื่อ​เฝ้า​ดู​ภาพ​ข้าง​ทาง​ที่​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว พวก​เขา​จึง​เข้าใจ​ถ่องแท้​ว่า​ทำไม​ผู้​คน​จึง​เรียก​รถไฟ​พลัง​แม่เหล็ก​ว่า “เครื่องบิน​ไร้​ปีก.”

[กรอบ/แผนภูมิ​หน้า 24]

ระบบ​รถไฟ​พลัง​แม่เหล็ก​ทำ​งาน​อย่าง​ไร?

แม่เหล็ก​ไฟฟ้า​ที่​ควบคุม​ด้วย​ระบบ​อิเล็กทรอนิกส์ (1) ซึ่ง​ติด​อยู่​ที่​แผง​ด้าน​ล่าง​ของ​รถ​แต่​ละ​คัน​พร้อม​กับ​แม่เหล็ก​ที่​ติด​อยู่​ใต้​ทาง​วิ่ง​ของ​รถไฟ (2) ยก​ตัว​รถไฟ​ให้​ลอย​ขึ้น​จน​กระทั่ง​แม่เหล็ก​ทั้ง​สอง​ชุด​แยก​ห่าง​จาก​กัน​เกือบ​ครึ่ง​นิ้ว. แม่เหล็ก​ตัว​อื่น ๆ (3) ช่วย​บังคับ​รถไฟ​ไม่​ให้​เคลื่อน​ไป​เสียดสี​กับ​ทาง​วิ่ง. ขด​ลวด (4) ที่​อยู่​ใน​ทาง​วิ่ง​สร้าง​สนาม​แม่เหล็ก​เพื่อ​ผลัก​ดัน​รถไฟ​ให้​เคลื่อน​ตัว​ไป.

เพื่อ​จะ​ประหยัด​พลัง​งาน​ไฟฟ้า สถานี​ควบ⁠คุม​กลาง​จะ​จ่าย​กระแส​ไฟฟ้า​ไป​ที่​ทาง​วิ่ง​ช่วง​หนึ่ง (5) เฉพาะ​ตอน​ที่​รถไฟ​วิ่ง​ผ่าน​ทาง​วิ่ง​ช่วง​นั้น. มี​การ​จ่าย​กระแส​ไฟฟ้า​มาก​ขึ้น​ใน​ช่วง​ที่​รถไฟ​ต้อง​เร่ง​ความ​เร็ว​หรือ​ไต่​ขึ้น​ที่​สูง. เมื่อ​รถไฟ​ต้อง​ชะลอ​ความ​เร็ว​ลง หรือ​ต้อง​วิ่ง​กลับ​ไป​อีก​ทาง​หนึ่ง สนาม​แม่เหล็ก​ใน​ขด​ลวด​ที่​อยู่​ใน​ทาง​วิ่ง​ก็​จะ​กลับ​ขั้ว.

ปลอด​ภัย​ไหม?

แม้​ว่า​รถไฟ​แมกเลฟ​จะ​วิ่ง​ด้วย​ความ​เร็ว​สูง​มาก แต่​ส่วน​แผง​ด้าน​ข้าง​ของ​รถไฟ​แต่​ละ​คัน​จะ (6) ครอบ​ทาง​วิ่ง​เอา​ไว้​ทำ​ให้​มัน​แทบ​ไม่​มี​โอกาส​ตก​ราง​ได้​เลย. ไม่​จำเป็น​ต้อง​ใช้​เข็มขัด​นิรภัย และ​ผู้​โดยสาร​ก็​สามารถ​เดิน​ไป​เดิน​มา​ได้​แม้​แต่​ตอน​ที่​รถไฟ​กำลัง​วิ่ง​ด้วย​ความ​เร็ว​ปกติ. ใน​กรณี​ที่​ไฟฟ้า​ดับ เบรก​พิเศษ​ที่​ทำ​งาน​โดย​อาศัย​แบตเตอรี่​ที่​มี​อยู่​บน​รถไฟ​จะ​ผลิต​สนาม​แม่เหล็ก​กลับ​ขั้ว ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​รถไฟ​วิ่ง​ช้า​ลง​จน​ถึง 10 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง. แล้ว​รถไฟ​ก็​จะ​ค่อย ๆ ลด​ระดับ​ลง​จน​แถบ​ใต้​ท้อง​รถไฟ​มา​แตะ​กับ​ทาง​วิ่ง​แล้ว​ไถล​ไป​จน​กระทั่ง​รถ​หยุด.

พลัง​แม่เหล็ก​กำลัง​แรง​ของ​รถไฟ​จะ​มี​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ​ไหม? ตัว​อย่าง​เช่น ใน​กรณี​ของ​ผู้​โดยสาร​ที่​ใส่​เครื่อง​กระตุ้น​หัวใจ. ผล​การ​ทดสอบ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ต้อง​เป็น​ห่วง. ที่​จริง สนาม​แม่เหล็ก​ภาย​นอก​นี้​ยัง​อ่อน​กว่า​สนาม​แม่เหล็ก​ที่​อยู่​รอบ ๆ รถไฟ​ธรรมดา​บาง​ประเภท​ด้วย​ซ้ำ.

[ภาพ​หน้า 24, 25]

เร็ว​กว่า 430 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง!

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Pages 24 and 25: All photos and diagrams: © Fritz Stoiber Productions/Courtesy Transrapid International GmbH & Co. KG