เหตุใดอวนจึงว่างเปล่า?
เหตุใดอวนจึงว่างเปล่า?
จอร์จชาวประมงวัย 65 ปี ซึ่งหาปลาอยู่ทางแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษกล่าวว่า “ผมเคยเห็นบางปีที่ปลาชุกชุมและบางปีที่หาปลาได้ยาก แต่ผมไม่เคยเห็นวิกฤตการณ์ในการประมงอย่างที่เรากำลังประสบอยู่ในเวลานี้. ทุกสิ่งเกือบหมดเกลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นปลาแซล์มอน, ปลาไวท์ฟิช, ปลาคอด, กุ้งมังกร คือหมดแล้วทุกสิ่ง.”
จอร์จหาได้เป็นคนเดียวเท่านั้นที่เป็นห่วงเรื่องนี้ เนื่องจากมีรายงานที่น่าตกใจคล้าย ๆ กันนี้มาจากมหาสมุทรทั่วโลก. ในเปรู อากุสติน ซึ่งเป็นกัปตันเรือประมงที่มีระวางขับน้ำ 350 ตันกล่าวว่า “ปลาซาร์ดีนเริ่มขาดแคลนมาประมาณ 12 ปีแล้ว. เปรูเคยมีปลามากมายให้จับได้ตลอดทั้งปี แต่ตอนนี้เรามักจะว่างงานกันเป็นเดือน ๆ เลยทีเดียว. เมื่อก่อนเราไม่เคยออกไปจับปลาไกลจากชายฝั่งเกิน 25 กิโลเมตร แต่ตอนนี้เราแล่นเรือออกไปไกลถึง 300 กิโลเมตรเพื่อจับปลา.”
อันโตนีโอซึ่งอาศัยอยู่ในกาลิเซีย ประเทศสเปน กล่าวว่า “ผมจับปลามา 20 กว่าปีแล้ว. ผมเห็นปลาที่อยู่ในทะเลค่อย ๆ ถูกจับไปจนหมด. เราจับปลาเร็วกว่าที่พวกมันจะขยายพันธุ์ได้ทัน.”
เราไม่อาจมองเห็นความเสียหายที่น่าตกตะลึงของมหาสมุทรต่าง ๆ ที่มีการจับปลามากเกินไปจากภาพถ่ายได้เหมือนกับภาพของป่าดิบที่ถูกถางจนโล่งเตียน แต่ความหายนะนั้นเป็นเรื่องจริง. คำเตือนที่ออกเมื่อไม่นานมานี้จากองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการจับปลามากเกินไปกล่าวว่า “สถานการณ์ดังกล่าวร้ายแรงและดูสิ้นหวังอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่จับปลาของโลกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์นั้นมีการจับปลากันอย่างเต็มที่, จับปลามากเกินไป, หรือจับปลาจนหมดสิ้น.”
ปลาเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์แหล่งสำคัญสำหรับประชากรโลกประมาณหนึ่งในห้า. ฉะนั้น อาหารที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์กำลังเสี่ยงต่อการสูญสิ้น. ปลาไม่ได้มีชุกชุมทั่วทุกพื้นที่ในทะเล. ที่จริง เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิต ส่วนใหญ่แล้วมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลก็เหมือนกับทะเลทราย.
บริเวณที่มักจะมีปลาชุกชุมส่วนใหญ่แล้วเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง และบริเวณที่มีการลอยตัวของมวลน้ำจากก้นทะเลซึ่งอุดมด้วยสารอาหาร. สารอาหารเหล่านี้เลี้ยงดูแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นส่วนฐานในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล. ชาวประมงกำลังทำลายพื้นที่จับปลาซึ่งเป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขาโดยวิธีใด? ประวัติของพื้นที่จับปลาแห่งหนึ่งโดยเฉพาะให้คำตอบบางประการสำหรับเรื่องนี้.แกรนด์แบงก์—ความหายนะเริ่มขึ้น
เหตุการณ์หนึ่งที่คล้ายกับยุคตื่นทองได้เริ่มขึ้นเมื่อจอห์น แคบอต * นักเดินเรือและนักสำรวจที่เกิดในอิตาลี ได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากประเทศอังกฤษ และค้นพบพื้นที่จับปลาที่เรียกกันว่าแกรนด์แบงก์ ในบริเวณน้ำตื้นนอกชายฝั่งของแคนาดา. นี่เป็นเวลาเพียงห้าปีหลังจากการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในปี 1492. ไม่ช้าชาวประมงนับร้อยคนก็พากันแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไม่หวั่นกลัวเพื่อไปจับปลาที่แกรนด์แบงก์. ไม่มีชาวยุโรปคนใดเคยเห็นทะเลที่มีปลาคอดชุกชุมอย่างนี้มาก่อน.
ปลาคอดมีค่าดั่งทองคำ. สิ่งที่ทำให้ปลาชนิดนี้มีค่ามากก็คือ เนื้อปลาสีขาวที่แทบจะปราศจากไขมัน และปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมของตลาดโลก. ปกติแล้ว ปลาคอดแอตแลนติกตัวหนึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 1.4 ถึง 9 กิโลกรัม แต่ปลาคอดบางตัวที่แกรนด์แบงก์ใหญ่พอ ๆ กับคนหนึ่งคน. ในศตวรรษต่อ ๆ มา ชาวประมงจับปลาได้มากขึ้น เนื่องจากพวกเขาเรียนรู้วิธีใช้อวนลากขนาดใหญ่และเบ็ดราวที่มีตะขอเกี่ยวอยู่นับเป็นพัน ๆ ตัว.
ผลกระทบของอุตสาหกรรมประมง
พอถึงศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปบางคนก็เริ่มแสดงความเป็นห่วงเรื่องจำนวนปลาที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะปลาเฮอร์ริง. อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์โทมัส ฮักซ์ลีย์ ประธานราชสมาคมแห่งบริเตนได้แถลงในงานนิทรรศการการประมงนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นในลอนดอนเมื่อปี 1883 ดังนี้: “ปลาเหล่านี้มีมากมายเสียจนจำนวนปลาที่เราจับไปนั้นแทบจะไม่สลักสำคัญอะไรเลย . . . ดังนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าพื้นที่จับปลาคอดแห่งนี้ . . . และพื้นที่จับปลาในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ทุกแห่งก็คงมีปลาให้จับได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น.”
ตอนนั้นแทบจะไม่มีใครสงสัยทัศนะของฮักซ์ลีย์ แม้กระทั่งหลังจากที่เริ่มมีการทำอุตสาหกรรมประมงโดยใช้เรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำในแกรนด์แบงก์. ความต้องการปลาคอดมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากปี 1925 เมื่อคลาเรนซ์ เบิร์ดไซ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นวิธีแช่แข็งปลาแบบรวดเร็ว. เมื่อเริ่มนำเรือประมงที่ติดเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้ ชาวประมงก็จับปลาได้มากกว่าเดิม. แต่การแสวงประโยชน์ยิ่งกว่านี้กำลังจะเกิดขึ้น.
ในปี 1951 เรือที่มีรูปร่างประหลาดจากบริเตนก็มาจับปลาที่แกรนด์แบงก์. เรือลำนี้ยาว 85 เมตร และมีระวางบรรทุกสินค้า 2,600 ตันกรอส. นี่เป็นเรือประมงลำแรกของโลกที่มีโรงงานแช่แข็งอยู่บนเรือ. เรือลำนี้มีทางลาดตรงท้ายเรือ ซึ่งมีกว้านที่สามารถดึงอวนขนาดใหญ่ขึ้นมาบนเรือ และบนดาดฟ้าชั้นล่าง เรือลำนี้ยังมีเครื่องชำแหละปลาแบบอัตโนมัติเรียงเป็นแถว ๆ และมีห้องแช่แข็ง. การใช้เรดาร์, อุปกรณ์ค้นหาฝูงปลา, และเครื่องมือหาตำแหน่งด้วยคลื่นเสียงสะท้อน ทำให้เรือลำนี้สามารถล่าปลาที่ว่ายไปด้วยกันเป็นฝูง ๆ ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืนนานหลายสัปดาห์โดยไม่หยุด.
ประเทศอื่น ๆ รู้ดีว่าอาจทำกำไรได้มากมายจากธุรกิจนี้ และไม่ช้าเรือนับร้อยลำที่คล้ายกับเรือลำนั้นก็แห่กันไปจับปลาที่ทะเล โดยทำการจับปลามากถึง 200 ตันต่อชั่วโมง. เรือบางลำมีระวางบรรทุกสินค้า 8,000 ตัน และมีอวนหลายอวนที่ใหญ่พอที่จะคลุมเครื่องบินจัมโบเจตได้ทั้งลำ.
การสูญสิ้น
หนังสือจุดจบของมหาสมุทร (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ปลายทศวรรษ 1970 คนส่วนใหญ่ยังหลอกตัวเองว่าปลาในทะเลนั้นไม่มีวันหมด.” เรือประมงขนาดยักษ์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แห่กันไปจับปลาที่แกรนด์แบงก์ตลอดทศวรรษ 1980. นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ประชากรปลาคอดร่อยหรอลงจนเกือบหมดแล้ว. ทว่า ในเวลานั้นมีคนนับหมื่นคนที่พึ่งอาศัยการประมงดังกล่าวเพื่อการหาเลี้ยงชีพ และพวกนักการเมืองก็ไม่ต้องการตัดสินใจทำอะไรแบบที่ผู้คนไม่นิยมชมชอบ. สุดท้ายแล้ว ในปี 1992 นักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ภายในเวลา 30 ปีประชากรปลาคอดได้ลดจำนวนลงอย่างน่าตกตะลึงถึง 98.9 เปอร์เซ็นต์. มีการห้ามจับปลาคอดในแกรนด์แบงก์. แต่ก็สายเกินไปแล้ว. ห้าร้อยปีหลังจากการค้นพบแกรนด์แบงก์ พื้นที่ที่มีปลาชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ประสบกับความหายนะ.
ชาวประมงหวังกันว่า ปลาคอดจะกลับมามีจำนวนมากขึ้นอีกในไม่ช้า. แต่ปลาคอดมีอายุยืนกว่า 20 ปี และพวกมันก็โตช้า. ในช่วงเวลาหลายปีนับตั้งแต่ปี 1992 ความหวังที่จะได้เห็นปลากลับมามีจำนวนมากขึ้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นเลย.
วิกฤตการณ์ในการจับปลาที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สิ่งที่เกิดขึ้นในแกรนด์แบงก์เป็นตัวอย่างที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับปัญหาด้านอุตสาหกรรมประมงทั่วโลก. ในปี 2002 รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของบริเตนกล่าวว่า “60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่บนโลกที่มีปลาอาศัยอยู่กำลังมีการจับปลากันแบบล้างผลาญจนใกล้จะหมดเกลี้ยง.” ปลาทูนา, ปลากระโทงแทง, ฉลาม, และปลากะรังเป็นปลาที่ตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากการถูกจับมากเกินไปเช่นเดียวกับปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิด.
ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศที่ได้จับปลาในน่านน้ำของตนเองจนหมดเกลี้ยง ต่างก็กำลังมองหาน่านน้ำที่อยู่ไกลออกไปเพื่อจะแสวงประโยชน์. ตัวอย่างเช่น ตามชายฝั่งของแอฟริกา ซึ่งบางแห่งเป็นพื้นที่จับปลาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก. ผู้ปกครองชาวแอฟริกาหลายคนรู้สึกว่ายากที่จะปฏิเสธเมื่อมีการขอสัมปทานจับปลา เนื่องจากสัมปทานเหล่านั้นเป็นแหล่งสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลได้รับเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก. ไม่น่าแปลกใจ ผู้คนในท้องถิ่นรู้สึกโกรธแค้นที่ปลาในน่านน้ำของพวกเขาถูกจับจนหมดสิ้น.
ทำไมการจับปลามากเกินไปยังดำเนินอยู่?
สำหรับคนที่ไม่ได้ทำการประมง ทางแก้ดูเหมือนจะง่ายมากคือ อย่าจับปลามากเกินไป. แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างนั้น. ธุรกิจการประมงต้องอาศัยเงินลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อซื้ออุปกรณ์จับปลา. ด้วยเหตุนี้ ชาวประมงแต่ละคนจึงหวังว่าคนอื่น ๆ จะเลิกจับ เพื่อเขาจะจับปลาต่อไปได้. ผลคือ มักจะไม่มีใครยอมเลิก. ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลมักจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการประมง ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลมีส่วนในการสร้างปัญหาด้วย. วารสารประเด็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “หลายประเทศมักจะมองดูเป้าหมายต่าง ๆ [ของยูเอ็น] เพื่ออนุรักษ์พื้นที่จับปลาว่าเป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ชาติอื่น ๆ ควรยึดถือ แต่พวกเขาเองกลับเตรียมพร้อมที่จะละเมิด.”
นอกจากนี้ คนที่ล่าปลาเพื่อการกีฬาก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วย. ในรายงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งที่ทำในสหรัฐ วารสารนิว ไซเยนติสต์ กล่าวว่า “มีรายงานว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของการจับปลาชนิดที่ถูกจับมากเกินไปอยู่แล้วในอ่าวเม็กซิโกนั้นเป็นการจับปลาเพื่อนันทนาการ.” เนื่องจากคนที่จับปลาเพื่อการกีฬาและเพื่อการค้ามีอิทธิพลอย่างมาก พวกนักการเมืองจึงมักจะทำสิ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับความนิยมชมชอบแทนที่จะปกป้องประชากรปลา.
พื้นที่จับปลาของโลกจะได้รับการปกป้องไหม? บอยซ์ ทอร์น-มิลเลอร์ กล่าวในหนังสือของเขาที่ชื่อมหาสมุทรที่มีชีวิต (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ไม่มีอะไรโดยเฉพาะที่สามารถรักษาชีวิตสัตว์ทั้งหลายในมหาสมุทรได้ จนกว่ามนุษย์จะทำการเปลี่ยนแปลงทัศนะของตนอย่างสิ้นเชิงจริง ๆ.” น่าดีใจที่พระผู้สร้าง พระยะโฮวาพระเจ้า ทรงตั้งราชอาณาจักรขึ้นซึ่งจะทำให้แน่ใจว่าในอนาคตทั่วทั้งแผ่นดินโลกจะได้รับการปกป้องให้พ้นภัย.—ดานิเอล 2:44; มัดธาย 6:10.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 จอห์น แคบอต เกิดในอิตาลี ผู้คนที่นั่นเรียกเขาว่าโจวานนี กาโบโต. เขาย้ายไปที่บริสตอลประเทศอังกฤษในทศวรรษ 1480 และเริ่มการเดินทางของเขาจากอังกฤษในปี 1497.
[คำโปรยหน้า 21]
เช่นเดียวกับป่าดิบที่ถูกถางจนโล่งเตียน ทะเลที่มีการจับปลามากเกินไปก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก
[คำโปรยหน้า 22]
“พื้นที่จับปลาของโลกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์นั้นมีการจับปลากันอย่างเต็มที่, จับปลามากเกินไป, หรือจับปลาจนหมดสิ้น.”—องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ
[คำโปรยหน้า 23]
ปลาเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์แหล่งสำคัญสำหรับประชากรโลกประมาณหนึ่งในห้า
[ภาพหน้า 23]
กัมพูชา
[ภาพหน้า 23]
ธุรกิจการประมงในอะแลสกา
[ภาพหน้า 23]
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
[ที่มาของภาพหน้า 20]
© Janis Miglavs/DanitaDelimont.com
[ที่มาของภาพหน้า 22]
Top: © Mikkel Ostergaard/Panos Pictures; middle: © Steven Kazlowski/SeaPics.com; bottom: © Tim Dirven/Panos Pictures