ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เป๋าฮื้อนิวซีแลนด์—โอพอลแห่งท้องทะเล

เป๋าฮื้อนิวซีแลนด์—โอพอลแห่งท้องทะเล

เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์—โอพอล​แห่ง​ท้อง​ทะเล

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​นิวซีแลนด์

หอย​ขนาด​ใหญ่​ตัว​หนึ่ง​ที่​ค่อย ๆ คลาน​ไป​ตาม​ก้อน หิน​บน​พื้น​มหาสมุทร กำลัง​เล็ม​สาหร่าย​ที่​พลิ้ว​ไหว​ไป​ตาม​กระแส​น้ำ​แถบ​ชายฝั่ง​ทะเล. เปลือก​ด้าน​นอก​ของ​มัน​ที่​มี สี​หม่น ๆ แถม​ยัง​มี​ตะกอน​หินปูน​และ​สัตว์​ทะเล​ตัว​จิ๋ว​เกาะ​อยู่​จน หนัก​อึ้ง​นั้น ได้​ปิด​ซ่อน​สี​สัน​อัน​พราว​พราย​เหมือน​สี​รุ้ง​ที่​อยู่​ด้าน​ใน​เอา​ไว้ ซึ่ง​มี​ทั้ง​สี​ฟ้า​อ่อน​เย็น​ตา, สี​เขียว​น้ำ​ทะเล, สี​ม่วง​เข้ม​ที่​แซม​ด้วย​สี​เหลือง​และ​สี​ชมพู​อ่อน อีก⁠ทั้ง​สี​ทอง​และ​สี​เงิน​ที่​เปล่ง​ประกาย​วาว​วับ.

สัตว์​ที่​น่า​ทึ่ง​ตัว​นี้​คือ​หอย​เป๋าฮื้อ​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​เฉพาะ​ที่​นิวซีแลนด์​เท่า​นั้น. หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​และ​หอย​เป๋าฮื้อ​ชนิด​อื่น ๆ อาศัย​อยู่​ใต้​ท้อง​ทะเล​บริเวณ​แนว​ชายฝั่ง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​โขด​หิน. แม้​ว่า​สี​รุ้ง​เลื่อม​พราย​ที่​อยู่​ด้าน​ใน​เปลือก​หอย​จะ​ทำ​ให้​มัน​มี​ค่า​มาก ซึ่ง​สามารถ​นำ​มา​ทำ​เครื่อง​ประดับ​อัน​งดงาม​ได้ แต่​หลาย​คน​กลับ​มอง​ว่า​เนื้อ​ของ​มัน​เป็น​อาหาร​รส​เลิศ. นอก​จาก​นี้ มัน​ยัง​สามารถ​นำ​มา​ผลิต​ไข่มุก​เลี้ยง​ที่​มี​ประกาย​แวว​วาว​ได้.

หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​เป็น​หนึ่ง​ใน​เป๋าฮื้อ 100 กว่า​ชนิด​ที่​พบ​เห็น​อยู่​ทั่ว​โลก. แอฟริกา​ใต้​และ​แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ​อเมริกา ต่าง​ก็​มี​หอย​เป๋าฮื้อ​ชนิด​ที่​มี​เฉพาะ​ใน​ดินแดน​ของ​ตน​เอง. หอย​เป๋าฮื้อ​ใน​ญี่ปุ่น​เรียก​ว่า​อาวาบิ, ใน​ออสเตรเลีย​เรียก​ว่า​มัตตันฟิช, และ​บน​เกาะ​เกอร์นซีย์​ใน​ช่องแคบ​อังกฤษ​เรียก​ว่า​ออร์เมอร์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​แต่​ใน​น่าน​น้ำ​ที่​หนาว​เย็น​ทาง​ใต้​ของ​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ใต้​เท่า​นั้น​ที่​จะ​พบ​หอย​เป๋าฮื้อ​ของ​นิวซีแลนด์ (Haliotis iris) ที่​มี​สี​สัน​พราว​พราย​ได้.

ความ​น่า​พิศวง​ทาง​ชีววิทยา

ภาย​ใน​เปลือก​หอย​ชนิด​นี้ โปรตีน​และ​แคลเซียม​ที่​สลับ​กัน​เป็น​ชั้น ๆ ทำ​ให้​แสง​ที่​สะท้อน​ออก​มา​มี​สี​เหลือบ​เหมือน​สี​รุ้ง​คล้าย​กับ​โอพอล. ด้วย​เหตุ​นี้ หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​จึง​ได้​รับ​ฉายา​ว่า​โอพอล​แห่ง​ท้อง​ทะเล. การ​ลด​ลง​ของ​อุณหภูมิ​ใน​ท้อง​ทะเล​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​หอย​เป๋าฮื้อ “จำศีล” หรือ​นอน​หลับ และ​กว่า​ชั้น​ของ​เปลือก​หอย​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​ได้​ก็​ต้อง​ใช้​เวลา​นาน​มาก. ผู้​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​คน​หนึ่ง​เชื่อ​ว่า​สี​สัน​อัน​หลาก​หลาย​อาจ​เกิด​จาก​สาร​อาหาร​ที่​อยู่​ใน​น้ำ​ทะเล รวม​ทั้ง​สี​ของ​สาหร่าย​ชนิด​ต่าง ๆ ที่​หอย​กิน​เข้า​ไป.

หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​เลือก​เฟ้น​อาหาร​ที่​มัน​กิน​และ​พิถีพิถัน​ใน​การ​เลือก​เพื่อน​บ้าน​ของ​มัน. พวก​มัน​จะ​ไม่​ยอม​อยู่​ใกล้ ๆ เม่น​ทะเล หรือ​กินา ที่​มี​ขน​เป็น​หนาม​แหลม เพราะ​เม่น​ทะเล​ชอบ​กิน​สาหร่าย​ชนิด​เดียว​กับ​มัน. นอก​จาก​นี้ ปลา​ดาว​ยัง​เป็น​ศัตรู​ตัว​ร้าย​ของ​มัน​ด้วย. ปลา​ดาว​เพียง​ไม่​กี่​ตัว​ก็​สามารถ​ฆ่า​พวก​มัน​ได้​คราว​ละ​มาก ๆ. ปลา​ดาว​เจ้า​เล่ห์​จะ​วาง​แขน​อัน​หนึ่ง​พาด​ตาม​แนว​ที่​เป็น​รู​หายใจ​ของ​หอย​เป๋าฮื้อ ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ทำ​ให้​มัน​หายใจ​ไม่​ออก. เมื่อ​หอย​เป๋าฮื้อ​ร่วง​ลง​มา​จาก​หิน​ที่​มัน​เกาะ​อยู่ ปลา​ดาว​ก็​จะ​จับ​หอย​เป๋าฮื้อ​กิน​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย.

ประโยชน์​นานา​ประการ​จาก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์

แม้​ว่า​เปลือก​สี​ดำ​ด้าน​นอก​ของ​มัน​จะ​ดู​ไม่​สวย แต่​เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ​มา​แล้ว​ที่​ชาว​เมารี​ซึ่ง​เป็น​ชน​พื้นเมือง​ของ​นิวซีแลนด์​ถือ​ว่า​หอย​เป๋าฮื้อ​เป็น​อาหาร​ที่​มี​คุณค่า. ส่วน​ที่​กิน​ได้​ของ​หอย​ชนิด​นี้​ก็​คือ​กล้ามเนื้อ​มัด​ใหญ่ หรือ​ตีน​ที่​มัน​ใช้​คลาน​ไป​ใน​ท้อง​ทะเล​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​โขด​หิน. ชาว​เมารี​ยัง​ใช้​เปลือก​ของ​มัน​ทำ​เหยื่อ​ตก​ปลา​และ​เครื่อง​ประดับ​ต่าง ๆ รวม​ทั้ง​ทำ​เป็น​ดวง​ตา​ใส่​ใน​รูป​แกะ​สลัก​ของ​เขา.

ปัจจุบัน​นี้​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​ได้​รับ​ความ​นิยม​ยิ่ง​กว่า​ที่​เคย​เป็น​มา. การ​เดิน​ทาง​ไป​นิวซีแลนด์​อาจ​จะ​ถือ​ว่า​ไป​ไม่​ถึง​จริง ๆ ถ้า​ไม่​ได้​ไป​แวะ​ซื้อ​เครื่อง​ประดับ​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​จาก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์.

ทุก​วัน​นี้ นัก​ดำ​น้ำ​ที่​ไม่​ได้​ใส่​เครื่อง​ช่วย​หายใจ​ใต้​ทะเล​ใด ๆ ได้​พา​กัน​ไป​เก็บ​หอย. การ​เก็บ​หอย​กลาย​เป็น​ธุรกิจ​ส่ง​ออก​ที่​ทำ​เงิน​หลาย​ล้าน​ดอลลาร์. เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​จะ​มี​หอย​เป๋าฮื้อ​เหลือ​รอด​อยู่​ใน​นิวซีแลนด์ รัฐบาล​จึง​มี​การ​จัด​ระบบ​โควตา​ขึ้น. เนื้อ​หอย​ส่วน​ใหญ่​จะ​ถูก​นำ​ไป​บรรจุ​กระป๋อง​ส่ง​ไป​ยัง​ตลาด​ใน​เอเชีย และ​บาง​ส่วน​ก็​แช่​แข็ง​ส่ง​ไป​ยัง​สิงคโปร์​และ​ฮ่องกง ซึ่ง​หอย​เป๋าฮื้อ​กลาย​เป็น​อาหาร​เลิศ​หรู​ที่​ใคร ๆ ก็​ชื่น​ชอบ. หอย​เป๋าฮื้อ​มัก​จะ​เสิร์ฟ​แบบ​ดิบ​และ​หั่น​เป็น​ชิ้น​บาง ๆ แบบ​เดียว​กับ​ซูชิ. ทั้ง ๆ ที่​มี​หอย​เป๋าฮื้อ​มาก​มาย​ใน​น่าน​น้ำ​ของ​ตน แต่​ชาว​นิวซีแลนด์​หลาย​คน​ก็​ไม่​เคย​ได้​ลิ้ม​รส​ของ​มัน​เลย เพราะ​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มัน​จะ​ถูก​ส่ง​ออก​นอก​ประเทศ.

เพื่อ​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​จะ​มี​พอ​สำหรับ​ความ​ต้องการ​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ของ​นานา​ประเทศ เวลา​นี้​ผู้​จัด​จำหน่าย​ได้​ใช้​วิธี​การ​อัน​ทัน​สมัย​เพื่อ​เพาะ​เลี้ยง​พวก​มัน. วิธี​การ​ผลิต​ที่​มนุษย์​คิด​ทำ​ขึ้น​นี้​ยัง​ใช้​กับ​หอย​เป๋าฮื้อ​ชนิด​อื่น ๆ ที่​อยู่​ใน​ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และ​สหรัฐ​ได้​ด้วย. วิธี​การ​แบบ​ใหม่​นี้​ทำ​ให้​สามารถ​เพาะ​เลี้ยง​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​ใน​แท็งก์​น้ำ​ที่​มี​การ​ควบคุม​อุณหภูมิ​อย่าง​เหมาะ​สม ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ไกล​มาก​จาก​ถิ่น​อาศัย​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​ท้อง​ทะเล.

หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​ที่​ถูก​นำ​มา​เพาะ​เลี้ยง​ก็​ตะกละ​ตะกลาม​เช่น​เดียว​กับ​พวก​ญาติ ๆ ของ​มัน​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​ทะเล. ใน​แต่​ละ​สัปดาห์ พวก​มัน​กิน​อาหาร​ได้​มาก​ถึง​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​น้ำหนัก​ตัว. น่า​แปลก​ที่​หอย​พวก​นี้​มี​ความ​คล่องตัว​ราว​กับ​นัก​กีฬา. ถ้า​มี​ใคร​ไป​จับ​มัน​หงาย​ท้อง มัน​จะ​พลิก​ตัว​กลับ​ขึ้น​มา​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว. หอย​เป๋าฮื้อ​ที่​ถูก​นำ​มา​เพาะ​เลี้ยง​ดู​แล​ง่าย​มาก. ผู้​เชี่ยวชาญ​ใน​การ​เพาะ​เลี้ยง​หอย​บอก​ว่า “หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​เป็น​สัตว์​ที่​น่า​รัก​เมื่อ​เลี้ยง​มัน เพราะ​พวก​มัน​เชื่อง​และ​ประพฤติ​ตัว​ดี​มาก และ​พวก​มัน​ก็​ไม่​เคย​เถียง​กลับ!”

ไข่มุก​จาก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์

นอก​จาก​จะ​เป็น​แหล่ง​แห่ง​เครื่อง​ประดับ​ที่​ทำ​จาก​เปลือก​หอย​และ​เป็น​อาหาร​อัน​โอชะ หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​ยัง​สามารถ​ผลิต​ไข่มุก​ที่​แวว​วาว​ได้​ด้วย. ไข่มุก​ธรรมชาติ​จาก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​ทะเล​นั้น​หา​ได้​ยาก​มาก. แต่​หอย​เหล่า​นี้​นำ​มา​เพาะ​เลี้ยง​มุก​ได้​โดย​ใช้​วิธี​การ​ที่​หลุยส์ บูตัง นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​ฝรั่งเศส​ได้​คิด​ค้น​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ทศวรรษ 1890. ผล​ที่​ได้​ก็​คือ มี​ไข่มุก​รูป​ครึ่ง​วง​กลม​ที่​มี​สี​สัน​ตระการตา​เช่น​เดียว​กับ​เปลือก​ของ​หอย​นั้น. วิธี​การ​ดัง​กล่าว​เป็น​เช่น​ไร?

มี​การ​ใส่​วัสดุ​ชิ้น​เล็ก ๆ เข้า​ไป​ใน​หอย​ที่​ถูก​นำ​มา​เพาะ​เลี้ยง ซึ่ง​ปกติ​จะ​ใส่​ไว้​สาม​ที่​คือ ด้าน​ข้าง​สอง​และ​ด้าน​หลัง​หนึ่ง. หอย​จะ​ค่อย ๆ เคลือบ​สิ่ง​แปลกปลอม​เหล่า​นั้น​เป็น​ชั้น ๆ ด้วย​เนเคอร์​หรือ​สาร​มุก ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​แคลเซียม​คาร์บอเนต​และ​สาร​โปรตีน​คอนคีโอลีน. หลัง​จาก 18 เดือน​เป็น​อย่าง​น้อย ชั้น​มุก​ที่​ซ้อน​ทับ​กัน​เป็น​พัน ๆ ชั้น​ก็​จะ​กลาย​เป็น​ไข่มุก​เม็ด​เล็ก ๆ. (ดู​กรอบ​ข้าง​ล่าง​นี้.) เพื่อ​จะ​ได้​ไข่มุก​เม็ด​ใหญ่​ต้อง​ใช้​เวลา​ถึง​หก​ปี. ใน​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์ 50 ตัว​จะ​มี​หนึ่ง​ตัว​ที่​ผลิต​ไข่มุก​ได้​เกือบ​สมบูรณ์​แบบ. นี่​เป็น​อัญมณี​ที่​มี​ผิว​เรียบ, มี​สี​เหลือบ​เหมือน​สี​รุ้ง, และ​มี​ประกาย​แวว​วับ​อย่าง​น่า​อัศจรรย์.

นัก​วิจัย​ยัง​ไม่​สามารถ​ผลิต​ไข่มุก​ทรง​กลม​จาก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​ได้. นั่น​เป็น​เพราะ​มัน​ไม่​เหมือน​กับ​หอย​นางรม. หอย​เป๋าฮื้อ​มี​กล้ามเนื้อ​มัด​หนึ่ง​ใน​ท้อง​ของ​มัน​ซึ่ง​จะ​คอย​ขจัด​สิ่ง​แปลกปลอม​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​ถูก​นำ​ไป​ใส่​ไว้​ใน​ระบบ​ย่อย​อาหาร​ของ​มัน. บาง​ที​สัก​วัน​หนึ่ง​อาจ​มี​ใคร​บาง​คน​ค้น​พบ​วิธี​ผลิต​ไข่มุก​ทรง​กลม​ที่​ผู้​คน​ใฝ่ฝัน​อยาก​จะ​ได้​ไว้​ครอบครอง.

ใน​ระหว่าง​นี้ เรา​ก็​สามารถ​ชื่นชม​กับ​ผลิตภัณฑ์​ต่าง ๆ จาก​หอย​ที่​ใช้​ทำ​ประโยชน์​ได้​สารพัด ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เครื่อง​ประดับ​ที่​ส่อง​ประกาย​แวว​วาว, อาหาร​ที่​น่า​ลิ้ม​ลอง, และ​เปลือก​หอย​ที่​มี​สี​สัน​พราว​พราย. เรา​รู้สึก​ขอบพระคุณ​พระเจ้า​มิ​ใช่​หรือ​ที่​ทรง​ให้​ของ​ประทาน​อัน​น่า​ยินดี​นี้?—ยาโกโบ 1:17.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 24, 25]

บ้าน​ที่​แข็งแรง​ทนทาน

ส่วน​ประกอบ​หลัก​ของ​เปลือก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​คือ​แคลเซียม​คาร์บอเนต. วัสดุ​นี้​เป็น​วัสดุ​ชนิด​เดียว​กับ​ที่​ใช้​ทำ​ชอล์ก​แท่ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เปลือก​หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​แข็งแรง​กว่า​ชอล์ก​อย่าง​น้อย 30 เท่า!

หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​สกัด​แคลเซียม​คาร์บอเนต​จาก​น้ำ​ทะเล​เพื่อ​สร้าง​สาร​มุก ซึ่ง​เป็น​แผ่น​บาง ๆ ซ้อน​กัน​เป็น​ชั้น ๆ. แผ่น​มุก​เหล่า​นี้​ไม่​เพียง​แต่​ทำ​ให้​เปลือก​หอย​แข็งแรง​มาก แต่​ยัง​ทำ​ให้​มี​สี​สัน​เป็น​ประกาย​แวว​วาว​ด้วย. กาว​ของ​โปรตีน​และ​น้ำตาล​ที่​เรียก​ว่า​คอนคีโอลีน​จะ​ยึด​แผ่น​มุก​ให้​เกาะ​ติด​กัน. กาว​ที่​ทรง​พลัง​นี้​ยัง​ช่วย​เคลือบ​เปลือก​หอย​ให้​ดู​แวว​วาว​คล้าย​กระจก​อีก​ด้วย.

นัก​วิทยาศาสตร์​ยัง​ไม่​สามารถ​ผลิต​กาว​หรือ​สร้าง​เปลือก​หอย​แบบ​เดียว​กับ​หอย​เป๋าฮื้อ​ได้. เปลือก​หอย​สามารถ​ซ่อมแซม​รอยร้าว​ต่าง ๆ และ​มี​อย่าง​น้อย​ห้า​วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​เปลือก​หอย​ทนทาน​ไม่​แตก​ง่าย. ที่​จริง หอย​เป๋าฮื้อ​นิวซีแลนด์​เป็น​ผล​งาน​ทาง​ด้าน​วิศวกรรม​และ​การ​ออก​แบบ​ที่​น่า​พิศวง​ของ​พระเจ้า.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Humann/gt photo

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 23]

Top left: © K.L. Gowlett-Holmes; top right: Marcus Byrne/Photographers Direct

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 25]

Silverdale Marine Hatchery, New Zealand