ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คนทำนาเกลือแห่งสะฮารา

คนทำนาเกลือแห่งสะฮารา

คน​ทำ​นา​เกลือ​แห่ง​สะฮารา

เสา​ที่​ปัก​ไว้​เรียง​ราย​ตาม​ถนน​ผ่าน​สายตา​เรา​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​ขณะ​ที่​รถ​ขับ​เคลื่อน​สี่​ล้อ​ของ​เรา​แล่น​ผ่าน​ไป. เสา​เหล่า​นี้​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​ถนน​อยู่​ตรง​ไหน​เมื่อ​พายุ​ทราย​พัด​กระหน่ำ​จน​มอง​อะไร​แทบ​ไม่​เห็น. ที่​จริง พายุ​เช่น​ว่า​นั้น​เป็น​เรื่อง​ปกติ​มาก​ใน​ทะเล​ทราย​สะฮารา.

เรา​ขับ​รถ​แล่น​ไป​ตาม​เส้น​ทาง​สาย​เก่า​แก่​ที่​อูฐ​เคย​เดิน​ทาง. เส้น​ทาง​นี้​เชื่อม​เมือง​อะกาเดซ​ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​ประเทศ​ไนเจอร์​ไป​จน​ถึง​ชายแดน​และ​เลย​เข้า​ไป​ใน​ประเทศ​แอลจีเรีย. จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ของ​เรา​อยู่​ที่​เทกวิดดา-อึน-เทซุมต์ หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ที่​อยู่​ไกล​ลิบ​ถึง 200 กิโลเมตร​จาก​เมือง​อะกาเดซ​ขึ้น​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ. ที่​นั่น​มี 50 ครอบครัว​ที่​ใช้​วิธี​การ​อัน​เก่า​แก่​ใน​การ​แยก​เกลือ​อัน​ล้ำ​ค่า​จาก​ดิน​เหนียว​ใน​ทะเล​ทราย​สะฮารา.

เนิน​ที่​มนุษย์​สร้าง​ขึ้น​และ​บ่อ​ที่​มี​สี​สัน​เย็น​ตา

เบื้อง​หน้า​เรา​มี​เนิน​เล็ก ๆ หลาย​ลูก​ตั้ง​อยู่​บน​ที่​ราบ​ทะเล​ทราย​ซึ่ง​เป็น​จุด​ที่​เรา​จะ​ไป​ดู. มัคคุเทศก์​ของ​เรา​จอด​รถ​ใกล้ ๆ กับ​เนิน​ลูก​หนึ่ง​ซึ่ง​สูง 10 เมตร. เขา​ชวน​เรา​ลง​จาก​รถ​แล้ว​ปีน​ขึ้น​ไป​บน​ยอด​เนิน​เพื่อ​ดู​ทัศนียภาพ​ของ​หมู่​บ้าน​นั้น. ขณะ​ที่​เรา​ค่อย ๆ ไต่​ขึ้น​ไป​บน​เนิน มัคคุเทศก์​อธิบาย​ว่า เนิน​ลูก​นี้​และ​ลูก​อื่น​ที่​คล้าย​กัน​นี้​เป็น​เนิน​ที่​มนุษย์​สร้าง​ขึ้น​จาก​สิ่ง​ที่​เหลือ​ตก​ค้าง​อยู่​ใน​บริเวณ​ที่​มี​การ​ทำ​นา​เกลือ​ตลอด​ช่วง​เวลา​หลาย​ปี.

ทัศนียภาพ​ที่​เห็น​จาก​ยอด​เนิน​นี้​ช่าง​น่า​ประทับใจ. แทบ​ทุก​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​เบื้อง​ล่าง​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​พื้น​ดิน, กำแพง, หรือ​หลังคา​บ้าน​ล้วน​เป็น​สี​น้ำตาล​เหมือน​กับ​สี​ดิน​เผา. สี​ที่​ต่าง​ออก​ไป​มี​เพียง​สี​เดียว​คือ​สี​เขียว​ของ​ใบ​ไม้​จาก​ต้น​ไม้​สอง​ต้น​ที่​ยืน​เป็น​ยาม​รักษา​การณ์​อยู่​ตรง​หัว​และ​ท้าย​หมู่​บ้าน. ที่​จริง รั้ว​และ​ตัว​บ้าน​ล้วน​ทำ​ด้วย​ดิน​เหนียว. สี​ของ​บ้าน​เรือน​ที่​มี​สี​เดียว​กัน​หมด​นี้​ต่าง​กัน​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​กับ​สี​สัน​ที่​ดู​เย็น​ตา​หลาย​หลาก​สี​ใน​บ่อ​เกลือ​นับ​ร้อย ๆ บ่อ​ซึ่ง​อยู่​ใน​ละแวก​เดียว​กัน. บริเวณ​ดัง​กล่าว​มี​งาน​ไม่​ว่าง​เว้น ทุก​คน​ไม่​ว่า​ผู้​ชาย, ผู้​หญิง, และ​เด็ก ๆ ต่าง​ก็​ทำ​งาน​กัน​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง.

วิธี​การ​แยก​เกลือ​ที่​ไม่​ธรรมดา

ขณะ​ที่​เรา​ลง​มา​จาก​จุด​ชม​วิว มัคคุเทศก์​ก็​อธิบาย​ถึง​วิธี​การ​แยก​เกลือ​แบบ​โบราณ​ที่​พวก​ชาว​บ้าน​ทำ​กัน. เขา​บอก​ว่า “จริง ๆ แล้ว​บ่อ​เกลือ​มี​แค่​สอง​ชนิด. บ่อ​ใหญ่​ที่​มี​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ประมาณ 2 เมตร​นั้น​ใช้​สำหรับ​เป็น​ที่​กัก​น้ำ​เกลือ. ส่วน​บ่อ​เล็ก​นั้น​เป็น​บ่อ​ระเหย. น้ำ​จาก​น้ำพุ 20 แห่ง​ใน​บริเวณ​นั้น​ค่อนข้าง​เค็ม​อยู่​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แหล่ง​สำคัญ​ของ​เกลือ​ไม่​ได้​มา​จาก​น้ำ​เหล่า​นั้น​แต่​มา​จาก​ดิน และ​สิ่ง​นี้​แหละ​ที่​ทำ​ให้​การ​แยก​เกลือ​เป็น​งาน​ที่​ไม่​ธรรมดา.” แล้ว​จะ​แยก​เกลือ​จาก​ดิน​ได้​อย่าง​ไร?

เรา​สังเกต​เห็น​ชาย​คน​หนึ่ง​เท​ดิน​ลง​ไป​ใน​บ่อ​ใหญ่​ที่​มี​น้ำ​จาก​น้ำพุ​อยู่​เต็ม​บ่อ. เขา​ใช้​เท้า​ย่ำ​ดิน​กับ​น้ำ​นั้น​เหมือน​กับ​คน​ที่​ย่ำ​ใน​บ่อ​ย่ำ​องุ่น. เมื่อ​ย่ำ​จน​ได้​ที่​แล้ว เขา​จะ​ทิ้ง​น้ำ​ที่​มี​เกลือ​ผสม​อยู่​นี้​ไว้​หลาย​ชั่วโมง​เพื่อ​ให้​มัน​ตก​ตะกอน. บ่อ​ใหญ่ ๆ ที่​เต็ม​เปี่ยม​ด้วย​ส่วน​ผสม​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​มี​อยู่​รอบ​ตัว​เขา. น้ำ​ใน​บ่อ​แต่​ละ​บ่อ​จะ​มี​สี​น้ำตาล​อ่อน​แก่​ไม่​เท่า​กัน เพราะ​บ่อ​เหล่า​นั้น​จะ​เปลี่ยน​สี​เมื่อ​โคลน​ตก​ตะกอน​แล้ว.

ใกล้ ๆ กัน​นั้น ผู้​ชาย​อีก​คน​หนึ่ง​จะ​ตัก​น้ำ​เกลือ​ออก​จาก​บ่อ​โดย​ใช้​ภาชนะ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​จาก​เปลือก​ของ​น้ำเต้า​และ​ใส่​ลง​ไป​ใน​บ่อ​ที่​เล็ก​กว่า. โดย​ปกติ​แล้ว​ผู้​ชาย​จะ​เป็น​ผู้​ที่​ทำ​งาน​ใน​ขั้น​ตอน​นี้. นอก​จาก​นี้ ผู้​ชาย​ยัง​มี​หน้า​ที่​บำรุง​รักษา​บ่อ​ด้วย. บ่อ​บาง​บ่อ​เกิด​จาก​การ​ยุบ​ตัว​ของ​ดิน​ตาม​ธรรมชาติ ใน​ขณะ​ที่​บาง​บ่อ​ต้อง​ขุด​ลง​ไป​ใน​โขด​หิน. ส่วน​บริเวณ​ที่​ขุด​ไม่​ได้ พวก​ผู้​ชาย​จะ​เอา​ดิน​มา​กอง​ถม​กัน​เป็น​วง​บน​โขด​หิน​ลักษณะ​คล้าย​กับ​คันนา. พวก​เขา​ใช้​มือ​ก่อ​กำแพง​ดิน​เหนียว แล้ว​เอา​ไม้​ฟาด​จน​มัน​แน่น​แข็ง. บ่อ​เหล่า​นี้​ต้อง​ซ่อมแซม​หรือ​ไม่​ก็​สร้าง​ใหม่​ทุก​ปี.

แล้ว​พวก​ผู้​หญิง​มี​หน้า​ที่​อะไร? พวก​เธอ​ช่วย​แบก​ของ​หนัก โดย​จะ​คอย​ดู​แล​ให้​มี​ดิน​เค็ม​พอ​ที่​จะ​ผลิต​เกลือ​ได้​ตลอด​เวลา. นอก​จาก​นี้ พวก​เธอ​ยัง​โกย​ผลึก​เกลือ​ออก​จาก​บ่อ​ระเหย​ด้วย. จาก​นั้น​พวก​เธอ​จะ​ล้าง​บ่อ​จน​สะอาด​หมดจด​เพื่อ​ให้​พร้อม​สำหรับ​การ​ผลิต​เกลือ​คราว​ต่อ​ไป.

ใน​ระหว่าง​นี้ เด็ก​จะ​วิ่ง​ไป​วิ่ง​มา​อยู่​แถว ๆ บ่อ​ที่​เล็ก​กว่า. พวก​เขา​มี​หน้า​ที่​ดู​แล​ใน​ขั้น​ระเหย. เมื่อ​น้ำ​ระเหย​จาก​บ่อ​เหล่า​นี้ ส่วน​ที่​อยู่​บน​ผิว​หน้า​จะ​เริ่ม​ตก​ผลึก. ถ้า​ไม่​คอย​ตรวจ​ดู ผลึก​เกลือ​ที่​เกาะ​อยู่​ด้าน​บน​จะ​เป็น​ตัว​ที่​สกัด​กั้น​ไม่​ให้​มี​การ​ระเหย​ต่อ​ไป​ได้. ดัง​นั้น พวก​เด็ก ๆ จะ​ช่วย​กัน​ใช้​น้ำ​พรม​บน​ผิว​หน้า​เพื่อ​ไม่​ให้​เกลือ​เกาะ​กัน​และ​ทำ​ให้​ผลึก​เกลือ​ตก​ตะกอน​ลง​ไป​อยู่​ก้น​บ่อ. การ​ระเหย​จะ​ดำเนิน​ต่อ​ไป​เรื่อย ๆ จน​ใน​ที่​สุด​ก็​จะ​เหลือ​แต่​เกลือ​ที่​มี​ค่า​เท่า​นั้น.

ทำไม​บ่อ​เกลือ​จึง​มี​สี​สัน​หลาก​หลาย​และ​สวย​งาม​เช่น​นั้น? มัคคุเทศก์​ของ​เรา​อธิบาย​ว่า “โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ดิน​เหนียว​หรือ​โคลน​ที่​พบ​ใน​แถบ​นี้​มี​อยู่​สาม​ชนิด และ​ดิน​แต่​ละ​ชนิด​จะ​ทำ​ให้​น้ำ​กลาย​เป็น​สี​ต่าง​กัน. นอก​จาก​นี้​สี​ที่​หลาก​หลาย​ยัง​ขึ้น​อยู่​กับ​ระดับ​ความ​เค็ม​ของ​น้ำ​เกลือ​ด้วย. สาหร่าย​ที่​เติบโต​ขึ้น​ใน​บ่อ​บาง​บ่อ​ก็​ยัง​ทำ​ให้​น้ำ​มี​สี​สัน​เช่น​กัน.” เรา​ยัง​สังเกต​ด้วย​ว่า บ่อ​เกลือ​จะ​เปลี่ยน​สี​เมื่อ​แสง​อัน​ร้อน​แรง​ของ​ดวง​อาทิตย์​เคลื่อน​คล้อย​ไป​อีก​ทิศ​ทาง​หนึ่ง.

เกลือ​เป็น​เงิน

กลับ​ไป​ที่​หมู่​บ้าน พวก​ผู้​หญิง​จะ​ปั้น​เกลือ​ดิบ​เป็น​ก้อน ๆ แล้ว​ก็​เอา​ไป​ตาก​แดด​ให้​แห้ง. เนื่อง​จาก​เกลือ​เหล่า​นี้​ไม่​ได้​ถูก​ทำ​ให้​เป็น​เกลือ​บริสุทธิ์ เกลือ​ที่​ปั้น​เป็น​ก้อน​จึง​ยัง​คง​ออก​เป็น​สี​น้ำตาล. เรา​สังเกต​ว่า​พวก​ผู้​หญิง​จะ​ปั้น​เกลือ​เป็น​ก้อน ๆ ซึ่ง​มี​สาม​แบบ​คือ แบบ​รี, แบบ​กลม, และ​แบบ​สาม​เหลี่ยม. ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​อธิบาย​ว่า เกลือ​ก้อน​รี​และ​ก้อน​กลม​นั้น​จะ​เอา​ไว้​ขาย ส่วน​ก้อน​ที่​เป็น​รูป​สาม​เหลี่ยม​จะ​นำ​ไป​เป็น​ของ​ขวัญ.

ใคร​ซื้อ​เกลือ​ล่ะ? ชน​เผ่า​เร่ร่อน​และ​พ่อค้า​เกลือ. พวก​เขา​เดิน​ทาง​ผ่าน​หมู่​บ้าน​เทกวิดดา-อึน-เทซุมต์ โดย​นำ​อาหาร​และ​สินค้า​อื่น ๆ มา​ขาย​เพื่อ​แลก​กับ​เกลือ. เกลือ​ส่วน​ใหญ่​จะ​ถูก​นำ​ไป​ขาย​ที่​ตลาด​ใน​เมือง​ใหญ่ ๆ ที่​อยู่​ตาม​แนว​ตะเข็บ​ทะเล​ทราย. มนุษย์​คง​จะ​ไม่​ได้​เอา​เกลือ​ดิบ​จาก​หมู่​บ้าน​นี้​ไป​บริโภค. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น เกลือ​ดัง​กล่าว​เป็น​อาหาร​เสริม​สำหรับ​สัตว์​เลี้ยง.

ขณะ​ที่​เรา​กำลัง​เดิน​กลับ​ไป​ที่​รถ เรา​เห็น​ชาย​คน​หนึ่ง​กำลัง​ขุด​สิ่ง​ที่​ตก​ค้าง​อยู่​ใน​บ่อ​ซึ่ง​ไม่​มี​น้ำ​เกลือ​เหลือ​อยู่​แล้ว จาก​นั้น​ก็​ขน​ไป​ที่​เนิน​แล้ว​เอา​มัน​กอง​ถม​ไว้​บน​เนิน​ที่​พวก​เขา​สร้าง​ขึ้น. เมื่อ​เรา​ขับ​รถ​ออก​จาก​ที่​นั่น เรา​ใคร่ครวญ​เกี่ยว​กับ​เนิน​เหล่า​นี้​ที่​เป็น​พยาน​ถึง​คน​ทำ​นา​เกลือ​รุ่น​แล้ว​รุ่น​เล่า​ซึ่ง​อาศัย​อยู่, ทำ​งาน, และ​ล่วง​ลับ​ไป​จาก​หมู่​บ้าน​เทกวิดดา-อึน-เทซุมต์.—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[คำ​โปรย​หน้า 22]

“แหล่ง​สำคัญ​ของ​เกลือ​ไม่​ได้​มา​จาก​น้ำ​เหล่า​นั้น​แต่​มา​จาก​ดิน และ​สิ่ง​นี้​แหละ​ที่​ทำ​ให้​การ​แยก​เกลือ​เป็น​งาน​ที่​ไม่​ธรรมดา”

[แผนที่​หน้า 21]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

สะฮารา

ไนเจอร์

อะกาเดซ

เทกวิดดาอึน-เทซุมต์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Based on NASA/Visible Earth imagery

[ภาพ​หน้า 23]

การ​แยก​เกลือ​ที่​มี​ค่า​จาก​ดิน​เหนียว​ใน​สะฮารา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Victor Englebert

[ภาพ​หน้า 23]

บ่อ​ระเหย​ที่​มี​สี​หลาย​สี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Ioseba Egibar/age fotostock

[ภาพ​หน้า 23]

ก้อน​เกลือ​ที่​ตาก​แดด​จน​แห้ง