ดาวเคราะห์ที่มีชีวิต
ดาวเคราะห์ที่มีชีวิต
ดาวเคราะห์โลกเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายหลากหลายชนิด บางทีอาจถึงหลายล้านชนิดด้วยซ้ำ. ส่วนใหญ่แล้วสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นในดิน, ในอากาศ, และในน้ำ มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น. ตัวอย่างเช่น งานวิจัยหนึ่งพบว่า ดินเพียงหนึ่งกรัมมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ประมาณ 10,000 ชนิด ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามีจุลชีพจำนวนทั้งหมดเท่าไร! มีการพบจุลชีพบางชนิดใต้ดินลึกลงไปถึงสามกิโลเมตร!
ในอากาศก็เช่นกัน มีสิ่งมีชีวิตอยู่มากมายไม่ใช่แค่นก, ค้างคาว, และแมลงต่าง ๆ เท่านั้น. สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด อากาศยังเต็มไปด้วยละอองเรณู, สปอร์, รวมทั้งเมล็ดพืชและในบางพื้นที่ก็มีจุลชีพชนิดต่าง ๆ นับเป็นพัน ๆ ชนิด. วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน กล่าวว่า “ความหลากหลายของจุลชีพในอากาศมีมากพอ ๆ กับความหลากหลายของจุลชีพในดินเลยทีเดียว.”
ในขณะเดียวกัน มหาสมุทรส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นดินแดนที่ลึกลับ เพราะในการศึกษาบริเวณใต้ทะเลลึก บ่อยครั้งนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาก. แม้กระทั่งพืดหินปะการังที่เข้าถึงได้ค่อนข้างง่ายและได้รับการสำรวจเป็นอย่างดี ก็ยังอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนับเป็นล้าน ๆ ชนิดซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกัน.
แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ ดาวเคราะห์โลกมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจนถึงขนาดที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้เปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนชีวภาคของโลก ซึ่งเป็นส่วนที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่. ตัวอย่างเช่น รายงานหนึ่งที่ทำโดยสำนักงานบริหารด้านสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า ในมหาสมุทร แคลเซียมคาร์บอเนตที่อยู่ในเปลือกหอยและปะการังช่วยรักษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำให้คงที่ ซึ่ง “เหมือนกันมากทีเดียวกับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร.” พืชและแพลงก์ตอนพืช ซึ่งก็คือสาหร่ายเซลล์เดียวที่อยู่ใกล้ผิวทะเลสาบและมหาสมุทร ช่วยควบคุมระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจนในน้ำและในอากาศ. ส่วนในดิน แบคทีเรียและเห็ดราก็ทำหน้าที่เป็นตัวย่อยสลาย ทำให้ดินมีสารอาหารอนินทรีย์ที่พืชสามารถดูดซับไปเป็นอาหารได้. ใช่แล้ว มีการกล่าวได้อย่างถูกต้องว่าแผ่นดินโลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีชีวิต.
กระนั้น ชีวิตบนโลกก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่ได้รับการปรับตั้งอย่างดีเยี่ยมในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งบางด้านก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้กระทั่งถึงศตวรรษที่ 20. การปรับตั้งนั้นรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:
1. ตำแหน่งของโลกในกาแล็กซีทางช้างเผือกและในระบบสุริยะ รวมทั้งวงโคจรของโลก, การเอียง, ความเร็วในการหมุน, และดวงจันทร์
2. สนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะสองชั้น
3. น้ำที่มีอยู่อย่างมหาศาล
4. วัฏจักรต่าง ๆ ในธรรมชาติที่คอยเติมและทำความสะอาดส่วนชีวภาคของโลก
ขณะที่คุณพิจารณาเรื่องเหล่านี้ในบทความถัดจากนี้ไป ขอให้คุณถามตัวเองว่า ‘ลักษณะที่โดดเด่นของแผ่นดินโลกเป็นผลผลิตของความบังเอิญที่ขาดการชี้นำหรือเป็นผลงานการออกแบบที่ชาญฉลาด? ถ้าเป็นการออกแบบ พระผู้สร้างทรงมีพระประสงค์เช่นไรที่สร้างแผ่นดินโลกขึ้นมา?’ บทความสุดท้ายของบทความชุดนี้จะพิจารณาคำถามดังกล่าว.
[กรอบหน้า 3]
“ไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่อาจยอมรับได้ว่ามีพระผู้สร้าง”
แม้มีหลักฐานว่า โลกธรรมชาติดูเหมือนจะได้รับการออกแบบอย่างดีเยี่ยมจนเกินกว่าจะเป็นความบังเอิญแบบที่ไร้การควบคุม แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ยังไม่ยอมเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง. ริชาร์ด ซี. เลวอนทิน นักวิวัฒนาการคนหนึ่งกล่าวว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์ให้หลักฐานมากเสียจนพวกนักอเทวนิยมจำต้อง “ยอมรับว่าเอกภพและชีวิตเกิดขึ้นมาโดยไม่มีผู้สร้าง.” เขากล่าวว่า แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขามี ‘พันธะอยู่แล้วตั้งแต่ต้น . . . ต่อสสารนิยม’ นั่นคือพวกเขาพยายามจะหาทุกวิถีทางเพื่อ “ทำให้แนวคิดที่ว่าเอกภพและชีวิตเกิดขึ้นมาโดยไม่มีผู้สร้างนั้นเป็นที่ยอมรับได้.” เขากล่าวเสริมแทนนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ โดยทั่วไปว่า “มีแต่แนวคิดเรื่องสสารนิยมเท่านั้นที่ยอมรับกัน เพราะไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่อาจยอมรับได้ว่ามีพระผู้สร้าง.”
การยึดติดกับแนวคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดเช่นนั้นฉลาดไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีหลักฐานบ่งชี้อย่างท่วมท้นว่ามีพระผู้สร้าง? คุณคิดอย่างไร?—โรม 1:20.