“ทำเล” ที่ยอดเยี่ยมของโลก
“ทำเล” ที่ยอดเยี่ยมของโลก
ที่อยู่ของเรามักจะมีชื่อประเทศ, ชื่อเมือง, และชื่อถนนรวมอยู่ด้วย. โดยอาศัยการเปรียบเทียบเช่นนี้ ให้เราเปรียบกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็น “ประเทศ” ของโลก, ระบบสุริยะซึ่งมีดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมอยู่ด้วยเป็น “เมือง,” และวงโคจรของโลกภายในระบบสุริยะเป็น “ถนน.” เนื่องจากความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์จึงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเรื่องข้อดีต่าง ๆ เกี่ยวกับตำแหน่งของโลกซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ ในเอกภพ.
แรกทีเดียว “เมือง” หรือระบบสุริยะของเราอยู่ในบริเวณหนึ่งของกาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนเรียกว่าแนวเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ในกาแล็กซี. แนวเขตนี้อยู่ห่างจากใจกลางกาแล็กซีประมาณ 28,000 ปีแสง และองค์ประกอบทางเคมีหลายอย่างที่จำเป็นต่อการค้ำจุนชีวิตก็มีความเข้มข้นอย่างพอเหมาะพอดี. ถ้าขยับออกไปไกลจากใจกลางกาแล็กซีมากกว่านี้ องค์ประกอบทางเคมีก็จะมีน้อยเกินไป แต่ถ้าขยับเข้ามาใกล้กว่านี้ก็จะอันตรายเกินไป เนื่องจากบริเวณนั้นมีรังสีและปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต. วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน กล่าวว่า “เราอยู่ในทำเลที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ.”
“ถนน” ที่ดีเยี่ยม
“ถนน” หรือวงโคจรของโลกที่อยู่ใน “เมือง” หรือระบบสุริยะของเราก็อยู่ใน “ทำเลที่ยอดเยี่ยม” เช่นกัน. วงโคจรที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตรนี้อยู่ในเขตที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่าแนวเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้รอบ ๆ ดาวฤกษ์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะไม่เย็นจัดจนกลายเป็นน้ำแข็งหรือร้อนจนไหม้เกรียม. นอกจากนี้ เส้นทางโคจรของโลกที่เกือบจะเป็นวงกลมยังทำให้ระยะห่างจากดวงอาทิตย์แทบจะมีระยะเท่ากันตลอดทั้งปี.
ในขณะเดียวกัน ดวงอาทิตย์ก็ยังเป็น “โรงไฟฟ้า” ที่สมบูรณ์แบบ. ดวงอาทิตย์มีเสถียรภาพ, มีขนาดพอเหมาะ, และปล่อยพลังงานออกมาในปริมาณที่เหมาะสม. ถูกต้องจริง ๆ ที่มีการเรียกดวงอาทิตย์ว่า “ดาวฤกษ์ที่พิเศษสุด.”
เพื่อนบ้านที่ดีเยี่ยม
หากคุณจำต้องเลือก “เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน” ให้โลกใบนี้ ก็คงไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าดวงจันทร์. เส้นผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์ยาวกว่าหนึ่งในสี่ของเส้นผ่าศูนย์กลางของโลกเพียงเล็กน้อย. ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับดวงจันทร์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ ดวงจันทร์ของโลกเราจึงมีขนาดใหญ่ผิดปกติเมื่อเทียบกับขนาดของดาวเคราะห์ดวงแม่. แต่นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ.
ประการหนึ่งคือ ดวงจันทร์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทร ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศของโลก. นอกจากนี้ ดวงจันทร์ยังช่วยให้แกนหมุนของโลกเอียงทำมุมในองศาที่คงที่. ถ้าไม่มีดวงจันทร์ที่ได้รับการออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ โลกของเราก็คงจะเหมือนกับลูก
ข่างที่เอียงไปเอียงมา บางทีก็อาจจะพลิกกลับด้านและหมุนตะแคงข้างก็ได้! ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, กระแสน้ำขึ้นน้ำลง, และอื่น ๆ คงจะเป็นความหายนะทีเดียว.การเอียงและการหมุนที่สมบูรณ์แบบของโลก
การที่โลกเอียงทำมุม 23.5 องศานี้ทำให้มีวัฏจักรของฤดูกาลเกิดขึ้นทุกปี, มีอุณหภูมิที่ไม่หนาวหรือร้อนจัดจนเกินไป, และมีเขตภูมิอากาศที่หลากหลาย. หนังสือโลกที่หายาก—เหตุผลที่ชีวิตอันซับซ้อนไม่ได้มีทั่วไปในเอกภพ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “แกนของโลกดูเหมือนจะเอียงทำมุมได้อย่าง ‘เหมาะเจาะ.’”
นอกจากนี้ การหมุนรอบตัวเองของโลกยังทำให้เกิดช่วงกลางวันและกลางคืนที่มีความยาวพอเหมาะพอดี. ถ้าระยะเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองนานยิ่งกว่านี้ ด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ก็จะไหม้เกรียม ส่วนอีกด้านหนึ่งก็จะเย็นจัด. ในทางกลับกัน ถ้ากลางวันสั้นกว่านี้ เช่น วันหนึ่งอาจจะมีแค่ไม่กี่ชั่วโมง ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกก็อาจทำให้เกิดลมกระโชกแรงไม่หยุดและผลกระทบที่เป็นอันตรายอื่น ๆ อีก.
ใช่แล้ว ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับโลกของเรา ตั้งแต่ “ทำเล” ของโลกไปจนถึงอัตราความเร็วในการหมุนรอบตัวเองและดวงจันทร์ที่เป็นเพื่อนบ้านกับโลก ล้วนให้หลักฐานที่แสดงถึงการออกแบบที่สุขุมรอบคอบของพระผู้สร้างผู้ชาญฉลาด. * พอล เดวีส์ นักฟิสิกส์และนักวิวัฒนาการกล่าวว่า “แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าก็จะรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในเรื่องขนาด, ความน่าเกรงขาม, ความสอดประสาน, ความงดงาม, และความล้ำเลิศของเอกภพ.”
ความล้ำเลิศเช่นนั้นจะเป็นผลจากความบังเอิญไหม หรือสะท้อนว่าเอกภพได้รับการออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมาย? ขอให้คิดถึงคำถามดังกล่าวขณะที่คุณอ่านบทความถัดไป ซึ่งจะมีการพิจารณาเกราะที่น่าทึ่งสองชนิดที่คอยปกป้องสิ่งมีชีวิตบนแผ่นดินโลกไว้จากภยันตรายต่าง ๆ ในห้วงอวกาศ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของเอกภพโดยรวมก็คือแรงพื้นฐานสี่ชนิดที่ควบคุมสสาร ซึ่งได้แก่แรงโน้มถ่วง, แรงแม่เหล็กไฟฟ้า, แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้ม, และแรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน. แรงพื้นฐานทั้งหมดนี้ได้รับการปรับตั้งให้พอเหมาะพอดีอย่างน่าทึ่ง.—โปรดดูบทที่ 2 ของหนังสือพระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัยในตัวคุณมีไหม? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบหน้า 5]
คุณกำลังเดินทางเร็วกว่ากระสุนหรือ?
พอคุณอ่านกรอบนี้จบ คุณจะเดินทางไปได้หลายพันกิโลเมตรแล้ว โดยที่ไม่มีการกระทบกระแทกอะไรเลย! ขอพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้.
โลกมีเส้นรอบวงประมาณ 40,000 กิโลเมตรและทุก ๆ 24 ชั่วโมงโลกจะหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบ. ดังนั้น การเคลื่อนที่ ณ เส้นศูนย์สูตรหรือใกล้ ๆ บริเวณดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. (แน่ล่ะ ขั้วโลกทั้งสองจะหมุนอยู่กับที่.)
ลูกโลกเองก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อวินาที ขณะที่ระบบสุริยะทั้งระบบจะหมุนรอบจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกด้วยความเร็วที่น่าทึ่งมากคือ 249 กิโลเมตรต่อวินาที. เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กระสุนยังเดินทางได้ไม่ถึง 1.6 กิโลเมตรต่อวินาที.
[ที่มาของภาพหน้า 4]
Milky Way: NASA/JPL/Caltech
[ที่มาของภาพหน้า 5]
Earth: Based on NASA/Visible Earth imagery