เกราะที่ปรับเปลี่ยนได้ของโลก
เกราะที่ปรับเปลี่ยนได้ของโลก
อวกาศเป็นที่ที่อันตรายเนื่องจากเต็มไปด้วยรังสีที่ทำให้ถึงตายและสะเก็ดดาว. กระนั้น ดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราก็ดูเหมือนจะรอดพ้นจาก “สนามฝึกยิงเป้า” ของกาแล็กซีนี้มาได้โดยแทบจะไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เลย. ทำไมล่ะ? เพราะแผ่นดินโลกมีเกราะป้องกันที่น่าทึ่ง ซึ่งก็คือสนามแม่เหล็กอันทรงพลังและชั้นบรรยากาศที่ได้รับการออกแบบไว้โดยเฉพาะ.
สนามแม่เหล็กของโลก มีต้นกำเนิดจากใจกลางโลกและทอดออกไปไกลในอวกาศ ซึ่งกลายเป็นเกราะที่มองไม่เห็นเรียกว่าแมกนีโทสเฟียร์ หรือชั้นสนามแม่เหล็กโลก (ภาพที่เห็นทางขวา). เกราะนี้ป้องกันไม่ให้เราได้รับรังสีอวกาศอย่างเต็มที่ และยังป้องกันอันตรายต่าง ๆ จากดวงอาทิตย์ด้วย. อันตรายที่ว่านี้รวมถึงลมสุริยะ ซึ่งเป็นกระแสอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าซึ่งพัดออกมาอย่างไม่ขาดสาย; การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ ซึ่งในเวลาไม่กี่นาทีสามารถปล่อยพลังงานออกมามากพอ ๆ กับระเบิดไฮโดรเจนหลายพันล้านลูก; และการพ่นมวลคอโรนา (ซีเอ็มอี) ซึ่งพ่นมวลสารหลายพันล้านตันจากคอโรนาของดวงอาทิตย์ออกไปสู่อวกาศ. ทั้งการลุกจ้าของดวงอาทิตย์และการพ่นมวลคอโรนานี้ทำให้เกิดออโรราหรือแสงเหนือใต้อันเจิดจ้า (ภาพที่เห็นด้านล่างขวา) สีสันตระการตาของแสงที่มองเห็นได้นี้จะปรากฏขึ้นในบรรยากาศชั้นบนใกล้ ๆ บริเวณขั้วแม่เหล็กโลก.
ชั้นบรรยากาศของโลก ช่วยให้การปกป้องอีกอย่างหนึ่ง. บรรยากาศชั้นนอกของโลกที่มีชื่อว่าสแตรโทสเฟียร์ นั้นมีออกซิเจนที่เรียกว่าโอโซน ซึ่งดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) ที่แผ่เข้ามาได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์. ด้วยเหตุนี้ ชั้นโอโซนจึงช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งมนุษย์และแพลงก์ตอน ไม่ให้ได้รับรังสีที่เป็นอันตราย. น่าสนใจที่ปริมาณของโอโซนในบรรยากาศชั้นสแตรโทสเฟียร์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เท่าเดิมตลอดเวลา แต่ปริมาณของมันจะเปลี่ยนไปตามความแรงของรังสียูวีที่แผ่เข้ามา ทำให้ชั้นโอโซนกลายเป็นเกราะป้องกันที่ปรับเปลี่ยนได้และมีประสิทธิภาพ.
นอกจากนี้ ชั้นบรรยากาศยังปกป้องเราไว้จากสะเก็ดดาวหลายล้านลูกที่กระหน่ำเข้ามาทุกวัน ซึ่งมีตั้งแต่อนุภาคขนาดจิ๋วไปจนเท่ากับหินก้อนใหญ่. น่ายินดีที่สะเก็ดดาวเหล่านี้แทบทั้งหมดถูกเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ กลายเป็นแสงวาบที่เรียกว่าดาวตก.
เกราะของโลกไม่ได้สกัดกั้นรังสีที่จำเป็นต่อชีวิต อย่างเช่น ความร้อนและแสงที่มองเห็นได้. ชั้นบรรยากาศถึงกับช่วยกระจายความร้อนออกไปทั่วลูกโลก และในตอนกลางคืนชั้นบรรยากาศก็ยังทำหน้าที่เหมือนกับผ้าห่ม ป้องกันไม่ให้ความร้อนเล็ดลอดออกไปเร็วเกินไป.
ชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของโลกเป็นผลงานการออกแบบที่น่าอัศจรรย์จริง ๆ ซึ่งยังไม่มีใครเข้าใจได้อย่างถ่องแท้. อาจกล่าวได้ทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลก นั่นคือการที่โลกมีน้ำปริมาณมากมายในรูปของเหลว.