ทำอย่างไรจึงจะเป็นควาญช้างได้?
ทำอย่างไรจึงจะเป็นควาญช้างได้?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอินเดีย
ควาญช้างคนหนึ่งกำลังทำอาหารริมแม่น้ำนรมทา เขาวางลูกชายของเขาไว้ระหว่างงวงกับขาหน้าของช้างที่กำลังพักผ่อนอยู่. เด็กน้อยคนนั้นพยายามจะปีนออกไป แต่ “เจ้าช้างที่กำลังนอนเล่นอย่างอารมณ์ดีก็ยื่นงวงออกไปโอบตัวเด็กคนนั้นอย่างนุ่มนวลแล้วดึงกลับมาวางตรงที่ที่พ่อได้วางเขาไว้. ผู้เป็นพ่อยังคงทำอาหารต่อไปและดูเหมือนเขาจะมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าลูกชายของตนอยู่ในที่ที่มีการอารักขาอย่างปลอดภัย” จากหนังสือโครงการช้าง (ภาษาอังกฤษ).
ช้างถูกมนุษย์นำมาใช้งานตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนสากลศักราชแล้ว. ในยุคโบราณ ส่วนใหญ่แล้วช้างถูกฝึกไว้เพื่อการสู้รบ. ปัจจุบันนี้ในประเทศอินเดีย ช้างถูกฝึกเพื่อทำงาน. มีการใช้ช้างในอุตสาหกรรมการทำไม้, ในเทศกาลทางศาสนาและการสมรส, ในการโฆษณา, ในคณะละครสัตว์, และกระทั่งเพื่อขอทาน. ช้างเหล่านี้ถูกเลี้ยงให้เชื่องได้อย่างไร? และมีการฝึกพวกมันอย่างไร?
วิธีฝึกช้าง
มีศูนย์ฝึกช้างจำนวนมากในอินเดียที่พร้อมจะเอาใจใส่ดูแลลูกช้าง ซึ่งถูกจับมา, ถูกทอดทิ้ง, หรือได้รับบาดเจ็บอยู่ในป่า. ศูนย์ฝึกเช่นว่านั้นแห่งหนึ่งอยู่ที่หมู่บ้านโกนี ในรัฐเกรละ. ณ ศูนย์นี้ ลูกช้างจะถูกฝึกให้เป็นช้างงาน. ก่อนอื่นควาญต้องทำให้ลูกช้างไว้วางใจเขาให้ได้. การให้อาหารเป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจ. ลูกช้างจำเสียงของควาญได้ และเมื่อเขาเรียกช้างมากินอาหาร มัน
จะรีบวิ่งมากินนมและข้าวฟ่างที่ต้มจนเหนียวข้น. ตามปกติช้างมักจะถูกฝึกให้ทำงานตั้งแต่ตอนที่อายุราว ๆ 13 ปี. แล้วพวกมันจะถูกนำไปทำงานตอนอายุ 25 ปี. ในเกรละ กฎเกณฑ์ของรัฐบาลกำหนดไว้ว่าช้างจะทำงานได้จนถึงอายุไม่เกิน 65 ปี.เพื่อจะบังคับช้างได้อย่างปลอดภัย ควาญต้องฝึกช้างเป็นอย่างดี. สมาคมเพื่อสวัสดิภาพของช้างเมืองตรีฉุร์ รัฐเกรละ กล่าวว่า ควาญมือใหม่ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างหนักอย่างน้อยสามเดือน. การฝึกอบรมนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการเรียนรู้วิธีออกคำสั่งเท่านั้น. ทว่า รวมถึงการรู้จักทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของช้าง.
ช้างที่โตเป็นผู้ใหญ่ใช้เวลาฝึกนานกว่า. ช้างจะอยู่ในคอก ส่วนผู้ฝึกจะอยู่ด้านนอกคอกช้าง โดยตอนแรกผู้ฝึกจะสอนมันให้เข้าใจคำสั่งด้วยเสียงของเขา. ในเกรละ ควาญใช้คำสั่งราว ๆ 20 คำและสัญญาณต่าง ๆ เพื่อให้ช้างทำตามที่เขาสั่ง. ควาญออกคำสั่งด้วยเสียงดังฟังชัด พร้อมกับเอาไม้กระทุ้งเบา ๆ และแสดงให้ช้างดูว่าเขาต้องการให้มันทำอะไร. เมื่อช้างทำตามคำสั่ง มันจะได้ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรางวัล. เมื่อควาญแน่ใจว่าช้างคุ้นเคยกับตนแล้ว เขาจะเข้าไปในคอกช้างและลูบไล้ตัวมันด้วยความรัก. การปฏิสัมพันธ์กันเช่นนี้ทำให้ทั้งควาญและช้างต่างก็ไว้วางใจกัน. ในที่สุด ควาญก็สามารถนำมันออกไปนอกคอกช้างได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาท เนื่องจากช้างยังมีความเป็นสัตว์ป่าอยู่ในตัว. ก่อนจะเห็นได้ชัดเจนว่าช้างเชือกนั้นเชื่องจริง ๆ ควาญจะล่ามโซ่มันติดกับช้างสองเชือกที่ถูกฝึกจนเชื่องแล้วตอนที่พามันไปอาบน้ำและพามันไปเดินเที่ยวที่อื่น.
หลังจากช้างเข้าใจคำสั่งต่าง ๆ เป็นอย่างดี ควาญจะขึ้นไปขี่หลังมัน และสอนให้มันรู้วิธีทำตามคำสั่งที่ใช้ภาษากาย โดยใช้นิ้วเท้าหรือส้นเท้ากระทุ้งที่ตัวมัน. เมื่อจะสั่งให้ช้างเดินไปข้างหน้า ควาญจะจิกนิ้วหัวแม่เท้าทั้งสองข้างที่ด้านหลังหูช้าง. เมื่อจะสั่งให้ถอยหลัง เขาก็กดส้นเท้าทั้งสองลงที่ไหล่ของมัน. เพื่อป้องกันความสับสน จะมีควาญเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ออกคำสั่งด้วยเสียง. ช้างจะเข้าใจคำสั่งทั้งหมดได้ภายในเวลาสามถึงสี่ปี. หลังจากนั้นแล้วช้างจะไม่มีวันลืมคำสั่งเหล่านั้นเลย. แม้ว่าช้างจะมีสมองเล็กเมื่อเทียบกับรูปร่างของมัน แต่ช้างก็เป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก.
การดูแลช้าง
ช้างจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอและมีความสุข. การอาบน้ำทุกวันเป็นสิ่งสำคัญ. ตอนอาบน้ำ ควาญจะใช้ก้อนหินและกาบมะพร้าวที่ตัดแต่งอย่างดีขัดถูผิวช้างที่หนา ทว่าอ่อนนุ่มและไวต่อความรู้สึก.
แล้วก็มาถึงอาหารเช้า. ควาญต้มข้าวสาลี, ข้าวฟ่าง, และพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์จนเหนียวข้น. อาหารหลักยังรวมถึงไม้ไผ่, ใบปาล์ม, และหญ้า. ช้างจะดีอกดีใจถ้ามีแครอทดิบและอ้อยให้กินด้วย. ช้างใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของมันไปกับการกินอาหาร. พวกมันกินอาหารประมาณ 140 กิโลกรัมและน้ำประมาณ 150 ลิตรทุกวัน! เพื่อจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันตลอดไป ควาญต้องตอบสนองความต้องการดังกล่าวนี้.
ผลของการใช้ช้างอย่างทารุณ
ควาญไม่อาจบังคับหรือใช้งานช้างอินเดียที่อ่อนโยนจนเกินจุดที่มันสามารถรับได้. ช้างอาจหันไปทำร้ายควาญที่ลงโทษหรือเอ็ดตะโรใส่มัน. หนังสือพิมพ์ซันเดย์ เฮรัลด์
ของอินเดีย พูดถึงเจ้าช้างที่มีงาเชือกหนึ่งว่า มันเป็นช้างพลายซึ่ง “เกิดอาการคลุ้มคลั่ง . . . หลังจากที่ถูกพวกควาญช้างทารุณ. เจ้าช้างซึ่งตอบโต้ที่มันถูกควาญทุบตีก็อาละวาดจนควบคุมมันไม่อยู่ . . . และต้องถูกยิงด้วยยาสลบ.” ในเดือนเมษายน 2007 วารสารอินเดีย ทูเดย์ อินเตอร์แนชันแนล รายงานว่า “แค่ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเท่านั้น มีช้างพลายกว่า 10 เชือกอาละวาดในเทศกาลต่าง ๆ และตั้งแต่มกราคมปีที่ผ่านมา มีควาญ 48 คนถูกช้างที่เกิดอาการคลุ้มคลั่งฆ่าตาย.” อาการคลุ้มคลั่งเช่นว่านั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า ช่วงตกมัน. นี่เป็นปรากฏการณ์ทางสรีระอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับฤดูผสมพันธุ์ คือระหว่างช่วงที่ช้างพลายที่โตเต็มวัยและมีสุขภาพแข็งแรงมีระดับฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนสูงมาก. ผลก็คือ ช้างเชือกนั้นจะแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่อาจคาดเดาได้ต่อช้างพลายเชือกอื่น ๆ และมนุษย์. ช้างอาจมีอาการตกมันตั้งแต่ 15 วันไปจนถึงสามเดือน.อีกสถานการณ์หนึ่งที่อาจทำให้ช้างก้าวร้าวก็คือ เมื่อมันถูกขายไปหรือเมื่อควาญคนใหม่เอามันไปเลี้ยง. ความผูกพันที่มีต่อควาญคนเก่าเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด. เพื่อช้างจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ง่ายขึ้น ควาญคนเก่ามักจะร่วมเดินทางไปยังบ้านใหม่ของมัน. ที่บ้านใหม่นั้น ทั้งควาญคนเก่าและคนใหม่จะทำงานร่วมกัน จนกระทั่งควาญคนใหม่คุ้นเคยกับอารมณ์ของช้างเชือกนั้น. เมื่อควาญเสียชีวิตและควาญคนใหม่มาพามันไปเลี้ยง ปัญหาอาจจะยิ่งหนักขึ้นด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ตาม ในที่สุดช้างก็จะรับรู้และยอมรับสภาพการณ์ใหม่นั้น.
แม้ว่าบางคนอาจรู้สึกกลัวเจ้าสัตว์จอมพลังนี้ แต่ช้างที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดีจะเชื่อฟังเจ้านายที่มีใจเมตตากรุณา. เมื่อควาญปฏิบัติต่อช้างด้วยความกรุณา ควาญก็สามารถปล่อยมันไว้ตามลำพังสักครู่หนึ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องล่ามโซ่เลยด้วยซ้ำ. สิ่งที่ควาญต้องทำก็คือ วางไม้เท้าพิงไว้ที่ขาช้างแล้วก็สั่งมันว่าอย่าเดินไปไหน. ช้างที่เชื่อฟังจะยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น โดยที่ไม้เท้าก็ยังพิงอยู่อย่างนั้น. ดังตัวอย่างที่เห็นได้ในช่วงคำนำ การร่วมมือกันระหว่างช้างกับควาญอาจทำให้รู้สึกทั้งน่าประหลาดใจและน่าประทับใจ. ใช่แล้ว ควาญช้างที่ใจดีสามารถไว้วางใจช้างของตนได้.
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
คนกับช้าง—ประวัติศาสตร์อันยาวนาน
การที่มนุษย์เลี้ยงช้างนั้นมีประวัติมายาวนาน. บางทีตัวอย่างที่ลือชื่อที่สุดในยุคโบราณก็คือตัวอย่างของแม่ทัพชาวคาร์เทจที่ชื่อฮันนิบาล. ในศตวรรษที่สามก่อน ส.ศ. เมืองคาร์เทจที่อยู่ทางเหนือของแอฟริกากำลังสู้รบกับโรมในการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานถึงหนึ่งศตวรรษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าสงครามพิวนิก. ฮันนิบาลระดมพลกองทัพหนึ่งขึ้นในเมืองการ์ตาเกนา ประเทศสเปน พร้อมกับวางแผนเคลื่อนทัพเข้าไปในโรม. ทีแรก เขาข้ามเทือกเขาพีเรนีสเพื่อเข้าไปในอาณาเขตที่เป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน. จากนั้น ในสิ่งที่วารสารโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) เรียกว่า “การเดินทัพที่ห้าวหาญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์” นั้น กองทัพของเขาซึ่งมีพลทหาร 25,000 นาย พร้อมกับช้างแอฟริกาอีก 37 เชือกและสัตว์ต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บรรทุกสัมภาระและเสบียงอาหาร ได้ข้ามเทือกเขาแอลป์เข้าสู่อิตาลี. พวกเขาต้องสู้ทนกับความหนาวเหน็บ, พายุหิมะ, หินถล่ม, และความเป็นปฏิปักษ์ของชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ตามภูเขา. การเดินทางครั้งนั้นหฤโหดมากสำหรับช้าง. ไม่มีช้างสักเชือกเดียวรอดชีวิตผ่านปีแรกของการบุกโจมตีอิตาลี.
[ที่มาของภาพ]
© Look and Learn Magazine Ltd/The Bridgeman Art Library
[ภาพหน้า 17]
ควาญขัดถูผิวของช้างที่หนา ทว่าอ่อนนุ่มและไวต่อความรู้สึก
[ที่มาของภาพ]
© Vidler/mauritius images/age fotostock
[ที่มาของภาพหน้า 16]
© PhotosIndia/age fotostock