บุรุษผู้เขียนแผนที่โลก
บุรุษผู้เขียนแผนที่โลก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเบลเยียม
ในช่วงต้นปี 1544 เกราร์ดุส เมอร์เคเตอร์อยู่ในคุกที่ทั้งหนาวเย็นและมืดมิด. เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับความตายอย่างเลี่ยงไม่พ้น. ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับนักเขียนแผนที่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 16? เพื่อจะทราบคำตอบ ทีแรกให้เรามาตรวจสอบประวัติชีวิตและยุคสมัยของเขาอย่างละเอียด.
เมอร์เคเตอร์ เกิดเมื่อปี 1512 ในรูเพลมอนเด เมืองท่าเล็ก ๆ ใกล้กับเมืองแอนทเวิร์ป ประเทศเบลเยียม. เขาได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยลูแวง. หลังจากจบมหาวิทยาลัย เขาได้ศึกษาคำสอนของอาริสโตเติล และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เริ่มรู้สึกลำบากใจเนื่องจากเขาเห็นว่าคำสอนดังกล่าวไม่อาจลงรอยกับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล. เมอร์เคเตอร์เขียนว่า “เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องราวที่โมเซเขียนเกี่ยวกับการเริ่มต้นของโลกไม่สอดคล้องลงรอยกับแนวคิดของอาริสโตเติลและนักปรัชญาคนอื่น ๆ ในหลายแง่ ข้าพเจ้าก็เริ่มสงสัยว่าสิ่งที่นักปรัชญาทั้งปวงสอนนั้นเป็นความจริงหรือไม่ และข้าพเจ้าจึงได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติซึ่งยังเป็นเรื่องลี้ลับ.”
เนื่องจากไม่ต้องการเป็นนักปรัชญา เมอร์เคเตอร์จึงเลิกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย. อย่างไรก็ตาม เขาได้หมกมุ่นอยู่กับการพยายามค้นหาหลักฐานเพื่อสนับสนุนเรื่องการทรงสร้างที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลตลอดชีวิตของเขา.
หันไปสนใจเรื่องภูมิศาสตร์
ในปี 1534 เมอร์เคเตอร์เริ่มศึกษาวิชาคณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, และภูมิศาสตร์กับนักคณิตศาสตร์ที่ชื่อเจมมา ฟริซิอุส. ยิ่งกว่านั้น เมอร์เคเตอร์อาจได้เรียนรู้ศิลปะในการแกะลายภาพพิมพ์จากกัสปาร์ ฟอน เดอร์ ไฮย์เดน ซึ่งเป็นช่างแกะลายและช่างทำลูกโลก. ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ช่างทำแผนที่ได้ใช้ตัวพิมพ์หนาแบบกอทิก หรือตัวอักษรแบบหนาซึ่งทำให้เปลืองพื้นที่ในการเขียน. อย่างไรก็ตาม เมอร์เคเตอร์ได้นำตัวเขียนแบบใหม่จากอิตาลีที่เรียกว่าอิตาลิก (italic) มาใช้ ซึ่งปรากฏว่าเป็นประโยชน์มากกว่าในการทำแผนที่โลก.
ในปี 1536 เมอร์เคเตอร์ทำงานเป็นช่างแกะลายร่วมกับฟริซิอุสและฟอน เดอร์ ไฮย์เดน ในการประดิษฐ์ลูกโลกจำลอง. ลายมือที่สวยงามของเมอร์เคเตอร์ซึ่งเป็นแบบตัวเขียนมีส่วนช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ. นักเขียนชีวประวัติของเมอร์เคเตอร์สมัยใหม่ นิโคลาส เครน เขียนว่า ในขณะที่นักทำแผนที่คนอื่น ๆ “ใส่ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในอเมริกาได้แค่ห้าสิบชื่อบนแผนที่แบบติดฝาผนังซึ่งกว้างพอ ๆ กับความสูงของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เมอร์เคเตอร์ย่อชื่อหกสิบชื่อใส่ลงบนลูกโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงสองฝ่ามือเท่านั้น”!
นักทำแผนที่กำเนิดขึ้นแล้ว
พอถึงปี 1537 เมอร์เคเตอร์ได้สร้าง “ผลงานเดี่ยว” ชิ้นแรกของเขา คือแผนที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเขาได้ทำขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มพูน “ความเข้าใจพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ให้ดียิ่งขึ้น.” ในศตวรรษที่ 16
แผนที่หลายฉบับของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์มีข้อผิดพลาดมากมายเหลือเกิน แผนที่บางฉบับมีชื่อสถานที่ต่าง ๆ ไม่ถึง 30 ชื่อและหลายชื่อก็ใส่ผิดตำแหน่งด้วย. อย่างไรก็ตาม แผนที่ของเมอร์เคเตอร์ระบุชื่อสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 400 แห่ง! ยิ่งกว่านั้น แผนที่นี้ยังแสดงให้เห็นเส้นทางการเดินทางข้ามทะเลทรายของชาวอิสราเอลหลังจากพวกเขาอพยพออกจากอียิปต์. เนื่องจากความถูกต้องแม่นยำนี้เอง แผนที่ดังกล่าวจึงได้รับความนิยมอย่างมากจากคนที่อยู่ในสมัยเดียวกับเมอร์เคเตอร์.เมื่อได้รับกำลังใจจากความสำเร็จนั้น เมอร์เคเตอร์ก็ได้ทำแผนที่โลกออกมาในปี 1538. ก่อนหน้านี้ ช่างทำแผนที่แทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอเมริกาเหนือ พวกเขาเรียกที่นั่นว่าดินแดนอันไกลโพ้นที่ไม่มีใครรู้จัก. แม้ว่าชื่อทางภูมิศาสตร์ “อเมริกา” จะมีอยู่แล้วก็ตาม แต่เมอร์เคเตอร์ก็เป็นคนแรกที่ใช้ชื่อนี้กับทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้.
เมอร์เคเตอร์มีชีวิตอยู่ในสมัยที่กำลังมีการสำรวจมหาสมุทรต่าง ๆ ของโลก และมีการค้นพบดินแดนใหม่ ๆ หลายดินแดน. นักเดินเรือหลายคนถ่ายทอดข้อมูลแบบที่ขัดแย้งกันเอง ทำให้การทำแผนที่เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากพวกเขาต้องพยายามปะติดปะต่อข้อมูลที่ขาดหายเอาเอง. อย่างไรก็ตาม ในปี 1541 เมอร์เคเตอร์ก็บรรลุเป้าหมายของเขาในการทำ “แผนที่โลกที่สมบูรณ์ยิ่งกว่าแผนที่อื่น ๆ ที่เคยทำกันมา.”
ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต
ในเมืองลูแวงที่เมอร์เคเตอร์อาศัยอยู่ มีหลายคนที่เป็นพวกลูเทอรัน. พอถึงปี 1536 เมอร์เคเตอร์มีใจเอนเอียงไปทางฝ่ายลูเทอรัน และดูเหมือนในภายหลังภรรยาของเขาก็เป็นพวกลูเทอรันด้วย. ในเดือนกุมภาพันธ์ 1544 เมอร์เคเตอร์ถูกจับกุมพร้อมกับชาวเมืองลูแวงอีก 42 คนด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับการเขียน “จดหมายที่น่าสงสัย.” อย่างไรก็ตาม การถูกจับกุมครั้งนี้ก็อาจจะเป็นเพราะการตีพิมพ์แผนที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา ซึ่งได้ทำให้ทัปเปอร์และลาโทมุสนักเทววิทยาสองคนจากมหาวิทยาลัยในเมืองลูแวงเกิดความ
ระแวงสงสัย. ชายทั้งสองคนนี้เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการพิจารณาคดีของผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลชื่อวิลเลียม ทินเดล ซึ่งเขาได้ถูกตัดสินประหารชีวิตในเมืองแอนทเวิร์ปในปี 1536. บางทีทัปเปอร์กับลาโทมุสอาจเป็นห่วงว่าแผนที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของเมอร์เคเตอร์จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนอยากอ่านคัมภีร์ไบเบิล เช่นเดียวกับการแปลคัมภีร์ไบเบิลของทินเดล. แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมอร์เคเตอร์ก็ถูกขังไว้ในปราสาทรูเพลมอนเดซึ่งอยู่ที่บ้านเกิดของเขาเอง.อันตัวเนต ฟอน รูสมาล์ส เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่ถูกนำตัวไปพิจารณาคดี ซึ่งเธอได้ให้การยืนยันว่าเมอร์เคเตอร์ไม่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มที่จัดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลของโปรเตสแตนต์อย่างลับ ๆ. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเธอเป็นคนที่เข้าร่วมในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเช่นว่านั้น อันตัวเนตจึงถูกฝังทั้งเป็นให้ตายอย่างช้า ๆ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ. เมอร์เคเตอร์ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกจำคุกเจ็ดเดือน แต่ทรัพย์สินทั้งหมดของเขาก็ถูกยึด. ในปี 1552 เมอร์เคเตอร์ได้ย้ายไปที่เมืองดุยสบูร์ก เยอรมนี ซึ่งเขาพบว่าผู้คนในเมืองนี้ใจกว้างกว่ามากในเรื่องศาสนา.
สมุดแผนที่เล่มแรก
เมอร์เคเตอร์ยังปกป้องเรื่องการทรงสร้างในคัมภีร์ไบเบิลต่อไป. เขาอุทิศเวลาแทบทั้งชีวิตเพื่อทำข้อเขียนอธิบายสรุปเรื่องการทรงสร้าง “สวรรค์และแผ่นดินโลก ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนถึงยุคปัจจุบัน” ดังที่เขาบอก. งานนี้จึงมีทั้งข้อมูลที่บอกเรื่องราวตามลำดับเวลาและข้อมูลทางภูมิศาสตร์.
ในปี 1569 เมอร์เคเตอร์ได้พิมพ์รายการเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา ซึ่งเป็นส่วนแรกของข้อเขียนอธิบายสรุปที่เขารวบรวมขึ้นซึ่งมีชื่อว่า โครโนโลเกีย. เป้าหมายของเขาก็คือ เพื่อช่วยผู้อ่านให้เข้าใจว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ตรงไหนในกระแสเวลาและประวัติศาสตร์. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมอร์เคเตอร์ได้นำข้อคัดค้านของลูเทอร์เกี่ยวกับการขายใบลดโทษบาปในปี
1517 ไปใส่ไว้ในหนังสือเล่มนี้ โครโนโลเกีย จึงถูกใส่ไว้ในรายชื่อหนังสือต้องห้ามของคริสตจักรคาทอลิก.หลายปีต่อจากนั้น เมอร์เคเตอร์ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการวาดและแกะแผ่นแม่พิมพ์เพื่อทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์อันใหม่ของเขา. ในปี 1590 เมอร์เคเตอร์เป็นโรคเส้นเลือดสมองและทำให้เขาไม่สามารถพูดได้ ทั้งยังเป็นอัมพาตทางซีกซ้าย จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกินสำหรับเขาที่จะทำงานนั้นต่อไป. อย่างไรก็ตาม เขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทิ้งงานที่ได้ทุ่มเททำมาทั้งชีวิตโดยที่ยังทำไม่เสร็จ และเขาได้ทำงานนั้นต่อไปจนกระทั่งเขาสิ้นชีวิตในปี 1594 ด้วยวัย 82 ปี. รูโมลด์ ลูกชายของเมอร์เคเตอร์ได้ทำแผนที่ห้าแผ่นที่ยังค้างอยู่จนเสร็จเรียบร้อย. มีการพิมพ์แผนที่ของเมอร์เคเตอร์ชุดที่เสร็จสมบูรณ์แล้วในปี 1595. แผนที่ชุดนี้เป็นชุดแรกสุดที่ถูกเรียกว่า สมุดแผนที่.
สมุดแผนที่ ของเมอร์เคเตอร์มีการพิจารณาบทแรกของพระธรรมเยเนซิศ ซึ่งเป็นการปกป้องความน่าเชื่อถือของพระคำของพระเจ้าที่ถูกพวกนักปรัชญาโจมตี. เมอร์เคเตอร์เรียกการพิจารณานี้ว่า “เป้าหมายของความพากเพียรทั้งสิ้นของข้าพเจ้า.”
“นักภูมิศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยของเรา”
สมุดแผนที่ ฉบับขยายใหญ่ที่ตีพิมพ์โดยโยโดคุส ฮอนดีอุส ในปี 1606 ถูกนำไปพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ มากมายและกลายเป็นแผนที่ที่ขายดีที่สุด. อับราฮาม ออร์เทลิอุส นักทำแผนที่ในศตวรรษที่ 16 ยกย่องเมอร์เคเตอร์ว่าเป็น “นักภูมิศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยของเรา.” เมื่อไม่นานมานี้ นิโคลาส เครน ได้พรรณนาถึงเมอร์เคเตอร์ว่าเป็น “บุรุษผู้เขียนแผนที่โลก.”
มรดกของเมอร์เคเตอร์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา. ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่เราดูสมุดแผนที่หรือเปิดเครื่องระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (จีพีเอส) เราก็กำลังได้รับประโยชน์จากความพากเพียรของเมอร์เคเตอร์ บุรุษที่น่าทึ่งซึ่งได้ทุ่มเททั้งชีวิตของเขาเพื่อแสวงหาคำตอบว่าเขาอยู่ตรงไหนในกระแสเวลาและประวัติศาสตร์.
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
เมอร์เคเตอร์—นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ขยันขันแข็ง
เมอร์เคเตอร์เชื่อว่าสักวันหนึ่งโลกจะกลายเป็นที่ที่มีความชอบธรรม, มีสันติสุข, และมีความรุ่งเรือง. เขาเขียนคำอธิบายพระธรรมโรมบท 1-11 ที่ไม่เคยได้นำไปพิมพ์ ซึ่งในคำอธิบายนั้นเขาได้ปฏิเสธแนวคิดของพวกแคลวินในเรื่องที่ว่าพระเจ้าลิขิตชีวิตผู้คน. ที่น่าสนใจก็คือ เขายังไม่เห็นด้วยกับมาร์ติน ลูเทอร์และได้กล่าวว่า นอกเหนือจากการมีความเชื่อแล้ว การกระทำยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อความรอด. เมอร์เคเตอร์เขียนในจดหมายฉบับหนึ่งว่า บาป “ไม่ได้มาจากดาวเคราะห์ดวงใด ๆ และไม่ได้เกิดจากแนวโน้มตามธรรมชาติที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นแต่ประการใด ทว่า บาปเกิดจากเจตจำนงเสรีของมนุษย์.” ในจดหมายของเขา เขาได้ปฏิเสธคำสอนของคริสตจักรโรมันคาทอลิกเรื่องการแปรสารัตถะ (การที่ขนมปังและเหล้าองุ่นเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซู) โดยกล่าวว่า คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “นี่เป็นกายของเรา” ไม่ควรตีความตามตัวอักษร แต่คำตรัสนี้มีความหมายเป็นนัย.
[กรอบ/ภาพหน้า 22]
เส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์
คุณเคยลองรีดเปลือกส้มให้แบนไหม? แน่นอน ไม่ว่าคุณจะทำอย่างไรเปลือกส้มก็คงผิดรูปไป. ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่นักทำแผนที่ประสบ คือเขาจะเขียนภาพลูกโลกบนแผนที่ที่แบนราบได้อย่างไร. เมอร์เคเตอร์แก้ปัญหาดังกล่าวโดยนำระบบหนึ่งเข้ามาใช้ซึ่งรู้จักกันในเวลานี้ว่าเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ (Mercator projection). ในการเขียนแผนที่วิธีนี้ เส้นละติจูดที่บอกองศาจากเส้นศูนย์สูตรไปถึงขั้วโลกจะมีระยะห่างตามสัดส่วน. แม้ว่าการวาดแผนที่แบบนี้จะทำให้ระยะทางและขนาดผิดเพี้ยนไป (โดยเฉพาะทางเหนือและทางใต้) แต่ก็นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการทำแผนที่. แผนที่โลกแบบติดฝาผนังของเมอร์เคเตอร์ปี 1569 นั้นเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา. แผนที่อันนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักทำแผนที่. อันที่จริง เส้นโครงแผนที่ของเขายังใช้กันในแผนที่ทางทะเลและในระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกปัจจุบัน.
[ภาพ]
เส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์อาจเทียบได้กับการนำกระบอกมาผ่าและกางออก ซึ่งทำให้โลกถูกคลี่ออกเป็นแผ่นแบน ๆ
[ภาพหน้า 20]
แผนที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของเมอร์เคเตอร์ ปี 1537 ระบุชื่อสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 400 แห่ง
[ภาพหน้า 20, 21]
แผนที่โลกของเมอร์เคเตอร์ปี 1538
โปรดสังเกตคำ “AMERI CAE” บนทวีปอเมริกาทั้งสองทวีป
[ที่มาของภาพหน้า 19]
Antwerpen, Stedelijk Prentenkabinet
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Both maps: From the American Geographical Society Library, University of Wisconsin-Milwaukee Libraries