บูคาเรสต์เมืองสองยุค
บูคาเรสต์เมืองสองยุค
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในโรมาเนีย
ตอนแรกที่เห็นบูคาเรสต์จากระยะไกล ดูเหมือนอาคารหลังเดียวที่โดดเด่นคืออาคารรัฐสภา (1) หรือที่รู้จักกันในยุคคอมมิวนิสต์ว่าอาคารสภาประชาชน. อาคารที่ดูทึม ๆ หลังนี้ ซึ่งเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลังหนึ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนี้.
ในบางแง่ อาคารหลังใหญ่นี้เป็นตัวแทนของเมืองบูคาเรสต์ยุคใหม่. ทว่า ความรู้สึกของคนในท้องถิ่นที่มีต่ออาคารหลังมหึมานี้มีหลากหลายระคนกัน. ชาวเมืองบูคาเรสต์หวังว่านักท่องเที่ยวจะมองเห็นคุณค่าของเมืองนี้ในอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งก็คือสถาปัตยกรรมที่น่าหลงใหลแห่งอดีตกาลของเมืองนี้.
เมืองหลวงแห่งอดีตกาล
ในปี 1862 บูคาเรสต์ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศโรมาเนีย. ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เมืองนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว. อาคารสาธารณะหลังแล้วหลังเล่าที่ดูสง่างามและน่าประทับใจ ซึ่งได้รับการออกแบบโดยพวกสถาปนิกชาวฝรั่งเศสนั้นปรากฏขึ้นตามถนนสายต่าง ๆ ที่มีต้นไม้เรียงรายตลอดสองข้างทาง. เนื่องจากบูคาเรสต์มีสวนสาธารณะ, อุทยาน, และจัตุรัสหลายแห่ง เมืองนี้จึงได้รับฉายาว่า เมืองแห่งอุทยาน. นอกจากนี้ บูคาเรสต์ยังเป็นหนึ่งในเมืองแรก ๆ ของโลกที่มีการจุดตะเกียงน้ำมันไว้ตามถนนเพื่อให้แสงสว่าง. ในปี 1935 ประตูชัย (2) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประตูชัย (Arc de Triomphe) บนถนนชอง-เซลิเซในปารีสก็ถูกสร้างขึ้นบนถนนกีเซเลฟอันสวยงาม. ภาพที่งามจับตาของเมืองนี้คงทำให้ชาวฝรั่งเศสหลายคนรู้สึกเหมือนกับได้อยู่ที่บ้านของตน. ที่จริง บูคาเรสต์ถึงกับมีสมญานามว่า ปารีสน้อยแห่งตะวันออก.
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บูคาเรสต์ภายใต้ระบอบการปกครองของคอมมิวนิสต์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่. ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ย่านใจกลางเมือง ซึ่งมีอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ได้ถูกรื้อทำลายเพื่อจะมีพื้นที่สำหรับสร้างอพาร์ตเมนต์. ระหว่างปี 1960 ถึง 1961 มีการสร้างอพาร์ตเมนต์ขึ้นประมาณ 23,000 หลัง. ในปี 1980 แผนการสำหรับอาคารสภาประชาชนก็เริ่มขึ้น. ในที่สุด มีการติดตั้งโคมระย้าจำนวนหลายร้อยโคม และมีการสร้างหลุมหลบภัยที่ป้องกันระเบิดได้ใต้อาคารหลังนี้ ซึ่งอยู่ลึกลงไปประมาณ 90 เมตร. เนื่องจากพื้นที่ภายในอาคารมีมากกว่า 360,000 ตารางเมตร, มี 12 ชั้น, และมี 1,100 ห้อง อาคารหลังนี้จึงมีขนาดใหญ่กว่าพระราชวังแวร์ซายของฝรั่งเศสถึงสามเท่า. มีการรื้อถอนเพื่อตระเตรียมพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่ในย่านเมืองเก่าไว้สำหรับสร้างอาคารนี้และถนนที่ดูโอ่อ่ามาก ซึ่งกว้างกว่าถนนชอง-เซลีเซ และเป็นถนนที่ไปถึงหน้าอาคาร. สำหรับคนที่เคยรู้จักบูคาเรสต์ในอดีต เมืองนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจนพวกเขาจำแทบไม่ได้.
สำหรับชาวเมืองนี้หลายคน อาคารที่ใหญ่โตมโหฬารนี้เป็นเครื่องเตือนใจอันน่าเศร้าสลดเกี่ยวกับผู้สร้าง ซึ่งก็คือนิโคไล เชาเชสคู จอมเผด็จการผู้ล่วงลับไปแล้ว. ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะสร้างอาคารหลังนี้ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับตนเอง เชาเชสคูจึงได้ว่าจ้างสถาปนิกเกือบ 700 คนและคนงานอีกเป็นหมื่น ๆ คนให้ทำงานสามกะตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อโครงการนี้. เมื่อเขาสิ้นอำนาจการปกครองในปี 1989 อาคารหลังนี้ก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าตอนนั้นจะใช้เงินไปมากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม.
อีกด้านหนึ่ง
ด้านที่แตกต่างกันอย่างลิบลับของเมืองนี้จะเห็นได้ในย่านเมืองเก่าที่ยังมีหลงเหลืออยู่. ในย่านนี้ คุณยังสามารถชื่นชมกับสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงามของเมืองบูคาเรสต์อันเก่าแก่ได้. และที่ พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านจำลอง (3) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในหลาย ๆ แห่งของเมืองนี้ คุณจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบชนบทของโรมาเนียซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม. ในสวนสาธารณะที่สงบร่มรื่นซึ่งมองเห็นทะเลสาบได้นั้น มีบ้านแบบชนบทมากกว่า 50 หลังและอาคารแบบอื่น ๆ จากทั่วโรมาเนียที่ถูกนำมาประกอบใหม่แบบชิ้นต่อชิ้น เพื่อสร้างเป็นหมู่บ้านจำลองที่น่าตื่นตาตื่นใจ. บ้านแต่ละหลังก็เป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และบรรยากาศภายในบ้านของชาวโรมาเนียที่ต่างกันอย่างลิบลับจากในบูคาเรสต์สมัยปัจจุบัน.
ในเมืองนี้แทบจะไม่มีการแบ่งว่าส่วนไหนเป็นเมืองเก่าหรือเมืองใหม่. ไม่แปลกที่จะเห็น อาคารที่อยู่ใกล้กัน แต่สร้างในยุคสมัยที่ต่างกันมากทีเดียว (4). ด้วยเหตุนี้ บูคาเรสต์ทั้งยุคเก่าและยุคใหม่จึงอยู่เคียงข้างกันไป.
[ที่มาของภาพหน้า 10]
1 อาคารรัฐสภา
2 ประตูชัย
3 พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านจำลอง
4 อาคารที่อยู่ใกล้กัน แต่สร้างในยุคสมัยที่ต่างกันมากทีเดียว
[ที่มาของภาพ]
© Sari Gustafsson/hehkuva/age fotostock