ต่อมไทรอยด์ของคุณเป็นอย่างไร?
ต่อมไทรอยด์ของคุณเป็นอย่างไร?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบราซิล
ซาราโศกเศร้าสุดพรรณนากับการแท้งลูกขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ. ประมาณหนึ่งปีต่อมา เธอก็แท้งอีก. แพทย์ได้ทำการตรวจหลายครั้งแต่ก็ไม่พบสาเหตุ. ขณะวันเวลาผ่านไป ซาราเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แม้เธอจะควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ. เธอยังมีอาการตะคริวที่ขาและขี้หนาว. ในที่สุด การตรวจเลือดและการอัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์ก็เผยให้เห็นว่าซาราเป็นโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเองหรือที่เรียกกันว่าโรคฮาชิโมโต ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอแท้งลูก. *
เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ ซาราแทบไม่ได้ใส่ใจต่อมไทรอยด์ของเธอเลย. แต่สุขภาพของเธอที่ถดถอยลงแสดงให้เห็นว่าต่อมนี้สำคัญเพียงไร.
ต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมเล็ก ๆ มีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ด้านหน้าลำคอ ใต้ลูกกระเดือก. ต่อมนี้มีสองกลีบ ประกบติดอยู่กับหลอดลม น้ำหนักรวมแล้วประมาณ 25 กรัม. ต่อมไทรอยด์เป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย โดยระบบนี้ประกอบด้วยอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ผลิต, เก็บ, และหลั่งฮอร์โมนซึ่งเป็นตัวส่งสารเคมีเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง.
ต่อมไทรอยด์ประกอบด้วยถุงหรือต่อมเล็ก ๆ จำนวนมาก ในถุงเหล่านี้เต็มไปด้วยของเหลวหนืดที่เก็บฮอร์โมนไทรอยด์เอาไว้. ฮอร์โมนดังกล่าวมีไอโอดีนความเข้มข้นสูง. ที่จริง เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของไอโอดีนในร่างกายอยู่ในต่อมไทรอยด์. การได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอจากอาหารอาจทำให้ต่อมไทรอยด์โต หรือที่เรียกว่าคอพอก. สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเยาว์ การขาดไอโอดีนอาจยับยั้งร่างกายไม่ให้ผลิตฮอร์โมน เป็นเหตุให้พัฒนาการทางร่างกาย, จิตใจ, และทางเพศล่าช้า ซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่าสภาพแคระโง่ (cretinism).
หน้าที่ของฮอร์โมนไทรอยด์
ฮอร์โมนไทรอยด์มีชื่อว่า ที 3, อาร์ที 3 (Reverse T3), และ ที 4. * ทั้ง ที 3 และ อาร์ที 3 มาจาก ที 4 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเปลี่ยนสภาพนี้เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อของร่างกายนอกต่อมไทรอยด์. ฉะนั้น เมื่อร่างกายต้องการฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้น ต่อมนี้ก็จะขับ ที 4 เข้าไปในกระแสเลือด และจากที่นั่น ที 4 และฮอร์โมนที่เกิดจากมันจะส่งผลต่อเซลล์ทั้งหมดของร่างกาย.
เช่นเดียวกับคันเร่งที่ควบคุมความเร็วของรถยนต์ ฮอร์โมนไทรอยด์ควบคุมเมแทบอลิซึมของร่างกาย ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีในเซลล์ที่สร้างพลังงานและผลิตเนื้อเยื่อใหม่ ๆ. ด้วยเหตุนี้ ฮอร์โมนไทรอยด์จึงส่งเสริมการเจริญและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อตามปกติของร่างกาย, มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ, และทำให้การผลิตพลังงานสำหรับกล้ามเนื้อรวมทั้งความร้อนในร่างกายคงที่.
ฮอร์โมนไทรอยด์ยังมีหน้าที่สำคัญอย่างอื่นอีก อาทิ ช่วยตับขจัดไตรกลีเซอไรด์และไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำหรือที่เรียกว่า คอเลสเทอรอลให้โทษ (แอลดีแอล) ที่เป็นส่วนเกินออกจากกระแสเลือด. คอเลสเทอรอลจะถูกส่งไปที่น้ำดีและถูกขับออกเป็นอุจจาระ. ในทางตรงข้าม ฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีน้อยเกินไปอาจทำให้คอเลสเทอรอลชนิดให้โทษมีปริมาณเพิ่มขึ้น และทำให้ไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูงหรือที่เรียกว่า คอเลสเทอรอลให้คุณ (เอชดีแอล) ลดจำนวนลง.
ในระบบทางเดินอาหาร ฮอร์โมนไทรอยด์ช่วยเร่งการหลั่งน้ำย่อย และยังช่วยเพิ่มจังหวะการบีบรูดของกล้ามเนื้อลำไส้อีกด้วย. ดังนั้น ฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไปอาจทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อย และถ้าน้อยเกินไปก็อาจทำให้ท้องผูก.
อะไรควบคุมไทรอยด์?
แหล่งควบคุมไทรอยด์อยู่ในบริเวณสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปทาลามัส. เมื่อไฮโปทาลามัสตรวจจับได้ว่าร่างกายขาดฮอร์โมนไทรอยด์ มันจะส่งสัญญาณไปยังต่อมใต้สมอง (ปิตูอิตารี) ที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งอยู่เหนือเพดานปาก. แล้วต่อมใต้สมองก็จะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (ทีเอสเอช) เข้าไปในกระแสเลือดเพื่อส่งสัญญาณให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมา.
ฉะนั้น โดยการตรวจวัดระดับทีเอสเอชและฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด แพทย์ก็จะวินิจฉัยสภาพและการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้. การทำเช่นนี้นับว่าสำคัญ เพราะอาจมีปัญหาเกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์.
เมื่อต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
การทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจเป็นผลมาจากการขาดอาหารที่มีธาตุไอโอดีน, ความเครียดทางกายและจิตใจ, ความบกพร่องทางพันธุกรรม, การติดเชื้อ, ความเจ็บป่วย (มักจะเป็นโรคภูมิต้านตนเอง), หรือผลข้างเคียงของการรับประทานยารักษาโรคบางอย่าง. * อาการต่อมไทรอยด์โตหรือคอพอกอาจชี้ว่าเป็นโรคไทรอยด์. อาการโตอาจเป็นทั้งต่อม หรืออาจเกิดเป็นปุ่มย่อยเล็ก ๆ หลายปุ่ม. แม้อาการคอพอกโดยทั่วไปไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์เสมอเพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการที่ร้ายแรงกว่า เช่น มะเร็ง. *
โดยทั่วไปแล้ว ต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติจะผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือไม่ก็น้อยเกินไป. อาการที่ผลิตมากเกินไปเรียกว่าภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) และที่ผลิตน้อยเกินไปเรียกว่าภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism). โรคไทรอยด์อาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและมองไม่เห็น ดังนั้น คนเราอาจเป็นโรคนี้หลายปีโดยไม่รู้ตัว. เช่นเดียวกับโรคส่วนใหญ่ การวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ทำให้การรักษาได้ผลดีกว่า.
โรคไทรอยด์ชนิดที่พบเห็นทั่วไปคือ โรคฮาชิโมโต และโรคเกรฟส์ (โรคคอพอกตาโปน). ทั้งสองชนิดจัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของตนเองจะโจมตีเซลล์ปกติในร่างกาย โดยมองว่าเซลล์เหล่านั้นเป็นเนื้อเยื่อที่แปลกปลอม. โรคฮาชิโมโตพบเห็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหกเท่า และมักจะนำไปสู่อาการที่เรียกว่าภาวะขาดไทรอยด์. ส่วนโรคเกรฟส์พบเห็นในผู้หญิงมากกว่าถึงแปดเท่า และโดยทั่วไปทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน.
มีความเห็นหลากหลายที่ว่าคนเราควรเข้ารับการตรวจหาโรคไทรอยด์บ่อยแค่ไหน แม้โดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่จะตรวจหาโรคนี้ในทารกแรกเกิด. (ดูกรอบ “การตรวจสำคัญสำหรับทารกแรกเกิด”) ถ้าการตรวจสอบทางการแพทย์บ่งชี้ว่าไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไป แพทย์มักจะสั่งให้ทำการตรวจหาแอนติบอดีที่โจมตีต่อมนี้. ตรงกันข้าม ถ้าการตรวจสอบชี้ให้เห็นว่าไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปก็มักจะให้ทำการสแกนต่อมไทรอยด์ หากผู้ป่วยไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร. หากมีปุ่มย่อยเล็ก ๆ ในต่อมไทรอยด์อาจต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อดูว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่.
เมื่อจำเป็นต้องทำการรักษา
การรักษาด้วยยาอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น หัวใจเต้นเร็ว, กล้ามเนื้อสั่น, และอาการวิตกกังวล. วิธีอื่นอาจรักษาด้วยการทำลายเซลล์ไทรอยด์เพื่อให้ต่อมนี้ผลิตฮอร์โมนน้อยลง. และบางครั้ง อาจต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งไป.
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์ หรือผู้ที่ไม่มีต่อมไทรอยด์เนื่องจากถูกผ่าตัดทิ้ง แพทย์มักจะสั่งให้รับประทานฮอร์โมน ที 4 ทุกวัน. แพทย์จะต้องเฝ้าดูอาการคนไข้ที่กำลังรักษาเพื่อจะให้ยาได้ตามขนาดที่ถูกต้อง. มะเร็งไทรอยด์อาจรักษาได้หลายวิธี รวมทั้งการกินยา, การผ่าตัด, เคมีบำบัด, และอาจรักษาด้วยการให้สารไอโอดีนกัมมันตรังสี.
ซาราได้รับการรักษาอย่างประสบผลสำเร็จด้วยการให้ฮอร์โมน ที 4 และโภชนากรได้ช่วยเธอให้วางแผนเพื่อจะได้อาหารที่สมดุล. ผลเป็นไปในทางบวก. ดังที่ซาราได้ประสบ ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญมาก. ดังนั้น จงเอาใจใส่ตัวเองเสมอ โดยรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และมีไอโอดีนเพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียดเรื้อรัง และพยายามสุดความสามารถที่จะรักษาสุขภาพโดยรวมของคุณให้แข็งแรงอยู่เสมอ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 แม้ต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไปอาจทำให้การตั้งครรภ์มีปัญหา แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไทรอยด์ก็ให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง. อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่มารดาจะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีให้ฮอร์โมน เพราะในเบื้องต้นเธอเป็นเพียงแหล่งเดียวเท่านั้นที่ส่งผ่านฮอร์โมนไทรอยด์ไปยังทารกในครรภ์ได้.
^ วรรค 9 ที 3 คือไตรไอโอโดไทโรนีน และ ที 4 คือไทร็อกซิน. ตัวเลข 3 และ 4 หมายถึงจำนวนอะตอมไอโอดีนในฮอร์โมนนั้น ๆ. ต่อมไทรอยด์ยังผลิตแคลซิโตนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด.
^ วรรค 17 ตื่นเถิด! ไม่สนับสนุนวิธีรักษาแบบหนึ่งแบบใดโดยเฉพาะ. ถ้าสงสัยว่าต่อมไทรอยด์ของคุณมีปัญหา ก็ควรปรึกษาแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการป้องกันและจัดการกับโรคไทรอยด์.
^ วรรค 17 โอกาสที่จะเป็นมะเร็งมีมากขึ้น หากผู้นั้นเคยได้รับการรักษาด้วยวิธีรังสีบำบัดบริเวณศีรษะและลำคอ หรือมีประวัติส่วนตัวว่าเคยเป็นมะเร็ง หรือมีญาติเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์.
[คำโปรยหน้า 27]
เช่นเดียวกับคันเร่งที่ควบคุมความเร็วรถยนต์ ฮอร์โมนไทรอยด์ควบคุมเมแทบอลิซึมของร่างกาย
[คำโปรยหน้า 29]
โรคไทรอยด์อาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและมองไม่เห็น ดังนั้น คนเราอาจเป็นโรคนี้หลายปีโดยไม่รู้ตัว
[กรอบ/ภาพหน้า 28]
อาการทั่วไป
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน: กระสับกระส่าย, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ, หัวใจเต้นเร็ว, ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น, ประจำเดือนมาไม่ปกติ, หงุดหงิด, วิตกกังวล, อารมณ์แปรปรวน, ลูกตาโปน, กล้ามเนื้อไม่มีแรง, นอนไม่หลับ, และผมเปราะบาง. *
ภาวะขาดไทรอยด์: เฉื่อยชาไม่มีแรง, น้ำหนักเพิ่มโดยไม่ทราบสาเหตุ, ผมร่วง, ท้องผูก, ขี้หนาวผิดปกติ, ประจำเดือนมาไม่ปกติ, ซึมเศร้า, เสียงเปลี่ยน (แหบห้าวหรือเสียงต่ำ), ความจำเสื่อม, และเหนื่อยง่าย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 36 บางอาการอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่แอบแฝงอยู่ ดังนั้น คุณควรปรึกษาแพทย์ถ้ารู้สึกไม่สบาย.
[กรอบ/ภาพหน้า 28]
การตรวจสำคัญสำหรับทารกแรกเกิด
เลือดเพียงสองสามหยดที่ได้จากทารกแรกเกิดอาจบอกได้ว่าต่อมไทรอยด์ของทารกนั้นทำงานผิดปกติหรือไม่. ถ้าผลเลือดบ่งชี้ว่าไทรอยด์มีปัญหา แพทย์ก็จะทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง. เด็กที่มีฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป จะทำให้พัฒนาการทางกายและจิตใจล่าช้า ซึ่งอาการนี้เรียกว่าสภาพแคระโง่. ฉะนั้น โดยปกติแล้วทารกจะได้รับการตรวจภายในไม่กี่วันหลังคลอด.
[กรอบหน้า 29]
คุณได้รับสารอาหารที่เหมาะสมไหม?
อาหารการกินที่เหมาะสมช่วยป้องกันปัญหาจากไทรอยด์ได้. ยกตัวอย่าง คุณรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนเพียงพอไหมเพราะสำคัญยิ่งต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์? ปลาทะเลและอาหารทะเลอื่น ๆ เป็นแหล่งที่อุดมด้วยธาตุสำคัญยิ่งนี้. ปริมาณไอโอดีนในผักและเนื้อสัตว์มีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของดินในท้องถิ่นนั้น ๆ. เพื่อชดเชยการขาดธาตุนี้ในอาหาร บางรัฐบาลจึงเรียกร้องให้เพิ่มไอโอดีนในเกลือปรุงอาหาร.
ซีลีเนียมก็เป็นธาตุที่สำคัญต่อต่อมไทรอยด์เช่นกัน. ธาตุส่วนน้อยนี้อยู่ในเอนไซม์ที่เปลี่ยนฮอร์โมน ที4 เป็น ที3. ธาตุซีลีเนียมมีอยู่ในผัก, เนื้อสัตว์, และนม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของดินในท้องถิ่นนั้น ๆ. อาหารทะเลและบราซิลนัทเป็นแหล่งที่อุดมด้วยซีลีเนียม. แน่ละ หากคุณสงสัยว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ โปรดปรึกษาแพทย์ อย่าพยายามรักษาด้วยตัวเอง.
[ภาพหน้า 28]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
หลอดลม
กล่องเสียง (ลูกกระเดือก)
ต่อมไทรอยด์
หลอดลม