ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ยาที่แพทย์สั่งจ่าย—การใช้ในทางที่ถูกและในทางที่ผิด

ยาที่แพทย์สั่งจ่าย—การใช้ในทางที่ถูกและในทางที่ผิด

ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย—การ​ใช้​ใน​ทาง​ที่​ถูก​และ​ใน​ทาง​ที่​ผิด

เด็ก​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ชื่อ​แอนจี บังเอิญ​ได้​ยิน​พ่อ​แม่​พูด​ว่า​ยา​ที่​น้อง​ชาย​ของ​เธอ​กิน​ทำ​ให้​เขา​มี​ความ​อยาก​อาหาร​น้อย​ลง. เนื่อง​จาก​แอนจี​เป็น​ห่วง​เรื่อง​น้ำหนัก​ตัว เธอ​จึง​เริ่ม​แอบ​ขโมย​ยา​ของ​น้อง​ชาย​ไป​กิน โดย​จะ​หยิบ​ไป​กิน​หนึ่ง​เม็ด​ทุก ๆ สอง​หรือ​สาม​วัน. เพื่อ​ไม่​ให้​พ่อ​แม่​จับ​ได้ เธอ​จึง​ขอ​เพื่อน​คน​หนึ่ง​ที่​ใช้​ยา​ตัว​เดียว​กัน​นี้​แบ่ง​ยา​ให้​เธอ​กิน​บ้าง. *

ทำไม​ผู้​คน​มาก​มาย​จึง​ใช้​ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด? เหตุ​ผล​ประการ​แรก​คือ เป็น​ยา​ที่​หา​ได้​ง่าย เนื่อง​จาก​ยา​เหล่า​นี้​อาจ​มี​อยู่​ใน​บ้าน. ประการ​ที่​สอง หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​คิด​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​ที่​ผิด​กฎหมาย เมื่อ​เขา​กิน​ยา​รักษา​โรค​โดย​ไม่​มี​ใบ​สั่ง​จาก​แพทย์. ประการ​ที่​สาม ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ให้​ดู​เหมือน มี​พิษ​ภัย​น้อย​กว่า​ยา​ที่​ผิด​กฎหมาย. เด็ก​หนุ่ม​สาว​บาง​คน​ให้​เหตุ​ผล​ว่า ‘จะ​ว่า​ไป​แล้ว ถ้า​เด็ก​คน​หนึ่ง​สามารถ​กิน​ยา​บาง​อย่าง​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ได้ ยา​นั้น​ก็​ต้อง​ปลอด​ภัย.’

จริง​อยู่ เมื่อ​ใช้​อย่าง​ถูก​ต้อง ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ให้​อาจ​ช่วย​ฟื้นฟู​สุขภาพ​และ​คุณภาพ​ชีวิต​ให้​ดี​ขึ้น​และ​ถึง​กับ​ช่วย​รักษา​ชีวิต​ได้​ด้วย​ซ้ำ. แต่​เมื่อ​ใช้​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด ยา​นั้น​ก็​อาจ​จะ​ไม่​ปลอด​ภัย​เช่น​เดียว​กับ​ยา​เสพ​ติด​ผิด​กฎหมาย​ตัว​อื่น ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​คน​หนึ่ง​ใช้​ยา​กระตุ้น​บาง​ตัว​ที่​แพทย์​เป็น​ผู้​สั่ง​จ่าย​ให้​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด เขา​ก็​อาจ​จะ​เกิด​ภาวะ​หัวใจ​ล้มเหลว​หรือ​ชัก​ได้. ผลิตภัณฑ์​ยา​ตัว​อื่น ๆ อาจ​ทำ​ให้​คน​นั้น​มี​อัตรา​การ​หายใจ​ลด​ช้า​ลง​และ​เป็น​เหตุ​ให้​เขา​เสีย​ชีวิต​ได้​ใน​ที่​สุด. นอก​จาก​นี้ ยา​ตัว​หนึ่ง​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้​ถ้า​กิน​ร่วม​กับ​ยา​บาง​ชนิด​หรือ​กิน​ร่วม​กับ​แอลกอฮอล์. หนังสือ​พิมพ์​แอริโซนา รีพับลิก กล่าว​ว่า ใน​ช่วง​ต้น​ปี 2008 มี​นัก​แสดง​ที่​มี​ชื่อเสียง​คน​หนึ่ง​เสีย​ชีวิต “จาก​การ​กิน​ยา​กล่อม​ประสาท, ยา​นอน​หลับ, และ​ยา​บรรเทา​ปวด​ผสม​กัน​หก​ชนิด​ซึ่ง​ออก​ฤทธิ์​ถึง​ตาย.”

อันตราย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ก็​คือ​การ​ติด​ยา. เมื่อ​กิน​ยา​ปริมาณ​มาก​เกิน​ไป​หรือ​ใช้​ผิด​วัตถุ​ประสงค์ สาร​บาง​ชนิด​อาจ​ออก​ฤทธิ์​เช่น​เดียว​กับ​ยา​เสพ​ติด คือ​สาร​เหล่า​นี้​จะ​ไป​กระตุ้น​ศูนย์​ควบคุม​ความ​สุข​ใน​สมอง ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​รู้สึก​อยาก​ยา. แต่​แทน​ที่​จะ​ช่วย​ให้​รู้สึก​ตื่นเต้น​อยู่​เรื่อย ๆ หรือ​ช่วย​ผู้​คน​ให้​รับมือ​กับ​ความ​ยาก​ลำบาก​ใน​ชีวิต​ได้ การ​ใช้​ยา​ใน​ทาง​ที่​ผิด​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​เรื่อง​ต่าง ๆ เลว​ร้าย​ลง. นั่น​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​อาการ​เครียด​มาก​ขึ้น, ซึมเศร้า​หนัก​ขึ้น, ทำลาย​สุขภาพ​และ​ทำ​ให้​ไม่​สามารถ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​ได้​ตาม​ปกติ, ทำ​ให้​ติด​ยา, หรือ​ทั้ง​หมด​ที่​กล่าว​มา​นี้. แน่นอน​ว่า คน​ที่​ใช้​ยา​ใน​ทาง​ที่​ผิด​มี​ปัญหา​หลาย​อย่าง​ที่​บ้าน ที่​โรง​เรียน หรือ​ไม่​ก็​ที่​ทำ​งาน. แล้ว​เส้น​แบ่ง​ระหว่าง​การ​ใช้​ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ให้​ใน​ทาง​ที่​ถูก​และ​ใน​ทาง​ที่​ผิด​นั้น​อยู่​ตรง​ไหน​ล่ะ?

การ​ใช้​ใน​ทาง​ที่​ถูก​หรือ​ใน​ทาง​ที่​ผิด?

พูด​ง่าย ๆ คุณ​ใช้​ยา​ตาม​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ก็​ต่อ​เมื่อ​คุณ​กิน​ยา​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​แพทย์​ซึ่ง​รู้​ประวัติการ​รักษา​ของ​คุณ​เป็น​อย่าง​ดี. นั่น​รวม​ถึง​การ​กิน​ยา​ถูก​ขนาด​และ​ถูก​เวลา, ใน​วิธี​ที่​ถูก​ต้อง, และ​ด้วย​เหตุ​ผล​ด้าน​การ​รักษา​ที่​ถูก​ต้อง. ถึง​กระนั้น อาการ​ที่​ไม่​พึง​ปรารถนา​หรือ​ที่​ไม่​ได้​คาด​คิด​ก็​ยัง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้. ถ้า​เกิด​กรณี​เช่น​นี้ ให้​รีบ​บอก​แพทย์​ของ​คุณ​ทันที. แพทย์​อาจ​เปลี่ยน​หรือ​ยก​เลิก​ใบ​สั่ง​ยา​นั้น. หลักการ​เดียว​กัน​นี้​ใช้​ได้​กับ​ยา​ที่​ไม่​ต้อง​มี​ใบ​สั่ง​จาก​แพทย์​ด้วย คือ​จง​ใช้​ยา​เหล่า​นั้น​เฉพาะ​เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ใช้​เท่า​นั้น และ​จง​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​บอก​ไว้​บน​ฉลาก​อย่าง​เคร่งครัด.

ผู้​คน​อาจ​ได้​รับ​อันตราย​เมื่อ​พวก​เขา​ใช้​ยา​ผิด​วัตถุ​ประสงค์, ไม่​ได้​กิน​ยา​ตาม​ขนาด​ที่​บอก​ไว้​บน​ฉลาก, กิน​ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ให้​คน​อื่น, หรือ​กิน​ยา​อย่าง​ผิด​วิธี. ตัว​อย่าง​เช่น ยา​บาง​ตัว​ต้อง​กลืน​ทั้ง​เม็ด​เพื่อ​ให้​ตัว​ยา​ที่​สำคัญ​ถูก​ปล่อย​เข้า​สู่​ร่าง​กาย​อย่าง​ช้า ๆ. คน​ที่​กิน​ยา​อย่าง​ผิด ๆ มัก​จะ​ทำ​ให้​กระบวนการ​ดัง​กล่าว​เสีย​ไป​โดย​การ​บด​หรือ​เคี้ยว​ยา​ก่อน​ที่​จะ​กลืน, โดย​การ​บด​แล้ว​สูด​เข้า​จมูก, หรือ​โดย​การ​นำ​ยา​ไป​ละลาย​น้ำ​แล้ว​ฉีด​เข้า​ไป​ใน​ร่าง​กาย. การ​ทำ​เช่น​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​รู้สึก​เคลิบเคลิ้ม แต่​ก็​อาจ​เป็น​ก้าว​แรก​ด้วย​ที่​จะ​นำ​ไป​สู่​การ​ติด​ยา. ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น​ก็​คือ การ​ทำ​อย่าง​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​ถึง​ตาย​ได้.

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ถ้า​คน​ที่​กิน​ยา​ตาม​ใบ​สั่ง​แพทย์​อย่าง​ถูก​ต้อง แต่​สงสัย​ว่า​เขา​อาจ​กำลัง​เกิด​อาการ​ติด​ยา เขา​ควร​บอก​ให้​แพทย์​ทราบ​โดย​ไม่​รอ​ช้า. แพทย์​ควร​รู้​วิธี​ที่​ปลอด​ภัย​ที่​สุด​ใน​การ​แก้ไข​ปัญหา​นี้ โดย​ที่​เขา​ต้อง​ไม่​ละเลย​ปัญหา​สุขภาพ​ที่​คนไข้​มี​อยู่​แต่​เดิม​ด้วย.

การ​แพร่​ระบาด​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​ยา​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด ซึ่ง​รวม​ถึง​สาร​เสพ​ติด​ทุก​รูป​แบบ​นั้น​เป็น​การ​สะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​ยุค​สมัย​ของ​เรา. ครอบครัว​ซึ่ง​ควร​เป็น​ที่​ที่​มี​แต่​ความ​รัก​และ​ปลอด​จาก​ความ​เครียด​ใน​แต่​ละ​วัน​นั้น​ก็​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ย่ำแย่. ศีลธรรม​อัน​ดี​งาม​และ​ค่า​นิยม​ทาง​ศาสนา​ก็​กำลัง​เสื่อม​ลง​เรื่อย ๆ เช่น​เดียว​กับ​การ​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​ชีวิต. (2 ติโมเธียว 3:1-5) ปัจจัย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ​การ​สิ้น​ไร้​ความ​หวัง​ที่​จะ​มี​อนาคต​ที่​ดี​กว่า. ผู้​คน​มาก​มาย​มอง​ไม่​เห็น​อะไร​เลย​นอก​จาก​อนาคต​ที่​มืดมน​และ​หมอง​หม่น. ด้วย​เหตุ​นี้ พวก​เขา​จึง​ใช้​ชีวิต​อยู่​ไป​วัน ๆ และ​มุ่ง​แสวง​หา​อะไร​ก็​ได้​ที่​สามารถ​ทำ​ให้​พวก​เขา​เพลิดเพลิน ซึ่ง​บาง​ครั้ง​ก็​ทำ​อย่าง​นั้น​โดย​ที่​เสี่ยง​อันตราย​มาก. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ที่​ไหน​ขาด​การ​แนะ​นำ​สั่ง​สอน, ประชาชน​ที่​นั่น​ก็​เตลิด​ไป.”—สุภาษิต 29:18

ถ้า​คุณ​เป็น​พ่อ​แม่ ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​คุณ​คง​ต้องการ​ปก​ป้อง​ครอบครัว​ให้​พ้น​จาก​สภาพ​ที่​เสื่อม​ทราม​ทาง​ศีลธรรม​และ​ค่า​นิยม​ที่​ไม่​ดี ซึ่ง​แพร่​ระบาด​ไป​ทั่ว​โลก. แต่​คุณ​จะ​ปก​ป้อง​ครอบครัว​ของ​คุณ​ได้​อย่าง​ไร? และ​คุณ​จะ​หัน​ไป​พึ่ง​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​และ​ไว้​วางใจ​ได้​จาก​ที่​ไหน​เพื่อ​จะ​มี​อนาคต​ที่​ดี​กว่า? บทความ​ถัด​ไป​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 จาก​เว็บไซต์ TeensHealth

[กรอบ​หน้า 4]

ทำ​ทุก​วิถี​ทาง​เพื่อ​ให้​เคลิบเคลิ้ม

ผู้​คน​บาง​คน​จะ​ลอง​ใช้​แทบ​ทุก​วิถี​ทาง​เพื่อ​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​เคลิบเคลิ้ม. การ​กระทำ​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​มาก​เป็น​พิเศษ​รวม​ถึง​การ​สูด​ดม​น้ำ​ยา​ทำ​ความ​สะอาด, น้ำ​ยา​ล้าง​เล็บ, น้ำมัน​ขัด​เงา​เครื่อง​เรือน, น้ำมัน​เบนซิน, กาว, น้ำมัน​ไฟแช็ก, สี​สเปรย์, และ​สาร​ระเหย​ชนิด​อื่น ๆ. ไอ​ระเหย​ที่​สูด​ดม​จะ​ซึม​เข้า​กระแส​เลือด​โดย​เร็ว ทำ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​ขึ้น​แทบ​จะ​ทันที.

การ​กระทำ​ที่​เป็น​อันตราย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ​การ​ใช้​ยา​ที่​หา​ซื้อ​ได้​ตาม​ร้าน​ขาย​ยา​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด ซึ่ง​เป็น​ยา​ที่​มี​แอลกอฮอล์​ผสม​อยู่​หรือ​ยา​ที่​ทำ​ให้​ง่วง​นอน. เมื่อ​กิน​เข้า​ไป​มาก ๆ ยา​เหล่า​นี้​จะ​รบกวน​ประสาท​สัมผัส​ต่าง ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​การ​ฟัง​และ​การ​มอง​เห็น ทั้ง​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​รู้สึก​สับสน, ประสาท​หลอน, มี​อาการ​ชา, และ​ปวด​ท้อง.

[กรอบ​หน้า 5]

“กลวิธี​ใน​การ​หา​ยา”

หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง (Physicians’ Desk Reference) กล่าว​ว่า “‘การ​หา​ยา’ เป็น​พฤติกรรม​ที่​มัก​พบ​เห็น​ได้​ทั่ว​ไป​ใน​หมู่​ผู้​ติด​ยา​หรือ​ผู้​ที่​ใช้​ยา​ไป​ใน​ทาง​ที่​ผิด. กลวิธี​ใน​การ​หา​ยา​มี​ทั้ง​การ​โทรศัพท์​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ฉุกเฉิน หรือ​ไป​พบ​แพทย์​ตอน​ใกล้ ๆ เวลา​เลิก​งาน, ไม่​ยอม​ให้​แพทย์​ตรวจ​ตาม​ปกติ ทำ​การ​ทดสอบ หรือ​ส่ง​ตัว​ไป​ตรวจ​กับ​แพทย์​อีก​คน​หนึ่ง, ชอบ​อ้าง​อยู่​บ่อย ๆ ว่า​ทำ​ใบ​สั่ง​ยา ‘หาย’, แก้ไข​ใบ​สั่ง​ยา​จาก​แพทย์, และ​ไม่​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ให้​ประวัติการ​รักษา​ครั้ง​ก่อน ๆ หรือ​ให้​ข้อมูล​เพื่อ​ติด​ต่อ​แพทย์​คน​อื่น ๆ ที่​ให้​การ​รักษา. ‘การ​ไป​พบ​แพทย์​หลาย ๆ คน’ เพื่อ​จะ​ได้​ใบ​สั่ง​ยา​จาก​แพทย์​เพิ่ม​อีก​นั้น​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​มาก​สำหรับ​คน​ที่​ใช้​ยา​อย่าง​ผิด ๆ และ​คน​ที่​มี​อาการ​ติด​ยา​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​รักษา.”

ยา​ที่​มัก​จะ​ใช้​เพื่อ​เสพ​ติด​มี​สาม​ชนิด​คือ

ยา​กลุ่ม​อนุพันธ์​ฝิ่น—ที่​มี​การ​สั่ง​จ่าย​ให้​เพื่อ​บรรเทา​อาการ​ปวด

ยา​ที่​ออก​ฤทธิ์​กด​ระบบ​ประสาท​ส่วน​กลาง—เช่น บาร์บิทูเรต​และ​เบนโซไดอะซิปีน​ที่​มี​การ​สั่ง​จ่าย​ให้​คน​ที่​มี​อาการ​วิตก​กังวล​หรือ​มี​ปัญหา​ด้าน​การ​นอน (มัก​จะ​ถูก​เรียก​ว่า​ยา​ระงับ​ประสาท​หรือ​ยา​สงบ​ประสาท)

ยา​กระตุ้น—ที่​มี​การ​สั่ง​จ่าย​ให้​คน​ที่​เป็น​โรค​สมาธิ​สั้น (ADHD), มี​ภาวะ​ง่วง​เกิน, หรือ​โรค​อ้วน *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 24 ข้อมูล​ได้​รับ​จาก​สถาบัน​วิจัย​ด้าน​การ​ใช้​ยา​เสพ​ติด​แห่ง​ชาติ​ของ​สหรัฐ.

[กรอบ​หน้า 6]

คำ​แนะ​นำ​ใน​การ​ใช้​ยา​อย่าง​ปลอด​ภัย

1. ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​อย่าง​เคร่งครัด.

2. อย่า​เปลี่ยน​ขนาด​ยา​ที่​กิน​โดย​ที่​ไม่​ได้​ปรึกษา​แพทย์​ก่อน.

3. อย่า​หยุด​กิน​ยา​เอง.

4. อย่า​บด​ยา​หรือ​แบ่ง​ยา​เว้น​แต่​จะ​มี​การ​สั่ง​อย่าง​เจาะจง​ว่า​ให้​ทำ​เช่น​นั้น.

5. ตระหนัก​ว่า​ยา​อาจ​มี​ผล​ต่อ​ความ​สามารถ​ใน​การ​ขับ​ขี่​และ​การ​ทำ​กิจกรรม​อื่น ๆ.

6. ค้นคว้า​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​ยา​นั้น​อาจ​ทำ​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​บ้าง​กับ​เครื่อง​ดื่ม​ที่​มี​แอลกอฮอล์ และ​กับ​ยา​ตัว​อื่น ๆ ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย หรือ​ยา​ที่​ไม่​ต้อง​ใช้​ใบ​สั่ง​แพทย์.

7. ถ้า​คุณ​มี​ประวัติ​ว่า​เคย​ใช้​สาร​เสพ​ติด ให้​บอก​แพทย์​ด้วย.

8. อย่า​กิน​ยา​ที่​แพทย์​สั่ง​จ่าย​ให้​คน​อื่น และ​อย่า​เอา​ยา​ของ​คุณ​ให้​คน​อื่น​กิน. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 36 อาศัย​ข้อ​แนะ​ต่าง ๆ ที่​ได้​จาก​สำนักงาน​คณะ​กรรมการ​อาหาร​และ​ยา​ของ​สหรัฐ.