ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อสัตว์มหึมาท่องไปทั่วยุโรป

เมื่อสัตว์มหึมาท่องไปทั่วยุโรป

เมื่อ​สัตว์​มหึมา​ท่อง​ไป​ทั่ว​ยุโรป

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อิตาลี

ใน​ปี 1932 ขณะ​คน​งาน​ทำ​ถนน​กำลัง​ขุด​เจาะ​พื้น​ดิน​ใกล้ ๆ โคลอสเซียม​ใน​กรุง​โรม หนึ่ง​ใน​คน​งาน​นั้น​ได้​ขุด​ไป​โดน​วัตถุ​แข็ง ๆ ชิ้น​หนึ่ง. ปรากฏ​ว่า​นั่น​คือ​งา​และ​กะโหลก​ของ​ช้าง​ตัว​หนึ่ง. นี่​ไม่​ใช่​ครั้ง​แรก​ที่​มี​การ​ขุด​พบ​เช่น​นี้. ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา มี​การ​ขุด​พบ​ซาก​ฟอสซิล​ช้าง​ประมาณ 140 ซาก​ทั้ง​ใน​และ​รอบ ๆ กรุง​โรม การ​ขุด​พบ​ที่​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​ครั้ง​แรก​อยู่​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17.

ผู้​คน​เชื่อ​ว่า​ชิ้น​ส่วน​กระดูก​นี้​เป็น​ของ​ช้าง​ที่​นำ​เข้า​โดย​โรม​โบราณ หรือ​ไม่​ก็​เป็น​กระดูก​ของ​ช้าง​ที่​ฮันนิบาล​แม่ทัพ​ชาว​คาร์เทจ​พา​เดิน​ทัพ​มา​ยัง​อิตาลี. จี. บี. ปีอาชานี นัก​บวช​และ​ศาสตราจารย์​ภาค​วิชา​วิทยาศาสตร์​ธรรมชาติ​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 19 ใน​เมือง​วีแตร์โบ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​สมมุติฐาน​นี้. เขา​ลง​ความ​เห็น​ว่า​กระดูก​ดัง​กล่าว​เป็น​ของ​สัตว์​ที่​ตาย​ใน​ที่​อื่น​และ​ถูก​กระแส​น้ำ​ท่วม​พัด​พา​มา เพราะ​กระดูก​เหล่า​นั้น​ส่วน​ใหญ่​พบ​ใน​แหล่ง​ทับ​ถม​ของ​ตะกอน​น้ำ​พา.

ฟอสซิล​ช้าง​หลาย​ชิ้น​ที่​พบ​ใน​อิตาลี​ไม่​ใช่​ฟอสซิล​ของ​ช้าง​ชนิด​ที่​เรา​รู้​จัก​กัน​ใน​ทุก​วัน​นี้. แต่​เป็น​ฟอสซิล​ของ​ช้าง​ที่​สูญ​พันธุ์​ไป​แล้ว​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า Elephas antiquus หรือ​ช้าง​โบราณ. (ดู​หน้า 15) งา​ของ​ช้าง​ชนิด​นี้​เกือบ​จะ​เป็น​แนว​ตรง และ​มี​ความ​สูง 5 เมตร​เมื่อ​วัด​ถึง​บ่า ซึ่ง​สูง​กว่า​ช้าง​ที่​เรา​รู้​จัก​ใน​ปัจจุบัน​ถึง 2 เมตร.

สัตว์​มหึมา​เหล่า​นี้​มี​มาก​ขนาด​ไหน? หลักฐาน​จาก​ฟอสซิล​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​ครั้ง​หนึ่ง​พวก​มัน​เคย​เดิน​ไป​มา​ทั่ว​ยุโรป​และ​อังกฤษ​เช่น​เดียว​กับ​แมมมอท​ที่​เป็น​ญาติ​ใกล้​ชิด​ของ​มัน. นอก​จาก​นี้ ฟอสซิล​ช้าง​ที่​ขุด​พบ​บาง​ครั้ง​ไม่​ได้​อยู่​โดด ๆ แต่​อยู่​ใน​ชั้น​หิน​ตะกอน​ร่วม​กับ​ซาก​ฟอสซิล​ของ​สัตว์​อื่น ๆ มาก​มาย บาง​ชนิด​เป็น​ศัตรู​กัน​ด้วย​ซ้ำ.

ตั้ง​แต่​ไฮยีนา​จน​ถึง​ฮิปโป

ฟอสซิล​ที่​พบ​ใน​ลาซีโอ​ภาค​กลาง​ของ​อิตาลี​ซึ่ง​นับ​รวม​กรุง​โรม ชี้​ให้​เห็น​ว่า​บริเวณ​ดัง​กล่าว​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​มี​สภาพ​ภูมิอากาศ​คล้าย ๆ แอฟริกา เพราะ​ฮิปโปโปเตมัส, กาเซลล์, และ​กระทั่ง​เสือ​และ​สิงโต​เคย​อยู่​ใน​ภูมิภาค​นี้. ที่​จริง มี​การ​ขุด​พบ​ฟอสซิล​ของ​เสือ​ตัว​หนึ่ง​ตรง​ใจ​กลาง​กรุง​โรม​ที​เดียว ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​เสือ​ดาว​มอนเต​ซาโคร. ที่​แหล่ง​ฟอสซิล ณ หมู่​บ้าน​ปอลเลดรารา​นอก​ตัว​เมือง มี​การ​ขุด​พบ​ซาก​ฟอสซิล​มาก​กว่า 9,000 ซาก ซึ่ง​เป็น​ของ​สัตว์​นานา​ชนิด อาทิ ช้าง​โบราณ, ควาย, กวาง, ลิง​บาร์แบรีย์, แรด, และ​เอาร์ออกส์ หรือ​โค​ป่า​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​ถูก​ล่า​จน​สูญ​พันธุ์​ราว​สี่​ร้อย​ปี​มา​แล้ว. พิพิธภัณฑสถาน​ที่​ตั้ง​อยู่​ใน​บริเวณ​นี้​มี​ทาง​เดิน​ยก​ระดับ​เพื่อ​ผู้​มา​เยี่ยม​ชม​จะ​เห็น​ฟอสซิล​ใน​ตำแหน่ง​เดิม​ที่​มี​การ​ขุด​พบ.—ดู​หน้า 16

ถ้ำ​แห่ง​หนึ่ง​ใกล้ ๆ ปาแลร์โม บน​เกาะ​ซิซิลี เต็ม​ไป​ด้วย​ซาก​ฟอสซิล​มาก​มาย​หลาย​ตัน รวม​ทั้ง​กระดูก​ที่​กลาย​เป็น​ฟอสซิล​ของ​กวาง, วัว​ป่า, ช้าง, และ​ฮิปโปโปเตมัส​ขนาด​อายุ​ต่าง ๆ กัน กระทั่ง​ฟอสซิล​กระดูก​ของ​ลูก​ฮิปโป​ที่​อยู่​ใน​ท้อง. จริง ๆ แล้ว มี​การ​นำ​ฟอสซิล​หนัก 20 ตัน​ไป​ขาย​ใน​หก​เดือน​แรก​หลัง​การ​ขุด​พบ​ด้วย​ซ้ำ!

ใน​ภาค​ใต้​ของ​อังกฤษ นัก​บรรพ​ชีวิน​วิทยา เจ. แมนสัน วาเลนไทน์ ได้​ขุด​พบ​แอ่ง​ฟอสซิล​ที่​มี​กระดูก​ชิ้น​เล็ก​ชิ้น​น้อย​ของ​สัตว์​ชนิด​เดียว​กัน​หลาย​ตัว รวม​ทั้ง​กระดูก​ของ​ไฮยีนา​และ​หมี​ขั้ว​โลก. ทำไม​จึง​ขุด​พบ​แอ่ง​ฟอสซิล​ขนาด​ใหญ่​ใน​สถาน​ที่​ต่าง ๆ เหล่า​นี้?

นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​เชื่อ​ว่า สัตว์​เหล่า​นี้​ตาย​ด้วย​มหันตภัย​ทาง​ธรรมชาติ​อย่าง​เดียว​กัน. ไม่​ว่า​การ​สูญ​พันธุ์​ครั้ง​ใหญ่​นี้​จะ​เกิด​จาก​สาเหตุ​ใด​ก็​ตาม ผล​ของ​มหันตภัย​นั้น​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล รวม​ทั้ง​ยุโรป​แผ่นดิน​ใหญ่, หมู่​เกาะ​บริติช, ไซบีเรีย, และ​อะแลสกา.

เป็น​เพราะ​หลักฐาน​ทาง​ฟอสซิล ทำ​ให้​เรา​มโนภาพ​ได้​ว่า​โลก​ใน​ตอน​นั้น​ช่าง​ต่าง​กัน​จริง ๆ จาก​โลก​ที่​เรา​รู้​จัก​ใน​ตอน​นี้. ที่​จริง ใน​อิตาลี​นี้​แหละ ถ้า​คุณ​ย้อน​เวลา​ไป​ไกล​พอ คุณ​อาจ​พูด​ได้​ว่า​คุณ​อยู่​ใน​ป่า​แอฟริกา.

[กรอบ​หน้า 17]

ฟอสซิล​คือ​อะไร?

ถ้า​มอง​แบบ​ผิว​เผิน ฟอสซิล​อาจ​ดู​เหมือน​กระดูก​ธรรมดา ๆ ชิ้น​หนึ่ง. จริง ๆ แล้ว ฟอสซิล​เป็น​ผล​จาก​การ​แปร​สภาพ​ทาง​เคมี หรือ​เรียก​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ว่า​การ​กลาย​เป็น​ซาก​ดึกดำบรรพ์ ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ก่อน​ที่​ซาก​สัตว์​นั้น ๆ จะ​เน่า​สลาย.

รูป​แบบ​ทั่ว​ไป​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​กลาย​เป็น​ซาก​ดึกดำบรรพ์​ก็​คือ​กระบวนการ​แปร​สภาพ​เป็น​แร่. ใน​กระบวนการ​นี้ อินทรียวัตถุ​เดิม​จะ​ถูก​แทน​ที่​ทั้ง​หมด​หรือ​บาง​ส่วน​โดย​แร่​ต่าง ๆ ซึ่ง​อยู่​ใน​แหล่ง​ทับ​ถม​ของ​ตะกอน​ที่​เปียก​ชื้น. ดัง​นั้น เพื่อ​การ​กลาย​เป็น​ซาก​ดึกดำบรรพ์​จะ​เกิด​ขึ้น​ได้ จะ​ต้อง​มี​สภาพ​แวด​ล้อม​พิเศษ​เฉพาะ. สภาพ​ดัง​กล่าว​รวม​ถึง​ตะกอน​ที่​ทับ​ถม​กัน​จำนวน​มาก​และ​การ​ที่​ซาก​ถูก​กลบ​ฝัง​อย่าง​รวด​เร็ว อีก​ทั้ง​ต้อง​มี​สภาพ​พิเศษ​ที่​ทำ​ให้​ซาก​นั้น​ไม่​ย่อย​สลาย. ใน​สภาพการณ์​ปกติ​ทั่ว​ไป ซาก​สัตว์​ที่​ไม่​ถูก​สัตว์​อื่น​กิน​จะ​ถูก​ย่อย​สลาย​โดย​แบคทีเรีย​รวม​ทั้ง​กระบวนการ​ทาง​เคมี​และ​กลศาสตร์ เช่น น้ำ​และ​ลม. ฉะนั้น การ​กลาย​เป็น​ซาก​ดึกดำบรรพ์​จึง​มี​น้อย​มาก.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 17]

แมมมอท​ใน​ซีก​โลก​เหนือ

หลักฐาน​จาก​ฟอสซิล​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​แมมมอท​ช้าง​ขน​ยาว​อาศัย​อยู่​ใน​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล ครอบ​คลุม​เอเชีย, ยุโรป, และ​อเมริกา​เหนือ. ส่วน​ใต้​สุด​ที่​เป็น​เขต​อาศัย​ของ​สัตว์​ชนิด​นี้​ดู​เหมือน​จะ​เป็น​อิตาลี​ใน​ทวีป​ยุโรป.

ช้าง​แมมมอท​ที่​มี​ขน​ยาว​นี้​มี​ขนาด​ไล่เลี่ย​กับ​ช้าง​เอเชีย​ใน​ปัจจุบัน ขน​ของ​แมมมอท​ยาว 50 เซนติเมตร และ​ตัว​ผู้​มี​งา​ที่​โค้ง​ยาว​ถึง 5 เมตร. มี​การ​ขุด​พบ​งา​ของ​แมมมอท​ใน​ไซบีเรีย​มาก​เป็น​พิเศษ ที่​จริง​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​งา​เหล่า​นั้น​ถูก​ส่ง​ไป​ขาย​ยัง​ประเทศ​จีน​และ​ยุโรป​ตั้ง​แต่​ยุค​กลาง.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photo courtesy of the Royal BC Museum

[ภาพ​หน้า 16,17]

แหล่ง​ฟอสซิล​ใน​ปอลเลดรารา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Soprintendenza Archeologica di Roma

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

Top: Museo di Paleontologia dell’Università degli Studi “La Sapienza” di Roma; bottom: © Comune di Roma - Sovraintendenza Beni Culturali (SBCAS; fald. 90, fasc. 4, n. inv. 19249)