การทำแท้ง—ไม่ได้เป็นทางแก้ปัญหาจริง ๆ
การทำแท้ง—ไม่ได้เป็นทางแก้ปัญหาจริง ๆ
บิลล์ได้รับการสอนตั้งแต่เล็กว่าการทำแท้งเป็นบาปร้ายแรงพอ ๆ กับการฆ่าคน. แต่ในปี 1975 ความเชื่อมั่นที่เขายึดถือมาเป็นสิบ ๆ ปีก็เริ่มอ่อนลง เมื่อเขาเองต้องตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้. วิกตอเรีย คู่รักของเขาเริ่มตั้งครรภ์ และบิลล์ก็ไม่ต้องการแต่งงานและรับผิดชอบเด็กในท้อง. บิลล์ยอมรับว่า “ผมเลือกทางออกที่สะดวกทันที และบอกวิกตอเรียให้ไปทำแท้ง.”
สิ่งที่บิลล์เรียกว่าทางออกที่สะดวกสำหรับการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และไม่ได้วางแผนล่วงหน้านั้นไม่ใช่เรื่องแปลก. ในปี 2007 การศึกษาวิจัยระดับโลกรายงานว่า ในปี 2003 มีผู้หญิงประมาณ 42 ล้านคนทั่วโลกที่ทำแท้ง. ผู้หญิงที่ทำแท้งมีทุกเชื้อชาติและทุกสัญชาติ, จากภูมิหลังทางศาสนาต่าง ๆ มากมาย, และจากทุกระดับฐานะ ทุกระดับการศึกษา หรือไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด คือตั้งแต่วัยแรกรุ่นไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน. ถ้าคุณกำลังเผชิญกับการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ คุณจะทำอย่างไร? ทำไมคนเป็นจำนวนมากจึงเลือกการทำแท้ง?
‘ดิฉันเห็นว่าเป็นหนทางเดียวเท่านั้น’
ผู้หญิงวัย 35 ปีคนหนึ่งอธิบายว่า “ดิฉันเพิ่งผ่านช่วงการตั้งครรภ์ที่ลำบากมากและเป็นการคลอดที่ยุ่งยาก แถมยังมีปัญหาเครียด ๆ สารพัดทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องเงินอีกด้วย. แล้วหลังจากคลอดลูกได้หกสัปดาห์ ดิฉันก็ตั้งครรภ์อีก. เราตัดสินใจทำแท้ง. ดิฉันรู้สึกในใจว่า การทำแท้งนั้นผิด แต่ดิฉันเห็นว่านี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้น.”
ผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาทางการเงินไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ บางทีอาจเป็นเพราะพฤติกรรมที่รุนแรงจนทำให้ไม่อยากอยู่ร่วมกันอีกต่อไป. หรือการตั้งครรภ์นั้นอาจจะแค่ไม่เข้ากับแผนการต่าง ๆ ของฝ่ายหญิงหรือทั้งสองฝ่าย.
บางครั้ง มีการเลือกการทำแท้งเพื่อปกป้องชื่อเสียง. เป็นจริงเช่นนั้นกับกรณีหนึ่งที่แพทย์หญิงซูซาน วิกลันด์ ได้รายงานไว้ในหนังสือชื่อความลับที่เป็นเรื่องธรรมดา—เส้นทางชีวิตของดิฉันในฐานะหมอทำแท้ง (ภาษาอังกฤษ). คนไข้รายหนึ่งที่มาปรึกษาเรื่องการทำแท้งสารภาพว่า “คุณพ่อคุณแม่เป็นคนเคร่งศาสนามาก. . . . ถ้าหนูมีลูกโดยที่ไม่ได้แต่งงาน นั่นจะเป็นการทำลายชื่อเสียงของพวกท่าน. นั่นจะทำให้เพื่อน ๆ ของท่านทุกคนรู้ว่าลูกสาวของท่านได้ทำบาป.”
แล้วแพทย์หญิงวิกลันด์ก็ถามว่า “เอาล่ะ หนูอาจจะทำบาปในสายตาของพวกเขา แต่พวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการทำแท้ง?” เด็กผู้หญิงคนนั้นบอกว่า “การทำแท้งหรือคะ. นั่นเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้อย่างเด็ดขาด. แต่ก็คงจะดีกว่าปล่อยให้ท้องโตออกมา เพราะมันจะยังคงเป็นความลับ. ถ้าหนูทำแท้ง เพื่อน ๆ [ของคุณพ่อคุณแม่] ในโบสถ์ก็จะไม่มีวันรู้หรอก.”
ไม่ว่าจะด้วยสภาพการณ์เช่นไร โดยปกติแล้วการตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ. บ่อยครั้งการตัดสินใจดังกล่าวมักจะทำให้ปวดร้าวใจอย่างมาก. แต่การทำแท้งเป็นทางแก้ปัญหาจริง ๆ ไหม?
พิจารณาผลที่ตามมา
ในปี 2004 การศึกษาวิจัยที่ทำกับหญิงชาวรัสเซีย 331 คนและชาวอเมริกัน 217 คนที่เคยทำแท้งเผยให้ทราบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้หญิงทั้งสองกลุ่มนี้รู้สึกไม่สบายใจหลังจากทำแท้ง. เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงรัสเซียและเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงอเมริกันรู้สึก “ผิด” เนื่องจากการทำแท้ง. มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงอเมริกันรู้สึกว่า ‘ไม่อาจให้อภัยตัวเองได้.’ เนื่องจากความรู้สึกผิดเช่นนี้เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้หญิงจำนวนมากมายที่ได้ทำแท้ง แม้แต่ในท่ามกลางผู้หญิงเหล่านั้นที่คิดว่าตนเป็นคนไม่เคร่งศาสนาด้วยซ้ำ แล้วทำไมผู้หญิงสาว ๆ จำนวนมากมายจึงยังทำแท้งล่ะ?
บ่อยครั้ง พวกเธอมักจะถูกกดดันอย่างหนักให้ทำแท้ง. พ่อแม่, คู่รัก, หรือเพื่อนที่หวังดีอาจสนับสนุนให้ทำแท้ง
เนื่องจากดูเหมือนเป็นทางออกที่เลวร้ายน้อยกว่า. นี่อาจทำให้มีการตัดสินใจอย่างรีบร้อนและขาดความรู้ความเข้าใจ. ดร. พรีซิลลา โคลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากการทำแท้งได้อธิบายว่า “หลังจากช่วงแห่งความตึงเครียดในการตัดสินใจและการทำแท้งเสร็จสิ้นลง. ความสามารถในการคิดหาเหตุผลของพวกผู้หญิงเหล่านั้นก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งบ่อยครั้งก็มาพร้อมกับความรู้สึกต่าง ๆ อย่างเช่น ความรู้สึกผิด, ความเศร้า, และความเสียใจอย่างเห็นได้ชัด.”ความเศร้าเสียใจนี้มักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า การทำแท้งเป็นการทำลายชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วไหม? รายงานจากหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเซาท์ดาโกตาเพื่อศึกษาเรื่องการทำแท้งได้สรุปว่า หญิงมีครรภ์หลายคนที่กำลังพิจารณาเรื่องการทำแท้ง “ถูกหลอกให้คิดว่าสิ่งที่จะถูกขจัดออกไปนั้นเป็นแค่ ‘เนื้อเยื่อ’ เท่านั้น และพวกเธอบอกว่า พวกเธอคงจะไม่ทำแท้งถ้าได้รับรู้ความจริงมาก่อน.”
หลังจากการประเมิน “คำกล่าวที่น่าตกตะลึงและน่าปวดร้าวใจอย่างมาก” ของผู้หญิง 1,940 คนซึ่งเคยทำแท้ง การศึกษาวิจัยนี้ได้สรุปว่า “ผู้หญิงเหล่านี้หลายคนรู้สึกโกรธแค้นเนื่องจากความเศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียลูก ซึ่งมีการบอกพวกเธอว่าชีวิตยังไม่ได้เกิดขึ้นในครรภ์ของพวกเธอเลย.” นอกจากนี้การศึกษาวิจัยนั้นยังกล่าวว่า “ผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับจิตใจเมื่อรู้ว่าเธอได้ฆ่าลูกของตนนั้นมักจะรุนแรงมาก.”
แต่ความจริงคืออะไร? การทำแท้งเป็นเพียงการเอาเนื้อเยื่อบางส่วนออกจากร่างกายของหญิงมีครรภ์ไหม? จริง ๆ แล้ว เด็กที่ยังไม่คลอดออกมาเป็นบุคคลที่มีชีวิตแล้วขณะที่อยู่ในครรภ์ไหม?
[กรอบ/ภาพหน้า 4]
การให้กำเนิดกับการทำแท้ง
การศึกษาวิจัยรายหนึ่งในปี 2006 ได้ทบทวนดูประวัติชีวิตของผู้หญิงหลายคนที่เคยตั้งครรภ์ตอนเป็นวัยรุ่น. ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงเหล่านั้นที่มีการศึกษาวิจัย ได้ให้กำเนิดบุตร ส่วนอีกครึ่งหนึ่งทำแท้ง. การศึกษาวิจัยนั้นสรุปว่า “การให้กำเนิดบุตรทำให้มีโอกาสที่จะไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์น้อยลง, ความถี่ของปัญหาด้านการนอนหลับก็มีน้อยกว่า, และมีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะสูบกัญชาเมื่อเทียบกับคนที่ทำแท้ง.”—วารสารหนุ่มสาวและวัยรุ่น (ภาษาอังกฤษ)
ส่วนอีกรายงานหนึ่งได้ให้ “ผลการวิจัยของการศึกษาสี่รายที่ทำกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดในโลก.” การศึกษาเหล่านี้เผยให้ทราบอะไรบ้าง? “ผู้หญิงที่เคยมีประวัติการทำแท้งนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพจิตในแบบต่าง ๆ ในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เคยมีประวัติการทำแท้ง.”—รายงานจากหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเซาท์ดาโกตาเพื่อศึกษาเรื่องการทำแท้งปี 2005