เยาวชนคาทอลิกถูกกระตุ้นให้เผยแพร่ความเชื่อ
เยาวชนคาทอลิกถูกกระตุ้นให้เผยแพร่ความเชื่อ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ชาวโรมันคาทอลิกจากทั่วทุกมุมโลกได้ไปชุมนุมกันที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย เพื่อฉลองวันเยาวชนโลกปี 2008 ซึ่งเป็นงานสำคัญทางศาสนาอย่างหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรคาทอลิก.
ผู้เข้าร่วมหรือผู้แสวงบุญจาก 170 ชาติที่รวมตัวกันอยู่บนถนน โบกธงไปมา, โห่ร้อง, ร้องเพลง, และแห่แหนกันไปทั่วเมือง. ผู้สังเกตการณ์มากมายยืนรายเรียงอยู่รอบอ่าวซิดนีย์เพื่อรอดูสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งมาถึงโดยเรือที่มาพร้อมกับเรือหลากหลายสีสันลำอื่น ๆ อีก 12 ลำ. ผู้คนราว ๆ 500 ล้านคนทั่วโลกเฝ้าชมเหตุการณ์นี้โดยการถ่ายทอดสดทางทีวี.
มีการจัดพิธีมิสซาปิดท้ายที่สนามแข่งม้าในเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมถึง 400,000 คน นับรวมเจ้าหน้าที่คริสตจักร 4,000 คน และคณะนักข่าว 2,000 คน. ถือเป็นการชุมนุมเดียวเท่านั้นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในออสเตรเลีย ทำลายสถิติผู้ชมจากกีฬาโอลิมปิกปี 2000 ที่ซิดนีย์.
วันเยาวชนโลกคืออะไร? ทำไมจึงจัดวันนี้ขึ้นมา? มีกิจกรรมอะไรบ้างรวมอยู่ด้วย? และงานนี้เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของเยาวชนที่มาชุมนุมกันในซิดนีย์?
“ความเชื่อเสื่อมถอย”
วันเยาวชนโลกเป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเชื่อของเยาวชนคาทอลิก. สมาชิกคริสตจักรมักจะฉลองวันนี้ในเขตปกครองทางศาสนาประจำท้องถิ่นของตน. อย่างไรก็ดี ในทุก ๆ สองหรือสามปี นครใหญ่ ๆ แห่งหนึ่งจะเป็นเจ้าภาพงานนี้และมีการเชิญชวนเยาวชนคาทอลิกจากทั่วโลกให้เข้าร่วม. นครใหญ่สิบแห่งในห้าทวีปเคยเป็นเจ้าภาพงานนี้ และมีผู้เข้าร่วมรวมแล้วหลายล้านคน.
แต่เจ้าหน้าที่คริสตจักรยอมรับว่า วันเยาวชนโลกยังมีจุดมุ่งหมายที่จะยุติการลดน้อยถอยลงของจำนวนผู้นมัสการและความอ่อนแอด้านความเชื่อของเหล่าสมาชิกในคริสตจักรคาทอลิกด้วย. จอร์ช คาร์ดินัล เพลล์ หัวหน้าบาทหลวงคาทอลิกในออสเตรเลียบอกว่า “เราเผชิญความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงเรื่องการประกอบกิจทางศาสนา และความเชื่อก็เสื่อมถอยในระดับหนึ่งด้วย. วันเยาวชนโลกเป็นความพยายามอย่างหนึ่งเพื่อจะทำอะไรบางอย่างในเรื่องนี้.”
ตัวเลขของสำนักวาติกันบ่งชี้ว่าจำนวนบาทหลวงทั่วโลกกำลังลดน้อยลง. บาทหลวงนับหมื่น ๆ คนลาออกในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้เพื่อไปแต่งงาน. จำนวนผู้ได้รับการฝึกเพื่อเป็นบาทหลวงในออสเตรเลียลดลงอย่างฮวบฮาบกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา. บาทหลวงในสังฆมณฑลที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียในปัจจุบันมีอายุโดยเฉลี่ย 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมากกว่าอายุเฉลี่ยในปี 1977 ราว ๆ 20 ปี.
คนไปโบสถ์ในหลายประเทศก็ลดลงด้วย. ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งสิ้นในออสเตรเลียเรียกตัวเองว่าคาทอลิก แต่มีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ไปโบสถ์เป็นประจำ. คิดกันว่ามีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนคาทอลิกที่ไปโบสถ์. ขณะเดียวกัน ชาวคาทอลิกหลายคนก็ไม่เชื่อฟังคำสอนของคริสตจักรเรื่องศีลธรรมทางเพศ, การคุมกำเนิด, และการหย่าร้าง. บางคนก็หมดศรัทธาเพราะเรื่องอื้อฉาวของคริสตจักร เช่น เรื่องบาทหลวงทำร้ายเด็กทางเพศ.
หนังสือพิมพ์เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ พูดถึงวันเยาวชนโลกว่า “เป็นความพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะยุติการเสื่อมถอยของคริสตจักร. ผู้นำคริสตจักรในออสเตรเลียและโรมกำลังหาวิธีบูรณะฟื้นฟูคริสตจักรโดยอาศัยเยาวชน.” ผู้นำคริสตจักรเหล่านี้เข้าหาเยาวชนอย่างไร?
งานแสดงและงานสังสรรค์รื่นเริง
วันเยาวชนโลก 2008 ประกอบด้วยการแสดงของคริสตจักร, การจัดกลุ่มอภิปราย, การจาริกแสวงบุญ, และการชุมนุมใหญ่เพื่อฉลองพิธีมิสซา. แม้กิจกรรมดังกล่าวปลุกเร้าใจผู้เข้าร่วมอย่างมาก แต่บางคนสังเกตเห็นน้ำใจอีกแบบหนึ่งที่ขับเคลื่อนงานนี้. วัยรุ่นคาทอลิกจากสหรัฐชื่ออเล็กซานดรา พูดถึงวันเยาวชนโลกว่า “ก็แค่งานสังสรรค์ใหญ่งานหนึ่ง.”
การชุมนุมหกวันในซิดนีย์มีงานบันเทิง 450 รายการ รวมถึงคอนเสิร์ต, ภาพยนตร์, ละคร, นิทรรศการ, และการแสดงกลางแจ้ง. ดนตรีมีตั้งแต่อุปรากรและการร้องเพลงสวดปากเปล่าจนถึงดนตรีเฮฟวีเมทัลและแรป. คอนเสิร์ตร็อกดึงดูดใจวัยรุ่นหลายหมื่นคน.
งานแสดงเหล่านี้ทำให้ชาวคาทอลิกบางคนรู้สึกเป็นห่วง. บาทหลวงปีเตอร์ สกอตต์ พูดกับสำนักข่าวเอบีซีในออสเตรเลียเกี่ยวกับงานนี้ว่า “เป็นแค่งานปาร์ตี้รื่นเริง คือเป็นสัปดาห์แห่งการเลี้ยงสังสรรค์และการแสดงดนตรีพร้อมทั้งกิจกรรมแบบโลกโดยมีเรื่องทางศาสนาน้อยมาก.” ที่จริง ในปี 2000 สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งในตอนนั้นเป็นคาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ ได้เขียนว่า “[ดนตรี] ‘ร็อก’ เป็นการแสดงออกของราคะตัณหาพื้นฐาน และที่เทศกาลร็อกจะมีการแสดงให้เห็นซึ่งลักษณะเชิงบูชาคลั่งไคล้ คล้ายการนมัสการ ซึ่งจริง ๆ แล้วตรงกันข้ามกับการนมัสการแบบคริสเตียน.”—เดอะ สปิริต ออฟ เดอะ ลิเทอร์จี
อาจมีคำถามขึ้นมาว่า “วันเยาวชนโลกจะเป็นงานฉลองที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนไหม?” อดีตบาทหลวง พอล คอลลิน บอกว่า “อาจสำหรับคนส่วนน้อยนิด. แต่คนส่วนใหญ่จะกลับไปดำเนินชีวิตแบบเดิมอีก. การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคนไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่เกิดจากการคิดใคร่ครวญ, การวางแผนอย่างรอบคอบ, และการเต็มใจที่จะจัดการกับปัญหาที่ฝังรากลึก.”
‘ท่านจะเป็นพยานถึงเรา’
ผู้นำคริสตจักรตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างดี. ด้วยเหตุนี้ วันเยาวชนโลกปี 2008 จึงมีอรรถบทว่า “พระ *
จิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่านและท่านจะรับอานุภาพเพื่อจะเป็นพยานถึงเรา.”บิชอปกระตุ้นเหล่าผู้แสวงบุญให้ “ฟื้นน้ำใจแรงกล้าแบบเหล่าอัครสาวกเพื่อประกาศกิตติคุณในโลกปัจจุบันอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น.” สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 กระตุ้นพวกเขาให้เป็น “เหล่าอัครสาวกรุ่นใหม่” และในอีกโอกาสหนึ่งได้กระตุ้นพวกเขาให้เผยแพร่ “ข่าวดีในหมู่เพื่อนฝูง, ครอบครัว, และทุกคนที่พบปะ.”
คำวิงวอนนี้ได้กระตุ้นผู้แสวงบุญที่จริงใจบางคน. รามิโด เด็กหนุ่มวัย 20 ปีจากสหรัฐบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมถือว่าการเป็นผู้เผยแพร่เป็นเรื่องสำคัญมาก.” แต่เบอาตรีเช เด็กสาววัย 18 ปี จากอิตาลี ให้ข้อสังเกตว่า “หนุ่มสาวในปัจจุบันไม่พูดเรื่องพระเจ้า. ยากที่พวกเขาจะเป็นผู้เผยแพร่ในสมัยนี้.” ผู้แสวงบุญจำนวนมากพูดคล้าย ๆ กับสาววัยรุ่นสองคนจากเทกซัส สหรัฐอเมริกาดังนี้: “พวกเดียวที่ทำงานเผยแพร่ในประเทศที่เรามา ก็คือพยานพระยะโฮวา!”
เยาวชนที่ทำงานเผยแพร่
จริง ๆ แล้ว พยานพระยะโฮวาทั้งวัยหนุ่มสาวและสูงอายุ เป็นที่รู้จักดีเรื่องการเผยแพร่หรือการให้คำพยานด้วยใจแรงกล้า. พวกเขาทำเช่นนั้นเพราะอะไร? โซเทียร์พยานฯ วัย 22 ปี จากซิดนีย์บอกว่า เพราะ “รักพระเจ้า รักผู้คน และรักคัมภีร์ไบเบิล.”
ระหว่างวันเยาวชนโลกปี 2008 พยานฯ หนุ่มสาวเกือบ 400 คนในซิดนีย์ แม้ไม่ได้ร่วมในงานนั้นแต่ก็ร่วมในการรณรงค์พิเศษเพื่อแบ่งปันความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้แสวงบุญชาวคาทอลิกที่มาเยือน. แทรวัส ชายหนุ่มอายุ 25 ปี บอกว่า “ผมยินดีมากที่ได้พบกับเยาวชนคาทอลิกผู้ฝักใฝ่เรื่องพระเจ้า. พวกเขาหลายคนมีคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล และผมดีใจที่ได้ให้คำตอบอันน่าพอใจแก่พวกเขา.”
ทาร์ชา อายุ 23 ปี บอกว่า “ฉันเข้าไปพูดคุยแบบสบาย ๆ ไม่เป็นทางการ. ฉันอยากจะต้อนรับพวกเขาสู่ซิดนีย์ และได้ยินได้ฟังว่าพวกเขาเชื่ออะไร.” เฟรเซอร์ เด็กหนุ่มอายุ 20 ปีบอกว่า “เมื่อเห็นว่าเหมาะสมผมจะให้หนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? * เป็นของขวัญแก่ผู้มาเยือน. ทุกคนที่ผมคุยด้วยยินดีรับหนังสือนี้.”
ประจักษ์ชัดว่า ผู้มาเยือนหลายคนชอบคุยกับเยาวชนพยานฯ. ซูซานจากฟิจิถามเบลินดา พยานฯ วัย 19 ปีว่า ทำไมพระเจ้ายอมให้มีความทุกข์. เบลินดาชวนเธอให้ดูคำตอบที่พิมพ์ไว้ในหนังสือไบเบิลสอน. เมื่อดูเสร็จแล้ว ซูซาน บอกว่า “ผู้คนมักจะบอกฉันแต่เพียงว่า พระเจ้าทรงดำเนินการแบบลึกลับ. ตอนนี้ฉันได้คำตอบจริง ๆ แล้ว!” เมื่อเบลินดาให้หนังสือเล่มนั้นกับเธอ ซูซานบอกว่า “ฉันพยายามจำทุกสิ่งที่คุณพูด. ฉันไม่คิดเลยว่าคุณจะให้หนังสือเล่มนี้!”
ผู้มาเยือนชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งขอให้มารินาพยานฯ วัย 27 ปีถ่ายรูปให้เธอตรงหน้าสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของนครซิดนีย์. สิ่งนี้นำไปสู่การพูดคุยแบบเป็นมิตร และมารินาให้หนังสือไบเบิลสอน แก่เธอ. ผู้หญิงคนนี้บอกว่า “ที่จริงเมื่อคืนฉันได้อธิษฐานขอให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น. หนังสือเล่มนี้อาจเป็นคำตอบสำหรับคำอธิษฐานของฉัน!”
ลีไว พยานฯ วัย 27 ปีเริ่มสนทนากับผู้มาเยือนสองคนที่มาจากปานามา เป็นคุณแม่กับลูกสาว. ไม่นานการสนทนาก็วกเข้าสู่เรื่องพระเจ้า และจากนั้นได้มีการพิจารณาคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างดี. ทั้งสองรับหนังสือไบเบิลสอน. ต่อมา ลีไวถามว่า “คุณประทับใจอะไรมากที่สุดในการมาคราวนี้?” ลูกสาวจับหนังสือไบเบิลสอน ไว้แน่นแล้วบอกว่า “ก็ที่พบกับคุณไงล่ะ.”
ถูกแล้ว เยาวชนคาทอลิกหลายคนอยากรู้จักคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น. แล้วคุณล่ะ? คุณอยากเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้นไหม? ถ้าเช่นนั้น อย่ารีรอที่จะขอศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาที่บ้านโดยไม่เสียค่า. พวกเขายินดีช่วยคุณเช่นกัน!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 19 อรรถบทนี้เป็นส่วนหนึ่งของถ้อยคำในกิจการ 1:8 จากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์.
^ วรรค 25 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 27]
“เราเผชิญความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงเรื่องการประกอบกิจทางศาสนา และความเชื่อก็เสื่อมถอยในระดับหนึ่งด้วย.” —จอร์ช คาร์ดินัล เพลล์ ชาวโรมันคาทอลิก
[กรอบ/ภาพหน้า 25]
มหกรรมกระแสเรียกของคริสตจักร
วันเยาวชนโลกปี 2008 มีงานมหกรรมกระแสเรียกทางศาสนาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดในออสเตรเลีย. องค์กรและหน่วยงานของคาทอลิกกว่า 100 คณะได้ปลุกเร้าผู้แสวงบุญมากกว่า 50,000 คนให้คิดถึงการทำงานในคริสตจักรคาทอลิกฐานะบาทหลวง, แม่ชี, หรือผู้ทำงานทางศาสนา.
[ภาพหน้า 24, 25]
ผู้แสวงบุญที่แต่งกายหลากหลายสีสันเดินไปตามถนนต่าง ๆ
[ภาพหน้า 26]
พยานพระยะโฮวาเข้าพบปะพูดคุยกับผู้แสวงบุญที่มาเยือนนครซิดนีย์
[ที่มาของภาพหน้า 24]
Getty Images