เหตุใดเราจึงไม่ทำแท้ง?
เหตุใดเราจึงไม่ทำแท้ง?
วิกตอเรียที่กล่าวถึงในบทความแรกบอกบิลล์คู่รักของเธอว่า เธอจะไม่ทำแท้ง. วิกตอเรียบอกว่า “ดิฉันรู้สึกว่ามีชีวิตหนึ่งอยู่ในตัวดิฉัน. เมื่อตระหนักว่า ถ้าดิฉันยังอยู่กับบิลล์ต่อไป เขาจะไม่ช่วยเหลือดิฉันในช่วงที่ดิฉันตั้งครรภ์ ดิฉันจึงไปจากเขา.”
อย่างไรก็ตาม ในภายหลังบิลล์ก็ได้เปลี่ยนความคิดและขอวิกตอเรียแต่งงาน. แต่การเอาใจใส่ดูแลลูกชายที่เพิ่งคลอดออกมาก็ดูเหมือนจะยากลำบากมาก. วิกตอเรียอธิบายว่า “เราไม่มีรถ, ไม่มีเงิน, มีเสื้อผ้าไม่กี่ตัว, คือแทบจะไม่มีอะไรเลย. บิลล์ได้งานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ และเราก็ต้องทนอยู่
ในบ้านซอมซ่อ แต่เราก็ไม่ย่อท้อ.”คนอื่น ๆ ก็ต้องเผชิญกับสภาพการณ์ที่ยากลำบากต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจเช่นกัน. กระนั้น พวกเขาก็ไม่ยอมทำแท้ง. อะไรคือสิ่งที่ช่วยพวกเขาให้สามารถรักษาความตั้งใจแน่วแน่ และรับมือกับความกดดันอันเกิดจากการเลี้ยงดูบุตรซึ่งไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าและถึงกับไม่เป็นที่ต้องการด้วยซ้ำ? เคล็ดลับก็คือสติปัญญาอันล้ำค่าดังต่อไปนี้ที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล.
อย่าใจร้อนแต่จงวางแผนให้รอบคอบ
คัมภีร์ไบเบิลให้ข้อสังเกตอย่างหลักแหลมว่า “แผนการของคนขยันก่อผลประโยชน์แน่นอน แต่ทุกคนที่ใจร้อนก็มุ่งสู่ความขัดสนแน่นอน.”—สุภาษิต 21:5, ล.ม.
สำหรับคอนนี มารดาที่มีลูกชายสามคน ซึ่งคนหนึ่งเป็นคนทุพพลภาพ ความคิดที่ว่าจะมีลูกอีกคนหนึ่งนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกินจะแบกรับได้. เธอบอกว่า “เราไม่ต้องการเลี้ยงลูกอีกคนหนึ่ง ดังนั้น เราจึงคิดจะทำแท้ง.” แต่ก่อนที่เธอจะตัดสินใจอย่างหุนหัน เธอได้ระบายความในใจกับเคย์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเธอ. เคย์ได้ช่วยเธอให้เข้าใจว่า มีคนคนหนึ่งอยู่ในท้องของเธอ การที่ได้รู้เช่นนั้นทำให้เธอเปลี่ยนความคิด.
อย่างไรก็ตาม คอนนีจำต้องได้รับความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์เพื่อวางแผนการสำหรับเรื่องนี้. เนื่องจากคอนนีมีป้าคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น เคย์จึงแนะให้คอนนีติดต่อกับคุณป้าของเธอ. เมื่อติดต่อคุณป้าได้แล้ว คุณป้าก็ยินดีช่วยเธอ. นอกจากนี้ สามีของคอนนีก็ยังทำงานเสริมอีก และพวกเขาก็ย้ายไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ราคาถูกกว่า. โดยทำเช่นนี้ พวกเขาจึงสามารถเอาใจใส่ดูแลทารกที่กำลังจะเกิดมาได้.
นอกจากนี้เคย์ยังช่วยคอนนีหาหน่วยงานบางแห่งที่ให้การช่วยเหลือผู้ที่ตั้งครรภ์โดยที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า. ในหลายประเทศ มีหน่วยงานเช่นว่านั้นซึ่งให้การช่วยเหลือมารดามือใหม่ที่ขัดสน. อาจหาที่อยู่ของหน่วยงานเหล่านี้ได้จากอินเทอร์เน็ตและสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีอยู่ตามห้องสมุดสาธารณะ. การแสวงหาความช่วยเหลืออาจต้องใช้ความพยายามจริง ๆ แต่ “แผนการของคนขยัน” จะประสบความสำเร็จ.
ยอมรับความจริงที่ว่านี่คือชีวิตมนุษย์
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนมีสติปัญญามีตาอยู่ในสมอง แต่คนเขลาเดินในความมืด.”—ท่านผู้ประกาศ 2:14, ฉบับ R73
ผู้หญิงที่ฉลาดจะไม่ทำเหมือนกับปิดตาตัวเองเพื่อจะไม่ต้องเผชิญกับความเป็นจริง และ ‘เดินอยู่ในความมืด.’ เธอใช้ ‘ตาที่อยู่ในสมอง’ ซึ่งที่แท้แล้วก็เป็นความสามารถทางปัญญาของเธอ. สิ่งนี้ช่วยให้เธอสามารถประเมินผลที่จะเกิดจากการกระทำต่าง ๆ ของตนเองได้อย่างถูกต้อง. ด้วยเหตุนี้ ตรงกันข้ามกับคนที่ปิดตาไม่ยอมรับรู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในครรภ์ของตน ผู้หญิงที่ฉลาดจะกระทำด้วยความเมตตาสงสารจากใจจริงเพื่อปกป้องทารกที่มีชีวิตอยู่ในครรภ์ของเธอ.
สเตฟานี เด็กสาวที่ตั้งครรภ์ซึ่งกำลังคิดเรื่องการทำแท้ง ได้เห็นภาพทารกอายุสองเดือนที่อยู่ในครรภ์ของเธอจากการทำอัลตราซาวนด์. สเตฟานีบอกว่า “หนูน้ำตาไหลพรากออกมา. หนูคิดว่า หนูจะฆ่าชีวิตของคนคนหนึ่งได้ลงคอหรือ?”
หญิงสาวที่ตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้สมรสอีกคนหนึ่งชื่อเดนิสก็เผชิญกับความเป็นจริงด้วยที่ว่าเธอกำลังมีคนอีกคนหนึ่งอยู่ในครรภ์ของเธอ. เมื่อหนุ่มคู่รักของเธอให้เงิน แล้วบอกให้เธอไป “จัดการเอาเด็กออก” เดนิสตอบว่า “ทำแท้งเหรอ? ฉันจะไม่มีวันทำอย่างนั้นเด็ดขาด!” ดังนั้น เธอจึงไม่ยอมฆ่าลูกของเธอ.
การกลัวมนุษย์จะก่อผลเช่นไร?
ถ้าถูกคนอื่นกดดันให้ทำแท้ง ก็นับว่าฉลาดที่คนเหล่านั้นซึ่งในตอนแรกอาจคิดจะทำแท้งจะใคร่ครวญสุภาษิตข้อหนึ่งสุภาษิต 29:25 ล.ม.
ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “การกลัวมนุษย์เป็นบ่วงแร้ว แต่ผู้ที่วางใจพระยะโฮวาจะได้รับการคุ้มครอง.”—โมนิกาวัยสิบเจ็ดปีมีท้องกับหนุ่มคู่รักของเธอตอนที่เธอเพิ่งจะเข้าวิทยาลัยธุรกิจ. แม่ของเธอที่เป็นม่ายพร้อมกับมีลูกห้าคนรู้สึกเศร้าเสียใจมาก. แม่อยากให้เธอเรียนวิชาชีพเพื่อเธอจะไม่ต้องยากจนเหมือนคนอื่น ๆ ในครอบครัว. ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง แม่ของเธอยืนกรานให้เธอทำแท้ง. โมนิกาเล่าว่า “เมื่อหมอถามดิฉันว่าอยากทำแท้งไหม ดิฉันตอบเขาว่า ‘ไม่อยากค่ะ.’”
ด้วยความว้าวุ่นใจที่เห็นว่าอนาคตของโมนิกาซึ่งดูท่าว่าจะสดใสกลับเลือนหายไป และการครุ่นคิดถึงเรื่องเครียด ๆ เกี่ยวกับการมีเด็กอีกคนหนึ่ง แม่ของโมนิกาจึงไล่เธอออกจากบ้าน. โมนิกาไปอยู่กับป้าของเธอ หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ แม่ของเธอมีท่าทีอ่อนลงทั้งยังยอมให้เธอกลับบ้านและมีลูกได้. แม่ของโมนิกาช่วยเธอเลี้ยงดูลีออน หลานชายที่เพิ่งเกิดใหม่ แล้วก็รักเด็กน้อยคนนั้นมากเหลือเกิน.
หญิงที่สมรสแล้วชื่อโรบิน ได้รับความกดดันจากอีกแหล่งหนึ่ง. โรบินกล่าวว่า “ตอนที่ดิฉันเริ่มตั้งครรภ์ คุณหมอได้ทำการรักษาดิฉันเนื่องจากการติดเชื้อในไต ก่อนที่จะตรวจพบว่าดิฉันตั้งครรภ์. ดิฉันได้รับแจ้งว่า มีโอกาสเป็นไปได้มากที่ทารกในครรภ์จะเป็นปัญญาอ่อนขั้นรุนแรง.” แล้วคุณหมอก็แนะให้เธอทำแท้ง. โรบินเล่าว่า “ดิฉันอธิบายให้คุณหมอฟังเรื่องทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับชีวิต. ดิฉันบอกหมอว่า ดิฉันไม่มีวันทำแท้งเด็ดขาด.”
ในขณะที่ความห่วงใยของแพทย์เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ชีวิตของโรบินก็ไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายทีเดียว. * โรบินกล่าวเพิ่มเติมว่า “พอลูกสาวดิฉันคลอดออกมา เธอก็ได้รับการทดสอบหลายอย่าง และการทดสอบเหล่านั้นแสดงว่าลูกสาวของดิฉันมีความบกพร่องทางปัญญาเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากเป็นอัมพาตสมองใหญ่แบบอ่อน. เธอทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีทีเดียว. ตอนนี้เธออายุ 15 ปี และเธออ่านหนังสือได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ. เธอมีความหมายมากสำหรับดิฉัน และดิฉันขอบคุณพระยะโฮวาวันละหลาย ๆ ครั้งที่มีเธอ.”
มิตรภาพกับพระเจ้ามีอานุภาพมาก
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มิตรภาพของพระเจ้ามีอยู่แก่คนที่ยำเกรงพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 25:14, ฉบับ R73
สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนหลาย ๆ คนที่ปฏิเสธการทำแท้งก็คือ การที่พวกเขาได้พิจารณาว่าพระผู้สร้างทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น. การมีมิตรภาพกับพระเจ้า และการทำสิ่งที่พระองค์พอพระทัยเป็นเรื่องที่พวกเขาคำนึงถึงมากที่สุด. การคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิกตอเรียที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น. เธอบอกว่า “ดิฉันเชื่อมั่นว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานชีวิต และดิฉันไม่มีสิทธิจะทำลายชีวิตที่พระองค์ได้ประทานให้.”
เมื่อวิกตอเรียเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง สัมพันธภาพของเธอกับพระเจ้าก็งอกงามขึ้น. เธอกล่าวว่า “การตัดสินใจที่จะรักษาชีวิตลูกเอาไว้ทำให้ดิฉันรู้สึก
ใกล้ชิดพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และทำให้ดิฉันต้องการที่จะทำให้พระองค์พอพระทัยในทุกแง่มุมของชีวิต. เมื่อดิฉันอธิษฐานขอการชี้นำจากพระองค์ ทุกสิ่งก็ราบรื่นไปหมด.”มิตรภาพกับพระเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต ทำให้เรามีความนับถืออย่างมากต่อชีวิตที่อยู่ในครรภ์. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าสามารถประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” เพื่อช่วยผู้หญิงและครอบครัวของเธอให้รับมือกับการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า. (2 โครินท์ 4:7) เมื่อย้อนกลับไปดูคนเหล่านั้นที่แสดงความนับถือต่อทัศนะของพระเจ้าในเรื่องชีวิต พวกเขามีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการตัดสินใจของพวกเขา?
ไม่รู้สึกเสียใจเลย
พ่อแม่เหล่านี้ไม่ต้องตรมทุกข์เพราะความรู้สึกผิด หรือความเศร้าใจและการสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขได้. ในภายหลัง พวกเขากลับมองว่า จริง ๆ แล้ว “การตั้งครรภ์” เป็นรางวัล ไม่ใช่เป็นเรื่องเลวร้าย! (บทเพลงสรรเสริญ 127:3) คอนนีที่กล่าวถึงในตอนต้น ๆ ยอมรับข้อนี้หลังจากที่เธอคลอดบุตรเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น! ด้วยความตื่นเต้น เธอโทรศัพท์หาเคย์เพื่อนร่วมงานของเธอ และบอกเคย์ว่าเธอรู้สึกตื่นเต้นเพียงไรที่เธอจะมีโอกาสได้เลี้ยงดูลูกสาวตัวน้อย ๆ. ด้วยความปลาบปลื้มยินดี คอนนีกล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นจริงทีเดียวที่ว่าพระเจ้าทรงอวยพรคนเหล่านั้นที่ทำสิ่งที่ชอบพระทัยพระองค์.”
ทำไมการทำสิ่งที่สอดคล้องกับทัศนะของพระเจ้าในเรื่องชีวิตจึงมีประโยชน์มาก? เนื่องจากพระเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดของชีวิต ทรงออกกฎหมายและวางมาตรฐานต่าง ๆ ไว้ในคัมภีร์ไบเบิล “เพื่อประโยชน์” ของเรา.—พระบัญญัติ 10:13, ฉบับ R73
ดังกรณีของวิกตอเรียและบิลล์ ซึ่งมีการกล่าวถึงประสบการณ์ของเขาทั้งสองในตอนเริ่มต้นของบทความนี้และในบทความแรก การตัดสินใจที่จะไม่ ทำแท้งกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของพวกเขา. พวกเขาอธิบายถึงเรื่องนั้นดังนี้: “ตอนนั้นเราติดยาเสพติดอย่างหนักและเราอาจจะตายถ้าเรายังเสพยาต่อไป. แต่การนับถือชีวิตของทารกที่ยังไม่ได้เกิดมา ทำให้เราหยุดและคิดเกี่ยวกับชีวิตของเราเอง. ด้วยความช่วยเหลือจากพยานพระยะโฮวา เราได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง.”
แลนซ์ ลูกชายของพวกเขาตอนนี้อายุเกือบ 34 ปี และเขาก็แต่งงานได้ 12 ปีกว่าแล้ว. แลนซ์อธิบายว่า “ตั้งแต่วัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่สอนผมให้ตัดสินใจโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. นั่นเป็นประโยชน์ต่อผม ภรรยา และลูกชายของผมจนไม่มีอะไรจะทำให้รู้สึกเป็นสุขได้ยิ่งกว่านี้.” พ่อของแลนซ์ ซึ่งในตอนแรกต้องการให้วิกตอเรียทำแท้ง กล่าวว่า “เรากลัวมากเมื่อเราตระหนักว่า เราเกือบจะไม่มีลูกชายที่เรารักแสนรักคนนี้.”
ขอพิจารณาเรื่องของโมนิกาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ยอมทำแท้งทั้ง ๆ ที่ถูกแม่ของเธอกดดัน. เธอเล่าว่า “สองสัปดาห์หลังจากที่ลูกชายของดิฉันคลอดออกมา ดิฉันได้พบกับพยานพระยะโฮวาและได้เรียนรู้วิธีที่จะดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎหมายของพระเจ้า. ไม่นาน ดิฉันก็เริ่มสอนลีออนลูกชายของดิฉันให้มองเห็นคุณค่าของการเชื่อฟังพระเจ้า และเขาก็พัฒนาความรักอันแรงกล้าที่มีต่อพระเจ้าเรื่อยมา. ตอนนี้ลีออนเป็นผู้ดูแลเดินทางของพยานพระยะโฮวา.”
เมื่อคิดทบทวนถึงสิ่งที่คุณแม่ของเขาได้ทำ ลีออนกล่าวว่า “การที่ได้รู้ว่าคุณแม่รักผมมากเพียงไร และท่านยอมให้ผมเกิดมาทั้ง ๆ ที่ท่านต้องถูกกดดันอย่างหนัก ทำให้ผมอยากใช้ชีวิตของผมในวิธีที่ดีที่สุด เพื่อผมจะสามารถแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระเจ้าสำหรับของประทานอันยอดเยี่ยมนี้.”
หลายคนที่ได้มาเข้าใจทัศนะของพระเจ้าในเรื่องชีวิตไม่รู้สึกเสียใจเลยที่พวกเขาตัดสินใจรักษาชีวิตของลูกซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าสำหรับพวกเขาในเวลานี้. พวกเขาสามารถพูดออกมาจากใจที่เปี่ยมล้นด้วยความขอบคุณว่า “เราไม่ ได้ทำแท้ง!”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 20 ถ้าในระหว่างที่กำลังคลอดบุตร ต้องมีการตัดสินใจว่าจะเลือกชีวิตของแม่หรือชีวิตของลูก การตัดสินใจในเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง. อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในการรักษาทางการแพทย์ในหลายดินแดนทำให้แทบจะไม่มีสถานการณ์เช่นว่านั้นเกิดขึ้นเลย.
[ภาพหน้า 7]
การที่ได้เห็นภาพทารกอายุสองเดือนในครรภ์ของเธอจากการทำอัลตราซาวนด์ช่วยให้สเตฟานีตัดสินใจได้
(เส้นที่เห็นนี้ เราใส่เพิ่มเข้ามา)
[ภาพหน้า 8]
วิกตอเรียกับแลนซ์
[ภาพหน้า 8, 9]
วิกตอเรียกับบิลล์ในปัจจุบัน พร้อมกับแลนซ์และครอบครัวของเขา
[ภาพหน้า 9]
โมนิกากับลีออนลูกชายของเธอรู้สึก ขอบคุณอย่างเหลือล้นที่เธอต้านทานแรงกดดันที่ให้ทำแท้งลูกคนนี้เมื่อ 36 ปีก่อน