ผิดไหมที่คุณจะเปลี่ยนศาสนา?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
ผิดไหมที่คุณจะเปลี่ยนศาสนา?
เมื่ออวตาร์เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ครอบครัวของเธอที่นับถือศาสนาซิกข์ก็ไม่พอใจ. เธอกล่าวว่า “ที่บ้านเกิดของดิฉัน การเปลี่ยนศาสนาจะทำให้คุณถูกตัดออกจากชุมชน. แม้แต่ชื่อของเราก็มีความหมายในทางศาสนา. ถือกันว่า การเปลี่ยนศาสนาเป็นการปฏิเสธเอกลักษณ์ของคุณและเป็นการแสดงว่าคุณไม่เคารพนับถือครอบครัวของคุณ.”
ในที่สุดอวตาร์ก็เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา. เธอผิดไหมที่เปลี่ยนศาสนา? บางทีคุณอาจเข้าใจความรู้สึกของคนในครอบครัวเธอ. คุณอาจรู้สึกว่า ศาสนาของคุณเกี่ยวพันกับประวัติความเป็นมาของครอบครัวและวัฒนธรรมอย่างที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ และจึงไม่ควรเปลี่ยนศาสนา.
การให้เกียรติคนในครอบครัวของคนเรานับว่าสำคัญ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เจ้าจงฟังคำบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเจ้า.” (สุภาษิต 23:22) แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การแสวงหาความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระผู้สร้างและพระประสงค์ของพระองค์. (ยะซายา 55:6) เป็นไปได้ไหมที่จะแสวงหาความรู้เช่นว่านั้น? ถ้าเช่นนั้น การแสวงหาเช่นนั้นสำคัญเพียงไรสำหรับคุณ?
การแสวงหาความจริงทางศาสนา
ศาสนาต่าง ๆ ของโลกสอนแนวคิดหลายอย่างที่ขัดแย้งกัน. ตามเหตุผลแล้ว แนวคิดเหล่านั้นคงไม่อาจเป็นความจริงทั้งหมดได้. ผลคือ คงต้องมีผู้คนมากมายที่เป็นอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวคือ “มีใจแรงกล้าเพื่อพระเจ้า แต่ไม่ได้เป็นไปตามความรู้ถ่องแท้.” (โรม 10:2) กระนั้น ตามที่มีบันทึกไว้ใน 1 ติโมเธียว 2:4 อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า พระเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้ “คนทุกชนิด . . . ได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” ความรู้ถ่องแท้ที่ว่านั้นจะหาได้จากที่ไหน?
ขอพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ สำหรับการตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิล. เปาโลผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลใจกล่าวว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและมีประโยชน์เพื่อการสอน.” (2 ติโมเธียว 3:16) เมื่อคุณกำลังแสวงหาความจริง ก็จงตรวจดูหลักฐานที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอ้างว่าเป็นความจริงด้วย. เชิญตรวจสอบด้วยตัวคุณเองเกี่ยวกับสติปัญญาอันหาที่เปรียบมิได้, ความถูกต้องแม่นยำทางประวัติศาสตร์, และคำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
แทนที่จะสอนว่าทุกศาสนาล้วนนำไปถึงพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า ผู้อ่านอย่าได้เชื่อทุกถ้อยคำที่เขาได้ยิน แต่จง “ตรวจดูว่าถ้อยคำนั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่.” (1 โยฮัน 4:1) ตัวอย่างเช่น คำสอนใด ๆ ก็ตามที่มีต้นกำเนิดมาจากพระเจ้าอย่างแท้จริง ต้องสอดคล้องลงรอยกับคุณลักษณะของพระองค์ รวมถึงความรักที่เป็นคุณลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ด้วย.—1 โยฮัน 4:8
คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า พระเจ้าทรงอยากให้เรา “พบพระองค์.” (กิจการ 17:26, 27) เนื่องจากพระผู้ สร้างอยากให้เราแสวงหาความจริง จึงไม่ผิดที่เราจะลงมือทำตามหลักฐานที่เราได้ค้นพบ แม้ว่านั่นจะหมายถึงการเปลี่ยนศาสนาก็ตาม. แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น?
ความสมดุลในเรื่องความภักดีต่อครอบครัว
เมื่อผู้คนเปลี่ยนความเชื่อ พวกเขาอาจตัดสินใจว่าจะไม่เข้าส่วนร่วมในพิธีกรรมบางอย่างทางศาสนาหรือวันหยุดต่าง ๆ อีกต่อไป. เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า เรื่องนี้อาจทำให้เกิดความบาดหมางอย่างรุนแรงภายในครอบครัว. พระเยซูทรงยอมรับเรื่องนี้. พระองค์ตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “เรามาเพื่อทำให้เกิดการแตกแยก คือ บุตรชายกับบิดา บุตรสาวกับมารดา และลูกสะใภ้กับแม่ผัว.” (มัดธาย 10:35) พระเยซูทรงหมายความว่า คำสอนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลต้องทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไหม? ไม่. พระองค์เพียงแต่มองเห็นล่วงหน้าถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น เมื่อสมาชิกในครอบครัวแสดงท่าทีที่ไม่พอใจต่อคนที่ยึดมั่นกับจุดยืนทางศาสนาที่ต่างไปจากคนอื่น ๆ ในครอบครัว.
ควรหลีกเลี่ยงความขัดแย้งภายในครอบครัวแม้ว่าจะต้องยอมเสียทุกสิ่งไปไหม? คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า เด็ก ๆ ควรนับถือพ่อแม่และภรรยาก็ควรยอมอยู่ใต้อำนาจของสามี. (เอเฟโซส์ 5:22; 6:1) อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าคนที่รักพระเจ้าต้อง “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง ไม่ใช่เชื่อฟังมนุษย์.” (กิจการ 5:29) ด้วยเหตุนี้ บางครั้งความภักดีต่อพระเจ้าอาจทำให้คุณตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่สมาชิกบางคนในครอบครัวของคุณไม่นิยมชมชอบ.
แม้คัมภีร์ไบเบิลจะแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างคำสอนแท้กับคำสอนเท็จ แต่พระเจ้าทรงยอมให้แต่ละคนเลือกได้อย่างอิสระว่าเขาจะตอบรับอย่างไร. (พระบัญญัติ 30:19, 20) ไม่ควรมีใครถูกบีบบังคับให้ทำการนมัสการในแบบที่เขาไม่อาจรับได้ หรือทำให้เขาต้องจำใจเลือกระหว่างความเชื่อทางศาสนากับครอบครัวของเขา. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทำให้ครอบครัวแตกแยกไหม? ไม่. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้สามีและภรรยาที่นับถือคนละศาสนาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวต่อ ๆ ไป.—1 โครินท์ 7:12, 13
เอาชนะความกลัว
คุณอาจกลัวว่าคนในชุมชนจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคุณ ถ้าคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. มาเรียมมากล่าวว่า “ครอบครัวของดิฉันกลัวว่าดิฉันจะไม่สามารถหาสามีที่ดีซึ่งสามารถเลี้ยงดูดิฉันได้. ดังนั้น พวกเขาจึงต่อต้านไม่ให้ดิฉันศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.” มาเรียมมาไว้วางใจพระยะโฮวาและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่อไป. (บทเพลงสรรเสริญ 37:3, 4) คุณก็ทำอย่างนั้นได้เหมือนกัน. แทนที่จะกลัวผลพวงที่ตามมา ขอให้คิดถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ. ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตและปรับปรุงบุคลิกภาพของคนเราให้ดีขึ้น. ผู้คนได้เรียนรู้ถึงการแสดงความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัวต่อครอบครัวของเขา. นิสัยที่ไม่ดีต่าง ๆ อย่างเช่น การทำร้ายทางกายและทางวาจา การดื่มจัดและการใช้ยาเสพติดก็สามารถเอาชนะได้. (2 โครินท์ 7:1) คัมภีร์ไบเบิลส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความภักดี, ความซื่อสัตย์, และความขยันหมั่นเพียร. (สุภาษิต 31:10-31; เอเฟโซส์ 4:24, 28) คุณน่าจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแล้วดูว่าการนำหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้จะมีประโยชน์ต่อชีวิตของคุณอย่างไร?
คุณเคยสงสัยไหม?
▪ ทำไมจึงควรตรวจสอบความเชื่อทางศาสนาของคุณ?—สุภาษิต 22:23; 1 ติโมเธียว 2:3, 4
▪ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือคำสอนแท้?—2 ติโมเธียว 3:16; 1 โยฮัน 4:1
▪ การต่อต้านจากคนในครอบครัวควรเป็นสิ่งที่กีดกันคุณไว้จากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลไหม?—กิจการ 5:29
[คำโปรยหน้า 29]
ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตและปรับปรุงบุคลิกภาพของคนเราให้ดีขึ้น
[ภาพหน้า 29]
มาเรียมมากับสามี