โรคซึมเศร้าจะรักษาอย่างไร?
รูทซึ่งเป็นโรคซึมเศร้ามาหลายปีกล่าวว่า “ดิฉันกับสามีได้เสาะหาวิธีรักษาทางการแพทย์, เปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิต, และพยายามอย่างหนักที่จะปรับปรุงกิจวัตรประจำวันที่ดิฉันสามารถทำได้. ดูเหมือนว่าเราได้พบยาที่ใช้ได้ผล และดิฉันก็กำลังดีขึ้น. แต่ในช่วงที่ดูเหมือนการรักษาไม่ได้ผลอะไรเลย ความรักที่มั่นคงเสมอของสามีและเพื่อน ๆ ได้ช่วยดิฉันไม่ให้ยอมแพ้.”
ดังที่ประสบการณ์ของรูธแสดงให้เห็น ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ให้ได้ รวมถึงการรักษาทางการแพทย์วิธีใด ๆ ก็ตามที่อาจเหมาะสม. การไม่ใส่ใจต่อโรคซึมเศร้าอาจเป็นการเสี่ยงอันตราย เพราะในบางรายเมื่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา นั่นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้. ประมาณสองพันปีมาแล้ว พระเยซูคริสต์ทรงยอมรับว่า ผู้ที่มีประสบการณ์ทางการแพทย์อาจให้การช่วยเหลือที่จำเป็นได้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า ‘คนป่วยต้องการหมอ.’ (มาระโก 2:17) ที่จริง แพทย์สามารถช่วยได้มากเพื่อผู้ป่วยหลายคนที่ต้องทนทุกข์เพราะโรคซึมเศร้าจะได้รับการบรรเทา. *
ทางเลือกบางอย่างที่เป็นประโยชน์
การรักษาโรคซึมเศร้ามีวิธีรักษาต่าง ๆ กันหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค. (โปรดดูกรอบ “โรคซึมเศร้ามีชนิดใดบ้าง?”) หลายคนอาจได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ประจำครอบครัว แต่บางคนจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น. แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้โรคซึมเศร้าหรือแนะวิธีช่วยเหลือแบบอื่นก็ได้. บางคนประสบผลดีจากการรักษาด้วยยาสมุนไพร, การปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกิน, หรือใช้แผนการออกกำลังกายภายใต้การควบคุมดูแลจากแพทย์.
ปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไป
1. เพื่อนผู้หวังดี ที่แทบจะไม่เคยได้รับการฝึกอบรมด้านการแพทย์อาจพยายามบอกคุณว่า การรักษาแบบไหนดีหรือไม่ดี. นอกจากนี้ พวกเขายังอาจพยายามยืนยันความคิดเห็นของเขาในเรื่องที่ว่า คุณควรจะใช้ยาหรือไม่ อย่างเช่น ยาสมุนไพร, ยาที่แพทย์สั่งจ่าย, หรือไม่ใช้ยาอะไรเลย.
ขอพิจารณา: ใคร่ครวญให้ดีว่าคำแนะนำใด ๆ ก็ตามที่คุณได้รับนั้นมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้. ในที่สุด คุณคือผู้ที่ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาหลังจากได้รับทราบข้อมูลแล้ว.
2. ความท้อแท้ อาจทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องการจะปฏิบัติตามวิธีรักษาสำหรับโรคของพวกเขา เนื่องจากอาการของพวกเขาดูเหมือนไม่ดีขึ้น หรือเนื่องจากเกิดผลข้างเคียงไม่ดี.
ขอพิจารณา: “ที่ไหนที่ไร้การปรึกษาความมุ่งหมายต่าง ๆ ย่อมไม่เป็นที่จุใจ; แต่เมื่อมีที่ปรึกษาหลายคนก็ความมุ่งหมายสมบูรณ์.” (สุภาษิต 15:22) แผนการรักษาทางการแพทย์น่าจะประสบความสำเร็จมากขึ้นถ้ามีการสื่อความกันเป็นอย่างดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย. จงพูดถึงเรื่องที่คุณเป็นห่วงหรืออธิบายให้แพทย์ฟังอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอาการของคุณ และถามเขาว่าคุณจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาหรือไม่ หรือเพียงแต่รักษาไปตามเดิมสักระยะหนึ่งก่อนที่จะเริ่มเห็นผล.
3. ความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเลิกการรักษาเยียวยาอย่างกะทันหันหลังจากผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ เพราะรู้สึกว่าตนอาการดีขึ้นแล้ว. พวกเขาอาจลืมไปว่าอาการเหล่านั้นทำให้เกิดความอ่อนเปลี้ยขนาดไหนก่อนที่พวกเขาจะเริ่มรับการรักษาทางการแพทย์.
ขอพิจารณา: การเลิกรักษาอย่างกะทันหันโดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจส่งผลร้ายแรงมากและถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิตด้วยซ้ำ.
แม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ตำราแพทย์ แต่ผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิลคือพระยะโฮวาพระเจ้า พระผู้สร้างของเรา. บทความถัดไปจะพิจารณาการปลอบประโลมและคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้าที่จัดเตรียมไว้สำหรับคนเหล่านั้นที่เป็นโรคซึมเศร้ารวมทั้งผู้ที่เอาใจใส่ดูแลคนเหล่านั้น.
^ วรรค 3 ตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนวิธีการรักษาแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ. แต่ละคนควรประเมินทางเลือกของตนอย่างถี่ถ้วนก่อนทำการตัดสินใจเป็นส่วนตัว.