การต่อสู้เพื่อรักษาความลับ—คุณมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย!
การต่อสู้เพื่อรักษาความลับ—คุณมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย!
คุณเคยพยายามไขปริศนาคำที่ผสมขึ้นโดยสลับอักษรไหม? คุณเคยสั่งซื้อของทางอินเทอร์เน็ตหรือใช้คอมพิวเตอร์ทำธุรกรรมกับธนาคารไหม? ถ้าเคย คุณก็ได้เข้ามาสู่โลกแห่งรหัสคำ, รหัสอักษร, การเข้ารหัส, และการถอดรหัสแล้ว.
จนถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผู้ที่ใช้รหัสลับส่วนใหญ่ก็มีแค่รัฐบาล, ทูต, จารชน, และทหารเท่านั้น. แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว. เมื่อยุคคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเริ่มขึ้น ข้อมูลที่มีค่าก็มักถูกเก็บเป็นความลับด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้รหัสผ่าน ซึ่งต้องตรวจสอบทุกครั้งที่ผู้ใช้เปิดดูข้อมูลของตน. ที่จริง ความลับไม่เคยมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขนาดนี้มาก่อนเลย.
ด้วยเหตุนี้ นับว่าเหมาะที่เราจะถามว่า ข้อมูลที่ฉันต้องการเก็บเป็นความลับปลอดภัยเพียงใด? ฉันจะเพิ่มความปลอดภัยให้ข้อมูลมากขึ้นอีกได้ไหม? ก่อนจะตอบคำถามสองข้อนี้ ขอใช้เวลาสักครู่คิดถึงการต่อสู้กันระหว่างผู้เข้ารหัสและผู้ถอดรหัส ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่มีมานานพอ ๆ กับการเขียนหนังสือ.
ข้อความลับ
การเขียนข้อความลับลักษณะหนึ่งที่มีประวัติมายาวนานคือการพรางข้อความ. เป้าหมายของข้อความลับชนิดนี้คือการซ่อนไม่ให้รู้ว่ามีข้อความอยู่. เฮโรโดทุส นักประวัติศาสตร์แห่งยุคโบราณบันทึกว่า ผู้พลัดถิ่นชาวกรีกคนหนึ่งรู้ว่าเปอร์เซียกำลังเตรียมจะรุกรานประเทศของตน. เขาต้องการเตือนเพื่อนร่วมชาติ จึงเขียนสารบนแผ่นไม้ และเคลือบขี้ผึ้งเพื่อไม่ให้มองเห็น
ข้อความนั้น ซึ่งเป็นกลวิธีที่ชาวโรมันโบราณก็เคยใช้ด้วย. เฮโรโดทุสกล่าวว่า กลวิธีง่าย ๆ ของชาวกรีกทำให้กษัตริย์เซอร์เซสแห่งเปอร์เซียไม่มีโอกาสลอบจู่โจม และกองทัพของท่านต้องพ่ายแพ้.การพรางข้อความในสมัยใหม่รวมถึงการใช้ไมโครดอตและกระดาษลายน้ำและรูปเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไมโครดอตที่ใช้กันก็คือภาพถ่ายที่ย่อให้เหลือขนาดเท่ากับจุดมหัพภาค. ผู้ที่ได้รับสารก็เพียงแต่ขยายจุดนั้น. ทุกวันนี้ คนที่ขายภาพลามกผิดกฎหมายก็ใช้แนวคิดเดียวกัน. โดยใช้ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ พวกเขาซ่อนรูปภาพในภาพดิจิตอล, ข้อความ, หรือไฟล์บันทึกเสียงที่ดูไม่มีพิษมีภัย.
เนื่องจากวิธีนี้เป็นการซ่อนไม่ให้เห็นข้อความ มันจึงไม่ทำให้ผู้ส่งสารหรือผู้รับถูกสงสัย. ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ามีการพบสารนั้น ก็จะสามารถอ่านได้ นอกเสียจากว่าสารนั้นจะถูกเข้ารหัส.
การซ่อนความหมาย
การเข้ารหัสลับเป็นการซ่อนความหมายของสาร ไม่ใช่ซ่อนตัวสาร. วิธีการนี้ต้องมีการสับตัวอักษรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และทำให้เฉพาะคนที่รู้หลักเกณฑ์สามารถถอดรหัสสารได้.
ชาวสปาร์ตาโบราณเข้ารหัสโดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ที่เรียกว่า สกีทาเล. ผู้เข้ารหัสจะนำแผ่นหนังมาพันวนรอบท่อนไม้จนแน่น แล้วก็เขียนข้อความตามแนวยาว ของท่อนไม้. เมื่อคลี่ออก แผ่นหนังก็จะดูเหมือนมีตัวอักษรหลาย ๆ ตัวที่อ่านไม่ได้. แต่เมื่อผู้รับสารนำแผ่นหนังมาพันรอบ ๆ ท่อนไม้ที่มีขนาดเดียวกัน เขาก็จะอ่านข้อความนั้นได้. บางครั้งผู้ส่งสารอาจเสริมด้วยวิธีพรางข้อความ โดยคาดแผ่นหนังเหมือนเข็มขัด และให้ตัวอักษรอยู่ด้านใน.
กล่าวกันว่าจูเลียส ซีซาร์เข้ารหัสสารที่ส่งขณะทำสงครามโดยใช้วิธีแทนที่ตัวอักษรง่าย ๆ โดยใช้ตัวอักษรตัวหนึ่งแทนที่อีกตัวหนึ่ง เช่น ใช้พยัญชนะที่อยู่ถัดไปสามลำดับ. ดังนั้น a จะถูกแทนที่ด้วย d b ถูกแทนที่ด้วย e และตามลำดับไปเรื่อย ๆ.
ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป มีความก้าวหน้าในวิทยาการรหัสลับอย่างมาก. หนึ่งในผู้ที่พัฒนาวิทยาการนี้คือ แบลซ เดอ วีชแนร์ นักการทูตชาวฝรั่งเศสที่เกิดในปี 1523. วีชแนร์เสนอให้ใช้วิธีการสลับตัวอักษรหลาย ๆ ตัวระหว่างการเข้ารหัส ซึ่งมีการคิดค้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว. วิธีการของเขาถูกเรียกว่า “รหัสที่ไม่มีใครถอดได้.” (le chiffre indéchiffrable) ถึงกระนั้น ความก้าวหน้าในการเข้ารหัสก็ผลักดันให้มีความก้าวหน้าในการถอดรหัสด้วย.
ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้คงแก่เรียนชาวมุสลิมวิเคราะห์คัมภีร์กุรอานซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับ พวกเขาสังเกตว่าอักษรบางตัวปรากฏบ่อยกว่าตัวอื่น ๆ ซึ่งภาษาอื่น ๆ ก็มีลักษณะเช่นนี้ด้วย. ความเข้าใจเรื่องนี้ทำให้เกิดมีวิธีการที่สำคัญเกี่ยวกับรหัสลับที่เรียกว่า การวิเคราะห์ความถี่ ซึ่งทำให้รู้ว่าข้อความที่เข้ารหัสลับไว้นั้นประกอบด้วยตัวอักษรใดหรือกลุ่มตัวอักษรใดบ้าง โดยนับจำนวนครั้งที่อักษรแต่ละตัวปรากฏ.
พอถึงศตวรรษที่ 15 รหัสลับก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักการทูตชาวยุโรป. แต่การเข้ารหัสก็ไม่ได้รับประกันว่าจะรักษาความลับไว้ได้เสมอไป. ตัวอย่างเช่น ชาวฝรั่งเศสชื่อฟรังซัว วีแยร์สามารถค้นพบวิธีไขรหัสลับของราชวงศ์สเปน. ยิ่งกว่านั้น เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้เสียจนกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 รู้สึกท้อแท้ใจและอ้างว่าวีแยร์ทำได้ก็เพราะพญามารช่วย และพยายามนำตัวเขาไปขึ้นศาลคาทอลิก!
เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท
ศตวรรษที่ 20 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทำให้วิทยาการรหัสลับพัฒนาขึ้นไปอีก ซึ่งรวมไปถึงการใช้เครื่องจักรกลอันซับซ้อน เช่น เครื่องเอนิกมาของฝ่ายเยอรมนี ซึ่งคล้ายเครื่องพิมพ์ดีด. เมื่อผู้ใช้ป้อนข้อความธรรมดาเข้าไป ตัวหมุนที่ขับด้วยไฟฟ้าหลายตัวจะเข้ารหัสให้ข้อความนั้น. ข้อความที่เข้ารหัสแล้วจะถูกส่งด้วยรหัสมอร์สและถูกถอดรหัสโดยเครื่องเอนิกมาอีกเครื่องหนึ่ง. ถึงกระนั้น ความผิดพลาดและความสะเพร่าของผู้ใช้เครื่องที่ทำงานหนักเกินไปก็ทำให้คนที่พยายามถอดรหัสได้เบาะแสสำคัญซึ่งทำให้พวกเขาถอดรหัสได้.
ในโลกดิจิตอลปัจจุบันนี้ การทำธุรกรรมกับธนาคาร, การโอนเงิน, และการชำระเงิน รวมทั้งบันทึกทางการแพทย์, บริษัท, และรัฐบาล ได้รับการป้องกันโดยการเข้ารหัสที่ซับซ้อน. แล้วรหัสนั้นก็จะถูกอ่านโดยคนที่มีกุญแจ (หรือรู้วิธีถอดรหัส) เพื่อแปลงข้อมูลกลับสู่รูปแบบเดิม.
ขณะที่กุญแจโลหะมักจะมีร่องหลาย ๆ ร่อง แต่กุญแจดิจิตอลเป็นชุดของเลขศูนย์และหนึ่งที่นำมาเรียงกันหลาย ๆ แบบ. ชุดของเลขศูนย์และหนึ่งที่ยาวกว่าก็จะมีรูปแบบมากกว่าและถอดรหัสได้ยากกว่า. ตัวอย่างเช่น กุญแจแปดบิต (เลขศูนย์และหนึ่งแปดตัว) สามารถมีรูปแบบต่าง ๆ ได้ 256 แบบ ส่วนกุญแจ 56 บิตมีรูปแบบได้มากกว่า 72,000 ล้านล้านแบบ. การเข้ารหัสมาตรฐานสำหรับการท่องเว็บคือกุญแจ 128 บิต ซึ่งมีรูปแบบ 4,700 ล้านล้านล้านแบบ!
ถึงกระนั้น บางครั้งความลับก็ยังคงถูกขโมยไป. ตัวอย่างเช่น ในปี 2008 พนักงานอัยการแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐตั้งข้อหากับ 11 คนในคดีขโมยข้อมูลส่วนตัวซึ่งเชื่อว่าเป็นคดีใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมี. คนกลุ่มนี้ถูกตั้งข้อหาว่าใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป, เทคโนโลยีไร้สาย, และซอฟต์แวร์พิเศษเพื่อจะรู้หมายเลขบัตรเครดิตซึ่งใช้ชำระเงินที่เครื่องแคชเชียร์.
ข้อมูลส่วนตัวของคุณปลอดภัยไหม?
จริงทีเดียว การเข้ารหัสที่ป้องกันบัญชีธนาคารของคุณและการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตเป็นรหัสที่ถอดได้ยากมาก. กระนั้น เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณด้วย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนฉลาดมองเห็นภัยแล้วหนีไปซ่อนตัว; แต่คนโง่เดินเซ่อไปและก็เป็นอันตราย.” (สุภาษิต 22:3) ดังนั้น จงฉลาดสุขุมและ “ซ่อน” ตัวจากการฉ้อโกงและการขโมย อย่างน้อยก็โดยใช้มาตรการดังต่อไปนี้:
▪ ใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสในคอมพิวเตอร์ของคุณ.
▪ ใช้โปรแกรมป้องกันสปายแวร์.
▪ ติดตั้งไฟร์วอลล์.
▪ ปรับปรุงโปรแกรมและเครื่องมือข้างต้นให้ทันสมัยเสมอ และติดตั้งตัวปรับปรุงด้านความปลอดภัยสำหรับโปรแกรมใช้งานและระบบปฏิบัติการของคุณ.
▪ จงระวังลิงก์ (จุดเชื่อมโยง) หรือไฟล์ที่แนบมาในอีเมลหรือข้อความทันใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเมลนั้นถูกส่งมาโดยที่เราไม่ต้องการ และขอข้อมูลส่วนตัวหรือขอตรวจสอบรหัสผ่าน.
▪ เมื่อถ่ายโอนข้อมูลสำคัญ เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต ให้ใช้เว็บไซต์ที่เข้ารหัสและออกจากเว็บไซต์นั้นเมื่อคุณทำเสร็จแล้ว. *
▪ เลือกรหัสผ่านที่เดาได้ยากและเก็บรหัสนั้นไว้เป็นความลับ.
▪ อย่าคัดลอกหรือเปิดใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่รู้จักแหล่งที่มา.
▪ สำรองข้อมูลของคุณเป็นประจำ และเก็บสำเนาไว้ในที่ปลอดภัย.
ถ้าคุณปฏิบัติตามมาตรการพื้นฐานเหล่านี้และใช้มาตรการอื่น ๆ ที่อาจเหมาะสมในตอนนี้และในอนาคต อย่างน้อยคุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเอาชนะในการต่อสู้เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวและความลับ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 28 เว็บเพจที่เข้ารหัสในโปรแกรมค้นดูเว็บมีสัญลักษณ์พิเศษ เช่น สัญลักษณ์แม่กุญแจ หรือมี “https://” ในบรรทัดที่อยู่. ตัว s หมายถึงปลอดภัย.
[ภาพหน้า 26]
สกีทาเลของชาวสปาร์ตาโบราณ
[ภาพหน้า 26]
เครื่องเอนิกมาในศตวรรษที่ 20 ของเยอรมัน
[ภาพหน้า 26]
ปัจจุบันการเข้ารหัสที่ซับซ้อนปกป้องข้อมูลส่วนตัว