ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ปัญหาของวัยรุ่นสมัยนี้

ปัญหาของวัยรุ่นสมัยนี้

ปัญหา​ของ​วัยรุ่น​สมัย​นี้

คุณ​คิด​อย่าง​ไร? ปัญหา​ที่​หนุ่ม​สาว​สมัย​นี้​เผชิญ​ยาก​กว่า​สมัย​ก่อน​ไหม? ถ้า​คุณ​ตอบ​ว่า​ไม่​ใช่ คุณ​อาจ​คิด​ว่า​วัยรุ่น​สมัย​นี้​มี​ความ​สุข​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​วัยรุ่น​ทุก​ยุค​ทุก​สมัย​ที่​ผ่าน​มา.

ใน​หลาย​ประเทศ การ​แพทย์​สามารถ​ควบคุม​โรค​ภัย​ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​ได้​ทำลาย​สุขภาพ​และ​ชีวิต​ของ​หนุ่ม​สาว. เทคโนโลยี​ผลิต​เครื่อง​มือ​และ​ของ​เล่น​อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง​คน​รุ่น​ก่อน ๆ ได้​แต่​ฝัน. และ​การ​พัฒนา​ด้าน​เศรษฐกิจ​ได้​ช่วย​ยก​ฐานะ​หลาย​ล้าน​ครอบครัว​ให้​หลุด​พ้น​จาก​ความ​ยาก​จน. จริง​ที​เดียว พ่อ​แม่​นับ​ไม่​ถ้วน​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​เพื่อ​ให้​ลูก​มี​ความ​เป็น​อยู่​ที่​ดี​ขึ้น​และ​มี​โอกาส​ทาง​การ​ศึกษา​ซึ่ง​ตน​เอง​ไม่​เคย​ได้​รับ.

แน่นอน วัยรุ่น​สมัย​นี้​มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​หลาย​อย่าง. แต่​พวก​เขา​ก็​เผชิญ​ปัญหา​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน​ด้วย. เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ​มนุษยชาติ​กำลัง​อยู่​ใน​เวลา​ที่​พระ​คัมภีร์​เรียก​ว่า “ช่วง​สุด​ท้าย​ของ​ยุค.” (มัดธาย 24:3) พระ​เยซู​พยากรณ์​ไว้​อย่าง​แม่นยำ​ว่า ยุค​นี้​จะ​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​สังคม​ขนาน​ใหญ่. (มัดธาย 24:7, 8) คัมภีร์​ไบเบิล​เรียก​ยุค​นี้​ว่า “สมัย​สุด​ท้าย” และ​พรรณนา​ถึง​สภาพ​สังคม​ว่า “ยาก​จะ​รับมือ​ได้.” (2 ติโมเธียว 3:1) ขอ​ให้​พิจารณา​ปัญหา​ซึ่ง​ยาก​จะ​รับมือ​ได้​สัก​สอง​สาม​ประการ​ที่​วัยรุ่น​สมัย​นี้​เผชิญ.

ปัญหา​ประการ​ที่ 1

โดด​เดี่ยว​มาก​ขึ้น

ภาพยนตร์, รายการ​ทีวี, และ​นิตยสาร​ต่าง​ก็​ให้​ภาพ​วัยรุ่น​ว่า​มี​เพื่อน ๆ ราย​ล้อม​ตลอด​เวลา ซึ่ง​เติบโต​ขึ้น​มา​ด้วย​กัน​ระหว่าง​ที่​เรียน​หนังสือ และ​คง​ความ​สัมพันธ์​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​จน​ถึง​วัย​ผู้​ใหญ่. ชีวิต​จริง​ของ​วัยรุ่น​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​เป็น​เช่น​นั้น​เลย.

นัก​วิจัย​ชื่อ​บาร์บารา ชไนเดอร์​และ​เดวิด สตีเวน​สัน ได้​วิเคราะห์​การ​สัมภาษณ์​วัยรุ่น​หลาย​พัน​คน​ใน​สหรัฐ​และ​พบ​ว่า “นัก​เรียน​นัก​ศึกษา​ไม่​กี่​คน​มี​เพื่อน​สนิท​คน​เดิม​หรือ​เพื่อน​กลุ่ม​เดิม​ที่​คบ​กัน​มา​เป็น​เวลา​นาน.” ชไนเดอร์​และ​สตีเวน​สัน​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า วัยรุ่น​หลาย​คน “ไม่​ค่อย​มี​มิตรภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​หรือ​เพื่อน​สนิท​ซึ่ง​พวก​เขา​รู้สึก​สะดวก​ใจ​ที่​จะ​พูด​เรื่อง​ปัญหา​ต่าง ๆ หรือ​แลก​เปลี่ยน​แนว​คิด​กัน.”

วัยรุ่น​ที่​หา​เพื่อน​ได้​ดู​เหมือน​จะ​ไม่​ค่อย​มี​เวลา​อยู่​กับ​เพื่อน. การ​ศึกษา​ใน​วง​กว้าง​ที่​สหรัฐ​พบ​ว่า​วัยรุ่น​ส่วน​ใหญ่​ใช้​เวลา​เพียง 10 เปอร์เซ็นต์​ใน​การ​พบ​ปะ​เพื่อน ๆ แต่​ใช้​เวลา​ใน​ช่วง​ที่​ตื่น​ถึง 20 เปอร์เซ็นต์​อยู่​ตาม​ลำพัง ซึ่ง​มาก​กว่า​เวลา​ที่​ใช้​กับ​ครอบครัว​หรือ​กับ​เพื่อน ๆ. พวก​เขา​กิน​อาหาร​คน​เดียว, เดิน​ทาง​คน​เดียว, หา​ความ​บันเทิง​คน​เดียว.

สิ่ง​ที่​ส่ง​เสริม​การ​อยู่​โดด​เดี่ยว​ได้​แก่​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ที่​มี​แพร่​หลาย. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 2006 วารสาร​ไทม์ รายงาน​ว่า เยาวชน​อายุ​ระหว่าง 8 ถึง 18 ปี​ใน​อเมริกา​ใช้​เวลา​เฉลี่ย​วัน​ละ​หก​ชั่วโมง​ครึ่ง​ไป​กับ​การ​จ้อง​ดู​ทีวี, ฟัง​เพลง, เล่น​วิดีโอ​เกม​หรือ​เล่น​คอมพิวเตอร์. *

จริง​อยู่ คน​รุ่น​นี้​ไม่​ใช่​รุ่น​แรก​ที่​ใช้​เวลา​หลาย​ชั่วโมง​ไป​กับ​การ​ฟัง​เพลง​และ​เล่น​เก​ม. (มัดธาย 11:16, 17) แต่​การ​ใช้​เวลา​อยู่​ตาม​ลำพัง​เล่น​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​เหล่า​นี้​มาก​เกิน​ไป แทน​การ​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​ครอบครัว​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้. ชไนเดอร์​และ​สตีเวน​สัน​พูด​ว่า “หนุ่ม​สาว​กล่าว​ว่า​พวก​เขา​มี​ความ​นับถือ​ตัว​เอง​น้อย​ลง, มี​ความ​สุข​น้อย​ลง, เพลิดเพลิน​น้อย​ลง​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ, และ​รู้สึก​เฉื่อย​ชา​มาก​ขึ้น​เมื่อ​อยู่​ตาม​ลำพัง.”

ปัญหา​ประการ​ที่ 2

ถูก​กดดัน​ให้​มี​เพศ​สัมพันธ์

วัยรุ่น​และ​เด็ก​ก่อน​วัยรุ่น​กำลัง​ถูก​กดดัน​อย่าง​หนัก​ให้​ลอง​มี​เพศ​สัมพันธ์. นาทาน​หนุ่ม​วัยรุ่น​ใน​ออสเตรเลีย​กล่าว​ว่า “เด็ก​ส่วน​ใหญ่​ที่​ผม​รู้​จัก​ที่​โรง​เรียน​เริ่ม​มี​เพศ​สัมพันธ์​ระหว่าง​อายุ 12 ถึง 15 ปี.” เด็ก​สาว​ชื่อ วิน​เบย์​ซึ่ง​อยู่​ใน​เม็กซิโก​เล่า​ว่า การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​อย่าง​ฉาบฉวย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​มาก​ใน​หมู่​เยาวชน​ที่​โรง​เรียน. เธอ​กล่าว​ว่า “คน​ที่​ไม่​เคย​มี​เพศ​สัมพันธ์​จะ​ถูก​มอง​เป็น​คน​แปลก.” อะนา​วัย 15 ปี​ใน​บราซิล​กล่าว​ว่า “การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​อย่าง​ฉาบฉวย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​หมู่​เพื่อน​นัก​เรียน​ของ​ดิฉัน​จน​การ​ปฏิเสธ​ครั้ง​เดียว​ก็​ยัง​ไม่​พอ. เรา​ต้อง​ปฏิเสธ​การ​ชักชวน​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า.”

นัก​วิจัย​ใน​สหราชอาณาจักร​ได้​ทำ​การ​สำรวจ​วัยรุ่น​หนึ่ง​พัน​คน​ซึ่ง​มี​ภูมิหลัง​ต่าง​กัน อายุ​ระหว่าง 12 ถึง 19 ปี และ​พบ​ว่า​เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์​ของ​วัยรุ่น​เหล่า​นั้น​มี​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​บาง​รูป​แบบ​เป็น​ประจำ. มาก​กว่า 20 เปอร์เซ็นต์​ของ​วัยรุ่น​ที่​เคย​มี​เพศ​สัมพันธ์​มี​อายุ​แค่ 12 ขวบ! นาย​แพทย์​ดีแลน กริฟฟิทส์​ซึ่ง​ดู​แล​งาน​วิจัย​นี้​กล่าว​ว่า “ครอบครัว, คริสตจักร, และ​สถาบัน​อื่น ๆ ไม่​สามารถ​ควบคุม​เยาวชน​ได้​อย่าง​ใน​สมัย​ก่อน เยาวชน​จึง​ได้​รับ​ผล​เสียหาย.”

วัยรุ่น​ที่​ลอง​มี​เพศ​สัมพันธ์​ได้​รับ “ผล​เสียหาย” จริง ๆ ไหม? ใน​รายงาน​ที่​พิมพ์​ปี 2003 นัก​วิจัย​ชื่อ​เรกเตอร์, นอยส์, และ​จอห์นสัน​ลง​ความ​เห็น​ว่า​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กัน​โดย​ตรง​ระหว่าง​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​ของ​วัยรุ่น​กับ​โรค​ซึมเศร้า​และ​มี​ความ​เสี่ยง​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​ฆ่า​ตัว​ตาย. พวก​เขา​วิเคราะห์​การ​สัมภาษณ์​วัยรุ่น​จำนวน 6,500 คน​แล้ว​พบ​ว่า “วัยรุ่น​หญิง​ที่​มี​เพศ​สัมพันธ์​มี​โอกาส​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​มาก​กว่า​คน​ที่​ไม่​เคย​มี​เพศ​สัมพันธ์​ถึง​สาม​เท่า.” ส่วน​วัยรุ่น​ชาย “ที่​มี​เพศ​สัมพันธ์​มี​โอกาส​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​มาก​กว่า​คน​ที่​ไม่​มี​เพศ​สัมพันธ์​ถึง​สอง​เท่า.”

ปัญหา​ประการ​ที่ 3

ครอบครัว​แตก​แยก

เยาวชน​ใน​สหรัฐ​ได้​ประสบ​การ​เปลี่ยน​แปลง​โครง​สร้าง​ของ​ครอบครัว​และ​การ​เปลี่ยน​ค่า​นิยม​อย่าง​รวด​เร็ว. หนังสือ​ชื่อ​คน​รุ่น​ที่​ทะเยอทะยาน—วัยรุ่น​อเมริกัน​มี​แรง​บันดาล​ใจ​แต่​ไร้​ทิศ​ทาง (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “เมื่อ​ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ด้าน​ประชากร​ครั้ง​ใหญ่​หลาย​อย่าง​ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​ชีวิต​วัยรุ่น​โดย​ตรง. ครอบครัว​อเมริกัน​โดย​เฉลี่ย​มี​ขนาด​เล็ก​ลง ดัง​นั้น​วัยรุ่น​จึง​มี​พี่​น้อง​เพียง​ไม่​กี่​คน. ขณะ​ที่​อัตรา​การ​หย่าร้าง​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ เด็ก​จำนวน​มาก​ใช้​ชีวิต​บาง​ช่วง​ใน​วัย​เด็ก​อยู่​กับ​พ่อ​หรือ​แม่​เพียง​ฝ่าย​เดียว. และ​มารดา​จำนวน​มาก​ขึ้น​ของ​เด็ก​อายุ​ต่ำ​กว่า 18 ปี​ต้อง​ออก​ไป​ทำ​งาน ดัง​นั้น​จึง​ไม่​ค่อย​มี​ผู้​ใหญ่​อยู่​บ้าน.”

ไม่​ว่า​เด็ก​จะ​อยู่​กับ​พ่อ​หรือ​แม่​เพียง​ฝ่าย​เดียว หรือ​อยู่​กับ​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่ เด็ก​หลาย​คน​รู้สึก​ไม่​ได้​ใกล้​ชิด​พ่อ​แม่​ใน​ยาม​ที่​เขา​ต้องการ​มาก​ที่​สุด. การ​ศึกษา​ซึ่ง​ได้​สำรวจ​วัยรุ่น 7,000 คน​ใน​ช่วง​หลาย​ปี ได้​พบ​ว่า​เด็ก​หนุ่ม​สาว​ส่วน​ใหญ่​เห็น​ว่า​พ่อ​แม่​รัก​และ​ยอม​รับ​เขา. แม้​เป็น​เช่น​นั้น “มี​เพียง​หนึ่ง​ใน​สาม​บอก​ว่า​เขา​ได้​รับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​และ​ช่วยเหลือ​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​เขา​มี​ปัญหา.” รายงาน​แจ้ง​ต่อ​ไป​ว่า “สำหรับ​เด็ก​หนุ่ม​สาว​ส่วน​ใหญ่ เมื่อ​เกิด​ปัญหา​ดู​เหมือน​พ่อ​แม่​ไม่​ได้​เข้า​มา​แนะ​นำ​และ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​เลย.”

ใน​ญี่ปุ่น​สาย​สัมพันธ์​ใน​ครอบครัว​ที่​เคย​เข้มแข็ง​กำลัง​ถูก​บั่น​ทอน​เพราะ​ครอบครัว​ต้องการ​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ด้าน​การ​เงิน. ยูโกะ คาวานิชิ ศาสตราจารย์​วิชาสังคมวิทยา​กล่าว​ว่า “พ่อ​แม่​ส่วน​ใหญ่​ของ​เด็ก​วัยรุ่น​สมัย​นี้​เป็น​คน​รุ่น​ที่​เกิด​หลัง​สงคราม​โลก และ​เติบโต​ขึ้น​มา​โดย​เห็น​ค่า​นิยม​ใหม่ ๆ ซึ่ง​เน้น​ความ​สำเร็จ​ทาง​การ​เงิน​และ​การ​มี​สมบัติ​วัตถุ.” พ่อ​แม่​เหล่า​นี้​ถ่ายทอด​ค่า​นิยม​แบบ​ใด​ให้​แก่​ลูก? คาวานิชิ​กล่าว​ว่า “พ่อ​แม่​หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​สนใจ​แต่​ความ​สำเร็จ​ด้าน​การ​ศึกษา​ของ​ลูก.” เธอ​กล่าว​ว่า “ตราบ​ใด​ที่​ลูก​ยัง​เล่า​เรียน​อยู่ สิ่ง​อื่น ๆ ที่​บ้าน​กลาย​เป็น​เรื่อง​รอง หรือ​ไม่​สำคัญ​ด้วย​ซ้ำ.”

การ​เน้น​มาก​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​ความ​สำเร็จ​ด้าน​การ​เงิน​และ​ด้าน​การ​ศึกษา​ส่ง​ผล​กระทบ​วัยรุ่น​อย่าง​ไร? สื่อ​ต่าง ๆ ใน​ญี่ปุ่น​มัก​จะ​พูด​ถึง​คิเรรุ. คำ​นี้​พรรณนา​ลักษณะ​หนุ่ม​สาว​ไม่​อาจ​ควบคุม​อารมณ์​ได้​อีก​ต่อ​ไป​เนื่อง​จาก​ถูก​กดดัน​อย่าง​หนัก. คาวานิชิ​กล่าว​ว่า “เมื่อ​เด็ก ๆ เริ่ม​ทำ​ตัว​เหมือน​คน​บ้า ๆ บอ ๆ ก็​อาจ​เป็น​เพราะ​พวก​เขา​ถือ​ว่า​ครอบครัว​ควบคุม​พฤติกรรม​ของ​เขา​ไม่​ได้​อีก​แล้ว.”

เหตุ​ผล​ที่​จะ​คิด​ใน​แง่​ดี

แน่นอน เรา​กำลัง​อยู่​ใน “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​จะ​รับมือ​ได้.” (2 ติโมเธียว 3:1) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​เพียง​แต่​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​คน​ใน​ยุค​นี้​จะ​ประสบ​ปัญหา​มาก​ขึ้น.

คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คำ​แนะ​นำ​เชิง​สร้าง​สรรค์​ว่า​เยาวชน​จะ​ปรับ​ปรุง​ชีวิต​ของ​เขา​ได้. พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า ผู้​ประพันธ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ทรง​ประสงค์​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​สอน​เยาวชน​ให้​รู้​วิธี​จัด​การ​กับ​ปัญหา. (สุภาษิต 2:1-6) พระองค์​ทรง​ประสงค์​ให้​พวก​เขา​มี​ชีวิต​ที่​ดี. พระ​คำ​ของ​พระองค์​สามารถ​จะ​ให้ “ความ​เฉียบ​แหลม​แก่​ผู้​ขาด​ประสบการณ์ ให้​ความ​รู้​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​แก่​คน​หนุ่ม.” (สุภาษิต 1:4, ล.ม.) ขอ​พิจารณา​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ช่วย​ได้​อย่าง​ไร.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 10 ใน​ญี่ปุ่น วัยรุ่น​ที่​ปลีก​ตัว​อยู่​คน​เดียว​ภาย​ใน​ห้อง​สามารถ​พบ​เห็น​ได้​ทั่ว​ไป​จน​ได้​ฉายา​ว่า​ฮิกิโกโมริ. บาง​คน​ประมาณ​ว่า​มี​ฮิกิโกโมริ 500,000 ถึง 1,000,000 คน​ใน​ญี่ปุ่น.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

ตาม​การ​ศึกษา​ราย​หนึ่ง วัยรุ่น​หญิง​ที่​มี​เพศ​สัมพันธ์​มี​โอกาส​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​มาก​กว่า​คน​ที่​ไม่​เคย​มี​เพศ​สัมพันธ์​ถึง​สาม​เท่า

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

พฤติกรรม​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง

รายงาน​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​รัฐบาล​ใน​ปี 2006 เปิด​เผย​ว่า ใน​บริเตน การ​ใช้​โคเคน​ของ​คน​อายุ 11 ถึง 15 ปี​เพิ่ม​ขึ้น​สอง​เท่า​ใน​หนึ่ง​ปี. หนุ่ม​สาว​ประมาณ 65,000 คน​กล่าว​ว่า​พวก​เขา​เคย​ลอง​ใช้​ยา​เสพ​ติด. ใน​ฮอลแลนด์ กล่าว​กัน​ว่า​มี​หนุ่ม​สาว​อายุ​ระหว่าง 16 ถึง 24 ปี​มาก​กว่า 20 เปอร์เซ็นต์​ติด​แอลกอฮอล์​ไม่​มาก​ก็​น้อย หรือ​เป็น​โรค​อัน​เนื่อง​มา​จาก​การ​ดื่ม​จัด.

หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​แสดง​ออก​ถึง​ความ​ทุกข์​ใน​ใจ​ด้วย​การ​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง​โดย​ตรง. พวก​เขา​ใช้​มีด​กรีด​ตัว, กัด, หรือ​เอา​ไฟ​จี้​ตัว​เอง. นัก​วิจัย​ชื่อ​เลน ออสติน​และ​จู​ลี คอร์ตุม​บอก​ว่า “ชาว​อเมริกัน​สาม​ล้าน​คน​โดย​ประมาณ​ต้อง​ทน​ทุกข์​เนื่อง​จาก​การ​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง และ​วัยรุ่น​หนึ่ง​ใน​ทุก ๆ 200 คน​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง​เป็น​ประจำ.”

[ภาพ​หน้า 3]

หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​ไม่​มี​เพื่อน​สนิท​ที่​พวก​เขา​จะ​เผย​ความ​ใน​ใจ​ได้