ตัวอย่างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ—ตอนที่ 1
ตัวอย่างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ—ตอนที่ 1
ดังที่ตื่นเถิด! ฉบับพิเศษนี้อธิบาย ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จใช่ว่าจะปลอดปัญหา. ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจเลย เพราะเรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาว่าเป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1) ปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว.
แต่จำไว้ว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การมีสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดอย่างที่หลายคนคิด. ตรงกันข้าม พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่สำนึกถึงความจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้าก็มีความสุข.” (มัดธาย 5:3, เชิงอรรถ) ครอบครัวที่เห็นความจำเป็นต้องหมายพึ่งพระเจ้าด้วยการทำตามหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็ได้พบเคล็ดลับสู่ความสำเร็จแม้สภาพแวดล้อมไม่อำนวย. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง.
ดูแลลูกที่ทุพพลภาพ. คัมภีร์ไบเบิลกำหนดว่าการดูแลสมาชิกครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมไปถึงคนที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถ้าใครไม่เลี้ยงดูคนเหล่านั้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในครอบครัวเขา คนนั้นก็ปฏิเสธความเชื่อและเป็นคนเลวยิ่งกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อด้วยซ้ำ.”—1 ติโมเธียว 5:8
ที่หน้า 15 วิกเตอร์ พ่อคนหนึ่งในแอฟริกาใต้ ได้เล่าประสบการณ์ของตัวเองและภรรยาซึ่งได้เอาใจใส่ดูแลลูกที่ทุพพลภาพมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว.
ได้รับการเลี้ยงดูในฐานะลูกบุญธรรม. หลักการในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคนเรามองเห็นคุณค่าตัวเองได้อย่างเหมาะสม แม้จะถูกพ่อแม่แท้ ๆ ทอดทิ้งก็ตาม. อันที่จริง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาพระเจ้าเป็น “ผู้ทรงช่วย” ลูกกำพร้า.—บทเพลงสรรเสริญ 10:14
ที่หน้า 16 เคนยัตตา หญิงสาวคนหนึ่งในสหรัฐพรรณนาวิธีที่เธอรับมือกับผลกระทบทางอารมณ์เนื่องจากไม่เคยพบพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด.
รับมือกับการตายของพ่อหรือแม่. การสูญเสียพ่อหรือแม่อาจเป็นแผลลึกในใจซึ่งยากที่จะเยียวยา. คัมภีร์ไบเบิลช่วยได้. พระยะโฮวาผู้ประพันธ์พระคัมภีร์เป็น “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.”—2 โครินท์ 1:3
ที่หน้า 17 แองเจลา หญิงสาวคนหนึ่งในออสเตรเลีย อธิบายว่าสัมพันธภาพระหว่างเธอกับพระเจ้าช่วยเธอรับมืออย่างไรกับการสูญเสียอย่างเจ็บปวด.
ทุกครอบครัวมีปัญหาบางอย่างที่ต้องจัดการ. ดังที่เรื่องราวในหน้าถัดไปจะเป็นตัวอย่าง คนที่ใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลได้พบเคล็ดลับสำคัญซึ่งช่วยพวกเขาแก้ปัญหาได้สำเร็จ.
[กรอบ/ภาพหน้า 15]
ดูแลลูกที่ทุพพลภาพ
เล่าโดยวิกเตอร์ เมนส์ แอฟริกาใต้
“ตั้งแต่เกิด แอนดรูว์ต้องพึ่งเราในเรื่องการแต่งตัว, อาบน้ำ, และหลายครั้งถึงกับต้องป้อนอาหาร. ตอนนี้เขาอายุ 44 ปีแล้ว.”
เราคิดว่าน่าจะมีอะไรผิดปกติเมื่อแอนดรูว์ไม่ยอมเดินหลังจากขวบปีแรก. ประมาณเวลานั้น เขามีอาการชัก. เรารีบพาแอนดรูว์ไปโรงพยาบาล และได้รู้ว่าเขาเป็นโรคลมชัก. แต่ไม่ใช่แค่นั้น. การตรวจต่อมายืนยันว่าสมองของแอนดรูว์ได้รับความเสียหาย.
หลังจากลองผิดลองถูก เราก็สามารถควบคุมอาการชักของแอนดรูว์ไว้ได้. ชั่วระยะหนึ่ง เขาต้องกินยาถึงสี่ชนิดวันละสามเวลา. แน่ละ ยาไม่อาจช่วยรักษาความพิการทางสมองได้. จนถึงเดี๋ยวนี้ ทั้ง ๆ ที่เขาอายุ 44 ปี แอนดรูว์ก็มีความสามารถด้านสติปัญญาเทียบเท่ากับเด็กอายุห้าหรือหกขวบเท่านั้น.
พวกแพทย์แนะนำเราให้ฝากแอนดรูว์ไว้ที่สถานดูแลเด็ก แต่เราตัดสินใจไม่ทำอย่างนั้น. เราอยู่ในฐานะที่จะดูแลแอนดรูว์ได้ เราจึงตัดสินใจให้แอนดรูว์อยู่ที่บ้าน แม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ไม่อาจเลี่ยงได้.
ดังนั้น เราจึงให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลเขา. เรามีลูกสาวสองคนและลูกชายอีกหนึ่งคนอาศัยอยู่ที่บ้าน ซึ่งพวกเขาช่วยเหลือได้มาก และผมก็นึกขอบคุณพวกเขาจริง ๆ! อีกประการหนึ่ง ในฐานะพยานพระยะโฮวา เราได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสมาชิกในประชาคม. บางครั้ง พวกเขาเลี้ยงอาหารเราหรือถึงกับดูแลแอนดรูว์เมื่อเราออกไปเผยแพร่หรือไปทำธุระเรื่องอื่น.
เราระลึกถึงถ้อยคำในยะซายา 33:24 อยู่เสมอซึ่งมีคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าในวันข้างหน้า “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” เราเชื่อเต็มที่ว่าพระเจ้าจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จลุล่วงโดยการนำโลกใหม่เข้ามาและขจัดความเจ็บป่วยทั้งสิ้น. (2 เปโตร 3:13) ดังนั้น เราจึงรอจะเห็นวันนั้นเมื่อแอนดรูว์หายป่วยเป็นปกติ. จนกว่าจะถึงวันนั้น เราเชื่อคำตรัสของพระเยซูที่ว่าถ้าเราจัดให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต เราก็จะได้รับสิ่งต่าง ๆ ตามความจำเป็น. (มัดธาย 6:33) เราประสบเรื่องนี้ด้วยตัวเองเสมอ. เราไม่เคยขัดสนสิ่งหนึ่งสิ่งใด.
จริงอยู่ ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะสามารถดูแลคนป่วยที่บ้านได้. สำหรับคนที่ทำเช่นนั้นได้ ประการแรก ผมขอแนะนำให้อธิษฐานอย่างจริงจังเป็นประจำ. (1 เปโตร 5:6, 7) ประการที่สอง ให้เอาใจใส่ลูกมาก ๆ ด้วยความรักใคร่ และอย่าได้คิดว่าลูกไม่สามารถเรียนรู้ที่จะรักพระยะโฮวาพระเจ้า. (เอเฟโซส์ 6:4) ประการที่สาม ให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนช่วยเหลือ. ประการที่สี่ อย่าลืมว่าบ้านของคุณ เป็นที่ที่ลูกจะได้รับความรักมากที่สุด. จริงอยู่ สภาพการณ์อาจต่างกัน. พวกเราไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยที่ได้ดูแลแอนดรูว์ที่บ้าน. สำหรับผม เขาเป็นลูกที่น่ารักที่สุด และเป็นคน น่ารักที่สุด เท่าที่ผมรู้จัก.
[กรอบ/ภาพหน้า 16]
ได้รับการเลี้ยงดูในฐานะลูกบุญธรรม
เล่าโดยเคนยัตตา ยัง สหรัฐ
“ถ้าคุณเป็นลูกที่ติดพ่อหรือแม่มา คุณก็ยังมีพ่อหรือแม่แท้ ๆ คนหนึ่งอยู่ด้วย. แต่เพราะเป็นลูกบุญธรรม ฉันจึงไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แท้ ๆ เลย. ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าตาของฉันเหมือนใคร.”
ฉันไม่รู้เลยว่าใครเป็นพ่อ และไม่เคยเห็นหน้าแม่ผู้ให้กำเนิด. แม่เป็นคนดื่มจัดและติดยาตอนที่ตั้งครรภ์ฉัน. พอฉันเกิดมา ฉันถูกส่งไปที่สถานเลี้ยงเด็กและต้องย้ายไปหลายแห่งก่อนถูกรับเป็นลูกบุญธรรมตอนอายุยังไม่ถึงสองขวบ.
พ่อบุญธรรมของฉันเล่าว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลได้เอารูปฉันให้ท่านดู ทันใดนั้น ท่านก็อยากรับฉันเป็นลูก. ฉันเองก็ชอบแม่คนใหม่ทันที. ฉันบอกว่าท่านคือแม่ของฉัน และฉันต้องการไปบ้านกับท่าน.
แต่ฉันจำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ฉันกลัวว่าจะทำผิดและถูกส่งกลับไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า. ฉันรู้สึกว่าจะมีอารมณ์เสียหรือป่วยเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ไม่ได้. ฉันพยายามไม่ให้ตัวเองติดหวัดด้วยซ้ำ! พ่อแม่รับรองกับฉันเสมอ ๆ ว่าท่านรักฉันและจะไม่มีวันทอดทิ้งฉัน.
แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางครั้งฉันต้องต่อสู้ความรู้สึกที่ว่าฉันไม่มีค่าเหมือนคนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่แท้ ๆ. พอฉันเริ่มเอาชนะความรู้สึกนั้นได้แล้ว ก็จะมีคนหนึ่งมาพูดกับฉันว่า “เธอน่าจะขอบคุณมาก ๆ นะที่มีพ่อแม่ที่แสนดีซึ่งเต็มใจรับเธอมาเลี้ยง!” ฉันรู้สึกขอบคุณอยู่แล้ว แต่คำพูดอย่างนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีและต้องพยายามมาก ๆ เพื่อให้ใครสักคนรักฉัน.
มันยากที่ฉันจะยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าฉันอาจไม่มีวันได้รู้จักพ่อแท้ ๆ ของฉัน. บางครั้ง ฉันรู้สึกปวดร้าวที่แม่ผู้ให้กำเนิดไม่ได้จัดการกับชีวิตของท่านเพื่อสามารถจะเลี้ยงฉันได้ ราวกับว่าฉันไม่มีค่าพอที่แม่จะพยายามเลิกสิ่งเสพติด. บางครั้งฉันก็รู้สึกสงสารแม่. บ่อยครั้งฉันคิดว่าถ้าฉันมีโอกาสได้พบแม่ ฉันอยากจะบอกแม่ว่าฉันประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว และแม่ไม่ควรรู้สึกเสียใจที่ยกฉันให้คนอื่น.
พ่อแม่บุญธรรมของฉันเป็นพยานพระยะโฮวา และของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ได้รับจากท่านก็คือความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. ฉันพบว่าถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 27:10 ให้การชูใจเสมอที่บอกว่า “เมื่อบิดามารดาละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว, พระยะโฮวาจะทรงรับข้าพเจ้าไว้.” เรื่องนี้เป็นความจริงกับฉันอย่างแน่นอน. และการเป็นลูกบุญธรรมก็มีผลดีบางอย่าง. ตัวอย่างเช่น ฉันรู้สึกประทับใจผู้คน ได้รู้จักภูมิหลังและวิถีชีวิตของเขา นั่นอาจเป็นเพราะฉันไม่รู้จักพื้นเพของตัวเอง. ฉันรักผู้คน และนั่นเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ ในงานเผยแพร่ของคริสเตียน. การเป็นพยานพระยะโฮวาและได้พูดคุยเรื่องคัมภีร์ไบเบิลทำให้ฉันรู้สึกมีศักดิ์ศรีและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต. เมื่อรู้สึกท้อ ฉันจะออกไปและช่วยคนอื่น ๆ. โดยการสอนคนอื่นเรื่องคัมภีร์ไบเบิล ฉันได้สร้างมิตรภาพกับพวกเขา. ทุกคนต่างก็มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ.
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
รับมือกับการตายของพ่อหรือแม่
เล่าโดยแองเจลา รัตเกอส์ ออสเตรเลีย
“เมื่อพ่อเสีย ฉันรู้สึกเหมือนขาดที่พึ่ง. ต่อจากนี้ไปคนที่รอบรู้ทุกสิ่งและสามารถช่วยเหลือในทุกสถานการณ์ก็ไม่มีอีกแล้ว.”
พ่อเสียชีวิตไปเมื่อสิบปีมาแล้ว ตอนที่ฉันเป็นวัยรุ่น. หกเดือนก่อนหน้านั้น พ่อเข้ารับการผ่าตัด และระหว่างที่อยู่ในห้องพักฟื้น แพทย์บอกเราว่าไม่อาจทำอะไรได้มากกว่านี้อีกแล้ว. แม่ก็ยิ่งกระวนกระวายเพราะอยากรู้รายละเอียดมากขึ้น, พี่ชายของฉันถึงกับเป็นลม, ส่วนฉันก็ตกอยู่ในภาวะที่สับสนว้าวุ่น. หกเดือนต่อมา พ่อก็ตาย.
ฉันได้ผ่านช่วงเวลาที่วุ่นวายใจอย่างมาก. ฉันอยากให้เพื่อนเข้าใจว่าฉันกำลังเผชิญอะไร แต่ฉันก็ไม่อยากจะให้เขาสงสารฉัน. ฉันจึงพยายามไม่แสดงความรู้สึกให้เพื่อนเห็น. ในทางตรงกันข้าม ฉันคิดว่าที่จะปล่อยให้ตัวเองเพลิดเพลินในวงเพื่อนฝูงคงจะสื่อเป็นนัยว่าชีวิตฉันปกติสุขระดับหนึ่ง ซึ่งที่จริงไม่ได้อย่างนั้น มาตอนนี้ฉันคิดได้ว่าตัวฉันคงสร้างความลำบากใจให้เพื่อนไม่น้อยทีเดียว!
ฉันทนทุกข์กับความรู้สึกผิดไหมในเรื่องการตายของพ่อ? แน่นอน! ฉันอยากจะบอกพ่อให้บ่อยกว่าเดิมว่า “หนูรักพ่อ!” ฉันอยากจะได้กอดพ่อและใช้เวลาอยู่กับท่านมากขึ้น. ไม่ว่าฉันจะบอกตัวเองบ่อยแค่ไหนว่า ‘พ่อไม่อยากให้เราคิดอย่างนั้น’ ฉันก็ยังคงรู้สึกผิดอยู่ดี.
ในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวา ฉันได้รับการปลอบโยนอย่างมากเนื่องจากมีความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. (โยฮัน 5:28, 29) ฉันพยายามนึกภาพว่าพ่อแค่ไปต่างประเทศ และวันหนึ่งจะกลับมา แต่ไม่รู้จะกลับวันไหนแน่. น่าแปลก เมื่อมีคนมาพูดกับฉันว่า “พ่อเธอจะกลับมาในคราวการเป็นขึ้นจากตาย” เรื่องนี้ไม่ทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้นในตอนแรก. ฉันคิดว่า ‘ฉันต้องการให้พ่อกลับมาตอนนี้!’ แต่ตัวอย่างเปรียบเทียบการเดินทางไปต่างประเทศช่วยฉันได้. ตัวอย่างนี้แสดงนัยถึงการกลับเป็นขึ้นจากตาย ขณะเดียวกันก็ช่วยฉันรับมือกับการสูญเสียอย่างกะทันหันได้.
เพื่อนคริสเตียนช่วยฉันได้มากจริง ๆ. ฉันจำคนหนึ่งที่บอกว่าเขาไม่สบายใจที่จะคุยเรื่องการตายของพ่อ แต่เขาพูดว่าเขาคิดถึงฉันและครอบครัวฉันตลอดเวลา. ฉันนึกถึงคำพูดของเขาเสมอ. มันช่วยฉันผ่านวันเวลาที่ไม่มีใครให้การปลอบโยน เพราะฉันรู้ว่าแม้จะไม่มีคำพูดใด ๆ แต่ก็มีคนคิดถึงฉันกับครอบครัว. เรื่องนี้มีความหมายสำหรับฉันมาก!
สี่เดือนหลังจากพ่อตาย แม่เริ่มทำงานเผยแพร่มากขึ้น และฉันเห็นว่าแม่มีความสุขมากจริง ๆ ในงานนั้น. ฉันจึงร่วมงานกับแม่. เป็นเรื่องน่าทึ่ง เมื่อคุณช่วยคนอื่น คุณเองกลับได้รับการช่วยเหลือด้วย. ประสบการณ์ของฉันเสริมความเชื่อในพระคำและคำสัญญาของพระยะโฮวา ทั้งได้ช่วยฉันแม้แต่ในเวลานี้ที่จะไม่หมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง.