ตัวอย่างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ—ตอนที่ 2
ตัวอย่างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ—ตอนที่ 2
ดังที่กล่าวใน “ตัวอย่างครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ—ตอนที่ 1” หลักการของคัมภีร์ไบเบิลอาจช่วยให้ครอบครัวมั่นคงอยู่ได้ในยามยากลำบาก. * สำหรับคนเหล่านั้นที่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระยะโฮวาพระเจ้า พระองค์สัญญาไว้ว่า “เราจะทำให้เจ้ามีความหยั่งเห็นเข้าใจ และสั่งสอนเจ้าในทางที่เจ้าควรดำเนิน. เราจะให้คำแนะนำพร้อมกับเฝ้าดูเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 32:8, ล.ม.
จัดการปัญหาการเงิน. บ่อยครั้งเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นต้นตอของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในชีวิตสมรส. แต่หลักการในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยครอบครัวให้มีทัศนะที่ถูกต้องเมื่อเกิดปัญหาทางการเงิน. พระเยซูตรัสว่า “จงเลิกวิตกกังวลในเรื่องชีวิตว่าจะกินอะไรหรือจะดื่มอะไร หรือวิตกกังวลในเรื่องร่างกายว่าจะสวมอะไร . . . พระบิดาของเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบว่าพวกเจ้าต้องมีสิ่งทั้งปวงนี้.”—มัดธาย 6:25, 32
ที่หน้า 23 อิสซาคาร์ ในสหรัฐ เล่าว่าครอบครัวของเขาจัดการอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาทางการเงินหลังจากที่บ้านของเขาถูกพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่ม.
เมื่อสมาชิกครอบครัวล้มป่วย. แทบทุกคนเคยป่วย. ส่วนใหญ่เป็นการป่วยชั่วคราวและไม่นานก็หาย. แต่จะทำอย่างไรถ้าสมาชิกครอบครัวป่วยเรื้อรัง? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาสามารถค้ำจุนคนเหล่านั้นที่นอนป่วยอยู่. (บทเพลงสรรเสริญ 41:1-3) ครอบครัวจะเป็นเครื่องมือที่พระยะโฮวาใช้ในการช่วยเหลือเช่นนั้นได้อย่างไร?
ที่หน้า 24 ฮาจิเมะ สามีคนหนึ่งในญี่ปุ่น เล่าว่าเขากับลูกสาวร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือโนริโกะ ภรรยาของเขา หลังจากการวินิจฉัยโรคบ่งชี้ว่าเธอป่วยหนัก.
เมื่อลูกตาย. การตายของลูกเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งครอบครัวอาจเผชิญ. พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าจะเช็ดน้ำตาแห่งความทุกข์อันเนื่องมาจากการตายของลูก. (วิวรณ์ 21:1-4) แม้แต่ตอนนี้ พระองค์ก็ได้ทรงประทานการปลอบโยนให้แก่ผู้ที่สูญเสียคนที่เขารักไป.—บทเพลงสรรเสริญ 147:3
ที่หน้า 25 เฟอร์นันโดกับดิลมา ในสหรัฐ เล่าว่าคัมภีร์ไบเบิลเสริมกำลังพวกเขาอย่างไรให้รับมือกับการตายของลูกสาววัยทารก.
คัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องนำทางที่ไว้ใจได้สำหรับครอบครัวที่เผชิญปัญหาหนัก ดังเรื่องราวในหน้าต่อไปจะแสดงให้เห็น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 ดูหน้า 14-17 ของวารสารนี้.
[กรอบ/ภาพหน้า 23]
จัดการปัญหาการเงิน
เล่าโดยอิสซาคาร์ นิโคลส์ สหรัฐ
“พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาทำลายบ้านของเรา เหลือเพียงแผ่นคอนกรีตแผ่นเดียว. โรงเรียนที่ผมสอนมีน้ำท่วมขังอยู่เดือนครึ่ง.”
ในฤดูร้อนปี 2005 ผมกับมิเชลล์ภรรยา และซิดนีย์ลูกสาววัยสองขวบ อาศัยอยู่ในเบย์เซนต์หลุยส์ รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกา. ในฐานะพยานพระยะโฮวา ผมกับมิเชลล์มีเป้าหมายจะทำงานเผยแพร่ของคริสเตียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้. ผมเป็นครูสอนวิชาชีพ และโรงเรียนที่ผมสอนอยู่ที่นิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก. ผมสามารถจัดตารางเวลาทำงานสัปดาห์ละสามวัน และอุทิศเวลาที่เหลือส่วนใหญ่สอนคนอื่น ๆ เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. เราชอบกิจวัตรของเรา. แต่แล้วก็มีข่าวว่าเฮอร์ริเคนแคทรีนาอาจจะเข้ามาถล่มพื้นที่แถบนี้. เราเตรียมการอพยพทันที.
เมื่อพายุผ่านไปแล้ว บ้านของเราที่เบย์เซนต์หลุยส์เสียหายอย่างหนักและโรงเรียนที่ผมสอนในนิวออร์ลีนส์ด้วย. บริษัทประกันและรัฐบาลอนุมัติเงินให้เราสามารถเช่าอพาร์ตเมนต์ได้ แต่ผมประสบว่ายากที่จะหาแหล่งรายได้ที่มั่นคง. นอกจากนั้น ภรรยาของผมติดเชื้อไวรัสจากน้ำที่ไม่สะอาด. ระบบภูมิคุ้มกันของเธอจึงอ่อนแอลง และหลังจากนั้นเธอติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์จากยุง. ขณะเดียวกัน ค่าประกันภัยและค่าครองชีพก็เพิ่มสูงขึ้นมาก.
เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ใหม่ เราเรียนรู้ที่จะประหยัดมากขึ้น แม้แต่จะซื้อของที่จำเป็น. ผมต้องไม่เลือกงานเหมือนเมื่อก่อน.
ผมต้องยอมรับว่าการสูญเสียทรัพย์สมบัติไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา. แต่เราขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่. และประสบการณ์ทั้งหมดเน้นความจริงที่ว่าสมบัติวัตถุนั้นมีคุณค่าจำกัด. ที่จริง เรื่องนี้ทำให้เราระลึกถึงคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “แม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.”—ลูกา 12:15
เรายังตระหนักด้วยว่าถึงเราจะรู้สึกเสียใจสักเพียงไรกับสิ่งที่เราสูญเสียไป แต่ก็ยังมีอีกหลายคนสูญเสียมากกว่าเรา และบางคนเสียชีวิตด้วยซ้ำ. นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ผมได้เข้าไปช่วยบรรเทาทุกข์ทันทีหลังจากเกิดภัยพิบัติ โดยให้การปลอบโยนแก่ผู้ที่ประสบการสูญเสีย.
ตลอดช่วงที่ยากลำบากนี้ บทเพลงสรรเสริญ 102:17 ให้การปลอบโยนเราเป็นพิเศษ. ข้อนั้นบอกว่าพระยะโฮวาพระเจ้า “ทรงสดับฟังคำอธิษฐานของคนอนาถา, และไม่ทรงประมาทคำอธิษฐานของเขาเลย.” ครอบครัวของเรารู้สึกถึงการเกื้อหนุนครั้งนี้จริง ๆ!
[กรอบหน้า 23]
หลังจากเฮอร์ริเคนแคทรีนาและริตาถล่มแนวชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐในปี 2005 พยานพระยะโฮวารีบตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ 13 แห่ง, โกดังเก็บของเก้าแห่ง, และที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสี่แห่ง. พยานฯ ที่เป็นอาสาสมัครเกือบ 17,000 คนหลั่งไหลมาจากสหรัฐและอีก 13 ประเทศเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์. พวกเขาได้ซ่อมแซมบ้านเรือนหลายพันหลัง.
[กรอบ/ภาพหน้า 24]
เมื่อสมาชิกครอบครัวล้มป่วย
เล่าโดยฮาจิเมะ อิโตะ ญี่ปุ่น
“การช่วยกันทำอาหารเป็นงานอดิเรกที่เราชอบมาก จนกระทั่งโนริโกะป่วย. ตอนนี้เธอไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำทางปากได้ แม้แต่จะพูดก็ไม่ได้. เธอต้องอยู่แต่ในเก้าอี้ล้อและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ.”
ในเดือนพฤษภาคม 2006 โนริโกะภรรยาของผมเริ่มมีอาการพูดไม่ชัด. ฤดูร้อนปีนั้นเธอก็เริ่มมีปัญหาในการกินอาหารและดื่มน้ำ. พอถึงเดือนกันยายน แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคประสาทสั่งการเสื่อมถอย (เอแอลเอส) ซึ่งอาการของโรคนี้จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ และมีผลกระทบต่อเซลล์ประสาทในสมองและในไขสันหลัง. ในเวลาแค่สี่เดือน ชีวิตของเราก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง. และปัญหาของเธอเพิ่งจะเริ่มขึ้น.
ต่อมา โนริโกะเริ่มขยับลิ้นไม่ได้ เช่นเดียวกับที่มือขวาของเธอ. การผ่าตัดทำรูเปิดกระเพาะช่วยให้เธอกินอาหารผ่านทางสาย ศัลยกรรมทำรูเปิดท่อลมที่คอทำให้อากาศผ่านได้ แต่ทำให้เธอพูดไม่ได้. ผมนึกภาพไม่ออกว่าโนริโกะลำบากใจสักเพียงไร เนื่องจากเมื่อก่อนเธอเป็นคนกระตือรือร้น. พวกเราเป็นพยานพระยะโฮวาและโนริโกะกับลูกสาวของผมก็เคยร่วมทำงานเผยแพร่เต็มเวลา. ตอนนี้โนริโกะต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจและเวลาส่วนใหญ่ต้องนอนอยู่บนเตียง.
ถึงกระนั้น เรื่องนี้ไม่ได้ยับยั้งโนริโกะ! ยกตัวอย่าง เธอนั่งเก้าอี้ล้อไปร่วมการประชุมคริสเตียนพร้อมกับใส่เครื่องช่วยหายใจ. การได้ยินของเธอก็แย่ลง ลูกสาวของผมจึงเขียนข้อความตัวโต ๆ ให้เธออ่านระหว่างการประชุมเพื่อเธอจะได้รับประโยชน์. และแม้ว่าโนริโกะต้องหยุดงานเผยแพร่เต็มเวลา เธอยังคงเขียนจดหมายไปถึงผู้คน สอนพวกเขาเกี่ยวกับข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ความหวังโดยใช้อุปกรณ์พิเศษที่ติดตั้งไว้กับคอมพิวเตอร์ที่บ้านเรา.—2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:1-4
เราทุกคนในครอบครัวได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อช่วยโนริโกะ. ลูกสาวทั้งสองคนของผมหางานใหม่เพื่อจะได้ช่วยงานที่บ้านมากขึ้น. เราสามคนช่วยกันทำงานทุกอย่างในบ้านแทนโนริโกะ.
บางครั้งตอนเช้า ๆ เมื่อผมมองหน้าโนริโกะ ดูเหมือนว่าเธอเหนื่อย. ผมนึกในใจว่า ‘ผมอยากจะบอกเธอให้พักผ่อนวันนี้อย่างสบาย ๆ. แต่โนริโกะต้องการบอกข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลไปถึงคนอื่น. เมื่อผมเริ่มเตรียมคอมพิวเตอร์ สายตาของโนริโกะเป็นประกาย! เมื่อเธอเขียนจดหมาย เธอมีอาการดีขึ้น. ผมได้มาเห็นคุณค่าของการทำ ‘งานหนักเกี่ยวเนื่องกับองค์พระผู้เป็นเจ้า.’—1 โครินท์ 15:58
ประสบการณ์ของเจสัน สจ๊วตผู้ป่วยด้วยโรคเอแอลเอสในตื่นเถิด! ฉบับมกราคม 2006 ช่วยได้มากที่โนริโกะจะไม่รู้สึกหดหู่. ที่จริง เมื่อบุคลากรของโรงพยาบาลสงสัยว่าทำไมเธอมีเจตคติในแง่บวก โนริโกะบอกพวกเขาเกี่ยวกับบทความนั้น และเราได้ให้วารสารหลายฉบับแก่พวกเขา. ภรรยาของผมได้รับกำลังใจจากการสอนคนอื่นเรื่องความเชื่อของเธอ.
ผมกับโนริโกะแต่งงานกัน 30 ปีแล้ว แต่ในช่วงสามปีหลัง ผมได้มาเห็นค่าคุณลักษณะต่าง ๆ ในตัวโนริโกะซึ่งผมเคยมองข้าม. ผมมีความสุขมากที่ได้แต่งงานกับเธอ!
[กรอบ/ภาพหน้า 25]
เมื่อลูกเสียชีวิต
เล่าโดยเฟอร์นันโดและดิลมา เฟรตัส สหรัฐ
“ความรู้สึกสะเทือนใจเนื่องด้วยการตายของลูกน้อยเป็นสิ่งที่ไม่อาจพรรณนาได้. ไม่มีอะไรสร้างความเจ็บปวดมากไปกว่านี้.”
ลูกสาวของเราซึ่งเราตั้งชื่อว่าเพรเชส ตายเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2006. เธอเกิดมาได้เพียงสิบวันเท่านั้น. ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์ได้สามเดือนมีการตรวจพบว่า เธอมีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับหัวใจ. เมื่อใกล้ครบกำหนดวันคลอดก็เป็นที่ชัดเจนว่า เธอคงจะเสียชีวิตไม่นานหลังจากคลอดหรืออาจเสียชีวิตก่อนคลอดด้วยซ้ำ. มันยากจริง ๆ ที่เราจะยอมรับเรื่องนี้. เรามีลูกสามคนแล้ว ทุกคนแข็งแรงดี. เราไม่อยากเชื่อว่าลูกน้อยของเราจะตาย.
หลังเพรเชสเกิด ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ด้านโรคโครโมโซมตรวจวินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคไทรโซมี 18 (Trisomy 18) ที่พบได้ไม่บ่อยนักและเกิดขึ้นกับทารก 1 ใน 5,000 คน. เป็นที่ชัดเจนว่าเธอคงอยู่ได้ไม่นาน. เรารู้สึกหมดหวังจริง ๆ เพราะเราแทบทำอะไรไม่ได้เลย. สิ่งหนึ่งที่เราพอทำได้ คืออยู่กับลูกตลอดช่วงชีวิตอันแสนสั้นของเธอ. ดังนั้น เราก็ได้ทำเช่นนั้นจริง ๆ.
เราขอบคุณเหลือล้นที่เรามีเวลาได้อยู่กับเพรเชสถึงสิบวัน. ระหว่างนั้น เรากับลูกสาวสามคนรู้สึกผูกพันกับเธอมาก. เราอุ้มเธอ, พูดกับเธอ, กอดเธอ, จูบเธอ, และถ่ายรูปเธอไว้มากเท่าที่เราทำได้. เราถึงกับคุยกันว่า เธอดูคล้ายใครมากที่สุดในครอบครัวของเรา. ผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจเพรเชสมาเยี่ยมเราที่โรงพยาบาลทุกวัน. เขาร้องไห้กับเราและบอกเราว่าเขาเสียใจอย่างยิ่ง. เขาถึงกับวาดรูปเพรเชสขณะที่พูดคุยกับเราเพื่อเขาจะระลึกถึงเธอได้. เขายังได้ถ่ายสำเนาให้เราด้วย.
เนื่องจากเราเป็นพยานพระยะโฮวา เราจึงเชื่อมั่นตามที่คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า พระเจ้าจะฟื้นฟูสภาพอุทยานคืนสู่แผ่นดินโลก และพระองค์ปรารถนาจะปลุกคนตายให้กลับมีชีวิตอีก รวมถึงทารก เช่น เพรเชสเป็นต้น. (โยบ 14:14, 15; โยฮัน 5:28, 29) เรารอคอยวันที่จะได้อุ้มเธอและโอบกอดเธออีกครั้งหนึ่ง. ทุกครั้งที่เราได้ยินคำว่า “อุทยาน” ความหวังนั้นก็โชติช่วงขึ้นในหัวใจของเรา! ตอนนี้ เราได้รับการชูใจจากข้อเท็จจริงที่ว่าเพรเชสอยู่ในความทรงจำของพระเจ้าและไม่ทนทรมานอีกต่อไป.—ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10