การออกแบบที่มีวัตถุประสงค์หรือเป็นกระบวนการที่ไร้ความรู้สึกนึกคิด?
การออกแบบที่มีวัตถุประสงค์หรือเป็นกระบวนการที่ไร้ความรู้สึกนึกคิด?
ในปี 1802 วิลเลียม เพลีย์ นักเทศน์และนักเทววิทยาชาวอังกฤษได้อธิบายเหตุผลที่เขาเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง. เขากล่าวว่าถ้าเขาเดินข้ามทุ่งกันดารแล้วพบก้อนหินอยู่บนพื้นดิน เขาอาจลงความเห็นอย่างสมเหตุผลว่าหินอยู่ที่นั่นได้ก็เพราะกระบวนการทางธรรมชาติ. แต่ถ้าเขาพบนาฬิกาเรือนหนึ่ง เขาคงจะไม่ลงความเห็นอย่างนั้น. เพราะเหตุใด? ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ลักษณะของนาฬิกาเรือนนั้นแสดงว่ามีการออกแบบและมีวัตถุประสงค์.
แนวคิดของเพลีย์ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความคิดของชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ. กระนั้น ต่างจากการชักเหตุผลของเพลีย์ ดาร์วินตั้งสมมุติฐานขึ้นมาภายหลังว่าลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนถูกออกแบบนั้น สามารถอธิบายได้โดยกระบวนการที่เรียกว่า “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ.” หลายคนเห็นว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเป็นคำตอบที่เด็ดขาดสำหรับการอ้างเหตุผลสนับสนุนการออกแบบในธรรมชาติ.
มีการเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายตั้งแต่สมัยเพลีย์และดาร์วินเป็นต้นมา. ข้อโต้เถียงของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุน
การออกแบบและฝ่ายการคัดเลือกโดยธรรมชาติ มักจะถูกปรับเปลี่ยน, แต่งเติม, และเพิ่มข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา. และต่างฝ่ายก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดของผู้คนที่ว่าเอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร. สิ่งที่คุณเชื่ออาจมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคุณที่ว่าชีวิตมีจุดมุ่งหมายมากเพียงไร. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?ผลจากทฤษฎีของดาร์วิน
การเชื่อทฤษฎีของดาร์วินชักนำผู้คนที่จริงใจหลายคนให้ลงความเห็นว่า ชีวิตของพวกเขาปราศจากจุดมุ่งหมายที่แท้จริง. ถ้าเอกภพและทุก ๆ สิ่งในเอกภพเป็นผลจากการรวมตัวกันของธาตุต่าง ๆ โดยบังเอิญหลังการระเบิดใหญ่ในตอนเริ่มต้น ดังนั้นแล้วก็ย่อมไม่มีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงสำหรับชีวิต. ชาก มอโน ผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาชีววิทยา แถลงว่า “ในที่สุดมนุษย์ก็รู้ว่าตัวเองอยู่ตามลำพังในเอกภพที่กว้างใหญ่และไร้ความรู้สึกที่ซึ่งเขาได้เกิดมาโดยบังเอิญ. เขาไม่รู้จุดหมายปลายทางหรือหน้าที่ของตัวเอง.”
ปีเตอร์ วิลเลียม แอตกินส์ ศาสตราจารย์วิชาเคมีแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแสดงความคิดทำนองเดียวกันโดยกล่าวว่า “ผมถือว่าที่เอกภพอันน่าทึ่งนี้ดำรงอยู่ได้ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์และน่าเกรงขาม. มันดำรงอยู่อย่างยิ่งใหญ่แต่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง.”
ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะเห็นด้วยกับทัศนะนี้. และพวกเขาก็มีเหตุผลที่ดี.
การปรับตั้งอย่างละเอียดเป็นหลักฐานของการออกแบบที่มีจุดประสงค์หรือ?
เมื่อพิจารณากฎธรรมชาติแล้ว หลายคนปฏิเสธแนวคิดที่ว่าเอกภพเกิดขึ้นโดยไม่มีจุดมุ่งหมายใด ๆ. ตัวอย่างเช่น พวกเขาประทับใจในแรงพื้นฐานซึ่งควบคุมเอกภพ. กฎธรรมชาติซึ่งควบคุมแรงเหล่านี้ดูเหมือนถูกปรับตั้งอย่างละเอียดจนทำให้เกิดเอกภพที่สามารถค้ำจุนชีวิตได้. พอล เดวีส์ นักจักรวาลวิทยากล่าวว่า “กฎธรรมชาติที่มีอยู่นี้หากเปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียวก็อาจทำให้เกิดความหายนะได้.” ยกตัวอย่าง หากโปรตอนหนักกว่านิวตรอนเพียงเล็กน้อย แทนที่จะเบากว่านิวตรอนอย่างที่เป็นอยู่ โปรตอนทั้งหมดก็จะกลายไปเป็นนิวตรอน. ถ้าอย่างนั้นแล้วผลจะเป็นอย่างไร? เดวีส์อธิบายว่า “ถ้าไม่มีโปรตอนและประจุไฟฟ้าที่สำคัญยิ่งของโปรตอน อะตอมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้.”
แรงแม่เหล็กไฟฟ้าดึงดูดอิเล็กตรอนเข้าหาโปรตอน โมเลกุลจึงก่อตัวขึ้นได้. ถ้าแรงนี้อ่อนกว่าจากที่เป็นอยู่อย่างเด่นชัด นิวเคลียสของอะตอมจะไม่สามารถดึงอิเล็กตรอนให้วิ่งอยู่รอบ ๆ ได้. อะตอมต่าง ๆ ก็จะไม่รวมตัวกันเป็นโมเลกุล. ในทางกลับกัน หากแรงนี้เข้มกว่าที่เป็นอยู่มาก
อิเล็กตรอนก็จะถูกดูดเข้าไปติดแน่นอยู่กับนิวเคลียสของอะตอม. ถ้าเป็นอย่างนั้น ปฏิกิริยาทางเคมีก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ และชีวิตก็จะไม่เกิดขึ้น.ความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของแรงแม่เหล็กไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อดวงอาทิตย์และพลังงานสุริยะซึ่งเดินทางมาถึงโลกของเรา. ความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นอาจทำให้การสังเคราะห์แสงในพืชเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย. ดังนั้น ความเข้มของแรงแม่เหล็กไฟฟ้าที่พอเหมาะพอดีเป็นตัวกำหนดว่าชีวิตบนโลกจะเกิดขึ้นได้หรือไม่. *
หนังสือวิทยาศาสตร์และศาสนาคริสเตียน—สี่ทัศนะ (ภาษาอังกฤษ) มีวิธีที่น่าสนใจในการยกตัวอย่างประกอบเพื่อแสดงถึงความสมดุลอันละเอียดอ่อนของแรงและธาตุต่าง ๆ ในเอกภพ. ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านนึกภาพนักสำรวจคนหนึ่งซึ่งไปเยือน “ห้องควบคุมของเอกภพทั้งสิ้น” ซึ่งถูกสมมุติขึ้น. ในห้องนั้น นักสำรวจเห็นปุ่มควบคุมเป็นแผงยาวเหยียดซึ่งสามารถปรับค่าอย่างไรก็ได้ และเขารู้ว่าปุ่มควบคุมแต่ละปุ่มถูกปรับตั้งอย่างแม่นยำเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้. ปุ่มหนึ่งควบคุมความเข้มของแรงโน้มถ่วง, ปุ่มหนึ่งควบคุมความเข้มของแรงแม่เหล็กไฟฟ้า, อีกปุ่มหนึ่งควบคุมอัตราส่วนของมวลนิวตรอนกับโปรตอน และปุ่มควบคุมอื่น ๆ อีกมาก. ขณะที่นักสำรวจพิจารณาปุ่มมากมายเหล่านี้ เขาพบว่าปุ่มเหล่านี้จะตั้งค่าอย่างไรก็ได้. นอกจากนั้น เป็นที่ชัดเจนสำหรับเขาหลังจากได้คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการเปลี่ยนค่าของปุ่มใดปุ่มหนึ่งแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะเปลี่ยนโครงสร้างของเอกภพไปอย่างสิ้นเชิงจนชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้. กระนั้น แต่ละปุ่มก็ถูกตั้งไว้อย่างถูกต้องแม่นยำเพื่อให้เอกภพและชีวิตดำรงอยู่ได้. ผู้มาเยือนน่าจะคิดว่าปุ่มเหล่านี้ถูกปรับตั้งขึ้นมาได้อย่างไร?
จอร์จ กรีนสไตน์ นักดาราศาสตร์กล่าวว่า “เมื่อเราตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดแล้ว ความคิดจะผุดขึ้นมาเสมอว่า น่าจะมีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือผู้ที่ทรงพลังเหนือธรรมชาติเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. เป็นไปได้ไหมที่จู่ ๆ เราก็มาพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยบังเอิญซึ่งพิสูจน์ว่ามีองค์ใหญ่ยิ่งสูงสุด?”
คุณคิดอย่างไร? คำอธิบายใดที่สมเหตุสมผลมากที่สุดในเรื่องการปรับตั้งอย่างละเอียดที่เห็นได้ในเอกภพ? การออกแบบอย่างมีวัตถุประสงค์หรือกระบวนการที่ไร้ความรู้สึกนึกคิด?
“เราเกิดมาแล้ว และนั่นคือความจริง”
แน่นอน ผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าก็มีข้อโต้แย้ง. บางคนไม่ยอมรับว่าดูเหมือนมีการปรับตั้งอย่างละเอียดในธรรมชาติโดยแย้งว่า ‘แน่นอน เอกภพที่สังเกตเห็นได้สามารถค้ำจุนชีวิตมนุษย์. ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เราก็คงไม่มีชีวิตและไม่ต้องถกกันในเรื่องนี้. ดังนั้น จึงไม่มีอะไรต้องอธิบาย. เราเกิดมาแล้ว และนั่นคือความจริง.’ แต่คุณคิดว่านั่นเป็นคำอธิบายที่น่าพอใจไหมสำหรับการดำรงอยู่ของเรา?
ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งคือสักวันหนึ่งจะมีการพิสูจน์ว่ามีเพียงตัวเลขชุดเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้ในสมการซึ่งแสดงถึงกฎพื้นฐานทางธรรมชาติ. นั่นคือปุ่มควบคุมที่กล่าวไว้ข้างต้นจำต้อง ถูกปรับตั้งอย่างแม่นยำเพื่อเอกภพจะเกิดขึ้นมาได้. บางคนบอกว่า ‘ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะมันต้องเป็นอย่างนี้!’ ถ้าแม้การหาเหตุผลแบบวกวนนี้จะเป็นจริง มันก็ยังไม่ให้คำอธิบายอย่างครบถ้วนว่าทำไมเราเกิดมา. สรุปแล้วเป็นเหตุบังเอิญไหมที่เอกภพเกิดขึ้นมาและค้ำจุนชีวิตได้?
ด้วยความพยายามจะอธิบายรูปแบบและการปรับตั้งอย่างละเอียดที่เห็นได้ในเอกภพว่าเกิดขึ้นมาโดยกระบวนการทางธรรมชาติเท่านั้น ยังมีบางคนเชื่อทฤษฎีที่ว่ามีเอกภพอีกหลายเอกภพ. ตามสมมุติฐานนี้ เราอาจจะอยู่ในเอกภพหนึ่งในบรรดาเอกภพจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดมีสภาพแตกต่างกัน แต่ไม่มีเอกภพใดถูกออกแบบหรือมีจุดมุ่ง
หมาย. ตามการหาเหตุผลดังกล่าวและกฎแห่งความเป็นไปได้ ถ้าคุณมีเอกภพจำนวนมากพอ ในที่สุดแล้วก็จะมีเอกภพหนึ่งที่เหมาะสมต่อสภาพการดำรงชีวิตอยู่. อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนทฤษฎีหลายเอกภพ. มันเป็นเพียงการคาดคะเนล้วน ๆ.หลังจากกล่าวว่าเขาไม่เชื่อในสมมุติฐานนี้ คริสตีอัน เดอ ดูฟ นักชีวเคมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลกล่าวว่า “ตามความเห็นของผม ชีวิตและจิตใจเป็นการสำแดงอย่างน่าพิศวงของสสารซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความหมาย แม้ว่าเอกภพจำนวนมากมายที่ไม่สามารถให้กำเนิดชีวิตได้นั้นจะมีอยู่จริง หรือมีความเป็นไปได้. การบอกว่ามีเอกภพอื่น ๆ อีกหลายล้านล้านเอกภพก็ไม่ทำให้ลักษณะพิเศษของเอกภพเราด้อยค่าเลย ซึ่งผมมองว่าเป็นการชี้ถึง ‘ผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด’ ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งทั้งหมดนี้.”
จิตสำนึกของมนุษย์
ข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์สามารถตั้งทฤษฎีต่าง ๆ ว่าด้วยการดำรงอยู่ของเอกภพเป็นเรื่องน่าทึ่ง. ในเอกภพที่เกิดขึ้นมาโดยไร้จุดมุ่งหมาย ความสามารถเช่นนั้นคงเป็นเพียงผลจากกระบวนการที่ไร้ความคิดจิตใจ. คุณเห็นว่าเรื่องนี้สมเหตุผลไหม?
สมองของมนุษย์ได้รับการพรรณนาว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์และลึกลับที่สุดในเอกภพ.” ลำพังความรู้ด้านฟิสิกส์และเคมีไม่ว่าจะรู้ซึ้งเพียงใด ก็ไม่อาจอธิบายได้อย่างจุใจว่าเหตุใดมนุษย์จึงสามารถคิดแบบนามธรรมและพยายามค้นหาจุดมุ่งหมายของชีวิตกันมากเหลือเกิน.
หากความคิดจิตใจของมนุษย์รวมทั้งการแสวงหาความเข้าใจไม่ได้เกิดจากผู้ทรงเชาวน์ปัญญาองค์สูงสุด มันก็คงเกิดขึ้นโดยบังเอิญ. ในความเป็นไปได้สองอย่างนี้ คุณคิดว่าอย่างไหนมีเหตุผลมากกว่า?
คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งหรือ?
จริงทีเดียว วิทยาศาสตร์บอกเรามากมายเกี่ยวกับเอกภพ, โลก, และสิ่งมีชีวิต. สำหรับบางคน ยิ่งวิทยาศาสตร์บอกเรามากเท่าไร “ดูเหมือนว่าการดำรงอยู่ของเราก็ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้มากเท่านั้น.” เรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้หากชีวิตของเราเป็นแค่ผลงานวิวัฒนาการ. อย่างไรก็ตาม หากจะใช้คำพูดของจอห์น ฮอร์แกน นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ “สิ่งที่เป็นอยู่ดูเหมือนถูกออกแบบมาอย่างชัดแจ้ง ในบางแง่ วิเศษสุดเกินกว่าที่จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ.” ฟรีแมน ไดสัน นักฟิสิกส์พูดทำนองเดียวกันว่า “ยิ่งผมพิจารณาเอกภพและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของเอกภพ ผมยิ่งพบหลักฐานที่ว่า เอกภพคงต้องรับรู้ในทางใดทางหนึ่งว่ามนุษย์กำลังจะถือกำเนิดขึ้น.”
เมื่อคำนึงถึงหลักฐาน—ความซับซ้อนในธรรมชาติ, การปรับตั้งอย่างละเอียด, การออกแบบที่ปรากฏชัด, และจิตสำนึกของมนุษย์—มีเหตุผลไม่ใช่หรือที่อย่างน้อยก็น่าจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่ว่าพระเจ้ามีอยู่จริง? เหตุผลหนึ่งที่ดีมากซึ่งเราควรจะทำอย่างนั้นก็คือ พระผู้สร้างน่าจะบอกเราได้ว่าชีวิตเกิดขึ้นมาอย่างไรและชีวิตมีจุดมุ่งหมายไหม ซึ่งเป็นคำถามที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบได้.
มีการพิจารณาคำถามเหล่านี้ในหนังสือที่เรียกว่าคัมภีร์ไบเบิล หรือพระคัมภีร์บริสุทธิ์ ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่าได้รับการดลใจจากพระผู้สร้าง. เชิญคุณพิจารณาสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวในเรื่องเหล่านี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โปรดดูหน้า 10-26 ของหนังสือพระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัยในตัวคุณมีไหม? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 8]
สมองของมนุษย์เป็นผลจากกระบวนการที่ไร้ความรู้สึกนึกคิดหรือ?
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
อะไรทำให้วิทยาศาสตร์เป็นไปได้?
การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เป็นไปได้เพราะโลกธรรมชาตินี้เป็นระเบียบ และเพราะพฤติกรรมของพลังงานและสสารสามารถคาดคะเนได้เมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่เหมือนกัน. ความเป็นระเบียบนี้สามารถแสดงออกมาทางกฎพื้นฐานทางคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, และอื่น ๆ. หากไม่มีความเป็นระเบียบดังกล่าว งานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, และแม้แต่ชีวิตก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้.
ฉะนั้นมีคำถามขึ้นมาว่า กฎธรรมชาติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? และทำไมกฎเหล่านั้นจึงเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่? หลายคนเชื่อว่าคำตอบที่มีเหตุผลที่สุดคือกฎเหล่านั้นมาจากผู้มีเชาวน์ปัญญาองค์สูงสุด. คุณเชื่ออะไรล่ะ?
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
มันเกิดขึ้นได้เองไหม?
โมเลกุลดีเอ็นเอ (deoxyribonucleic acid) ในเซลล์ที่มีชีวิตแต่ละเซลล์มีคำสั่งที่ละเอียดซับซ้อนซึ่งจำเป็นต่อพัฒนาการอย่างถูกต้องของสิ่งมีชีวิต. ดีเอ็นเออาจเปรียบได้กับข้อมูลดิจิตอลในแผ่นดีวีดี แต่มีความซับซ้อนมากกว่า. เมื่อถูกประมวลผล ข้อมูลที่เข้ารหัสในแผ่นดีวีดีทำให้เราสามารถดูวิดีโอหรือฟังเพลงได้. คล้ายกัน โมเลกุลดีเอ็นเอซึ่งมีลักษณะเหมือนบันไดเชือกที่บิดเป็นเกลียว บรรจุข้อมูลที่เข้ารหัสไว้ซึ่งเป็นรากฐานของทุกชีวิตและทำให้สิ่งมีชีวิตแตกต่างกัน เช่น กล้วยต่างจากถั่ว, ม้าลายต่างจากมด, และมนุษย์ต่างจากวาฬ.
คงไม่มีใครบอกว่าข้อมูลดิจิตอลในแผ่นดีวีดีจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ. แล้วมีเหตุผลไหมที่จะบอกว่าข้อมูลที่ซับซ้อนอย่างยิ่งในดีเอ็นเอเกิดขึ้นได้เอง?
[ที่มาของภาพหน้า 6]
Sombrero Galaxy: NASA and The Hubble Heritage Team (STScI/AURA)