การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
“พระเจ้าแห่งศาสนาคริสเตียนยังคงอยู่ในชีวิตของคนอเมริกัน แต่พระองค์ไม่สู้จะมีอิทธิพลต่อการเมืองและวัฒนธรรมของเราเหมือนเมื่อก่อน.”—วารสารนิวส์วีก สหรัฐอเมริกา
“ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้มีผู้ทนทุกข์กลุ่มใหม่เกิดขึ้นนั่นคือ คู่สมรสที่ไม่มีเงินพอเพื่อจะหย่า. ในยุคที่ยากลำบากนี้ หลายคนพบว่าการอยู่ร่วมกันต่อไปเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แม้ว่าพวกเขาจะทนคู่ของตัวเองไม่ค่อยได้.”—หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล สหรัฐอเมริกา
มารดาชาวเยอรมันหนึ่งในสามที่ถูกสอบถามได้เรียนรู้จากลูกสาวของตน เกี่ยวกับแฟชั่น, มิตรภาพ, การเป็นคนใจเย็น, หรือการมีความนับถือตัวเอง.—หนังสือพิมพ์เบอร์ลิเนอร์ มอร์เกนโพสท์ เยอรมนี
แอนติบอดียังคงอยู่ในร่างกาย
หนังสือพิมพ์อินเตอร์แนชันแนล เฮรัลด์ ทริบูน กล่าวว่า “เก้าสิบปีหลังจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด กระแสเลือดของผู้รอดชีวิตยังคงมีสารภูมิต้านทานที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งต่อต้านไวรัสปี 1918 นั่นแสดงถึงความคงทนแห่งระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์.” เมื่อตรวจเลือดของคนชราที่รอดชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปน นักวิทยาศาสตร์พบว่า “แอนติบอดียังคงอยู่ในร่างกายพร้อมจะทำลายเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เก่า.” นักวิจัยได้ผลิตวัคซีนจากแอนติบอดีเหล่านี้ซึ่งสามารถรักษาหนูที่ถูกฉีดเชื้อไข้หวัดใหญ่มรณะเข้าไปในตัวมัน. นักวิจัยรู้สึกทึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันยังคงจำเชื้อนี้ได้อยู่. นักวิจัยคนหนึ่งพูดด้วยความแปลกใจว่า “พระเจ้าประทานแอนติบอดีให้เราไว้ใช้ตลอดชีวิต! ถ้าคุณไม่ตายเพราะไข้หวัด คุณก็จะแข็งแรงขึ้น.”
คำถามที่จะถามพระเจ้า
“ทำไมจึงมีความทุกข์ยากถ้าพระองค์ทรงคุณความดีล้ำเลิศ?” นี่เป็นคำถามแรก ๆ ที่นักศึกษาวิทยาลัยแห่งประเทศสวีเดนจะถามพระเจ้าถ้าพวกเขามีโอกาส ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดาเกน แห่งสวีเดน. การสำรวจพบว่าผู้คนอยากถามเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น “จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร?” และ “เกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเราตาย?” สวีเดนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องศาสนา. ถึงกระนั้น ตัวแทนขององค์กรนักศึกษาคริสเตียนในประเทศซึ่งทำการสำรวจนี้กล่าวว่า “คำถามเหล่านี้ยังคงมีอยู่. คนหนุ่มสาวขบคิดคำถามลักษณะนี้.”
ความพิการทางกายเพิ่มความสุขในชีวิตสมรส
นักวิจัยกล่าวว่า “ทั้งผู้ชายและผู้หญิงไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร บอกว่าชีวิตสมรสของเขามีความสุขมากขึ้นหลังจากตัวเองพิการทางกาย.” การสูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันอาจก่อความเครียด แต่ก็ช่วยให้คู่สมรสใกล้ชิดกันมากขึ้น. โดยเฉพาะผู้ชายสูงอายุจะบอกว่าเขาใช้เวลาอย่างมีคุณภาพมากขึ้นกับภรรยา. คาเรน โรเบอร์โต ผู้อำนวยการศูนย์ชราภาพวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “การรับบทบาทดูแลผู้พิการและทำหน้าที่รับผิดชอบใหม่ ๆ หรือต้องจดจ่อมากกว่าเมื่อก่อน ทำให้ผู้ชายมีโอกาสช่วยเหลือและใช้เวลามากขึ้นอยู่กับภรรยา ซึ่งที่สุดแล้วทำให้เขารู้คุณค่าชีวิตสมรสมากขึ้น.”