ยุครุ่งเรืองสมัยราชินีเอลิซาเบทที่ 1—นิยายหรือความจริง?
ยุครุ่งเรืองสมัยราชินีเอลิซาเบทที่ 1—นิยายหรือความจริง?
พระนางเป็นตำนานเล่าขานตั้งแต่สมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่. นักประพันธ์, กวี, นักเขียนบทละคร, และผู้สร้างภาพยนตร์สมัยใหม่ช่วยให้ชื่อเสียงของพระนางยืนยง. ไม่กี่ปีมานี้มีการออกหนังสือและการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระนางมากมาย. จากการสำรวจความเห็นในหลายประเทศ พระนางเป็นหนึ่งในสิบของชาวบริเตนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด. พระนางคือราชินีเอลิซาเบทที่ 1 แห่งอังกฤษ.
เหตุใดราชินีองค์นี้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในสมัยของพระนางว่า ราชินีพรหมจารีและกูดควีนเบสส์ (Good Queen Bess) จึงเป็นที่สนใจของประชาชนได้อย่างยืนยาวถึงเพียงนี้? รัชสมัยของพระนางเป็นยุคอันรุ่งเรืองจริง ๆ หรือ?
พระนางสืบทอดปัญหามากมายหลายอย่าง
เอลิซาเบท ทิวเดอร์ประสูติในปี 1533 ซึ่งทำให้ราชบิดาคือเฮนรีที่ 8 ทรงผิดหวังอย่างมาก เนื่องจากคาดหวังจะได้โอรส. แอนน์ โบลีน ราชมารดาของเอลิซาเบท ซึ่งเป็นชายาองค์ที่สองของเฮนรีไม่อาจให้กำเนิดโอรสได้. เฮนรีสั่งบั่นศีรษะพระนางด้วยข้อหาที่หลายคนเชื่อว่าถูกกุขึ้น. ตอนนั้นเอลิซาเบทพระชนมายุเพียงสองพรรษา.
พอถึงตอนนั้น เฮนรีตัดความสัมพันธ์กับสันตะปาปาแห่งโรมและประกาศตั้งตนเป็นประมุขคริสตจักรแห่งอังกฤษ. หลังจากเฮนรีสิ้นพระชนม์ในปี 1547 ที่ปรึกษาทางศาสนาของกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 6 โอรสที่ทรงพระเยาว์ของพระองค์ ได้พยายามจะเปลี่ยนประชาชนในอังกฤษให้หันมานับถือนิกายโปรเตสแตนต์. เอดเวิร์ดสิ้นพระชนม์หลังจากครองราชย์เพียงหกปี และประชาชนก็กลับไปนับถือศาสนาคาทอลิกอีกภายใต้การครองราชย์ช่วงสั้น ๆ แต่โหดร้ายของแมรีที่ 1 พี่สาวต่างมารดาของเอลิซาเบท. * พอถึงเวลาที่เอลิซาเบทขึ้นครองบัลลังก์ในปี 1558 ด้วยพระชนมายุ 25 พรรษา อังกฤษไม่เพียงแตกแยกทางศาสนาแต่เกือบจะล้มละลายด้วย. อังกฤษได้สูญเสียดินแดนแห่งสุดท้ายในฝรั่งเศส และสเปนก็ยังคงเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง.
เอลิซาเบทเริ่มปกครองโดยตั้งที่ปรึกษาที่มีความสามารถหลายคน ซึ่งบางคนทำงานเกือบตลอดช่วงที่พระนางครองราชย์ 44 ปี. ปัญหาแรกที่พระนางจัดการคือปัญหาทางศาสนา. พิพิธภัณฑสถานทางทะเลแห่งชาติกล่าวว่า พระนางเลือก “ที่จะฟื้นฟูการปฏิรูปศาสนาและสร้างคริสตจักรแห่งอังกฤษซึ่งไม่เป็นทั้งคาทอลิกและไม่เป็นทั้งโปรเตสแตนต์ที่เคร่งครัด.” แทนที่จะเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักร พระนางกลายมาเป็นผู้ปกครองสูงสุดเพื่อผู้ที่ไม่อาจยอมรับผู้หญิงเป็นประมุขของคริสตจักรจะไม่ก่อความวุ่นวาย. จากนั้น รัฐสภาก็ออกพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งซึ่งกำหนดความเชื่อและกิจปฏิบัติของคริสตจักรแห่งอังกฤษให้เป็นแบบเดียวกัน แม้ว่าคงไว้ซึ่งพิธีกรรมแบบคาทอลิกบางอย่าง. เลี่ยงไม่ได้ที่ “ทางสายกลาง” นี้ไม่น่าพอใจสำหรับชาวคาทอลิกส่วนใหญ่หรือชาวพิวริตัน ซึ่งเป็นโปรเตสแตนต์ที่เคร่งศาสนา.
ยังมีปัญหาส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งในพระทัยของเอลิซาเบท. พระนางจะได้ความจงรักภักดีและความเคารพนับถืออย่างไรจากประชาชนซึ่งยังคงบอบช้ำจากหายนะสมัยแมรีที่ 1 ครองราชย์? พระนางตัดสินใจที่จะใช้เพศหญิงของตนให้เป็นประโยชน์. นักประวัติศาสตร์คริสโตเฟอร์ เฮกอธิบายว่า “เมื่อ
ประทับบัลลังก์ เอลิซาเบทเป็นราชินีพรหมจารี; สำหรับคริสตจักรพระนางเป็นมารดา, สำหรับพวกขุนนางพระนางเป็นคุณป้า, สำหรับที่ปรึกษาพระนางเป็นภรรยาที่จ้ำจี้จ้ำไช, และสำหรับข้าราชสำนักพระนางเป็นหญิงที่ใช้วาจาหว่านล้อมเก่ง.” เคล็ดลับของพระนางคือการทำให้ประชาชนมั่นใจว่า พระนางรักพวกเขาอย่างยิ่ง. ในทางกลับกัน ประชาชนก็รักพระนางด้วย หรือไม่พระนางก็พร่ำพูดเสมอว่า พวกเขารักพระนาง ในที่สุดประชาชนก็เชื่อเช่นนั้นด้วย.รัฐสภาอยากให้เอลิซาเบทอภิเษกสมรสและให้กำเนิดรัชทายาทเป็นชาวโปรเตสแตนต์. กษัตริย์และเชื้อพระวงศ์คนแล้วคนเล่ามาสู่ขอพระนาง. เอลิซาเบทจะแสร้งทำเป็นสนพระทัยและยืดการเจรจาออกไปนานนับเดือน บางครั้งเป็นปี ๆ ก่อนปฏิเสธจะรับหมั้นเมื่อสภาพทางการเมืองเอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นได้.
เมื่อเอลิซาเบทเดินทาง “สายกลาง” ด้านศาสนา พระนางจึงตกเป็นเป้าของการคบคิดกบฏ. ผู้ที่พร้อมจะเล่นงานพระนางคือแมรี สจ๊วตชาวคาทอลิกลูกพี่ลูกน้องของพระนาง ซึ่งชาวคาทอลิกในยุโรปมองว่าเป็นรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมของแมรีที่ 1. อันตรายจากแมรี สจ๊วตและพรรคพวกมีมากขึ้นในปี 1568 เมื่อแมรีถูกบังคับให้สละบัลลังก์แห่งสกอตแลนด์และได้หนีมาอยู่ที่อังกฤษ. แม้จะถูกกักบริเวณ แต่ไม่นานพระนางก็กลายเป็นจุดรวมของแผนการที่จะโค่นล้มราชินีชาวโปรเตสแตนต์ แต่ถึงอย่างไรเอลิซาเบทก็ไม่ยอมประหารชีวิตราชินีแมรี สจ็วต. ในปี 1570 สันตะปาปาปิอุสที่ 5 ออกกฤษฎีกาขับเอลิซาเบทออกจากศาสนา และถือว่าไม่มีความผิดหากประชาชนจะไม่สวามิภักดิ์ต่อพระนาง. สันตะปาปาองค์ถัดมาคือเกรกอรีที่ 13 ทำมากยิ่งกว่านั้นโดยประกาศว่าไม่บาปที่จะรุกรานอังกฤษและใช้กำลังบังคับถอดราชินี. เรื่องนี้ถึงจุดสุดยอดเมื่อแผนการของแอนโทนี บาบิงตันที่จะลอบปลงพระชนม์เอลิซาเบทถูกค้นพบและแมรีมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. ในที่สุด เอลิซาเบทก็จำใจต้องตัดสินคดีแมรี และด้วยการเร่งเร้าของรัฐสภา พระนางจึงเห็นพ้องให้ประหารชีวิตแมรีเมื่อปี 1587. ชาวคาทอลิกในยุโรปต่างก็โกรธแค้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน.
ยุทธวิธีอันห้าวหาญของฟิลิปชาวคาทอลิก
ฟิลิปซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ทรงอำนาจที่สุดของยุโรปในสมัยนั้นเคยพยายามให้อังกฤษเป็นคาทอลิกต่อ ๆ ไปโดยขออภิเษกสมรสกับเอลิซาเบทเมื่อพระนางได้เป็นราชินี แต่เอลิซาเบททรงปฏิเสธข้อเสนอนี้. เป็นเวลาหลายปีที่เรือเอกชนของอังกฤษได้ปล้นเรือและเมืองท่าต่าง ๆ ของสเปน และท้าทายอำนาจปกครองอาณานิคมของสเปน. ร้ายยิ่งกว่านั้น เอลิซาเบทให้การสนับสนุนชาวดัตช์ให้ต่อสู้เพื่อได้เอกราชพ้นอำนาจปกครองของสเปน. เมื่อแมรีถูกประหารชีวิต ความอดทนของฟิลิปก็เป็นอันสิ้นสุดลง. เมื่อสันตะปาปาเร่งเร้า ฟิลิปจึงวางแผนใช้กองเรืออาร์มาดาแห่งสเปน ซึ่งเป็นกองทัพเรือมหึมามีเรือรบมากกว่า 130 ลำ ซึ่งจะแล่นไปรับกองทหารขนาดใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ แล้วข้ามช่องแคบเข้าไปบุกโจมตีอังกฤษ. ก่อนที่กองเรือจะระดมพลเสร็จ สายลับชาวอังกฤษก็ล่วงรู้ถึงแผนการนี้. เอลิซาเบทส่งเซอร์ฟรานซิส เดรกพร้อมกับเรือรบ 30 ลำไปยังเมืองท่ากาดิซของสเปน และได้ทำลายเรือชั้นยอดจำนวนมากที่นั่น ทำให้กองเรืออาร์มาดาต้องเลื่อนปฏิบัติการไปหนึ่งปี.
ในที่สุดเมื่อกองเรืออาร์มาดาออกจากท่าในปี 1588 กองทัพเรืออังกฤษก็พร้อมรับมือ. แม้ว่าจะถูกโจมตี กองเรือสเปน * ด้วยความตื่นตกใจ กองทัพเรือสเปนก็กระจัดกระจาย และหลังจากการต่อสู้อย่างดุเดือด ลมตะวันตกเฉียงใต้ก็พัดพากองเรือออกจากฝั่งอังกฤษขึ้นเหนือไปทางสกอตแลนด์. พายุที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ สกอตแลนด์และบริเวณชายฝั่งตะวันตกของไอร์แลนด์พัดกระหน่ำจนกองเรือของสเปนจมไปครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็เดินทางกลับสเปนด้วยความยากลำบาก.
ก็ผ่านช่องแคบอังกฤษไปได้โดยไม่ได้รับความเสียหายมากนัก และทอดสมออยู่นอกเมืองท่ากาเลส์ของฝรั่งเศส. คืนถัดมา พวกอังกฤษส่งเรือบรรทุกสารไวไฟแปดลำเข้าไปและจุดไฟ.เริ่มต้น “ยุครุ่งเรือง”
เมื่อเอลิซาเบทเริ่มครองราชย์ อังกฤษไม่มีดินแดนโพ้นทะเลให้ปกครอง. ตรงกันข้าม สเปนได้ทรัพย์สมบัติมหาศาลจากดินแดนอันกว้างใหญ่ที่พิชิตได้ในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้. อังกฤษต้องการส่วนแบ่งบ้าง. ดังนั้น เหล่านักผจญภัยจึงแล่นเรือข้ามมหาสมุทรเพื่อแสวงหาชื่อเสียง, ทรัพย์สมบัติ, และเส้นทางการค้าใหม่ ๆ ที่จะไปสู่จีนและตะวันออกไกล. เซอร์ฟรานซิส เดรกกลายเป็นกัปตันเรือคนแรกที่ใช้เรือของตนแล่นไปรอบโลก โดยปล้นเรือบรรทุกสมบัติของสเปนขณะที่เขาสำรวจชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ. เซอร์วอลเตอร์ ราลีท้าทายอำนาจของสเปนในการควบคุมโลกใหม่ โดยที่เขาสนับสนุนการตั้งอาณานิคมบนชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเหนือ. เขาตั้งชื่อดินแดนที่เขาอ้างสิทธิ์ว่าเวอร์จิเนีย เพื่อเป็นเกียรติแด่ราชินีพรหมจารีแห่งอังกฤษ. ถึงแม้ความพยายามจะตั้งอาณานิคมสมัยแรก ๆ นั้นไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ปลุกความสนใจของอังกฤษให้พยายามอีกในเวลาต่อมา. เมื่ออังกฤษพิชิต “กองเรืออาร์มาดาที่ไม่มีวันพ่ายแพ้” ได้ อังกฤษก็มั่นใจกองทัพเรือของตนมากขึ้นและเอลิซาเบทก็สนับสนุนการเดินทางเพื่อการค้าขายในอีกซีกโลกหนึ่งทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. มีการวางพื้นฐานไว้สำหรับจักรวรรดิอังกฤษซึ่งในที่สุดก็ได้แผ่ไปทั่วโลก. *
ส่วนเรื่องภายในประเทศ ก็มีการสนับสนุนการศึกษา. เปิดโรงเรียนใหม่ ๆ ซึ่งให้โอกาสนักเรียนนักศึกษาได้สัมผัสโลกแห่งวรรณกรรม. ด้วยความกระหายความรู้ด้านวรรณคดี พร้อมกับความก้าวหน้าด้านการพิมพ์ ทำให้เกิดความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม. นั่นคือยุคของวิลเลียม เชกสเปียร์และนักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่คนอื่น ๆ. ผู้ชมพากันหลั่งไหลเข้าไปในโรงละครที่เปิดใหม่เพื่อเพลิดเพลินกับการแสดงละคร. กวีเขียนบทร้อยกรองซอนเนตได้ไพเราะจับใจและนักแต่งเพลงได้สร้างดนตรีแนวใหม่. ศิลปินที่มีทักษะได้ระบายสีแต่งหุ่นราชินีและข้าราชสำนักอย่างงดงาม. คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลใหม่ ๆ ตั้งโดดเด่นอยู่ในโบสถ์และในบ้านเรือน. แต่ยุครุ่งเรืองนี้ไม่ยั่งยืน.
ยุครุ่งเรืองสิ้นสุดลง
ชีวิตบั้นปลายของเอลิซาเบทเต็มไปด้วยปัญหา. พระนางมีชีวิตยืนยาวกว่าที่ปรึกษาหลายคนที่พระนางไว้วางใจ และพระนางได้มอบอภิสิทธิ์แก่บุคคลเพียงไม่กี่คน ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในราชสำนัก และมีความพยายามจะก่อกบฏด้วยซ้ำแต่ไม่สำเร็จ. อาณาจักรของพระนางก็เกิดการแตกแยกทางศาสนาอีกครั้งหนึ่ง. ชาวคาทอลิกไม่ยอมร่วมการนมัสการของฝ่ายโปรเตสแตนต์ และถูกข่มเหงมากขึ้นเรื่อย ๆ. เมื่อการครองราชย์ของพระนางสิ้นสุดลง บาทหลวงและฆราวาสราว 200 คนถูกประหาร. พวกพิวริตันได้ถูกจำคุกและถูก
ประหารเช่นกัน. การกบฏขัดขืนอำนาจปกครองของอังกฤษก็เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ สงครามกับสเปนก็ยังคงดำเนินอยู่. การเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ผลตลอดสี่ปีต่อเนื่องกันจึงเป็นเหตุให้ไม่มีงานทำและมีคนจรจัดเพิ่มขึ้น และผู้คนก่อการจลาจลเพราะราคาอาหารสูงขึ้น. ผู้คนเริ่มเสื่อมความนิยมพระนางเอลิซาเบท. อังกฤษสิ้นรักในราชินีพรหมจารีของตนเสียแล้ว.เอลิซาเบทค่อย ๆ เริ่มหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ แล้วพระนางซึ่งเป็นผู้ครอบครององค์สุดท้ายของราชวงศ์ทิวเดอร์ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 1603. เมื่อคนในชาติได้ข่าวก็ตะลึงงัน แต่พอถึงตอนเย็นพวกเขาได้เฉลิมฉลองกษัตริย์องค์ใหม่ด้วยการจุดกองไฟกลางแจ้งและจัดงานรื่นเริงตามถนน. ในที่สุด ประชาชนก็ได้กษัตริย์ นั่นคือเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ โอรสชาวโปรเตสแตนต์ของแมรี สจ็วต. เมื่อได้มาเป็นเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ พระองค์ทำสิ่งที่เอลิซาเบทไม่สามารถจะทำได้ นั่นคือการรวมสองอาณาจักรไว้ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว. อย่างไรก็ตาม ความปลื้มปีติในตอนแรกไม่ช้าก็กลายเป็นความผิดหวัง และประชาชนก็เริ่มหวนคิดถึงอดีตสมัยของเอลิซาเบท.
ยุคนั้นรุ่งเรืองจริง ๆ หรือ?
นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นเขียนยกย่องสดุดีพระนางเอลิซาเบท. หลังจากพระนางสิ้นพระชนม์ไม่กี่ปี วิลเลียม แคมเดนพรรณนารัชสมัยของพระนางว่าเป็นยุคอันรุ่งเรืองแห่งความก้าวหน้า โดยที่ราชินีเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่. ไม่มีใครคัดค้านทัศนะเช่นนี้เป็นเวลาหลายร้อยปี. ชื่อเสียงของเอลิซาเบทยิ่งโด่งดังมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อพระนางได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ก่อกำเนิดจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นครอบครองดินแดนถึงหนึ่งในสี่ของโลก.
นักประวัติศาสตร์สมัยนี้บางคนไม่ได้มองว่ารัชสมัยของเอลิซาเบทน่ายกย่องถึงขนาดนั้น. หนังสือประวัติศาสตร์อังกฤษประกอบภาพโดยออกซฟอร์ด (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “ชื่อเสียงที่เอลิซาเบทได้รับหลังการสิ้นพระชนม์แล้วนั้นมากเกินกว่าความสำเร็จจริง ๆ ของพระนาง. เห็นได้ชัดว่าการโฆษณาชวนเชื่อของพระนางเอง, . . . พระชนม์ที่ยืนยาวของพระนาง, การประจวบกันกับยุคของเชกสเปียร์, และการเอาชนะกองเรืออาร์มาดาได้เพราะโชคอำนวย ทำให้เราหลงร่วมเยินยอพระนางและมองข้ามข้อเท็จจริงธรรมดาที่ว่าพระนางไม่ดำเนินการใด ๆ และปล่อยให้อังกฤษเสื่อมลงจนไม่อาจควบคุมได้.” เฮกซึ่งกล่าวถึงข้างต้น ให้เหตุผลที่นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกลงอย่างนั้นว่า “ในปี 1603 เอลิซาเบทดูเหมือนเป็นผู้หญิงแก่ ๆ ที่ขาดสติ ขณะเดียวกันพวกผู้ชายก็คาดหมายจะได้กษัตริย์ราชวงศ์สจ๊วต. พอถึงปี 1630 เมื่อปรากฏว่ากษัตริย์ราชวงศ์สจ๊วตน่าผิดหวังยิ่งกว่า พระนางก็เลยกลายเป็นผู้ครอบครองที่ประชาชนคิดว่าน่ายกย่องที่สุด.”
ไม่น่าสงสัยว่าเอลิซาเบทเป็นสตรีที่โดดเด่นในโลกของผู้ชาย. พระนางเฉลียวฉลาดและมีพระทัยมุ่งมั่น เก่งด้านประชาสัมพันธ์ด้วยการช่วยเหลือของบรรดารัฐมนตรี ผู้ซึ่งชำนิชำนาญในการเขียนสุนทรพจน์, การปรากฏตัวต่อสาธารณชน, การแต่งฉลองพระองค์, และสาทิสลักษณ์เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของราชินีและยุครุ่งเรืองซึ่งกลายเป็นตำนาน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 ดูบทความ “ยอมรับแล้วว่ามีอคติทางศาสนา” ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 เมษายน 2000 หน้า 12-14.
^ วรรค 13 เรือชนิดนี้คือเรือรบที่บรรทุกวัตถุระเบิดและวัตถุไวไฟอื่น ๆ ซึ่งเมื่อจุดไฟแล้วก็ปล่อยให้ลอยเข้าไปท่ามกลางกองเรือศัตรูเพื่อสร้างความเสียหาย.
[คำโปรยหน้า 22]
“ชื่อเสียงที่เอลิซาเบทได้รับหลังการสิ้นพระชนม์แล้วนั้นเกินความสำเร็จที่แท้จริงของพระนาง”
[กรอบ/ภาพหน้า 22]
จอห์น ดี และจักรวรรดิอังกฤษ
เอลิซาเบทให้ฉายาจอห์น ดี (ปี 1527-1608/9) ว่าเป็นนักปรัชญาส่วนพระองค์. เขาเป็นนักคณิตศาสตร์, นักภูมิศาสตร์, และนักดาราศาสตร์ซึ่งได้รับความนับถือ และเขายังสนใจอย่างมากเรื่องโหราศาสตร์และศาสตร์ลี้ลับ. เขาดูฤกษ์ดูยามให้ราชินีว่าควรจัดพิธีราชาภิเษกวันใด และใช้วิทยาการของเขาในราชสำนัก. เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทำให้คำว่า “จักรวรรดิอังกฤษ” เป็นที่รู้จักกันมาก และเขาได้สนับสนุนเอลิซาเบทให้มองตนเองเป็นจักรพรรดินีของจักรวรรดิในอนาคตโดยมีอำนาจควบคุมมหาสมุทรทั้งหลายและตั้งอาณานิคมในดินแดนใหม่ ๆ. เพื่อวัตถุประสงค์นี้เอง เขาสอนการเดินเรือแก่บรรดานักสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นหาเส้นทางเดินเรือตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อไปยังตะวันออกไกล และเขาสนับสนุนแผนการจัดตั้งอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ.
[ที่มาภาพ]
Photograph taken by courtesy of the British Museum
[ภาพหน้า 20, 21]
ก. เรือบรรทุกสารไวไฟของอังกฤษถูกส่ง เข้าไปในกองเรืออาร์มาดาของสเปน ข. เซอร์ฟรานซิส เดรก ค. ราชินีเอลิซาเบท ง. โรงละครเดอะ โกลบ จ. วิลเลียม เชกสเปียร์
[ที่มาภาพ]
ก: From the book The History of Protestantism (Vol. III); ข: ORONOZ; ค: From the book Heroes of the Reformation; ง: From the book The Comprehensive History of England (Vol. II); จ: Encyclopædia Britannica/11th Edition (1911)
[ที่มาภาพหน้า 19]
© The Bridgeman Art Library International