การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
“เวลานี้ประชากรโลกมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ใช้โทรศัพท์มือถือ . . . นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แค่หกปีมานี้เอง ซึ่งตอนนั้นมีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ.”—นิตยสารแมกคลีนส์ แคนาดา
ช่วงสิบปีหลังนี้ มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ถึง 1,068 ชนิดในแถบแม่น้ำโขงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.—กองทุนสัตว์ป่าโลก สหรัฐ
“อเมริกามีพลเมืองไม่ถึง 5% ของประชากรโลก แต่มีนักโทษเกือบ 25% ของโลก. ประเทศนี้มีผู้ต้องขัง 756 คนต่อประชากร 100,000 คน มีอัตราส่วนเกือบห้าเท่าของเฉลี่ยนักโทษในโลก.”—นิตยสารดิ อิโคโนมิสต์ บริเตน
“การถูกขัดจังหวะมากเกินไป”
การสื่อสารไฮเทคบางรูปแบบอาจจะทำให้ขาดสมาธิขณะกำลังทำงาน. ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยการติดต่อระหว่างมนุษย์กับเครื่องกล เช่น การส่งข้อความทันที, ระบบปฏิทินเตือนความจำ, ระบบแจ้งเตือนอีเมล, และภาพหรือข้อความที่ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ ได้รายงานว่าผู้ที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวประสบกับ “การถูกขัดจังหวะมากเกินไปและไม่สามารถจดจ่อได้ต่อเนื่อง.” วารสารนิวส์วีก กล่าวว่า ผลจากการถูกขัดจังหวะอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ “คุณไม่อาจจดจ่อได้นานกับความคิดอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะและไม่สามารถทำงานใด ๆ ให้สำเร็จรวดเดียวได้เลย.” การขัดจังหวะเช่นนั้นอาจทำให้ “สูญเสียความจำ” และ “จำผิดจำถูก” หรือไม่ก็อาจทำงานผิดพลาดที่ก่อความเสียหายมากมาย.
ต้องการผู้แปล
ศาล, องค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย, โรงพยาบาล, และผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ในสหรัฐต้องการความช่วยเหลืออยู่เสมอเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่ประชาชนพูด. หน่วยงานจัดส่งผู้แปลเพื่อสนองความจำเป็นจะสื่อสารในสิ่งที่สำนักข่าวรอยเตอร์เรียกว่า “โลกที่ใช้หลายภาษามากขึ้น.” บริษัทหนึ่งในแคลิฟอร์เนียได้จ้างล่ามถึง 5,200 คนซึ่งพูดได้ถึง 176 ภาษา นับจากภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น จีน, รัสเซีย, และสเปน ไปจนถึงภาษาที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น ภาษาที่พูดกันในบางภูมิภาคของแอฟริกาและเม็กซิโก. รายงานกล่าวว่า ในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที บริษัทเหล่านี้สามารถ “รู้ได้ว่าคนหนึ่งพูดภาษาอะไร” และจะโอนสายไปให้ล่ามพูดกับลูกค้าเพื่อ “จะเข้าใจสิ่งที่เขาพูด.”
ไม่คาดคิดว่าจะมีแหล่งแร่ทองคำ
ข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ในญี่ปุ่นรายงานว่า ที่จังหวัดนากาโนะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียว มีการ “ค้นพบแหล่งแร่อันอุดมแห่งใหม่ นั่นคือในน้ำเสีย.” การวิเคราะห์แสดงว่าเถ้าถ่านที่ได้จากการเผากากตะกอนน้ำเสียในโรงบำบัดซุวะมีทองคำผสมอยู่ในอัตราส่วนสูงกว่าสินแร่ในเหมืองทองที่อุดมที่สุดของญี่ปุ่น. จังหวัดนี้คาดว่าจะได้รับทองคำมูลค่า 15 ล้านเยน หรือ 167,000 ดอลลาร์ภายในหนึ่งปีงบประมาณ. ตามที่กล่าวในรายงานนี้ เข้าใจกันว่าการมีทองคำอยู่มากในน้ำเสีย “สาเหตุคงเนื่องมาจากในบริเวณนั้นมีโรงงานจำนวนมากได้ใช้ทองคำผลิตอุปกรณ์ที่ละเอียดและเที่ยงตรง.”