ความเชื่อในพระเจ้ามีเหตุผลไหม?
ความเชื่อในพระเจ้ามีเหตุผลไหม?
คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมทุกสิ่งนับตั้งแต่อนุภาคของอะตอมจนถึงกาแล็กซีอันกว้างใหญ่จึงถูกควบคุมด้วยกฎทางคณิตศาสตร์ที่แม่นยำ? คุณเคยไตร่ตรองดูความหลากหลาย, ความซับซ้อน, และรูปแบบอันน่าทึ่งของชีวิตไหม? คนจำนวนมากเชื่อว่าเอกภพและชีวิตเกิดจากเหตุบังเอิญครั้งใหญ่และวิวัฒนาการ. ส่วนบางคนเชื่อว่ามีพระผู้สร้างที่ทรงเชาวน์ปัญญา. คุณคิดว่าแนวคิดไหนมีเหตุผลมากกว่ากัน?
แน่นอน ทั้งสองแนวคิดต้องอาศัยความเชื่อ. การจะเชื่อพระเจ้าต้องอาศัยความเชื่อ. เพราะพระคัมภีร์กล่าวว่า “ไม่มีคนใดเคยเห็นพระเจ้าเลย.” (โยฮัน 1:18) ทำนองเดียวกัน ไม่มีมนุษย์คนใดได้เห็นการก่อตัวของเอกภพหรือการเริ่มต้นของชีวิต. และไม่มีใครเคยได้เห็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งวิวัฒน์สู่ระดับที่สูงขึ้น หรือแม้แต่กลายเป็นอีกชนิดหนึ่ง. หลักฐานฟอสซิลแสดงว่าสัตว์กลุ่มหลัก ๆ ปรากฏขึ้นอย่างกะทันหันและแทบไม่เปลี่ยนรูปแบบเลย. * ฉะนั้น คำถามสำคัญคือ: ความเชื่อแบบใดอาศัยหลักฐานที่หนักแน่น ความเชื่อในวิวัฒนาการหรือความเชื่อในพระผู้สร้าง?
ความเชื่อของคุณอาศัยหลักฐานที่หนักแน่นไหม?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความเชื่อ” แท้คือ “ความแน่ใจโดยมีหลักฐานชัดเจน ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีจริง.” (ฮีบรู 11:1) ฉบับมาตรฐาน 2002 แปลข้อนี้ว่า “ความเชื่อ . . . เป็นความแน่ใจในสิ่งที่มองไม่เห็น.” ไม่ต้องสงสัยว่า คุณสามารถจะนึกถึงหลายสิ่งมากมายที่มีอยู่จริง ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็น แต่คุณก็เชื่อมั่นว่ามีจริง.
เพื่อให้ตัวอย่าง: นักประวัติศาสตร์หลายคนซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือเชื่อว่าอะเล็กซานเดอร์มหาราช, จูเลียส ซีซาร์, และพระเยซูคริสต์เคยมีชีวิตอยู่จริง. ความเชื่อของนักประวัติศาสตร์เหล่านี้อาศัยข้อเท็จจริงไหม? ใช่ เพราะพวกเขาสามารถยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมายืนยันได้.
เช่นเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อสิ่งที่มีอยู่จริงซึ่งมองไม่เห็น เพราะมี “หลักฐานชัดเจน” ที่แสดงว่าสิ่งเหล่านั้นมีจริง. ตัวอย่างเช่น ดมิตรัย เมนเดเลเยฟ นักเคมีชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 19 หลงใหลไปกับความสัมพันธ์กันระหว่างธาตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเอกภพ. เขาตระหนักว่าธาตุเหล่านั้นมีบางอย่างเหมือนกันและอาจแยกออกเป็นกลุ่มได้ทั้งโดยน้ำหนักเชิงอะตอมและคุณสมบัติทางเคมี. เนื่องจากเขามีความเชื่อในลำดับของกลุ่มต่าง ๆ เขาจึงร่างตารางธาตุขึ้นมาและคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องว่าธาตุบางอย่างซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันในเวลานั้นมีอยู่จริง.
นักโบราณคดีมักจะลงความเห็นในเรื่องอารยธรรมยุคโบราณโดยอาศัยวัตถุที่ถูกฝังมานานหลายพันปี. ตัวอย่างเช่น ลองนึกภาพว่านักโบราณคดีได้ขุดพบหินที่ถูกตัดอย่างประณีตเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหลายสิบก้อนซึ่งมีขนาดเท่ากันพอดีและวางซ้อนกันในแนวตรงอย่างเป็นระเบียบ. นอกจากนั้น ก้อนหินเหล่านี้ถูกวางเรียงกันเป็นรูปเรขาคณิตซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ. นักโบราณคดีจะลงความเห็นอย่างไร? เขาจะถือว่าสิ่งที่เขาค้นพบเกิดขึ้นโดยบังเอิญไหม? เขาคงไม่คิดเช่นนั้นแน่. แต่เขาจะถือว่ามันเป็นหลักฐานแสดงกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต และนั่นเป็นการลงความเห็นอย่างสมเหตุสมผล.
เพื่อจะให้เสมอต้นเสมอปลาย เราก็ควรหาเหตุผลในทำนองเดียวกันเมื่อพิจารณาการออกแบบที่เห็นในโลกธรรมชาติ
มิใช่หรือ? ผู้คนมากมายได้รับเอาแนวคิดเช่นนั้น รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ.ความบังเอิญที่ปราศจากการควบคุมหรือการออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมาย
หลายปีก่อน เซอร์เจมส์ จีนส์ นักคณิตศาสตร์, นักฟิสิกส์, และนักดาราศาสตร์ชาวบริเตน เขียนว่า เมื่อคำนึงถึงความก้าวหน้าด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ “เอกภพเริ่มจะดูคล้ายกับความคิดที่ยิ่งใหญ่มากกว่าจะเป็นเครื่องจักรอันยิ่งใหญ่.” เขายังกล่าวด้วยว่า “เอกภพดูเหมือนถูกออกแบบโดยนักคณิตศาสตร์แท้” และบอกว่าเอกภพให้ “หลักฐานแสดงพลังการออกแบบหรือพลังที่ควบคุมซึ่งไม่ต่างกับจิตใจของพวกเรา.”
ตั้งแต่จีนส์เขียนถ้อยคำข้างต้น นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ก็ได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กัน. พอล เดวีส์ นักฟิสิกส์เขียนว่า “ความเป็นระเบียบของเอกภพโดยรวมให้ข้อคิดแก่นักดาราศาสตร์หลายคนในปัจจุบันว่าต้องมีการออกแบบ.” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งเขียนว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถเข้าใจ [โลกธรรมชาติ] ได้นั้นถือเป็นเรื่องอัศจรรย์.” ในสายตาของหลายคน เรื่องอัศจรรย์นี้รวมไปถึงชีวิต ตั้งแต่องค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตจนถึงสมองที่น่าทึ่งของมนุษย์.
ดีเอ็นเอและสมองของมนุษย์
ดีเอ็นเอเป็นข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ประกอบด้วยเซลล์ และเป็นพื้นฐานทางโมเลกุลสำหรับพันธุกรรม. * กรดที่ซับซ้อนนี้ถูกเปรียบเป็นแบบพิมพ์เขียวหรือสูตรทำอาหาร เพราะในดีเอ็นเออัดแน่นไปด้วยข้อมูลซึ่งเข้ารหัสในรูปของสารเคมี และถูกเก็บไว้ในระดับโมเลกุลซึ่งสามารถถอดรหัสและปฏิบัติตามคำสั่งได้. มีข้อมูลมากแค่ไหนถูกเก็บไว้ในดีเอ็นเอ? ถ้าหน่วยพื้นฐานที่เรียกว่านิวคลีโอไทด์ถูกถอดรหัสเป็นตัวอักษร ก็จะ “กินเนื้อที่ในหนังสือขนาดปกติมากกว่าหนึ่งล้านหน้า” หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้.
ในสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ ดีเอ็นเอม้วนพันกันเป็นเกลียวเหมือนเส้นด้ายเรียกว่าโครโมโซม ซึ่งเก็บไว้อย่างปลอดภัยภายในนิวเคลียสของแต่ละเซลล์. นิวเคลียสมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ไมโครเมตร. * คิดดูสิ ข้อมูลทั้งหมดที่ก่อให้เกิดร่างกายของคุณซึ่งไม่เหมือนใคร สามารถพบได้ในที่เก็บขนาดจิ๋วซึ่งต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์! ดังที่นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งกล่าวไว้อย่างเหมาะสม สิ่งมีชีวิตมี “ระบบเก็บและค้นคืน ข้อมูลที่เล็กที่สุดเท่าที่รู้จักกัน.” เรื่องนี้น่าทึ่งเมื่อคุณคิดถึงหน่วยความจำของชิปคอมพิวเตอร์, แผ่นดีวีดี, และสิ่งอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กัน! ยิ่งกว่านั้น ดีเอ็นเอยังไม่ได้เผยความลับทุกอย่างของมัน. วารสารนิว ไซเยนติสต์ กล่าวว่า “การค้นพบทุกครั้งเผยให้เห็นความซับซ้อนมากขึ้น.” *
สมเหตุผลไหมที่จะถือว่าการออกแบบและระเบียบที่สมบูรณ์นี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญซึ่งปราศจากการควบคุม? ถ้าคุณเผอิญพบคู่มือเทคนิคที่ซับซ้อนหนาหนึ่งล้านหน้าซึ่งเขียนเป็นรหัสที่มีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบเรียบร้อย คุณจะถือว่าหนังสือเล่มนั้นเขียนขึ้นด้วยตัวมันเองไหม? จะว่าอย่างไรถ้าหนังสือนั้นเล็กจิ๋วจนต้องอ่านด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่ทรงประสิทธิภาพ? และจะว่าอย่างไรถ้าหนังสือนั้นมีคำแนะนำที่ถูกต้องสำหรับการผลิตเครื่องจักรที่คิดได้อย่างฉลาดซึ่งสามารถซ่อมตัวเอง, ถอดแบบตัวเอง, และมีอะไหล่หลายพันล้านชิ้น และทุกส่วนต้องประกอบเข้าด้วยกันในเวลาที่เหมาะสมและในวิธีที่ถูกต้อง? แน่นอนว่า คงไม่มีใครคิดว่าหนังสือประเภทนี้จะเกิดขึ้นเอง.
หลังจากได้วิเคราะห์การค้นคว้าในปัจจุบันเกี่ยวกับการทำงานภายในเซลล์ แอนโทนี ฟลู นักปรัชญาชาวอังกฤษ ซึ่งเคยสนับสนุนอเทวนิยมแบบสุดโต่ง กล่าวว่า “ความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อในเรื่องการจัดระเบียบซึ่งจำเป็นต่อการกำเนิด (ชีวิต) [แสดงว่า] ต้องมีเชาวน์ปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย.” ฟลูถือว่า “ไม่ว่าหลักฐานจะให้คำตอบอย่างไรเราก็ควรเชื่อตามนั้น.” ในกรณีของเขา นั่นนำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิดอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งตอนนี้เขามีความเชื่อในพระเจ้าแล้ว.
สมองของมนุษย์ก็เช่นกันที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์มากมายรู้สึกทึ่ง. สมองเป็นผลิตผลของดีเอ็นเอ และถูกพรรณนาว่าเป็น “สิ่งซับซ้อนที่สุดในเอกภพ.” แม้แต่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ล้ำหน้าที่สุดก็ยังดูล้าสมัยมากเพื่อเทียบกับก้อนเซลล์ประสาทกับโครงสร้างอื่น ๆ ซึ่งเป็นสีเทาอมชมพูน้ำหนักราว ๆ 1.4 กิโลกรัม. ในความคิดของนักประสาทวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ยิ่ง
นักวิทยาศาสตร์เรียนเกี่ยวกับสมองและความคิดจิตใจมากเท่าไร “ก็ยิ่งน่าพิศวงและดูลึกลับมากเท่านั้น.”ลองคิดดู: สมองทำให้เราสามารถหายใจ, หัวเราะ, ร้องไห้, แก้ปริศนา, สร้างคอมพิวเตอร์, ขี่จักรยาน, เขียนบทกวี, และเงยหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยความรู้สึกเกรงขาม. มีเหตุผลและเสมอต้นเสมอปลายไหมที่จะถือว่าความสามารถหรือศักยภาพเหล่านี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญซึ่งปราศจากการควบคุม?
ความเชื่ออาศัยหลักฐาน
เพื่อจะเข้าใจตัวเองและได้คำตอบ เราควรจะมองดูลิงและสัตว์ชั้นต่ำอื่น ๆ อย่างที่นักวิวัฒนาการมอง หรือควรจะมองขึ้นไปโดยหวังจะได้คำตอบจากพระเจ้า? จริงอยู่ เรามีลักษณะบางอย่างคล้ายกับสัตว์. ตัวอย่างเช่น เราต้องกิน, ดื่ม, นอนหลับ, และสามารถสืบพันธุ์ได้. กระนั้น เราไม่เหมือนสัตว์ในหลายทาง. ตามเหตุผลแล้ว ลักษณะเด่นของมนุษย์น่าจะมาจากผู้ที่เหนือกว่าตัวเรา นั่นคือจากพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงความคิดนั้นอย่างรวบรัดว่า พระเจ้าสร้างมนุษยชาติ “ตามแบบพระองค์” ทั้งด้านศีลธรรมและวิญญาณ. (เยเนซิศ 1:27, ล.ม.) คุณน่าจะไตร่ตรองดูลักษณะของพระเจ้าซึ่งมีบันทึกอยู่ในพระบัญญัติ 32:4; ยาโกโบ 3:17, 18; และ 1 โยฮัน 4:7, 8.
พระผู้สร้างได้ประทาน “ความเข้าใจ” แก่เราเพื่อจะสำรวจโลกรอบ ๆ ตัวเราและเพื่อจะพบคำตอบที่น่าพอใจที่เราอยากรู้. (1 โยฮัน 5:20) ในเรื่องนี้ วิลเลียม ดี. ฟิลลิปส์ นักฟิสิกส์และผู้ได้รับรางวัลโนเบล เขียนว่า “เมื่อผมพิจารณาความเป็นระเบียบ, ความเรียบง่ายจนเราสามารถเข้าใจได้, และความงดงามของเอกภพ ผมก็ต้องลงความเห็นว่าผู้มีเชาวน์ปัญญาที่สูงกว่าได้ออกแบบสรรพสิ่งที่ผมเห็น. ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความต่อเนื่องกันและความเรียบง่ายทางกายภาพที่น่าชื่นชมได้ทำให้ความเชื่อของผมในพระเจ้าเข้มแข็งขึ้น.”
ประมาณสองพันปีมาแล้ว ผู้สังเกตการณ์ที่ฉลาดสุขุมเกี่ยวกับโลกธรรมชาติเขียนว่า “คุณลักษณะของ [พระเจ้า] อันไม่ประจักษ์แก่ตา คือฤทธิ์อันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ก็เห็นได้ชัดตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา เพราะคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้โดยดูจากสิ่งที่ถูกสร้าง.” (โรม 1:20) ผู้เขียนคือคริสเตียนอัครสาวกเปาโล ซึ่งเป็นบุรุษผู้ชาญฉลาดและได้รับการศึกษาสูงในด้านกฎหมายของโมเซ. ความเชื่อที่อาศัยเหตุผลของท่านทำให้ท่านเชื่อมั่นว่าพระเจ้าดำรงอยู่จริง ส่วนความสำนึกในความยุติธรรมกระตุ้นให้ท่านถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าสำหรับงานสร้างสรรค์ของพระองค์.
เราหวังอย่างจริงใจว่าคุณจะเห็นด้วยเช่นกันว่า ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผลเสียเลยที่จะเชื่อพระเจ้า. ที่จริง เช่นเดียวกับเปาโล ขอให้คุณทำมากกว่าแค่เชื่อว่าพระองค์ดำรงอยู่จริง. ขอให้คุณทำความเข้าใจมากขึ้นอย่างที่หลายล้านคนเข้าใจว่าพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นองค์วิญญาณผู้มีคุณลักษณะที่ชวนให้รักใคร่ซึ่งสะท้อนอยู่ในหัวใจของมนุษย์ และดึงดูดเราให้เข้าใกล้พระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 83:18; โยฮัน 6:44; ยาโกโบ 4:8
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ดูบทความ “วิวัฒนาการเป็นความจริงไหม?” ในตื่นเถิด! ฉบับกันยายน 2006.
^ วรรค 14 ดีเอ็นเอย่อมาจากกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (deoxyribonucleic acid).
^ วรรค 15 ไมโครเมตรเป็นหน่วยวัดความยาวเท่ากับเศษหนึ่งส่วนล้านของเมตร.
^ วรรค 15 เมื่อชาลส์ ดาร์วินคิดค้นเรื่องวิวัฒนาการ เขาไม่รู้เลยว่าเซลล์ของสิ่งมีชีวิตซับซ้อนขนาดไหน.
[กรอบหน้า 24]
ความชั่วร้ายของศาสนาเป็นเหตุอันควรไหมที่จะไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า?
ผู้คนมากมายไม่เชื่อว่ามีพระผู้สร้างเนื่องจากสิ่งชั่วต่าง ๆ และการทุจริตซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วจนทำให้ประวัติของหลายศาสนามัวหมอง. นั่นเป็นเหตุผลอันควรไหมที่จะไม่เชื่อพระผู้สร้าง? ไม่. รอย เอบราแฮม วาร์เกเซ กล่าวในคำนำของหนังสือมีพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) ที่แอนโทนี ฟลูเขียนว่า “ความฟุ้งเฟ้อและความร้ายกาจของศาสนาใหญ่ ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยกับประเด็นที่ว่าพระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ เช่นเดียวกับภัยคุกคามจากการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยกับประเด็นที่ว่าพลังงานเท่ากับมวลสารคูณด้วยความเร็วของแสงยกกำลังสองหรือไม่ (E=mc2).”
[ภาพหน้า 23]
ถ้าสิ่งก่อสร้างโบราณมีมนุษย์สร้างขึ้น แล้วใครได้สร้างโลกธรรมชาติขึ้นมา?
[ภาพหน้า 23]
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
[ภาพหน้า 24, 25]
ดีเอ็นเอเป็นเสมือนหนังสือขนาดจิ๋วซึ่งบรรจุคำสั่งที่แม่นยำเพื่อสร้างชีวิตที่มีเชาวน์ปัญญา
[ภาพหน้า 25]
สมองมนุษย์ถูกพรรณนาว่าเป็น “สิ่งซับซ้อนที่สุดในเอกภพ”
[ที่มาของภาพหน้า 22]
© The Print Collector/age fotostock