ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำไมฉันกับพ่อแม่เถียงกันอยู่เรื่อย?

ทำไมฉันกับพ่อแม่เถียงกันอยู่เรื่อย?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า

ทำไม​ฉัน​กับ​พ่อ​แม่​เถียง​กัน​อยู่​เรื่อย?

ใน​เหตุ​การณ์​สมมุติ​ข้าง​ล่าง​นี้ เรเชล​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​ถึง​สาม​ทาง​ด้วย​กัน. คุณ​บอก​ได้​ไหม​ว่า​มี​อะไร​บ้าง? เขียน​คำ​ตอบ​ของ​คุณ​ลง​ข้าง​ล่าง​ต่อ​จาก​เหตุ​การณ์​นี้ แล้ว​ตรวจ​คำ⁠ตอบ​ใน​กรอบ​ท้าย​บทความ.

คืน​นี้​เป็น​คืน​วัน​พุธ. เรเชล วัย 17 ปี เพิ่ง​ทำ​งาน​บ้าน​เสร็จ​และ​อยาก​จะ​พักผ่อน​หาย​เหนื่อย​เสีย​ที! เธอ​เปิด​ทีวี​และ​ทรุด​ตัว​ลง​บน​เก้าอี้​ตัว​โปรด.

ตอน​นั้น​แม่​ก็​กลับ​มา​พอ​ดี และ​ท่า​ทาง​อารมณ์​เสีย. “เรเชล! ทำไม​ลูก​มัว​แต่​เสีย​เวลา​ดู​ทีวี แทน​ที่​จะ​ช่วย​น้อง​ทำ​การ​บ้าน? แม่​สั่ง​อะไร​ไม่​เคย​ทำ​ตาม​เลย!”

เรเชล​บ่น​เสียง​ดัง​พอ​ที่​แม่​จะ​ได้​ยิน​ว่า “เอา​อีก​แล้ว.”

แม่​ยื่น​หน้า​พร้อม​กับ​พูด​ว่า “นี่​เธอ​ว่า​ยัง​ไง​นะ?”

เรเชล​ตอบ​ว่า “เปล่า​นี่​แม่” พร้อม​กับ​ถอน​หายใจ​และ​มี​สี​หน้า​รำคาญ.

ตอน​นี้​แม่​โกรธ​จริง. แม่​พูด​ว่า “อย่า​ใช้​น้ำ​เสียง​อย่าง​นี้​กับ​แม่​นะ!”

เรเชล​ย้อน​ว่า “แล้ว​น้ำ​เสียง​ที่​แม่​ใช้​กับ​หนู​ล่ะ?”

หมด​เวลา​พักผ่อน​เสีย​แล้ว . . . การ​โต้​เถียง​ก็​เริ่ม​ขึ้น.

1. ․․․․․

2. ․․․․․

3. ․․․․․

เหตุ​การณ์​ข้าง​ต้น​ฟัง​ดู​คุ้น ๆ ไหม? คุณ​กับ​พ่อ​แม่​เถียง​กัน​อยู่​เสมอ​ไหม? ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น จง​วิเคราะห์​สภาพการณ์​สัก​ครู่​หนึ่ง. เรื่อง​อะไร​เป็น​สาเหตุ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​มาก​ที่​สุด? ทำ​เครื่องหมาย​ไว้​ใน​ช่อง​ที่​ตรง​กับ​กรณี​ของ​คุณ หรือ​เขียน​เรื่อง​ของ​คุณ​ใน​ช่อง “อื่น ๆ.”

○ เจตคติ

○ งาน​บ้าน

○ เสื้อ​ผ้า

○ การ​กลับ​บ้าน​ตาม​เวลา​กำหนด

○ ความ​บันเทิง

○ เพื่อน​ฝูง

○ เพศ​ตรง​ข้าม

○ อื่น ๆ

ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เรื่อง​อะไร การ​เถียง​กัน​ก็​ทำ​ให้​คุณ​และ พ่อ​แม่​รู้สึก​เครียด. แน่นอน คุณ​อาจ​นิ่ง​เงียบ​และ​แสร้ง​ทำ​เป็น​ว่า​คุณ​เห็น​ด้วย​กับ​ทุก​สิ่ง​ที่​พ่อ​แม่​พูด. แต่​พระเจ้า​คาด​หมาย​ให้​คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น​ไหม? ไม่​เลย. จริง​อยู่ คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “จง​นับถือ​บิดา​มารดา​ของ​เจ้า.” (เอเฟโซส์ 6:2, 3) แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​สนับสนุน​คุณ​ให้​พัฒนา “ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด” และ​ให้​ใช้ “ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล.” (สุภาษิต 1:1-4, ล.ม.; โรม 12:1) ตราบ​ที่​คุณ​ทำ​เช่น​นั้น ก็​เลี่ยง​ไม่​ได้​ที่​คุณ​จะ​เชื่อ​มั่น​ใน​สิ่ง​ใด​สิ่ง​หนึ่ง ซึ่ง​บาง​อย่าง​ก็​อาจ​ไม่​ตรง​กับ​แนว​คิด​ของ​พ่อ​แม่​ก็​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ครอบครัว​ที่​ใช้​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล พ่อ​แม่​กับ​ลูก​วัยรุ่น​สามารถ​สื่อ​ความ​กัน​ได้​อย่าง​สันติ ถึง​แม้​จะ​ไม่ เห็น​พ้อง​กัน​ทุก​เรื่อง.—โกโลซาย 3:13

คุณ​จะ​พูด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง​อย่าง​ไร​โดย​ไม่​ทำ​ให้​การ​สนทนา​ตาม​ปกติ​กลาย​เป็น​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน? ง่าย​ที่​จะ​พูด​ว่า “ปัญหา​นั้น​อยู่​ที่​พ่อ​แม่. ว่า​ไป​แล้ว พ่อ​แม่ ต่าง​หาก​ที่​จู้จี้​กับ​ฉัน​เสมอ!” แต่​คิด​ดู​สิ คุณ​สามารถ​ควบคุม​คน​อื่น รวม​ทั้ง​พ่อ​แม่​ได้​มาก​น้อย​แค่​ไหน? อัน​ที่​จริง คน​เดียว​ที่​คุณ​เปลี่ยน​ได้​ก็​คือ​ตัว​คุณ​เอง. และ​ที่​น่า​ดีใจ​ก็​คือ ถ้า​คุณ​ทำ​ส่วน​ของ​คุณ​เพื่อ​ลด​ความ​ตึงเครียด ก็​จะ​มี​โอกาส​มาก​ขึ้น​ที่​พ่อ​แม่​จะ​ไม่​โมโห​และ​ฟัง​คุณ​เมื่อ​คุณ​อยาก​พูด​บาง​อย่าง.

ดัง​นั้น ให้​เรา​ดู​สิ​ว่า​คุณ จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ระงับ​การ​โต้​เถียง​กับ​พ่อ​แม่. ลอง​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ต่อ​ไป​นี้ แล้ว​คุณ​อาจ​ทำ​ให้​พ่อ​แม่​และ​ตัว​คุณ​เอง​แปลก​ใจ​ที่​คุณ​ได้​เรียน​รู้​ทักษะ​การ​สื่อ​ความ​ใหม่ ๆ.

(ข้อ​แนะ: ทำ​เครื่องหมาย​ไว้​ใน​ช่อง​คำ​แนะ​นำ​ที่​คุณ​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​เป็น​พิเศษ.)

คิด​ก่อน​ตอบ. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ใจ​ของ​คน​ชอบธรรม​ตรึกตรอง​ก่อน​แล้ว​จึง​ตอบ.” (สุภาษิต 15:28) เมื่อ​รู้สึก​ว่า​ถูก​ตำหนิ ก็​อย่า​พูด​โพล่ง​สิ่ง​แรก​ที่​ผุด​ขึ้น​มา​ใน​ความ​คิด. ยก​ตัว​อย่าง สมมุติ​แม่​ของ​คุณ​พูด​ว่า “ทำไม​ลูก​ไม่​ล้าง​จาน? แม่​สั่ง​อะไร​ไว้​ลูก​ไม่​เคย ทำ​เลย!” คำ​ตอบ​ที่​โพล่ง​ออก​มา​อาจ​เป็น​ดัง​นี้: “ทำไม​แม่​จู้จี้​จุก​จิก​กับ​หนู​อย่าง​นี้?” แต่​จง​ใช้​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด. พยายาม​เข้าใจ​ว่า​จริง ๆ แล้ว ที่​แม่​พูด​อย่าง​นั้น​แม่​รู้สึก​อย่าง​ไร. ปกติ​แล้ว คำ​พูด​เช่น “เสมอ” และ “ไม่​เคย” ไม่​ได้​หมาย​ความ​ตาม​ตัว​อักษร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ​พูด​เหล่า​นั้น​แสดง​ถึง​ความ​รู้สึก​ใน​ใจ​ของ​แม่. ความ​รู้สึก​เช่น​ไร?

บาง​ที​แม่​อาจ​หงุดหงิด เพราะ​รู้สึก​ว่า​ต้อง​แบก​รับ​งาน​ใน​บ้าน​มาก​เกิน​ไป. อาจ​เป็น​ได้​ที่​แม่​ต้องการ​ความ​มั่น​ใจ​ว่า​คุณ​จะ​คอย​ช่วย. หรือ​ถ้า​จะ​พูด​ตรง ๆ ที่​ผ่าน​มา​คุณ​อาจ​ไม่​ค่อย​ได้​ช่วย​ทำ​งาน​บ้าน. จะ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​พูด​ว่า “ทำไม​แม่​จู้จี้​จุก​จิก​กับ​หนู​อย่าง​นี้?” ไม่​ได้​ช่วย​อะไร​เลย นอก​จาก​ทำ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง! แทน​การ​พูด​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​น่า​จะ​ทำ​ให้​แม่​สบาย​ใจ. ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​อาจ​พูด​ว่า “หนู​เข้าใจ​ว่า​แม่​อารมณ์​ไม่​ดี. หนู​จะ​จัด​การ​เดี๋ยว​นี้​แหละ.” ข้อ​ควร​ระวัง: อย่า ใช้​น้ำ​เสียง​ประชดประชัน. การ​ตอบ​ด้วย​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คง​จะ​ช่วย​คลาย​ความ​ตึงเครียด​ระหว่าง​คุณ​กับ​แม่.

ข้าง​ล่าง​นี้ ให้​เขียน​สิ่ง​ที่​พ่อ​หรือ​แม่​ของ​คุณ พูด​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​โกรธ​ขึ้น​มา​ทันที ถ้า​คุณ​ไม่​ควบคุม​ตัว​เอง.

․․․․․

ตอน​นี้​ให้​คิด​ว่า​คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร​เพื่อ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​อัน​เป็น​การ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ที่​แฝง​ใน​คำ​พูด​ของ​พ่อ​แม่.

․․․․․

พูด​ด้วย​ความ​นับถือ. มิเชลล์​ได้​เรียน​รู้​จาก​ประสบการณ์​ใน​เรื่อง​ความ​สำคัญ​ของ​วิธี​ที่​เธอ​พูด​กับ​แม่. เธอ​บอก​ว่า “ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ปัญหา​อะไร สุด​ท้าย​ก็​เป็น​เพราะ​แม่​ไม่​ชอบ​น้ำ​เสียง​ของ​ฉัน.” ถ้า​เป็น​เช่น​นี้​บ่อย ๆ ใน​กรณี​ของ​คุณ จง​ฝึก​พูด​ด้วย​น้ำ​เสียง​นุ่มนวล​และ​พูด​ช้า ๆ อย่า​แสดง​สี​หน้า​หรือ​ท่าที​ว่า​คุณ​รู้สึก​รำคาญ. (สุภาษิต 30:17) ถ้า​คุณ​รู้​ตัว​ว่า​กำลัง​ควบคุม​อารมณ์​ไม่​อยู่ ให้​อธิษฐาน​สั้น ๆ ใน​ใจ​ต่อ​พระเจ้า. (นะเฮมยา 2:4) แน่นอน เป้าหมาย​ของ​คุณ​ไม่​ใช่​เพื่อ​ขอ​พระเจ้า​ช่วย ‘ให้​พ่อ​แม่​เลิก​จู้จี้​จุก​จิก​เสีย​ที’ แต่​เพื่อ​คุณ​จะ​ควบคุม​อารมณ์​ได้​และ​ไม่​ใส่​ฟืน​เข้า​กอง​ไฟ.—ยาโกโบ 1:26

ใน​ช่อง​ว่าง​ข้าง​ล่าง ให้​เขียน​สิ่ง​ที่​คุณ ไม่​ควร​พูด​หรือ​กระทำ.

การ​แสดง​ออก​ทาง​วาจา:

․․․․․

การ​แสดง​สี​หน้า​และ​ท่า​ทาง:

․․․․․

ฟัง. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ดัง​นี้: “การ​พูด​มาก​มัก​มี​ความ​ผิด.” (สุภาษิต 10:19) ฉะนั้น จง​ให้​โอกาส​พ่อ​แม่​ได้​พูด และ​ตั้งใจ​ฟัง​พวก​ท่าน. ปิด​เพลง, วาง​หนังสือ​หรือ​นิตยสาร​ไว้​ก่อน, และ​สบ​ตา​พ่อ​แม่. อย่า​พูด​แทรก​เพื่อ​แก้​ตัว. ฟัง​อย่าง​เดียว. หลัง​จาก​พ่อ​แม่​พูด​จบ คุณ​ก็​มี​โอกาส​มาก​ที่​จะ​ไต่ถาม​หรือ​ชี้​แจง​ความ​เห็น​ของ​คุณ. ใน​ทาง​กลับ​กัน ถ้า​คุณ​ยัง​ดื้อ​อยู่​และ​พยายาม​ยืนกราน​ความ​เห็น​ของ​คุณ​ใน​ตอน​นี้ คุณ​ก็​รัง​แต่​จะ​ทำ​ให้​สถานการณ์​เลว​ร้าย​ยิ่ง​ขึ้น. แม้​ว่า​ยัง​มี​บาง​อย่าง​ที่​คุณ​อยาก​จะ​พูด แต่​ตอน​นี้​คง​เป็น “เวลา​นิ่ง​เงียบ.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:7, ล.ม.

เต็ม​ใจ​ขอ​โทษ. นับ​ว่า​เหมาะ​สม​เสมอ​ที่​จะ​พูด​ว่า “ผม​ขอ​โทษ” ถ้า​บาง​อย่าง​ที่​คุณ​ทำ​ลง​ไป​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง. (โรม 14:19) คุณ​อาจ​บอก​ได้​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​คุณ​เสียใจ​ที่​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง. ถ้า​คุณ​เห็น​ว่า​ยาก​ที่​จะ​กล่าว​คำ​ขอ​โทษ​ต่อ​หน้า​พ่อ​แม่ ลอง​เขียน​คำ​ขอ​โทษ​ให้​ท่าน​อ่าน​ดู​สิ. แล้ว “จง​ไป​กับ​เขา​สอง​กิโลเมตร” โดย​เปลี่ยน​พฤติกรรม​อย่าง​หนึ่ง​อย่าง​ใด​ที่​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง. (มัดธาย 5:41) ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​คุณ​ละเลย​งาน​บ้าน​และ​เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง ลอง​ทำ​ให้​พ่อ​แม่​แปลก​ใจ​โดย​ลง​มือ​ทำ​งาน​นั้น​ดู​สิ. แม้​คุณ​จะ​ไม่​ชอบ​งาน​นั้น แต่​ก็​ดี​กว่า​ไม่​ใช่​หรือ​ถ้า​คุณ​ได้​ทำ​งาน​เสร็จ​เรียบร้อย​แทน​ที่​จะ​ถูก​ต่อ​ว่า​เมื่อ​พ่อ​แม่​เห็น​ว่า​คุณ​ยัง​ไม่​ได้​ลง​มือ​ทำ​งาน​นั้น?—มัดธาย 21:28-31

ใน​ที่​สุด การ​พยายาม​แก้ไข​หรือ​ป้องกัน​ความ​ขัด​แย้ง​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​ของ​คุณ ราบรื่น​มาก​ขึ้น. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​คน​ที่ “มี​ความ​กรุณา​รักใคร่​ปฏิบัติ​อย่าง​ที่​เป็น​ประโยชน์​กับ​ชีวิต​ของ​ตน​เอง.” (สุภาษิต 11:17) ดัง​นั้น ขอ​ให้​คิด​ถึง​ผล​ประโยชน์​ที่​คุณ​จะ​ได้​รับ​จาก​การ​มี​ส่วน​ช่วย​ลด​ความ​ตึงเครียด​ระหว่าง​คุณ​กับ​พ่อ​แม่.

ครอบครัว​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ย่อม​จะ​ขัด​แย้ง​กัน​บ้าง แต่​เขา​รู้​ว่า​จะ​จัด​การ​อย่าง​ไร​ให้​ลงเอย​ด้วย​สันติ. จง​ฝึก​ทักษะ​ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​บทความ​นี้ และ​คุณ​จะ​ประสบ​ว่า​คุณ​สามารถ​พูด​คุย​กับ​พ่อ​แม่​ได้​แม้​ใน​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​ลำบาก​ใจ โดย​ปราศจาก การ​โต้​เถียง!

ถ้า​ต้องการ​อ่าน​บทความ​ชุด “หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า” เพิ่ม​เติม ให้​ดาวน์​โหลด​ตื่นเถิด! ฉบับ​อื่น ๆ จาก​เว็บไซต์ www.pr418.com

ข้อ​ชวน​คิด

• ทำไม​คน​รุ่น​เดียว​กับ​คุณ​บาง​คน​จึง​เห็น​ว่า​ความ​สามารถ​ใน​การ​โต้​เถียง​เป็น​สิ่ง​ดี?

• ทำไม​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถือ​ว่า​คน​ชอบ​โต้​เถียง​เป็น​คน​โฉด​เขลา?สุภาษิต 20:3

[กรอบ/ภาพ​หน้า 27]

สิ่ง​ที่​คน​รุ่น​เดียว​กับ​คุณ​พูด

“ผม​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​แม้​ผม​จะ​ทำ​งาน​และ​เลี้ยง​ตัว​เอง​ได้​แล้ว แต่​ผม​ก็​ยัง​อยู่​ใน​บ้าน​แม่ และ​ต้อง​ฟัง​แม่. แม่​ดู​แล​ผม​มา​หลาย​ปี ฉะนั้น เมื่อ​แม่​สอดส่อง​ดู​ความ​ประพฤติ เป็น​ต้น​ว่า ผม​กลับ​บ้าน​ตรง​ตาม​เวลา​หรือ​ไม่ ผม​ก็​เข้าใจ​แม่​ดี.”

“ถ้า​ความ​เห็น​ของ​ฉัน​กับ​พ่อ​แม่​ไม่​ตรง​กัน​ใน​บาง​เรื่อง เรา​อธิษฐาน​ด้วย​กัน, ค้น​หา​ข้อมูล, และ​พิจารณา​เรื่อง​นั้น. เมื่อ​ใช้​วิธี​นี้​เรา​ตก​ลง​กัน​ได้​ทุก​เรื่อง. เมื่อ​เรา​ให้​พระ​ยะโฮวา​มี​ส่วน​ร่วม สุด​ท้าย​แล้ว​ทุก​อย่าง​ก็​ลงเอย​ด้วย​ดี.”

[ภาพ]

แดเนียล

แคเมอรอน

[กรอบ​หน้า 29]

คำ​ตอบ

1. การ​ใช้​คำ​พูด​ประชดประชัน (“เอา​อีก​แล้ว”) มี​แต่​จะ​ยั่ว​ให้​แม่​โมโห​มาก​ขึ้น.

2. สี​หน้า​ของ​เรเชล (แสดง​ความ​รำคาญ) เป็น​การ​หา​เรื่อง​เดือดร้อน​ใส่​ตน.

3. การ​พูด​ย้อน (“แล้ว​น้ำ​เสียง​ที่​แม่ ใช้​กับ​หนู ล่ะ?”) มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​สภาพการณ์​แย่​ลง.

[กรอบ​หน้า 29]

ถึง​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่

โปรด​ดู​เหตุ​การณ์​สมมุติ​ตอน​ต้น​บทความ​นี้. คุณ​จะ​ระบุ​บาง​สิ่ง​ที่​แม่​ของ​เรเชล​ทำ​ได้​ไหม ซึ่ง​รัง​แต่​จะ​ทำ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​เท่า​นั้น? คุณ​จะ​เลี่ยง​การ​โต้​เถียง​กับ​ลูก​วัยรุ่น​ได้​อย่าง​ไร? ต่อ​ไป​นี้​เป็น​บาง​จุด​ที่​คุณ​ควร​จด​จำ:

หลีก​เลี่ยง​การ​กล่าว​เกิน​จริง เช่น “เธอ​ทำ . . . เสมอ” หรือ “เธอ​ไม่​เคย​ทำ . . . เลย.” คำ​พูด​เช่น​นี้​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​ลูก​แก้​ตัว. ถึง​อย่าง​ไร คำ​พูด​เหล่า​นี้​มัน​ก็​เกิน​จริง​อยู่​แล้ว และ​ลูก​ก็​รู้. ลูก​อาจ​จะ​รู้​ด้วย​ว่า การ​พูด​เกิน​จริง​เช่น​นี้ ที่​แท้​แล้ว​เป็น​เพราะ​คุณ​โมโห ไม่​ใช่​เพราะ​ลูก​ไม่​มี​ความ​รับผิดชอบ.

แทน​ที่​จะ​พูด​แบบ​ขวานผ่าซาก โดย​เริ่ม​ด้วย​คำ​ว่า “เธอ” จง​อธิบาย​ว่า​ความ​ประพฤติ​ของ​ลูก​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​คุณ​อย่าง​ไร. ตัว​อย่าง​เช่น “เมื่อ​ลูก​ทำ . . . แม่​รู้สึก. . . . ” เชื่อ​หรือ​ไม่​ว่า จริง ๆ แล้ว​ลูก​วัยรุ่น​เป็น​ห่วง​ความ​รู้สึก​ของ​คุณ. ถ้า​คุณ​บอก​ลูก​ว่า​คุณ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร คุณ​ก็​จะ​กระตุ้น​ให้​เขา​ร่วม​มือ​ได้​มาก​ขึ้น.

แม้​จะ​ยาก​ก็​จง​ยับยั้ง​ตัว​เอง​ไว้​จน​กว่า​คุณ​สามารถ​ควบคุม​อารมณ์​ได้. (สุภาษิต 10:19) ถ้า​ประเด็น​ที่​โต้​เถียง​กัน​เป็น​เรื่อง​งาน​บ้าน​ก็​จง​พูด​คุย​กับ​ลูก. เขียน​เจาะจง​ลง​ไป​ว่า คุณ​ต้องการ​ให้​ลูก​ทำ​อะไร​และ​ถ้า​จำเป็น​ก็​บอก​ให้​ชัดเจน​เลย​ว่า ผล​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ถ้า​เขา​ไม่​ทำ​ตาม. อด​ทน​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​ลูก แม้​คุณ​จะ​รู้สึก​ว่า​ความ​คิด​ของ​เขา​ไม่​ถูก​ต้อง. วัยรุ่น​ส่วน​ใหญ่​จะ​เชื่อ​ฟัง​มาก​ขึ้น​ถ้า​พ่อ​แม่​รับ​ฟัง​เขา​แทน​ที่​จะ​บ่น.

ก่อน​ลง​ความ​เห็น​ว่า​น้ำใจ​ขืน​อำนาจ​ของ​โลก​ครอบ​งำ​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​แล้ว จง​ตระหนัก​ว่า​พฤติกรรม​ส่วน​ใหญ่​ของ​ลูก​เท่า​ที่​คุณ​เห็น​เป็น​ขั้น​ตอน​การ​เติบโต​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​ลูก. ลูก​อาจ​จะ​โต้​เถียง​เพียง​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​เขา​โต​แล้ว. พยายาม​ที่​จะ​ไม่​เถียง​กับ​ลูก. จง​จำ​ไว้​ว่า ปฏิกิริยา​ของ​คุณ​ต่อ​การ​ยั่ว​ยุ​จะ​เป็น​บทเรียน​สำหรับ​ลูก​วัยรุ่น. จง​แสดง​ความ​เพียร​อด​ทน​และ​อด​กลั้น แล้ว​คุณ​จะ​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ให้​ลูก​ชาย​หญิง​ของ​คุณ​ปฏิบัติ​ตาม.—กาลาเทีย 5:22, 23

[ภาพ​หน้า 28]

การ​โต้​เถียง​กับ​พ่อ​แม่​เป็น​เหมือน​การ​วิ่ง​อยู่​บน​เครื่อง​ออก​กำลัง​กาย นั่น​คือ​คุณ​จะ​ใช้​พลัง​งาน​มาก​แต่​ไป​ไม่​ถึง​ไหน​เลย