หมู่เกาะแฟโร—เชื่อมถึงกันอย่างโดดเด่น
หมู่เกาะแฟโร—เชื่อมถึงกันอย่างโดดเด่น
หมู่เกาะแฟโรเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ประกอบด้วย 18 เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งมีคลื่นลมแรงเสมอ. ประชากรในหมู่เกาะนี้มีภาษาของตัวเอง คือภาษาแฟโร. บนเกาะอันสวยงามน่าตะลึงแห่งนี้ หน้าผาอันขรุขระและสูงชันดิ่งลงมาจรดทะเล. หมู่บ้านหลายแห่งใกล้ทะเลมีบ้านหลากสี. ในฤดูร้อน หญ้าเขียวขจีที่ขึ้นปกคลุมเนินเขาส่องประกายเกินจะหาใดเทียบได้.
ถึงแม้ประชากร 48,000 คนในหมู่เกาะนี้รวมกันเป็นชุมชนเดียว แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็ไม่ง่ายเสมอไป. เมื่อก่อนมีการใช้เรือพายเพื่อส่งผู้คนและบรรทุกสินค้าไปมาระหว่างเกาะ. การเดินทางระหว่างหมู่บ้านต้องเดินขึ้นเขาที่สูงชันและข้ามห้วยลึก. การสร้างบ้านสักหลังด้วยการขนวัสดุทั้งหมดมาทางเรือพายเป็นงานหนักทีเดียว. ก่อนจะเริ่มก่อสร้างได้ ก็ต้องขนวัสดุจากอ่าวจอดเรือตามธรรมชาติไปที่หมู่บ้าน.
ประชากรรุ่นแรก
บันทึกแรกสุดที่หาได้เกี่ยวกับหมู่เกาะแฟโรถูกเขียนโดยบาทหลวงชาวไอริชประมาณสากลศักราช 825. เขาบันทึกไว้ว่าเคยมีกลุ่มบาทหลวงชาวไอริชอยู่ที่หมู่เกาะอย่างโดดเดี่ยวร้อยกว่าปีก่อนเขามา. อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการตั้งถิ่นฐานในหมู่เกาะนี้เริ่มขึ้นตอนต้นศตวรรษที่เก้าเมื่อกรีมูร์ กัมบันเดินทางจากนอร์เวย์มาถึงที่นี่.
ถึงแม้ผู้คนสมัยแรก ๆ เลี้ยงชีพด้วยการประมง แต่พวกเขาก็เริ่มเลี้ยงแกะด้วย. ในภาษาแฟโร ชื่อเฟอโรยาร์ (หมู่เกาะแฟโร) หมายถึง “หมู่เกาะเลี้ยงแกะ” และการทำฟาร์มเลี้ยงแกะก็ยังคงมีความสำคัญ. มีการใช้ขนแกะป้องกันลม, ฝน, และความหนาวเย็น. ที่จริง เคยมีการกล่าวกันว่า ‘ขนแกะคือทองคำของหมู่เกาะแฟโร.’
แม้แต่ในปัจจุบัน จำนวนแกะก็มีมากกว่าคนที่อาศัยในหมู่เกาะนี้. แกะจะถูกฆ่าตามวิธีดั้งเดิม โดยจะแขวนเนื้อผึ่งไว้ใต้เพิงที่มีลมโกรก. การทำอย่างนี้ทำให้เนื้อแกะมีรสดีตามที่ต้องการ.
ดังที่อาจคาดหมายได้กับชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่โดดเดี่ยว ชาวหมู่เกาะแฟโรรู้สึกผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นเนื่องจากการพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอด. ปัจจุบันความรู้สึกดังกล่าวยังมีอยู่ขณะที่วิธีการเดินทางและการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้การติดต่อกับชาวเกาะด้วยกันง่ายขึ้น.
เชื่อมถึงกันด้วยอุโมงค์
อุโมงค์แรกในหมู่เกาะแฟโรเปิดในปี 1963. อุโมงค์นี้เจาะทะลุภูเขาบนเกาะซูเทอรอยช์ เกาะที่อยู่ทางใต้สุด โดยเชื่อมต่อสองหมู่บ้าน. การสร้างอุโมงค์นี้อาศัยการขุด, เจาะ, และวางระเบิดพร้อมกันจากสองด้านของภูเขา.
อุโมงค์หนึ่งที่ก่อสร้างเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นอุโมงค์สำหรับการจราจรและอยู่ใต้ทะเลประมาณ 150 เมตร เชื่อมระหว่างเกาะใหญ่สองเกาะ. เพื่อจะขุดอุโมงค์นี้ มีการใช้หัวเจาะยาว 5 เมตรเจาะเข้าไปในภูเขาหิน. มีการวางระเบิดไดนาไมต์ไว้ที่ปลายอุโมงค์แล้วจุดระเบิด. หลังการระเบิด ก็จะขนเศษหินออกไปทำให้ช่องอุโมงค์ขยายยาวขึ้นอีก 5 เมตร. คนงานทำซ้ำขั้นตอนนี้จนได้อุโมงค์ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร. อุโมงค์นี้เปิดให้รถยนต์ผ่านเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2006.
ตอนนี้หมู่เกาะแฟโรมีอุโมงค์ 18 อุโมงค์ ซึ่งสองอุโมงค์อยู่ใต้ทะเลและเชื่อมระหว่างเกาะ. ไม่มีประเทศใดในโลกมีอุโมงค์ยาวกว่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของประชากร. กระนั้น กำลังมีการวางแผนเจาะอุโมงค์อีก. รัฐสภาตกลงจะสร้างอีกสองอุโมงค์เชื่อมระหว่างเกาะหลัก. อุโมงค์หนึ่งซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2012 จะมีความยาว 11.9 กิโลเมตร ทำให้เป็นอุโมงค์ใต้น้ำแห่งหนึ่งที่ยาวที่สุดในโลก.
ความผูกพันอีกอย่างหนึ่งที่โดดเด่น
หมู่เกาะแฟโรมีคนกลุ่มหนึ่งผูกพันกันด้วยสายสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นแห่งการนมัสการซึ่งมีอยู่ท่ามกลางพยานพระยะโฮวา. พยานฯ กลุ่มแรกที่มาเยือนหมู่เกาะนี้เป็นสตรีที่เสียสละสองคนจากเดนมาร์กในปี 1935 และใช้เวลาช่วงฤดูร้อนนำข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าไปบอกแก่ประชาชนตามบ้านเรือน. หลังจากนั้น ชาวเกาะบางคนก็รับข่าวสารที่ชูใจและร่วมในการประกาศด้วย.—มัดธาย 24:14
ปัจจุบัน มีพยานฯ ราว ๆ หนึ่งร้อยคนประชุมกันในหอประชุมราชอาณาจักรสี่แห่งในหมู่เกาะนี้. พวกเขากระตือรือร้นที่จะทำงานรับใช้ และทำได้สะดวกขึ้นโดยมีถนนและอุโมงค์ซึ่งเชื่อมต่อเกาะที่สวยงามเหล่านี้ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือที่คลื่นลมแรงเสมอ.
[ภาพหน้า 17]
อุโมงค์นี้สำหรับการจราจรอยู่ใต้ทะเลประมาณ 150 เมตร เชื่อมระหว่างเกาะใหญ่สองเกาะ