อุโมงค์แห่งโอเดสซา—เขาวงกตใต้ดิน
อุโมงค์แห่งโอเดสซา—เขาวงกตใต้ดิน
ผนังที่เพิ่งฉาบปูนของอพาร์ตเมนต์ที่ตกแต่งใหม่เกิดมีรอยแตกยาวให้เห็น. เจ้าของโอดครวญว่า “เป็นเพราะอุโมงค์ใต้ดินแน่ ๆ เลยที่ทำให้ตึกของเราทรุด.”
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร—ท่อน้ำจะแตกหรือถนนจะทรุดเป็นร่องลึก—ผู้คนก็มักจะคิดว่าเป็นเพราะอุโมงค์ใต้ดินแห่งเมืองโอเดสซาที่สวยงามของยูเครนบนชายฝั่งทะเลดำ. เขาวงกตใต้ดินนี้ซึ่งเข้าใจกันว่ามีระยะทางทั้งสิ้น 2,500 กิโลเมตร อาจเป็นเครือข่ายอุโมงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้.
เราอาจสงสัยว่า ‘อุโมงค์เหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร?’ ‘มันส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่เหนืออุโมงค์เหล่านี้?’ การเที่ยวชมอุโมงค์เหล่านี้จะให้คำตอบแก่เรา.
การเดินทางใต้ดิน
รถนำเที่ยวพาเราออกจากสถานีรถไฟโอเดสซาพร้อมด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่ตื่นเต้นดีใจ. ระหว่างเดินทางไปยังอุโมงค์ มัคคุเทศก์ก็ได้เล่าประวัติความเป็นมาของอุโมงค์เหล่านี้.
เราได้รู้ว่าการขุดอุโมงค์ดูเหมือนเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1830 เมื่อเมืองนี้ต้องการวัสดุก่อสร้างราคาไม่แพงและหาได้ง่าย. ช่างสะดวกง่ายดายเหลือเกินที่ใต้เมืองนี้มีชั้นหินปูนสีเหลืองที่ทนทานและน้ำหนักเบาอยู่มากมาย. ฉะนั้น การตัดหินจึงกลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรงามให้แก่เมืองที่กำลังเติบโตนี้. เมื่อคนงานขุดหินออกมา อุโมงค์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น.
เขาวงกตที่ขาดแผนผังใต้เมืองนี้ได้ขยายตัวออกไปโดยไม่มีการควบคุม. มีการขุดอุโมงค์ลึกลงไปใต้ดินกว่า 35 เมตร. บางครั้งอุโมงค์เหล่านี้จะตัดผ่านต่างระดับกัน. เมื่อที่ตรงนั้นไม่มีหินปูนให้ขุด คนงานก็จะละอุโมงค์นั้นแล้วไปเริ่มขุดอีกที่หนึ่ง. ต่อมา เครือข่ายอุโมงค์ก็แผ่ขยายออกไปนอกเมือง.
ไม่นาน รถของเราก็มาถึงเนรูไบสกี หมู่บ้านเล็ก ๆ ทางเหนือของโอเดสซา. ไม่ช้า เราก็มายืนใกล้ ๆ กำแพงหินปูนซึ่งมีประตูเหล็กที่หนักมากซึ่งปิดทางเข้าอุโมงค์ใต้ดิน. มัคคุเทศก์บอกเราว่า “ตอนนี้เรากำลังจะเข้าไปในพื้นที่ซึ่งพลพรรคกู้ชาติโซเวียตอาศัยอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2. คุณจะนึกภาพได้ว่าพวกเขามีชีวิตอยู่กันอย่างไรในช่วงเวลา
นั้น.” อันเดรย์ คราสนอโชน ผู้เชี่ยวชาญด้านอุโมงค์กล่าวว่า กลุ่มพลพรรคกู้ชาติกลุ่มหนึ่งอยู่ใต้ดินตรงนี้เป็นเวลา 13 เดือน.มัคคุเทศก์กล่าวต่อไปว่า “จำไว้นะคะ คนจำนวนไม่น้อยไม่คราวใดก็คราวหนึ่งได้อาศัยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของอุโมงค์. คนเหล่านี้ได้แก่พวกโจร, โจรสลัด, และผู้ลี้ภัยทางการเมือง. พวกเขาต่างก็ประสบกับสภาพการณ์คล้าย ๆ กัน.”
เราเข้าไปในทางเดินที่มืดสลัวซึ่งค่อย ๆ มืดลงเรื่อย ๆ จนมองไม่เห็นอะไร. มัคคุเทศก์ของเราบอกว่า “อุโมงค์เหล่านี้ของพลพรรคกู้ชาติไม่ได้ใช้เป็นที่ซ่อนตัวอย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากเท่าที่หาได้. ในห้องนั่งเล่น ผู้ชายจะเล่นหมากฮอส, หมากรุก, หรือไม่ก็โดมิโนใต้แสงเทียน. มีการเจาะหินเข้าไปทำเป็นห้องพักผู้ชายห้องพักผู้หญิงแยกออกจากอุโมงค์หลัก. ภายในแต่ละห้องจะมีการเจาะกำแพงเป็นช่องแล้วปูด้วยฟางทำเป็นที่นอน. ส่วนที่เป็นโรงพยาบาลมีเตียงจริง ๆ รวมทั้งห้องผ่าตัดด้วย. ผู้หญิงจะทำอาหารบนเตาฟืนซึ่งทำจากหินปูนสีเหลือง และควันก็จะลอยขึ้นไปทางปล่องของอุโมงค์.”
เพดานของอุโมงค์ดูคล้ายฟองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เพียงแต่ว่าเมื่อเอามือแตะมันไม่นุ่ม. มีรอยเลื่อยที่สลับไปมาข้างกำแพงในที่ซึ่งหินถูกตัดออก. เมื่อเอามือลูบกำแพงจะรู้สึกเหมือนลูบกระดาษทรายหยาบ ๆ. มัคคุเทศก์อธิบายว่า “เมื่อพลพรรคกู้ชาติออกไปนอกอุโมงค์ พวกเขาจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อไม่ให้พวกเยอรมันจับตัวได้โดยการดมกลิ่น. ความชื้นในอุโมงค์ทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นแปลก ๆ.”
มัคคุเทศก์ของเราบอกว่า “ชีวิตใต้ดินยังมีลักษณะแปลกอื่น ๆ อีก เช่น การอยู่ในความมืดสนิท.” เธอปิดสวิตช์ไฟและพวกเราตกอยู่ในความมืด. เธอบอกว่า “พวกเขาจะจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดตลอดเวลาไม่ได้.” ขณะที่เราคลำกำแพงหาทาง เธอชี้แจงต่อ “หินดูดซับเสียง ฉะนั้น ถ้าคุณหลงทาง ก็จะไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของคุณ.” มัคคุเทศก์ของเรายังใจดีที่ยอมเปิดสวิตช์ไฟอีกครั้งหนึ่ง!
เธอบอกต่อไปว่า “ยามที่เข้าเวรจะทำงานเพียงกะละสองชั่วโมง. เพราะหลังจากอยู่ในความมืดและความเงียบสนิทเป็นเวลานาน ๆ คนเราจะเริ่มประสาทหลอน.” ช่องที่เพดานอุโมงค์ทำให้เรามองเห็นอีกอุโมงค์หนึ่งซึ่งตัดผ่านเหนืออุโมงค์ที่เราอยู่. ผมสงสัยว่า ‘อุโมงค์นั้นมาจากไหน? จะไปที่ไหน?’ ผมรู้สึกเหมือนอยากผจญภัย. มัคคุเทศก์บอกว่า “มีการทำแผนที่อุโมงค์ราว ๆ 1,700 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้น ยังคงมีงานอีกมากที่ต้องทำ.”
นักสำรวจยุคหลังได้ค้นพบอุโมงค์ใหม่ ๆ. ในอุโมงค์เหล่านั้นพวกเขาค้นพบหนังสือพิมพ์เมื่อร้อยปีที่แล้ว, ตะเกียงน้ำมันก๊าดสมัยก่อนปฏิวัติ, และเงินตราสมัยพระเจ้าซาร์. สิ่งที่ถูกค้นพบเหล่านี้ซึ่งไม่มีใครแตะต้องมาหลายสิบปี เป็นสมบัติของผู้อาศัยที่ล่วงลับไปแล้วแห่งอุโมงค์ใต้ดินของโอเดสซาซึ่งทั้งยาว, มืด, และลึก.—ผู้อ่านส่งมา
[กรอบ/ภาพหน้า 25]
ขุมทรัพย์ทางสถาปัตยกรรม
อาคารอันงดงามซึ่งสร้างด้วยหินปูนสีเหลืองที่ขุดมาจากใต้ดินยังคงตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองโอเดสซา. จากชั้นใต้ดินของอาคารบางหลังมีประตูที่สามารถจะออกไปสู่อุโมงค์เหล่านั้นได้โดยตรง. ปัจจุบันยังมีการสร้างอาคารใหม่ ๆ ด้วยหินปูนเหล่านี้.
[ภาพหน้า 24, 25]
เตียงพยาบาลที่พวกโซเวียตใช้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
[ภาพหน้า 24, 25]
เชื่อกันว่าอุโมงค์แห่งโอเดสซาเป็นช่องทางใต้ดินซึ่งยาวทั้งสิ้น 2,500 กิโลเมตร