ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ปากของนกกระเต็น

ปากของนกกระเต็น

มี​ผู้​ออก​แบบ​ไหม?

ปาก​ของ​นก​กระเต็น

• ด้วย​ความ​เร็ว​เกือบ 300 กิโลเมตร​ต่อ​ชั่วโมง รถไฟ​ความ​เร็ว​สูง​ของ​ญี่ปุ่น​จึง​เป็น​หนึ่ง​ใน​รถไฟ​ที่​เร็ว​ที่​สุด​ใน​โลก. สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​รถไฟ​นี้​มี​ประสิทธิภาพ​สูง ส่วน​หนึ่ง​คือ​นก​ตัว​เล็ก ๆ นั่น​คือ​นก​กระเต็น. เพราะ​เหตุ​ใด?

ขอ​พิจารณา: เมื่อ​ไล่​ตาม​เหยื่อ​อัน​โอชะ นก​กระเต็น​สามารถ​พุ่ง​ตัว​ลง​ไป​ใน​น้ำ​โดย​ที่​น้ำ​แทบ​จะ​ไม่​กระเซ็น​เลย. เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​เอจิ นากาสึ ทึ่ง​มาก เขา​เป็น​วิศวกร​ควบคุม​การ​ทดสอบ​รถไฟ​ความ​เร็ว​สูง. เขา​สงสัย​ว่า​ทำไม​นก​กระเต็น​จึง​ปรับ​ตัว​ได้​เร็ว​มาก​เมื่อ​บิน​จาก​อากาศ​ที่​มี​ความ​ต้านทาน​ต่ำ​แล้ว​พุ่ง​ลง​สู่​น้ำ​ที่​มี​ความ​ต้านทาน​สูง. การ​พบ​คำ​ตอบ​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ใน​การ​แก้​ปัญหา​เฉพาะ​เกี่ยว​กับ​รถไฟ​ความ​เร็ว​สูง. นากาสึ​อธิบาย​ว่า “เมื่อ​รถไฟ​วิ่ง​เข้า​อุโมงค์​แคบ ๆ ด้วย​ความ​เร็ว​สูง จะ​เกิด​คลื่น​ความ​กด​อากาศ​ซึ่ง​จะ​ใหญ่​ขึ้น​เรื่อย ๆ เหมือน​คลื่น​ยักษ์. คลื่น​เหล่า​นี้​จะ​ไป​ถึง​ปลาย​อุโมงค์​ด้วย​ความ​เร็ว​เสียง ทำ​ให้​กลาย​เป็น​คลื่น​ความ​ถี่​ต่ำ​ซึ่ง​เกิด​เป็น​เสียง​ระเบิด​ดัง​มาก และ​แรง​สั่น​สะเทือน​ทาง​อากาศ​พลศาสตร์​อย่าง​รุนแรง​ถึง​ขนาด​ที่​ชาว​บ้าน​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ไกล​ออก​ไป 400 เมตร​ได้​ร้อง​เรียน.”

มี​การ​ตัดสิน​ใจ​จะ​ออก​แบบ​หัว​รถไฟ​ให้​มี​รูป​ทรง​เหมือน​ปาก​ของ​นก​กระเต็น. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? ตอน​นี้​รถไฟ​ความ​เร็ว​สูง​วิ่ง​เร็ว​ขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์​และ​ประหยัด​พลัง​งาน​ได้​มาก​ขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์. นอก​จาก​นั้น ความ​กด​อากาศ​ที่​เกิด​จาก​รถไฟ​ก็​ลด​ลง 30 เปอร์เซ็นต์. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​ไม่​มี​เสียง​ระเบิด​ดัง​ให้​ได้​ยิน​อีก​ต่อ​ไป​เมื่อ​รถไฟ​วิ่ง​ผ่าน​อุโมงค์.

คุณ​คิด​อย่าง​ไร? ปาก​ของ​นก​กระเต็น​เกิด​ขึ้น​โดย​บังเอิญ​ไหม? หรือ​มี​ผู้​ออก​แบบ?

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 29]

Kingfisher diving: Woodfall/Photoshot; bullet train: AP Photo/Kyodo