ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การพยายามแก้ “ปัญหาลองจิจูด”

การพยายามแก้ “ปัญหาลองจิจูด”

การ​พยายาม​แก้ “ปัญหา​ลองจิจูด”

วัน​ที่ 22 ตุลาคม 1707 กอง​เรือ​แห่ง​ราช​นาวี​อังกฤษ​มุ่ง​ไป​ทาง​ช่องแคบ​อังกฤษ. แต่​พวก​เขา​คำนวณ​ตำแหน่ง​ของ​ตน​ผิด​พลาด. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? เรือ​สี่​ลำ​อับปาง​ใกล้​หมู่​เกาะ​ซีลี​ใน​มหาสมุทร​แอตแลนติก ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​อังกฤษ. เกือบ 2,000 คน​เสีย​ชีวิต.

นัก​เดิน​เรือ​ใน​สมัย​นั้น​สามารถ​วัด​ละติจูด​ได้​ง่าย ๆ—ระยะ​ทาง​จาก​เส้น​ศูนย์​สูตร​ไป​ทาง​เหนือ​หรือ​ใต้. แต่​พวก​เขา​ไม่​มี​วิธี​วัด​ลองจิจูด​ที่​แม่นยำ—ระยะ​ทาง​ที่​พวก​เขา​ได้​เดิน​ทาง​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​หรือ​ตะวัน​ตก. พอ​ถึง​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 18 เรือ​หลาย​ร้อย​ลำ​เดิน​ทาง​ใน​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ใน​แต่​ละ​ปี และ​มี​เรือ​ประสบ​เหตุ​อับปาง​บ่อย ๆ. แต่​หายนะ​ใน​ปี 1707 ทำ​ให้​อังกฤษ​หัน​มา​สนใจ​การ​แก้​ปัญหา​ลองจิจูด.

ปี 1714 รัฐสภา​อังกฤษ​ได้​ตั้ง​รางวัล​เป็น​เงิน 20,000 ปอนด์​แก่​ผู้​ที่​สามารถ​คำนวณ​หา​ลองจิจูด​ได้​อย่าง​แม่นยำ​เมื่อ​ออก​ทะเล. ณ ปัจจุบัน เงิน​รางวัล​นั้น​มี​ค่า​เท่า​กับ​หลาย​ล้าน​ดอลลาร์​สหรัฐ.

เป็น​งาน​ยาก​จริง ๆ

การ​หา​ค่า​ลองจิจูด​เป็น​งาน​ที่​ยาก​มาก​เพราะ​ต้อง​อาศัย​นาฬิกา​ที่​เที่ยง​ตรง. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​อยู่​ใน​กรุง​ลอนดอน. ตอน​เที่ยง​วัน​คุณ​ได้​รับ​โทรศัพท์​จาก​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​อยู่​ใน​เส้น​ละติจูด​เดียว​กับ​คุณ แต่​นาฬิกา​ของ​เขา​บอก​เวลา 6:00 น. วัน​เดียว​กัน. นี่​ทำ​ให้​เวลา​ของ​เขา​ช้า​กว่า​เวลา​ของ​คุณ​หก​ชั่วโมง. คุณ​เข้าใจ​ลักษณะ​ทาง​ภูมิศาสตร์ คุณ​จึง​คำนวณ​ได้​ว่า​คน​นั้น​อยู่​ใน​อเมริกา​เหนือ และ​ที่​นั่น​ดวง​อาทิตย์​เพิ่ง​ขึ้น. ที​นี้ นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​รู้​เวลา​ที่​แน่นอน​ของ​เขา​กระทั่ง​รู้​ระดับ​วินาที ไม่​ใช่​ตาม​เส้น​แบ่ง​เขต​เวลา​คร่าว ๆ แต่​ตาม​ตำแหน่ง​ที่​แท้​จริง​ของ​เขา​เมื่อ​เทียบ​กับ​ดวง​อาทิตย์. คุณ​ก็​สามารถ​คำนวณ​ค่า​ลองจิจูด​ของ​เขา​ได้​อย่าง​แม่นยำ​มาก.

หลาย​ศตวรรษ​ก่อน นัก​เดิน​เรือ​ทุก​ที่​ใน​โลก​สามารถ​รู้​เวลา​เที่ยง​วัน​ใน​ท้องถิ่น​ได้​โดย​เพียง​แต่​มอง​ไป​ที่​ดวง​อาทิตย์. และ​ถ้า​เขา​รู้​เวลา​ที่​บ้าน​อย่าง​แม่นยำ​พอ เขา​ก็​สามารถ​คำนวณ​ค่า​ลองจิจูด​ได้​โดย​ผิด​พลาด​ไม่​เกิน 50 กิโลเมตร. ที่​จริง นั่น​คือ​ความ​แม่นยำ​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​ใน​ตอน​สิ้น​สุด​ของ​การ​เดิน​ทาง​หก​สัปดาห์​เพื่อ​จะ​ได้​รางวัล​ดัง​กล่าว​ไว้​ข้าง​ต้น.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ข้อ​ท้าทาย​คือ​ต้อง​รู้​เวลา​ที่​แม่นยำ​ของ​ทาง​บ้าน. นัก​เดิน​เรือ​สามารถ​ยก​นาฬิกา​ลูก​ตุ้ม​ไป​ด้วย แต่​มัน​ทำ​งาน​ไม่​ได้​บน​เรือ​ที่​โคลงเคลง​ไป​มา​เมื่อ​คลื่น​ลม​แรง และ​นาฬิกา​ที่​ใช้​สปริง​กับ​เฟือง​ก็​ยัง​ไม่​พัฒนา​และ​ไม่​แม่นยำ. นอก​จาก​นั้น การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​อุณหภูมิ​ก็​มี​ผล​ต่อ​นาฬิกา​สมัย​นั้น​ด้วย. แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​นาฬิกา​เรือน​ใหญ่​ของ​เรา คือ​เทห์ฟากฟ้า​ทั้ง​หลาย รวม​ทั้ง​ดวง​จันทร์?

งาน​อัน​แสน​ยาก

นัก​ดาราศาสตร์​เสนอ​ทฤษฎี​การ​วัด​ที่​เรียก​ว่า​วิธี​วัด​ระยะ​ดวง​จันทร์. แนว​คิด​นี้​รวม​ไป​ถึง​การ​ทำ​ตาราง​ซึ่ง​จะ​ช่วย​นัก​เดิน​เรือ​ให้​รู้​ค่า​ลองจิจูด​ตาม​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​เมื่อ​เทียบ​กับ​ดาว​ฤกษ์​บาง​ดวง.

เป็น​เวลา​นาน​กว่า​หนึ่ง​ศตวรรษ นัก​ดาราศาสตร์, นัก​คณิตศาสตร์, และ​นัก​เดิน​เรือ​ต่าง​ก็​ขบ​คิด​วิธี​แก้​ปัญหา​นี้ แต่​ความ​ซับซ้อน​เป็น​อุปสรรค​ขัด​ขวาง​ความ​ก้าว​หน้า.

ช่าง​ไม้​คน​หนึ่ง​รับ​ข้อ​ท้าทาย

ช่าง​ไม้​คน​หนึ่ง​ชื่อ​จอห์น แฮร์ริสัน จาก​หมู่​บ้าน​ลิงคอล์นเชอร์​แห่ง​บาร์โรว์อัพพอนฮัมเบอร์ ตัดสิน​ใจ​จะ​แก้​ปัญหา​ลองจิจูด. ใน​ปี 1713 ก่อน​เขา​จะ​อายุ 20 ปี แฮร์ริสัน​ได้​สร้าง​นาฬิกา​ลูก​ตุ้ม​ที่​ทำ​ด้วย​ไม้​เกือบ​ทั้ง​เรือน. ต่อ​มา เขา​ประดิษฐ์​กลไก​ที่​ลด​ความ​เสียด​ทาน​และ​ชดเชย​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​อุณหภูมิ. ใน​สมัย​นั้น นาฬิกา​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​โลก​ผิด​พลาด​ถึง​หนึ่ง​นาที​ต่อ​วัน แต่​นาฬิกา​ของ​แฮร์ริสัน​เที่ยง​ตรง​ถึง​ขนาด​ที่​ผิด​พลาด​เพียง​หนึ่ง​วินาที​ใน​หนึ่ง​เดือน. *

แล้ว​แฮร์ริสัน​ก็​หัน​มา​สนใจ​ข้อ​ท้าทาย​ของ​การ​สร้าง​นาฬิกา​ที่​เดิน​อย่าง​เที่ยง​ตรง​เมื่อ​ออก​ทะเล. หลัง​จาก​วิเคราะห์​เรื่อง​นี้​เป็น​เวลา​สี่​ปี เขา​ก็​เดิน​ทาง​ไป​ลอนดอน​เพื่อ​ยื่น​ข้อ​เสนอ​ให้​แก่​คณะ​กรรมการ​ลองจิจูด ซึ่ง​มี​อำนาจ​จะ​ให้​รางวัล​ได้. ที่​นั่น แฮร์ริสัน​ได้​รับ​การ​แนะ​นำ​ให้​รู้​จัก จอร์จ เกรแฮม นัก​ประดิษฐ์​นาฬิกา​ชื่อ​ดัง ผู้​ซึ่ง​ได้​ให้​เขา​กู้​เงิน​จำนวน​มาก​เพื่อ​สร้าง​นาฬิกา​โดย​ไม่​คิด​ดอกเบี้ย. ใน​ปี 1735 แฮร์ริสัน​ก็​นำ​เสนอ​นาฬิกา​โครโนมิเตอร์​ทาง​ทะเล​ที่​เที่ยง​ตรง​เรือน​แรก​ของ​โลก​ต่อ​ราช​สมาคม​ที่​ตื่นเต้น​ดีใจ ซึ่ง​เป็น​คณะ​กรรมการ​ที่​ประกอบ​ด้วย​นัก​วิทยาศาสตร์​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​บริเตน. นาฬิกา​เรือน​นี้​หนัก 34 กิโลกรัม​และ​ตกแต่ง​ด้วย​ทองเหลือง​แวว​วาว.

แฮร์ริสัน​กับ​นาฬิกา​ถูก​ส่ง​ไป​ทดสอบ​โดย​แล่น​เรือ​ไป​ลิสบอน ไม่​ใช่​ไป​ที่​หมู่​เกาะ​อินดิส​ตะวัน​ตก​ตาม​ที่​กำหนด​ไว้​เพื่อ​จะ​ได้​รางวัล และ​นาฬิกา​ของ​เขา​ก็​ทำ​งาน​ได้​ดี​เยี่ยม. เขา​สามารถ​ขอ​การ​ทดสอบ​โดย​เดิน​ทาง​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ใน​ทันที​เพื่อ​แสดง​ว่า​นาฬิกา​ของ​เขา​คู่​ควร​กับ​รางวัล. อัน​ที่​จริง ณ การ​ประชุม​ครั้ง​แรก​ของ​คณะ​กรรมการ​ลองจิจูด มี​ผู้​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ไม่​พอ​ใจ​กับ​นาฬิกา​เรือน​นี้​คือ​ตัว​แฮร์ริสัน​เอง! เนื่อง​จาก​เป็น​คน​ชอบ​ทำ​อะไร​ให้​สมบูรณ์​แบบ เขา​รู้สึก​ว่า​จะ​ปรับ​ปรุง​นาฬิกา​ให้​ดี​กว่า​นี้​ได้. ดัง​นั้น เขา​จึง​ขอ​รับ​เงิน​เพียง​เล็ก​น้อย​และ​ขอ​เวลา​ที่​จะ​สร้าง​นาฬิกา​ให้​ดี​กว่า​เรือน​เดิม.

หก​ปี​ต่อ​มา นาฬิกา​เรือน​ที่​สอง​ของ​แฮร์ริสัน​ซึ่ง​หนัก 39 กิโลกรัม​และ​มี​การ​ปรับ​ปรุง​หลาย​ส่วน ได้​รับ​การ​สนับสนุน​อย่าง​เต็ม​ที่​จาก​ราช​สมาคม. แต่​แฮร์ริสัน ซึ่ง​ตอน​นี้​อายุ 48 ปี ก็​ยัง​ไม่​พอ​ใจ​กับ​ผล​งาน. เขา​กลับ​ไป​ที่​ห้อง​ทำ​งาน​และ​ใช้​เวลา​อีก 19 ปี​ทำ​งาน​อย่าง​หนัก​เพื่อ​สร้าง​นาฬิกา​เรือน​ที่​สาม ซึ่ง​มี​รูป​แบบ​ต่าง​ไป​ค่อนข้าง​มาก.

ขณะ​สร้าง​นาฬิกา​ใหญ่​เรือน​ที่​สาม แฮร์ริสัน​ค้น​พบ​บาง​สิ่ง​โดย​บังเอิญ. ช่าง​นาฬิกา​คน​หนึ่ง​ได้​สร้าง​นาฬิกา​พก​ซึ่ง​อาศัย​แบบ​ของ​แฮร์ริสัน. ก่อน​หน้า​นั้น​เคย​คิด​กัน​ทั่ว​ไป​ว่า​นาฬิกา​เรือน​ใหญ่​จะ​เที่ยง​ตรง​กว่า​นาฬิกา​พก. แต่​แฮร์ริสัน​ประหลาด​ใจ​กับ​ความ​เที่ยง​ตรง​ของ​นาฬิกา​เรือน​ใหม่. ฉะนั้น เมื่อ​มี​การ​เตรียม​การ​ทดสอบ​จริง ๆ โดย​เดิน​ทาง​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ใน​ปี 1761 เขา​ไม่​มั่น​ใจ​ใน​นาฬิกา​เรือน​ที่​สาม​เท่า​กับ​เรือน​ที่​สี่ ซึ่ง​หนัก​เพียง 1 กิโลกรัม​และ​อาศัย​นาฬิกา​พก​เป็น​ต้น​แบบ. เชื่อ​กัน​ว่า​แฮร์ริสัน​ได้​กล่าว​ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​ขอบคุณ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ฤทธิ์​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​ข้าพเจ้า​มี​ชีวิต​ยืน​ยาว​จน​สามารถ​ทำ​งาน​นี้​ให้​สำเร็จ​ใน​ระดับ​หนึ่ง.”

การ​ตัดสิน​อย่าง​ลำเอียง

แต่​มา​ถึง​ตอน​นี้ นัก​ดาราศาสตร์​ก็​ใกล้​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​คิด​ค้น​วิธี​หา​ลองจิจูด. นอก​จาก​นั้น บุคคล​ผู้​ซึ่ง​มี​อิทธิพล​เหนือ​คณะ​กรรมการ​ผู้​ตัดสิน​ซึ่ง​มี​อำนาจ​ใน​การ​ให้​รางวัล​ก็​เป็น​นัก​ดาราศาสตร์ คือ​เนวิล มาสเคลีน. นาฬิกา​ของ​แฮร์ริสัน​ถูก​ทดสอบ​โดย​เดิน​ทาง 81 วัน​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก. นาฬิกา​ของ​เขา​ทำ​งาน​ได้​ดี​เพียง​ไร? มัน​เดิน​ช้า​ไป​เพียง​ห้า​วินาที! ถึง​กระนั้น คณะ​ผู้​ตัดสิน​ได้​เลื่อน​การ​ให้​รางวัล​แก่​แฮร์ริสัน​ออก​ไป โดย​อ้าง​ว่า​มี​การ​ละเมิด​กฎ​บาง​ข้อ​และ​อ้าง​ว่า​ความ​แม่นยำ​ของ​นาฬิกา​เรือน​นี้​เป็น​เพราะ​โชค​ช่วย. ผล​ก็​คือ เขา​ได้​รับ​รางวัล​แค่​ส่วน​หนึ่ง. ขณะ​เดียว​กัน ใน​ปี 1766 มาสเคลีน​ได้​จัด​พิมพ์​ตาราง​ตำแหน่ง​ดวง​จันทร์​ซึ่ง​ช่วย​ให้​นัก​เดิน​เรือ​สามารถ​คำนวณ​หา​ลองจิจูด​ได้​ใน​เวลา​เพียง​ครึ่ง​ชั่วโมง. แฮร์ริสัน​กลัว​ว่า​มาสเคลีน​จะ​เอา​รางวัล​นั้น​ไป​เสีย​เอง.

แล้ว​ใน​ปี 1772 กัปตัน​เจมส์ คุก นัก​สำรวจ​ชาว​อังกฤษ​ก็​เข้า​มา​มี​บทบาท. ใน​การ​เดิน​ทาง​ครั้ง​สำคัญ​รอบ​ที่​สอง​ของ​เขา คุก​ใช้​นาฬิกา​ที่​เลียน​แบบ​นาฬิกา​ของ​แฮร์ริสัน และ​ต่อ​มา​เขา​รายงาน​ว่า​มัน​ทำ​งาน​ได้​ดี​เกิน​ความ​คาด​หมาย. ใน​ตอน​นั้น​เอง แฮร์ริสัน​ซึ่ง​ถึง​ตอน​นี้​อายุ 79 ปี​แล้ว เริ่ม​ไม่​พอ​ใจ​คณะ​กรรมการ​ตัดสิน​อย่าง​มาก​จน​เขา​ได้​ยื่น​ฎีกา​ต่อ​กษัตริย์​แห่ง​อังกฤษ. ผล​ก็​คือ แฮร์ริสัน​ได้​รับ​เงิน​รางวัล​ที่​เหลือ​ใน​ปี 1773 แม้​ไม่​มี​การ​ประกาศ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​เลย​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​ชนะ. จอห์น แฮร์ริสัน​เสีย​ชีวิต​อีก​สาม​ปี​ต่อ​มา ใน​วัน​เกิด​ปี​ที่ 83 ของ​ตน.

ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​ปี ผู้​คน​ก็​สามารถ​หา​ซื้อ​นาฬิกา​โครโนมิเตอร์​ทาง​ทะเล​ที่​เที่ยง​ตรง​ได้​ใน​ราคา​เพียง 65 ปอนด์. ใช่​แล้ว สิ่ง​ที่​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ก็​กลาย​เป็น​จริง​แล้ว เนื่อง​จาก​ความ​ฉลาด​หลักแหลม​และ​การ​ทุ่มเท​ตัว​อย่าง​เต็ม​ที่​ของ​ช่าง​ไม้​คน​หนึ่ง​จาก​ชนบท.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 แฮร์ริสัน​ซึ่ง​มี​น้อง​ชาย​คอย​ช่วย ได้​วัด​ความ​เที่ยง​ตรง​ของ​นาฬิกา​ของ​เขา​ตลอด​เวลา​หลาย​คืน โดย​สังเกต​ช่วง​ที่​ดาว​ฤกษ์​บาง​ดวง​หาย​ลับ​ไป​หลัง​ปล่อง​ไฟ​ของ​บ้าน​เพื่อน​บ้าน.

[แผน​ภาพ/ภาพ​หน้า 21]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

การ​หา​ค่า​ลองจิจูด​โดย​วิธี​ใช้​เวลา

6:00 น. 12:00 น.

อเมริกา​เหนือ บริเตน

[ภาพ​หน้า 22]

จอห์น แฮร์ริสัน ช่าง​ทำ​นาฬิกา

[ที่​มา​ภาพ]

SSPL/Getty Images

[ภาพ​หน้า 22]

นาฬิกา​รูป​แบบ​แรก​ของ​แฮร์ริสัน​ซึ่ง​หนัก 34 กิโลกรัม

[ที่​มา​ภาพ]

National Maritime Museum Greenwich London Ministry of Defence Art Collection

[ภาพ​หน้า 22]

นาฬิกา​รูป​แบบ​ที่​สี่​ของ​แฮร์ริสัน​ซึ่ง​หนัก​หนึ่ง​กิโลกรัม (ขนาด​ไม่​ได้​เป็น​ไป​ตาม​อัตรา​ส่วน)

[ที่​มา​ภาพ]

SSPL/Getty Images

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 20]

Ship in distress: © Tate London/Art Resource NY; compass: © 1996 Visual Language