การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ส่งสารมีใจความว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง . . . ที่จะปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งสถาบันเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ เพื่อแนวคิดแบบครอบครัวนานาชาติจะเกิดขึ้นได้จริง.”—หนังสือพิมพ์ลอสแซร์วาโตเร โรมาโน; ข้อความตัวเอนเป็นไปตามต้นฉบับ
“ชาวยูเครนหนึ่งในสามสูบบุหรี่ประมาณหนึ่งซองทุกวัน.”—เอกซ์เพรสส์ ยูเครน
ในสหรัฐ 44 เปอร์เซ็นต์ของเด็กชายวัยรุ่น ที่ถูกสำรวจบอกว่า “เคยเห็นภาพเปลือยของเพื่อนนักเรียนหญิงอย่างน้อยหนึ่งภาพทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์มือถือ.”—ไทม์ สหรัฐอเมริกา
“จุดที่เลวร้าย”
สำนักข่าวแอสโซซิเอเตดรายงานว่า สงคราม, ความแห้งแล้ง, การขาดเสถียรภาพทางการเมือง, อาหารแพง, และความยากจนได้ผลักดันมนุษย์ให้มาถึง “จุดที่เลวร้าย.” ตอนนี้ประชากรโลกที่อดอยากได้ผ่านเลยหลักหนึ่งพันล้านคนแล้ว. โจเซตต์ ชีรันแห่งโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “โลกที่ประชากรหิวโหยเป็นโลกที่อันตราย. . . . เมื่อไม่มีอาหาร ผู้คนก็มีทางเลือกแค่สามทาง: พวกเขาก่อจลาจล, พวกเขาอพยพย้ายถิ่นหรือไม่ก็ตาย. ในสามอย่างนี้ไม่มีทางเลือกใดเลยที่ยอมรับได้.” ยิ่งกว่านั้น จำนวนคนที่หิวโหยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าจำนวนประชากรของโลก. แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวนคนที่ได้รับอาหารไม่พอได้เพิ่มขึ้น 15.4 เปอร์เซ็นต์.
อ่านหนังสือก่อนนอนเป็นผลดี
เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน พวกเขาไม่ได้กล่อมลูกให้หลับเท่านั้น. นักวิจัยกล่าวว่าการทำเช่นนี้เสริมสร้างทักษะด้านภาษาของเด็ก, ช่วยเขาพัฒนาการเคลื่อนไหวโดยสอนเขาให้จับหนังสือและพลิกหน้าหนังสือ, อีกทั้งช่วยให้ความจำเฉียบแหลมขึ้นด้วย. หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน รายงานว่า “แต่สิ่งสำคัญที่สุด . . . คือที่ว่าการอ่านหนังสือด้วยกันเป็นช่วงเวลาที่มีการเอาใจใส่ซึ่งกันและกันและร่วมอารมณ์ความรู้สึกระหว่างพ่อแม่กับลูก. ทั้งนี้ยิ่งทำให้การอ่านหนังสือด้วยกันเป็นกิจกรรมที่น่าเพลิดเพลิน.” ศาสตราจารย์แบร์รี ซักเคอร์แมน ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยโครงการนี้กล่าวว่า “ในที่สุดแล้ว เด็กเรียนรู้ที่จะรักการอ่านเพราะพวกเขาได้อ่านกับคนที่พวกเขารัก.”
แม่โคที่ได้รับการดูแลดีผลิตนมได้มาก
นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล อังกฤษ กล่าวว่า “แม่โคที่ถูกตั้งชื่อจะให้นมมากกว่าแม่โคที่ไม่มีชื่อ.” ที่จริง การใส่ใจดูแลแม่โคเป็นตัว ๆ ไปจะช่วยให้มันผลิตนมได้มากขึ้นราว ๆ 280 ลิตรต่อปี. เพราะอะไร? ดร. แคเทอรีน ดักลาส แห่งคณะเกษตรศาสตร์, อาหารและการพัฒนาชนบทในมหาวิทยาลัยนี้กล่าวว่า “เหมือนกับที่คนเรามีความรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้รับการสัมผัสอย่างใกล้ชิด แม่โคก็เช่นเดียวกันจะรู้สึกสบายและผ่อนคลายถ้าได้รับการใส่ใจมากขึ้นหน่อยเป็นรายตัว.” เธออธิบายว่า “การวิจัยของเราชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเกษตรกรที่ใส่ใจได้เชื่อมานานแล้ว. โดยให้ความสำคัญเป็นรายตัว เช่น การตั้งชื่อให้หรือการหยอกล้อกับโคมากขึ้นขณะที่มันเติบโต เราไม่เพียงแต่ทำให้สัตว์สบายใจและทำให้มันมองคนในแง่ดีขึ้น แต่ยังเพิ่มการผลิตนมด้วย.”