ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มารู้จักชาวเขาหลากหลายเผ่าในประเทศไทย

มารู้จักชาวเขาหลากหลายเผ่าในประเทศไทย

มา​รู้​จัก​ชาว​เขา​หลาก​หลาย​เผ่า​ใน​ประเทศ​ไทย

ตลาด​ใน​เชียงใหม่​คึกคัก​และ​มี​ชีวิต​ชีวา. ผู้​คน​เบียด​เสียด​กัน​ตาม​เพิง​ขาย​สินค้า​แปลก ๆ ข้าง​ถนน. คน​ซื้อ​พยายาม​ต่อ​รอง​กับ​คน​ขาย​ซึ่ง​ต่าง​ก็​พูด​แข่ง​กับ​เสียง​รถ​ที่​วิ่ง​กัน​ขวักไขว่. ใน​นคร​แห่ง​นี้​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​ประเทศ​ไทย​ที่​มี​ผู้​คน​อยู่​กัน​คับคั่ง นัก​ท่อง​เที่ยว​สามารถ​พบ​กับ​ชาว​เขา​หลาก​หลาย​เผ่า​ที่​น่า​สนใจ.

ประชากร 65 ล้าน​คน​ใน​ประเทศ​ไทย​รวม​เอา​ชน​กลุ่ม​น้อย 23 กลุ่ม​ที่​ถูก​เรียก​ว่า​ชาว​เขา. ชาว​เขา​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​อยู่​ใน​ภาค​เหนือ​ของ​ประเทศ​ไทย ซึ่ง​เป็น​พื้น​ที่​ภูเขา​สูง มี​แม่น้ำ​และ​หุบเขา​อุดม​สมบูรณ์ อาณา​เขต​ครอบ​คลุม​ไป​ถึง​ประเทศ​พม่า​และ​ลาว.

ชาว​เขา​ส่วน​ใหญ่​เข้า​มา​อยู่​ใน​ประเทศ​ไทย​ใน​ช่วง 200 ปี​หลัง​นี้. ใน​เผ่า​หลัก ๆ หก​เผ่า ชาว​กะเหรี่ยง​เป็น​เผ่า​ใหญ่​ที่​สุด​ซึ่ง​มา​จาก​พม่า. ชาว​ลาฮู, ลีซู, และ​อาข่า​มา​จาก​มณฑล​หยุนหนาน ใน​พื้น​ที่​ภูเขา​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​จีน. และ​ชาว​ม้ง​กับ​เย้า​มา​จาก​จีน​ภาค​กลาง. *

ส่วน​ใหญ่​แล้ว เผ่า​ต่าง ๆ อพยพ​เข้า​มา​เพื่อ​หนี​ภัย​สงคราม, ความ​กดดัน​ใน​สังคม, และ​การ​แย่ง​ชิง​พื้น​ที่​อัน​อุดม​สมบูรณ์. * ภาค​เหนือ​ของ​ประเทศ​ไทย​เป็น​ที่​ลี้​ภัย​ที่​เหมาะ​มาก เพราะ​อยู่​ห่าง​ไกล​ผู้​คน, พื้น​ที่​เป็น​เขา​สูง, และ​ไม่​ค่อย​มี​คน​อาศัย​อยู่. และ​ประเทศ​ไทย​ก็​ยอม​ให้​ผู้​อพยพ​อยู่​ได้. ไม่​นาน หมู่​บ้าน​ชาว​เขา​ก็​กระจาย​อยู่​ทั่ว​ไป เผ่า​ต่าง ๆ ตั้ง​บ้าน​เรือน​อยู่​บน​พื้น​ที่​ใกล้​กัน​จึง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​วัฒนธรรม​และ​ภาษา.

เครื่อง​แต่ง​กาย​ที่​โดด​เด่น​และ​ประเพณี​ที่​น่า​สนใจ

ชาว​เขา​แต่​ละ​คน​อยู่​ใน​เผ่า​อะไร​ดู​ได้​จาก​เครื่อง​แต่ง​กาย. ตัว​อย่าง​เช่น ผู้​หญิง​ชาว​อาข่า​จะ​มี​เครื่อง​ประดับ​ศีรษะ​ที่​งาม​ประณีต​ทำ​ด้วย​เงิน ซึ่ง​ดู​คล้าย​หอคอย​ที่​สวย​งาม​ติด​พู่​ห้อย, ผ้า​ปัก, และ​เหรียญ. เครื่อง​ประดับ​ศีรษะ​อื่น ๆ เป็น​หมวก​หุ้ม​แผ่น​โลหะ​ประดับ​ด้วย​กระดุม, ลูกปัด, และ​ลูก​กลม ๆ ที่​งาม​ระยิบระยับ. ผู้​หญิง​เย้า​สวย​เด่น​อยู่​ใน​ชุด​กางเกง​ผ้า​ปัก​ที่​งาม​วิจิตร ซึ่ง​แต่​ละ​ตัว​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​ปัก​ถึง​ห้า​ปี​กว่า​จะ​เสร็จ. ชุด​ที่​สวย​ตระการตา​ของ​พวก​เขา​รวม​ไป​ถึง​ผ้า​โพก​ศีรษะ​ที่​งดงาม, เสื้อ​ยาว​กรอม​ข้อ​เท้า​พร้อม​กับ​ปก​เสื้อ​ฟู ๆ สี​แดง, และ​ผ้า​คาด​เอว​สี​น้ำเงิน.

เมื่อ​แต่ง​กาย​ครบ​ชุด ผู้​หญิง​ชาว​เขา​จะ​ใส่​เครื่อง​ประดับ​เงิน​หลาย​ชิ้น​ซึ่ง​ส่ง​เสียง​กริ๊ง ๆ และ​ดู​แวว​วาว เป็น​การ​ประกาศ​สถานะ​และ​ความ​มั่งคั่ง และ​ทำ​ให้​คน​รอบ​ข้าง​และ​ชาย​หนุ่ม​ที่​มา​ติด​พัน​ชื่นชม. เครื่อง​ประดับ​อื่น ๆ อาจ​ประกอบ​ด้วย​แก้ว, ไม้, และ​เส้น​ด้าย.

ชาว​เขา​ส่วน​ใหญ่​ภูมิ​ใจ​ใน​วัฒนธรรม​ของ​ตน​เอง. ตัว​อย่าง​เช่น วัยรุ่น​ชาว​กะเหรี่ยง​จะ​แต่ง​ตัว​ดี​เป็น​พิเศษ​ใน​งาน​ศพ​มาก​กว่า​โอกาส​อื่น. เหตุ​ผล​คือ​อะไร? หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​ไป​ใน​งาน​โดย​หวัง​จะ​ได้​พบ​คู่​ครอง​ใน​อนาคต. หลัง​ดวง​อาทิตย์​ตก ชาย​หนุ่ม​หญิง​สาว​หลาย​คน​จะ​จับ​มือ​กัน​เดิน​ช้า ๆ เวียน​รอบ​ศพ และ​ร้อง​เพลง​รัก​ประจำ​ท้องถิ่น​ตลอด​คืน.

หนุ่ม​สาว​ชาว​ม้ง​จะ​พูด​เกี้ยว​ขณะ​มี​การ​ละ​เล่น​พิเศษ​ใน​เทศกาล​ปี​ใหม่. เด็ก​หนุ่ม​สาว​ที่​ชอบ​พอ​กัน​จะ​จับ​คู่​และ​ยืน​เรียง​แถว​หัน​หน้า​เข้า​หา​กัน โดย​อยู่​ห่าง​กัน​สอง​สาม​ก้าว. ครั้น​แล้ว เด็ก​หนุ่ม​เด็ก​สาว​จะ​โยน​ม้วน​ผ้า​กลม ๆ ส่ง​ไป​มา​ให้​กัน. เมื่อ​ฝ่าย​หนึ่ง​ทำ​ผ้า​ตก โดย​เจตนา​หรือ​โดย​บังเอิญ​ก็​ตาม คน​นั้น​ต้อง​มอบ​เครื่อง​ประดับ​ชิ้น​เล็ก ๆ ให้​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง. พอ​พลบ​ค่ำ เพื่อ​จะ​ได้​เครื่อง​ประดับ​คืน คน​นั้น​ต้อง​ร้อง​เพลง. ถ้า​เขา​ร้อง​เพลง​ได้​ไพเราะ ก็​จะ​ดึงดูด​ผู้​คน​เข้า​มา​ฟัง​จำนวน​มาก และ​เพิ่ม​โอกาส​ของ​คน​นั้น​จะ​ชนะ​ใจ​คู่​รัก.

รับมือ​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง

เมื่อ​ก่อน ชาว​เขา​ส่วน​ใหญ่​ทำ​ไร่​เลื่อน​ลอย โดย​ถาง​ป่า​เพื่อ​ทำ​ไร่​และ​เลี้ยง​สัตว์. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ก่อ​ผล​เสียหาย​อย่าง​ร้ายแรง​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม. แต่​เวลา​นี้ ผู้​คน​บริหาร​จัด​การ​ที่​ดิน​อย่าง​มี​ความ​รับผิดชอบ​มาก​ขึ้น และ​มี​ผล​ที่​ดี.

ชาว​เขา​หลาย​คน​อยู่​ใน​พื้น​ที่​สาม​เหลี่ยม​ทองคำ ซึ่ง​รวม​ถึง​ประเทศ​ไทย, ลาว, และ​พม่า และ​คน​เหล่า​นี้​เคย​ปลูก​ฝิ่น. แต่​ปัจจุบัน พวก​เขา​ปลูก​กาแฟ, ผัก, ผลไม้, และ​ดอกไม้​แทน ทั้ง​นี้​เนื่อง​จาก​โครงการ​หา​พืช​ทดแทน​ซึ่ง​สนับสนุน​โดย​โครงการ​หลวง​และ​องค์กร​ระหว่าง​ชาติ. ชาว​เขา​หลาย​คน​ยัง​ได้​ขาย​สินค้า, การ​บริการ, และ​งาน​ฝีมือ​พื้น​บ้าน​แก่​นัก​ท่อง​เที่ยว​ที่​มี​จำนวน​มาก​ขึ้น.

กระนั้น​ก็​ดี ความ​ยาก​จน, การ​สุขาภิบาล​ที่​ย่ำแย่, และ​การ​ไม่​รู้​หนังสือ​ทำ​ให้​ชีวิต​หลาย​คน​ต้อง​ยาก​ลำบาก. ปัจจัย​อื่น ๆ ที่​ส่ง​ผล​เสีย​รวม​ไป​ถึง​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​ที่​ร่อยหรอ, การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​วัฒนธรรม, อคติ​ใน​เรื่อง​เชื้อชาติ, ยา​เสพ​ติด​และ​การ​ดื่ม​จัด. บรรพบุรุษ​ของ​ชาว​เขา​ได้​หนี​ปัญหา​คล้าย ๆ กัน​นี้​เข้า​มา​อยู่​ใน​ประเทศ​ไทย. แต่​ตอน​นี้​พวก​เขา​จะ​หา​ที่​ลี้​ภัย​ได้​ที่​ไหน?

ที่​ลี้​ภัย​ซึ่ง​วางใจ​ได้

ชาว​เขา​หลาย​คน​พบ​ที่​ลี้​ภัย​ที่​ดี​ที่​สุด นั่น​คือ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เที่ยง​แท้. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ไว้​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ 34:8 ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ชิม​ดู​จึง​จะ​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​ประเสริฐ; ผู้​ใด​ที่​พึ่ง​อาศัย​ใน​พระองค์​ก็​เป็น​สุข.” ยอเหล่ ชาว​ลาฮู​คน​หนึ่ง​เล่า​ว่า “เมื่อ​ผม​แต่งงาน​ตอน​อายุ 19 ปี ผม​เป็น​คน​ขี้เมา​และ​ติด​ยา. ถ้า​ไม่​เสพ​ยา ผม​ก็​ทำ​งาน​ไม่​ได้ และ​ถ้า​ไม่​มี​งาน ผม​ก็​ไม่​มี​เงิน. อโณทัย ภรรยา​ของ​ผม​รู้สึก​ถูก​ทอดทิ้ง​และ​ไม่​เป็น​ที่​รัก. เรา​ทะเลาะ​กัน​บ่อย​มาก.

“หลัง​จาก​สุภาวดี ลูก​สาว​ของ​เรา​เกิด อโณทัย​ก็​เริ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. แต่​ผม​จะ​หนี​เข้า​ป่า​ทุก​ครั้ง​เมื่อ​พยาน​ฯ มา​ที่​บ้าน​เรา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​นาน​ความ​ประพฤติ​ของ​ภรรยา​ผม​เริ่ม​ดี​ขึ้น. เธอ​พูด​กับ​ผม​ด้วย​ความ​นับถือ​และ​เอา​ใจ​ใส่​งาน​บ้าน​มาก​ขึ้น. ดัง​นั้น เมื่อ​เธอ​ชวน​ผม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ผม​จึง​ตอบ​ตก​ลง.

“เมื่อ​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ประทับใจ​ผม ผม​ก็​ค่อย ๆ ก้าว​หน้า. ใน​ที่​สุด ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​ของ​พระเจ้า ผม​เลิก​นิสัย​เสพ​ติด​ได้. ตอน​นี้​ครอบครัว​ของ​ผม​มี​ความ​สุข​จริง ๆ เพราะ​เรา​พบ​ทาง​ชีวิต​ที่​ดี​ที่​สุด! นอก​จาก​นั้น เรา​ยัง​ยินดี​ที่​ได้​แบ่ง​ปัน​คำ​สอน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​ชาว​เขา​คน​อื่น ๆ ด้วย.”

คำ​พูด​ของ​ยอเหล่​ทำ​ให้​นึก​ถึง​คำ​พยากรณ์​ใน​หนังสือ​วิวรณ์​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​กล่าว​ว่า​ใน​สมัย​สุด​ท้าย​ของ​ยุค​ชั่ว​นี้ “ข่าว​ดี​นิรันดร์” จะ​ได้​ประกาศ​แก่ “ทุก​ประเทศ ทุก​ตระกูล ทุก​ภาษา และ​ทุก​ชน​ชาติ.” (วิวรณ์ 14:6) พยาน​พระ​ยะโฮวา​ถือ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​ร่วม​ใน​งาน​นี้ อัน​เป็น​การ​ยืน​ยัน​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ต่อ​คน​ทุก​ชน​ชาติ รวม​ทั้ง​ชาว​เขา​หลาก​หลาย​เผ่า​ใน​ประเทศ​ไทย​ด้วย.—โยฮัน 3:16

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ชาว​เขา​อาจ​มี​หลาย​ชื่อ. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ประเทศ​อื่น ๆ ชาว​เย้า​ถูก​เรียก​ว่า เมี่ยน, ลูเมี่ยน, เดา, เซา, หรือ​มาน.

^ วรรค 5 ชาว​เขา​จำนวน​มาก​ยัง​อยู่​ใน​ประเทศ​จีน รวม​ทั้ง​เวียดนาม, ลาว, และ​พม่า. ใน​ระยะ​หลัง​นี้ มี​ชุมชน​ชาว​เขา​อพยพ​ค่อนข้าง​ใหญ่​ใน​ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, สหรัฐ, และ​ประเทศ​อื่น ๆ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16]

ห่วง​ยืด​คอ​ให้​ยาว​ขึ้น​ไหม?

ผู้​หญิง​กะยัน (กะเหรี่ยง​คอ​ยาว) หลาย​คน​ใส่​เครื่อง​ประดับ​พิเศษ คือ​ห่วง​คอ​ทองเหลือง​สุก​อร่าม​ซึ่ง​อาจ​เรียง​ซ้อน​กัน​สูง​ถึง 38 เซนติเมตร. * การ​ใส่​ห่วง​เริ่ม​ตั้ง​แต่​เด็ก​ผู้​หญิง​อายุ​ประมาณ​ห้า​ขวบ. ทุก​สอง​หรือ​สาม​ปี​พวก​เขา​จะ​เปลี่ยน​ห่วง​ให้​สูง​ขึ้น​และ​หนัก​ขึ้น จน​เมื่อ​เด็ก​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว หญิง​สาว​เหล่า​นี้​อาจ​ใส่​ห่วง​ถึง 25 ห่วง​และ​หนัก​เกือบ 13 กิโลกรัม. ไม่​เหมือน​กับ​ที่​ตา​มอง​เห็น คอ​ของ​พวก​เขา​ไม่​ได้​ยาว​ขึ้น. แต่​ห่วง​เหล่า​นั้น​จะ​ดัน​กระดูก​ไหปลาร้า​และ​กด​ซี่​โครง​ลง.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 25 ชาว​กะยัน​เข้า​มา​ใน​ประเทศ​ไทย​จาก​พม่า และ​ยัง​คง​มี​ประมาณ 50,000 คน​อยู่​ที่​นั่น. ใน​พม่า​พวก​เขา​ถูก​เรียก​ว่า ปาเดาง์ หมาย​ถึง “คอ​ยาว.”

[ที่​มา​ภาพ]

Hilltribe Museum Chiang Mai

[กรอบ​หน้า 17]

ตำนาน​เรื่อง​น้ำ​ท่วม​ครั้ง​ใหญ่

ทั้ง​ชาว​ลี​ซู​และ​ชาว​ม้ง​มี​ตำนาน​เล่า​ขาน​เรื่อง​น้ำ​ท่วม​ครั้ง​ใหญ่. ตำนาน​เรื่อง​หนึ่ง​ของ​เผ่า​ม้ง​เล่า​ว่า “เทพ​แห่ง​ท้องฟ้า” เตือน​พี่​ชาย​กับ​น้อง​ชาย​ว่า​ไม่​นาน​จะ​มี​น้ำ​ท่วม​โลก. เทพ​องค์​นั้น​สั่ง​พี่​ชาย​ที่​เป็น​คน​ก้าวร้าว​ให้​สร้าง​เรือ​เหล็ก และ​ให้​น้อง​ชาย​ที่​เป็น​คน​อ่อนโยน​สร้าง​เรือ​ไม้. แล้ว​เทพ​ก็​สั่ง​น้อง​ชาย​ให้​พา​น้อง​สาว​เข้า​ไป​ใน​เรือ​ไม้ พร้อม​ทั้ง​สัตว์​แต่​ละ​ชนิด​ทั้ง​ตัว​ผู้​และ​ตัว​เมีย อีก​ทั้ง​ให้​นำ​เอา​เมล็ด​พืช​แต่​ละ​ชนิด ชนิด​ละ​สอง​เมล็ด​เข้า​ไป​ด้วย.

เมื่อ​เกิด​น้ำ​ท่วม​ครั้ง​ใหญ่​คราว​นั้น เรือ​เหล็ก​จม แต่​เรือ​ไม้​ลอย​อยู่​ได้. จาก​นั้น​มังกร​ที่​แปลง​ร่าง​เป็น​รุ้ง​ได้​สูบ​น้ำ​ให้​แผ่นดิน​แห้ง. ใน​ที่​สุด น้อง​ชาย​ก็​แต่งงาน​กับ​น้อง​สาว แล้ว​ให้​กำเนิด​ลูก​หลาน​เต็ม​แผ่นดิน​โลก. ขอ​สังเกต​ความ​คล้าย​กัน​ระหว่าง​ตำนาน​นี้​กับ​บันทึก​ที่​แม่นยำ​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ที่​เยเนซิศ​บท 6 ถึง​บท 10.

[ภาพ​หน้า 16, 17]

ผู้​หญิง​ชาว​เขา​ที่​แต่ง​กาย​ครบ​ชุด

[ที่​มา​ภาพ]

Hilltribe Museum Chiang Mai

[ภาพ​หน้า 17]

ยอ​เหล่​กับ​ครอบครัว

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 15]

Both pictures: Hilltribe Museum Chiang Mai