ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ริบบิ้นเหล็ก” จากฝั่งทะเลถึงฝั่งทะเล

“ริบบิ้นเหล็ก” จากฝั่งทะเลถึงฝั่งทะเล

“ริบบิ้น​เหล็ก” จาก​ฝั่ง​ทะเล​ถึง​ฝั่ง​ทะเล

แคนาดา​เป็น​ประเทศ​ที่​มี​พื้น​ที่​ใหญ่​เป็น​อันดับ​สอง​ของ​โลก. เมื่อ 150 ปี​ที่​แล้ว​พื้น​ที่​ส่วน​ใหญ่​ของ​แคนาดา​ยัง​เป็น​ที่​ว่าง​เปล่า​ไม่​มี​การ​สำรวจ. ปิแอร์ เบอร์ตัน นัก​ประวัติศาสตร์​บอก​ว่า “สมัย​นั้น​ประชากร​สาม​ใน​สี่​อาศัย​อยู่​ตาม​ฟาร์ม​ที่​โดด​เดี่ยว​ห่าง​ไกล” และ​สภาพ​ถนน “ทำ​ให้​การ​เดิน​ทาง​ไกล​แทบ​เป็น​ไป​ไม่​ได้.” การ​เดิน​ทาง​ทาง​ทะเลสาบ​และ​แม่น้ำ​มี​ข้อ​จำกัด​เช่น​กัน เนื่อง​จาก​น้ำ​จะ​กลาย​เป็น​น้ำ​แข็ง​นาน​ถึง​ห้า​เดือน​ต่อ​ปี.

เมื่อ​ต้อง​เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นี้ ใน​ปี 1871 นายก​รัฐมนตรี​เซอร์​จอห์น เอ. แมกโดนัลด์ เสนอ​ให้​มี​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​เพื่อ​เชื่อม​ต่อ​ระหว่าง​ชายฝั่ง​แอตแลนติก​กับ​ชายฝั่ง​แปซิฟิก​ของ​แคนาดา. ทาง​รถไฟ​เชื่อม​ระหว่าง​สอง​ฝั่ง​ใน​สหรัฐ​สร้าง​เสร็จ​ใน​ปี 1869 แต่​แคนาดา​มี​เงิน​น้อย​กว่า, มี​ระยะ​ทาง​ต้อง​ครอบ​คลุม​มาก​กว่า, และ​มี​ประชากร​เพียง​หนึ่ง​ใน 10 ของ​สหรัฐ. ผู้​นำ​ทาง​การ​เมือง​คน​หนึ่ง​ใน​แคนาดา​เรียก​โครงการ​ที่​มี​การ​เสนอ​นี้​ว่า “เรื่อง​โง่​ที่​สุด​เรื่อง​หนึ่ง​เท่า​ที่​คน​เรา​จะ​นึก​ภาพ​ได้.” อีก​คน​หนึ่ง​เยาะเย้ย​ว่า​อีก​หน่อย​นายก​รัฐมนตรี​คง​จะ​พูด​เรื่อง​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ไป​ดวง​จันทร์.

ข้อ​เสนอ​ราคา​แพง

อย่าง​ไร​ก็​ตาม รัฐบาล​สัญญา​จะ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ให้​เสร็จ​ภาย​ใน​สิบ​ปี. แซนด์ฟอร์ด เฟลมมิง วิศวกร​รถไฟ​ชาว​สกอต ประมาณ​ว่า​ทาง​รถไฟ​อาจ​จะ​ต้อง​ใช้​เงิน​ราว ๆ 100 ล้าน​ดอลลาร์ เป็น​จำนวน​เงิน​มหาศาล​ใน​สมัย​นั้น. ถึง​แม้​การ​วาง​ราง​บาง​ส่วน​ผ่าน​ประเทศ​สหรัฐ​จะ​ย่น​ระยะ​ทาง​และ​ทำ​ให้​การ​สร้าง​เส้น​ทาง​ง่าย​ขึ้น แต่​แมกโดนัลด์​ยืนกราน​ที่​จะ​ให้​เส้น​ทาง​ทั้ง​หมด​อยู่​ใน​เขต​แดน​ของ​แคนาดา​เพื่อ​รักษา​ผล​ประโยชน์​ของ​แคนาดา​หาก​เกิด​สงคราม.

นัก​ลง​ทุน​หลาย​คน​ไม่​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ทุ่ม​ทุน​ใน​โครงการ​ราคา​แพง​ที่​เสี่ยง​เช่น​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ดี ปี 1875 งาน​ได้​เริ่ม​ขึ้น​เมื่อ​การ​รถไฟ​แปซิฟิก​แห่ง​แคนาดา​ลง​มือ​ก่อ​สร้าง​เส้น​ทาง​สาย​หลัก. สิบ​ปี​ต่อ​มา โครงการ​นี้​เกือบ​ต้อง​ล้ม​เลิก​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. วัน​ที่ 10 กรกฎาคม​เวลา 15:00 น. เป็น​กำหนด​เวลา​ชำระ​หนี้​จำนวน 400,000 ดอลลาร์​ซึ่ง​การ​รถไฟ​ไม่​สามารถ​จะ​จ่าย​คืน​ได้. แต่​เมื่อ​เวลา 14:00 น. ของ​วัน​นั้น รัฐสภา​แคนาดา​ก็​อนุมัติ​เงิน​กู้​เพิ่ม​ขึ้น ทำ​ให้​โครงการ​นี้​ดำเนิน​ต่อ​ไป​ได้.

ปัญหา​การ​ก่อ​สร้าง​ที่​ท้าทาย

ขณะ​วาง​ราง​ใน​ภาค​เหนือ​ของ​มณฑล​ออนแทรีโอ คน​งาน​พบ​ว่า​ใต้​ผิว​ดิน​หนึ่ง​ฟุต​นั้น​เป็น​ชั้น​หิน​แข็ง. ฉะนั้น จึง​ต้อง​ขน​ดิน​มา​จาก​ที่​ไกล ๆ. ใน​แคนาดา​ตอน​กลาง อุณหภูมิ​ใน​ฤดู​หนาว​จะ​ลด​ลง​ถึง​ลบ 47 องศา​เซลเซียส สร้าง​ปัญหา​มาก​มาย​ใน​การ​ก่อ​สร้าง. นอก​จาก​นั้น หิมะ​ตก​โดย​เฉลี่ย​ปี​ละ​หลาย​ร้อย​เซนติเมตร. เส้น​ทาง​รถไฟ​ช่วง​เทือก​เขา​รอกกี​ทาง​ตะวัน​ตก​ถูก​เรียก​ว่า “ที่​ซึ่ง​ความ​ตาย​มา​เยือน​โดย​ไม่​เตือน​ล่วง​หน้า.” จำเป็น​ต้อง​มี​การ​สร้าง​อุโมงค์​และ​สะพาน​มาก​มาย. การ​ทำ​งาน​วัน​ละ​สิบ​ชั่วโมง ไม่​ว่า​ฝน​ตก มี​โคลน​เลน หรือ​หิมะ​ตก​ก็​ถือ​เป็น​เรื่อง​ปกติ.

ใน​ที่​สุด วัน​ที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1885 โดย​ไม่​มี​การ​ประโคม​ข่าว หมุด​ยึด​ราง​ตัว​สุด​ท้าย​ก็​ถูก​ตอก​ที่​อีเกิลพาสส์​สุด​ทาง​ตะวัน​ตก​ใน​มณฑล​บริติช​โคลัมเบีย. สถานี​นั้น​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​คราเกลลาคี ตาม​ชื่อ​หมู่​บ้าน​ใน​สกอตแลนด์​ที่​มี​การ​รวม​กำลัง​กัน​ซึ่ง​กลาย​มา​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​การ​ต่อ​สู้​อย่าง​กล้า​หาญ​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก. เมื่อ​ถูก​เชิญ​ให้​กล่าว​สุนทรพจน์ ผู้​บริหาร​การ​รถไฟ​แห่ง​แคนาดา​กล่าว​แต่​เพียง​ว่า “ผม​พูด​ได้​แต่​เพียง​ว่า​งาน​ทุก​ด้าน​ลุ​ล่วง​ไป​ด้วย​ดี.”

ผล​กระทบ​ต่อ​ชีวิต​ผู้​คน

แรงงาน​ชาว​จีน​หลาย​พัน​คน​ซึ่ง​ถูก​นำ​เข้า​มา​ใน​ประเทศ​เพื่อ​โครงการ​นี้​ได้​รับ​คำ​รับรอง​ว่า​จะ​มี​งาน​ที่​มั่นคง​ใน​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ. งาน​นี้​มี​อันตราย​บ่อย ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​บริเวณ​เทือก​เขา​รอกกี. จน​กระทั่ง​ไม่​กี่​ปี​ภาย​หลัง​การ​ตอก​หมุด​ตัว​สุด​ท้าย แรงงาน​เหล่า​นั้น​จึง​สามารถ​หา​เงิน​ได้​พอ​ที่​จะ​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน.

เมื่อ​มี​ทาง​รถไฟ อุตสาหกรรม​และ​การ​ค้า​ขาย​ก็​ย้าย​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก ซึ่ง​กระทบ​ต่อ​วิถี​ชีวิต​ดั้งเดิม​เป็น​อย่าง​มาก. มี​การ​สร้าง​ทั้ง​เมือง​ใหญ่​เมือง​เล็ก​ขึ้น​มา และ​ชน​พื้นเมือง​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่​ใน​เขต​สงวน. ตาม​เส้น​ทาง​การ​ค้า​สาย​เก่า ธุรกิจ​ขนาด​เล็ก เช่น ร้าน​ขาย​อาหาร​เล็ก ๆ ต่าง​ก็​ปิด​กิจการ. ส่วน​ใน​ด้าน​ดี กล่าว​กัน​ว่า​รถไฟ​ได้​ช่วย “ฉุด​สังคม​ขึ้น​จาก​ฝุ่น​และ​โคลน” และ “จาก​เครื่อง​จองจำ​แห่ง​ฤดู​หนาว.” นอก​จาก​นั้น ผลิตภัณฑ์​อาหาร​จาก​ประเทศ​ทาง​ตะวัน​ออก​ที่​มา​ถึง​ชายฝั่ง​แปซิฟิก​ของ​แคนาดา​ก็​ถูก​ขน​ส่ง​ไป​ยัง​เมือง​ชายฝั่ง​ตะวัน​ออก​ได้​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​วัน.

แม้​ว่า​รถไฟ​ยัง​คง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​ขน​ส่ง​สินค้า​ข้าม​ประเทศ แต่​การ​ใช้​รถยนต์​และ​เครื่องบิน​มาก​ขึ้น​ก็​เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​คน​โดยสาร​รถไฟ​ลด​น้อย​ลง. กระนั้น หลาย​คน​ยัง​คง​ชอบ​หลีก​หนี​ชีวิต​ที่​วุ่นวาย​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 21 โดย​การ​นั่ง​รถไฟ​อย่าง​สะดวก​สบาย​ชม​ทัศนียภาพ​อัน​สวย​งาม​ตลอด​ทาง​จาก​โทรอนโต​ถึง​แวนคูเวอร์. ดัง​นั้น แทน​ที่​จะ​เร่ง​จังหวะ​ชีวิต​เหมือน​ที่​เคย​ทำ​สมัย​หนึ่ง รถไฟ​ทำ​ให้​ผู้​โดยสาร​ผ่อน​คลาย​ได้​และ​ใคร่ครวญ​ประวัติ​ที่​น่า​สนใจ​ของ​รถไฟ​ขณะ​เดิน​ทาง​จาก​ฝั่ง​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง​โดย “ริบบิ้น​เหล็ก” ของ​แคนาดา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

บอก​เล่า​ความ​หวัง​ของ​เรา​บน “ริบบิ้น​เหล็ก”

รถไฟ​ยัง​คง​เป็น​วิธี​หลัก​ใน​การ​เดิน​ทาง​ของ​ชุมชน​แคนาดา​บาง​แห่ง ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​ใช้​รถไฟ​เพื่อ​เข้า​ถึง​ท้อง​ที่​พร้อม​ด้วย​ข่าวสาร​เรื่อง​รัฐบาล​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า. (ยะซายา 9:6, 7; มัดธาย 6:9, 10) พยาน​บาง​คน​อธิบาย​ว่า “เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​พูด​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​บน​รถไฟ เพราะ​ผู้​คน​อยาก​รู้​ว่า​เรา​กำลัง​ไป​ไหน​และ​ไป​ทำไม.”

พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​เล่า​ถึง​การ​เดิน​ทาง​ด้วย​รถไฟ​ไป​ยัง​เขต​สงวน​โอจิบวา​ใกล้​ทะเลสาบ​นิปิกอน ใน​ออนแทรีโอ​ทาง​เหนือ ดัง​นี้: “แม้​ทัศนียภาพ​และ​ชีวิต​สัตว์​จะ​สวย​งาม​น่า​ทึ่ง​มาก แต่​ความ​ทรง​จำ​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​เรา​ก็​คือ​ผู้​คน​ที่​เรา​พบ. เนื่อง​จาก​แทบ​ไม่​มี​ผู้​ไป​เยือน การ​ที่​เรา​ไป​ที่​นั่น​จึง​เป็น​ข่าว​ใหญ่. บาง​คน​ให้​เรา​ใช้​เรือ​แคนู​ของ​เขา และ​อนุญาต​ให้​เรา​ใช้​ห้อง​เรียน​ใน​โรง​เรียน​ฟรี. หลัง​จาก​เรา​ได้​ประกาศ​ตลอด​วัน​แล้ว ผู้​คน​ใน​ชุมชน​นั้น​ได้​เข้า​มา​ร่วม​ชม​วีดิทัศน์​เกี่ยว​กับ​งาน​ประกาศ​ทั่ว​โลก​ของ​เรา.”

[ภาพ​หน้า 16]

เซอร์​จอห์น เอ. แมกโดนัลด์

[ภาพ​หน้า 17]

การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​เป็น​งาน​ที่​ยาก​ลำบาก​มาก

[ภาพ​หน้า 17]

ต้อง​สร้าง​สะพาน​และ​อุโมงค์​หลาย​แห่ง​ผ่าน​เทือก​เขา

[ภาพ​หน้า 17]

การ​ตอก​หมุด​ยึด​ราง​ตัว​สุด​ท้าย​เป็น​การ​สิ้น​สุด​ของ​การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ข้าม​ทวีป​ของ​แคนาดา

[ภาพ​หน้า 18]

การ​โดยสาร​บน “ริบบิ้น​เหล็ก” ใน​ปัจจุบัน

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 16]

Top: Canadian Pacific Railway (A17566); middle: Library and Archives Canada/C-006513

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 17]

Top left to right: Canadian Pacific Railway (NS13561-2); Canadian Pacific Railway (NS7865); Library and Archives Canada/PA-066576; bottom: Canadian Pacific Railway (NS1960)

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 18]

Top: Canadian National Railway Company; right: Courtesy VIA Rail Canada Inc.