ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โรคกระดูกพรุน—ภัยเงียบ

โรคกระดูกพรุน—ภัยเงียบ

โรค​กระดูก​พรุน—ภัย​เงียบ

แอนนา​วัย 19 ปี​กำลัง​ฟื้น​ตัว​ได้​ดี​จาก​ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน​ที่​เรียก​ว่า​โรค​อะโนเรกเซีย เนอร์โวซา แต่​จู่ ๆ เธอ​ก็​ล้ม​ลง​และ​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​อย่าง​รุนแรง​ที่​หลัง. กระดูก​สัน​หลัง​ส่วน​เอว​ของ​เธอ​แตก​สอง​ข้อ และ​เธอ​เตี้ย​ลง 5 เซนติเมตร. สาเหตุ​คือ​ภาวะ​กระดูก​พรุน.

ภาวะ​กระดูก​พรุน​ถูก​เรียก​ว่า​ภัย​เงียบ​เนื่อง​จาก​ไม่​ปรากฏ​อาการ​ว่า มี​การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก​จน​กระทั่ง​กระดูก​เปราะ​บาง​ถึง​ขนาด​ที่​เมื่อ​ถูก​กระแทก, ถูก​ชน, หรือ​หก​ล้ม​ก็​จะ​ทำ​ให้​กระดูก​แตก​หัก​ได้. การ​แตก​หัก​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​ที่​กระดูก​สะโพก, ซี่​โครง, กระดูก​สัน​หลัง, หรือ​ข้อ​มือ. ผู้​คน​มัก​คิด​ว่า​โรค​กระดูก​พรุน​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​ผู้​หญิง​สูง​อายุ​ที่​อ่อนแอ. อย่าง​ไร​ก็​ดี ดัง​ที่​เห็น​ใน​กรณี​ของ​แอนนา คน​หนุ่ม​สาว​ก็​เป็น​โรค​กระดูก​พรุน​ได้​ด้วย.

ภัย​คุกคาม​ต่อ​สุขภาพ

มูลนิธิ​โรค​กระดูก​พรุน​ระหว่าง​ชาติ​รายงาน​ว่า “ใน​สหภาพ​ยุโรป มี​คน​กระดูก​แตก​ทุก ๆ 30 วินาที​เนื่อง​จาก​โรค​กระดูก​พรุน.” ใน​สหรัฐ มี 10 ล้าน​คน​เป็น​โรค​กระดูก​พรุน และ​อีก 34 ล้าน​คน​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​นี้​เนื่อง​จาก​มวล​กระดูก​ลด​ลง. ยิ่ง​กว่า​นั้น สถาบัน​สุขภาพ​แห่ง​สหรัฐ​รายงาน​ว่า “ผู้​หญิง​หนึ่ง​ใน​สอง​และ​ผู้​ชาย​หนึ่ง​ใน​สี่​ที่​มี​อายุ 50 ปี​ขึ้น​ไป​จะ​มี​กระดูก​แตก​หัก​เนื่อง​จาก​โรค​กระดูก​พรุน​ใน​ช่วง​ชีวิต.” และ​ดู​เหมือน​แนว​โน้ม​จะ​ไม่​ดี​ขึ้น.

จดหมาย​ข่าว​องค์การ​อนามัย​โลก กล่าว​ว่า​จำนวน​การ​แตก​หัก​ของ​กระดูก​จาก​โรค​กระดูก​พรุน​คาด​กัน​ว่า​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​สอง​เท่า​ทั่ว​โลก​ใน​ระยะ 50 ปี​ข้าง​หน้า. การ​คาด​คะเน​นี้​คง​อาศัย​การ​เพิ่ม​ขึ้น​ของ​ประชากร​สูง​อายุ. กระนั้น สิ่ง​ที่​จะ​ตาม​มา​ก็​น่า​ตกใจ. โรค​กระดูก​พรุน​มี​อัตรา​ทุพพลภาพ​สูง ถึง​ขั้น​เสีย​ชีวิต​ด้วย​ซ้ำ. ผู้​ป่วย​เกือบ 25 เปอร์เซ็นต์​อายุ 50 ปี​ขึ้น​ไป​ซึ่ง​กระดูก​สะโพก​หัก​จะ​เสีย​ชีวิต​ภาย​ใน​หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​กระดูก​หัก​เนื่อง​จาก​อาการ​แทรก​ซ้อน.

คุณ​อยู่​ใน​ภาวะ​เสี่ยง​ไหม?

การ​ศึกษา​วิจัย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​เผย​ว่า​กรรมพันธุ์​เป็น​ปัจจัย​เสี่ยง​ที่​สำคัญ. เมื่อ​พ่อ​แม่​มี​ประวัติ​สะโพก​หัก ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​เกิด​การ​แตก​หัก​ชนิด​เดียว​กัน​กับ​ลูก ๆ ก็​อาจ​สูง​ขึ้น​สอง​เท่า. ปัจจัย​เสี่ยง​อีก​ประการ​หนึ่ง​คือ​ภาวะ​ทุโภชนาการ​ขณะ​ยัง​เป็น​ตัว​อ่อน​ใน​ครรภ์ ซึ่ง​ส่ง​ผล​ให้​ใน​วัย​เด็ก​มี​ความ​หนา​แน่น​ของ​กระดูก​น้อย. นอก​จาก​นั้น​ก็​มี​ปัจจัย​ด้าน​อายุ. ยิ่ง​มี​อายุ​มาก​ขึ้น โดย​ทั่ว​ไป​กระดูก​ก็​เปราะ​มาก​ขึ้น. ภาวะ​ทาง​การ​แพทย์​บาง​อย่าง เช่น โรค​คุชชิงส์, เบาหวาน, และ​ภาวะ​ต่อม​ไทรอยด์​ทำ​งาน​เกิน อาจ​มี​ส่วน​ก่อ​ให้​เกิด​โรค​กระดูก​พรุน​ได้​ด้วย.

ภาวะ​หมด​ประจำ​เดือน​ส่ง​ผล​ให้​เอสโทรเจน​ที่​ช่วย​ป้องกัน​มวล​กระดูก​ลด​ลง. นี่​เป็น​เหตุ​ที่​ผู้​หญิง​เป็น​โรค​กระดูก​พรุน​มาก​กว่า​ผู้​ชาย​เกือบ​สี่​เท่า. การ​ขาด​เอสโทรเจน​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ถูก​ตัด​รังไข่​ออก​อาจ​ส่ง​ผล​ให้​หมด​ประจำ​เดือน​ก่อน​เวลา.

ปัจจัย​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​กระดูก​พรุน​ซึ่ง​แต่​ละ​คน​อาจ​ปรับ​เปลี่ยน​ได้​ก็​มี​นิสัย​การ​กิน​และ​รูป​แบบ​ชีวิต. การ​กิน​อาหาร​ที่​มี​แคลเซียม​และ​วิตามิน​ดี​ต่ำ​มี​ส่วน​ทำ​ให้​กระดูก​เสื่อม​ลง. การ​กิน​อาหาร​เค็ม​จัด​อาจ​เพิ่ม​ความ​เสี่ยง​ด้วย เนื่อง​จาก​จะ​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​ขับ​แคลเซียม​ออก​มา​มาก​ขึ้น. การ​บริโภค​แอลกอฮอล์​มาก​เกิน​ไป​ซึ่ง​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​พร้อม​กับ​การ​กิน​อาหาร​ด้อย​คุณค่า ก็​มี​ส่วน​ทำ​ให้​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก​ด้วย.

ดัง​ที่​กล่าว​ไว้​ข้าง​ต้น แอนนา​ป่วย​ด้วย​โรค​กระดูก​พรุน​เนื่อง​จาก​ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน. ความ​ผิด​ปกติ​นี้​นำ​ไป​สู่​ภาวะ​ทุโภชนาการ, น้ำหนัก​ตัว​น้อย, และ​การ​ขาด​ประจำ​เดือน. ผล​ก็​คือ ร่าง​กาย​ของ​เธอ​หยุด​การ​ผลิต​เอสโทรเจน นำ​ไป​สู่​ภาวะ​กระดูก​เปราะ.

ปัจจัย​อื่น​ที่​ทำ​ให้​เกิด​โรค​กระดูก​พรุน​คือ​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​ไม่​ค่อย​มี​กิจกรรม​ที่​ออก​แรง. การ​สูบ​บุหรี่​ก็​เป็น​ปัจจัย​เสี่ยง​เช่น​กัน เนื่อง​จาก​อาจ​ทำ​ให้​ความ​หนา​แน่น​ของ​แร่​ธาตุ​ใน​กระดูก​ลด​ลง. ตาม​รายงาน​ของ​องค์การ​อนามัย​โลก ประมาณ 1 ใน 8 ของ​คน​ที่​สะโพก​หัก​อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​มี​สาเหตุ​มา​จาก​การ​สูบ​บุหรี่. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ศึกษา​วิจัย​เผย​ว่า​เมื่อ​คน​เรา​เลิก​สูบ​บุหรี่ การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก​และ​ความ​เสี่ยง​ที่​กระดูก​จะ​หัก​ก็​ลด​ลง.

การ​ป้องกัน​โรค​กระดูก​พรุน

การ​วาง​พื้น​ฐาน​ใน​การ​ป้องกัน​โรค​กระดูก​พรุน​ต้อง​เริ่ม​ตั้ง​แต่​วัย​เด็ก​และ​วัยรุ่น. นั่น​คือ​ช่วง​ที่​ร่าง​กาย​ของ​คน​เรา​สร้าง​มวล​กระดูก​ถึง 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​มวล​กระดูก​ทั้ง​หมด. แคลเซียม สาร​อาหาร​สำคัญ​เพื่อ​สร้าง​โครง​กระดูก​ที่​แข็งแรง ส่วน​ใหญ่​จะ​สะสม​อยู่​ใน​กระดูก. โดย​หลัก​แล้ว แคลเซียม​จะ​ได้​จาก​นม​และ​ผลิตภัณฑ์​จาก​นม เช่น โยเกิร์ต​และ​เนย​แข็ง; ปลา​ซาร์ดีน​และ​แซล์มอน​กระป๋อง (รับประทาน​ทั้ง​ก้าง); อัลมอนด์; ข้าว​โอ๊ต; งา; เต้าหู้; และ​ผัก​ใบ​เขียว.

เพื่อ​ร่าง​กาย​จะ​ดูด​ซึม​แคลเซียม​ได้ วิตามิน​ดี​ก็​สำคัญ​มาก. วิตามิน​ดี​จะ​สังเคราะห์​ขึ้น​ที่​ผิวหนัง​เมื่อ​ผิวหนัง​ถูก​แสง​แดด. มานูเอล มิราซู ออร์เตกา อายุรแพทย์​และ​สมาชิก​สมาคม​กระดูก​และ​เมแทบอลิซึม​แร่​ธาตุ​แห่ง​เม็กซิโก​อธิบาย​ว่า “การ​อาบ​แดด​วัน​ละ​สิบ​นาที​ช่วย​ป้องกัน​การ​เกิด​โรค​กระดูก​พรุน เพราะ​ทำ​ให้​ได้​รับ​วิตามิน​ดี​ประมาณ 600 หน่วย.” นอก​จาก​นั้น วิตามิน​นี้​มี​อยู่​ใน​อาหาร​ต่าง ๆ เช่น ไข่​แดง, ปลา​ทะเล, และ​ตับ.

การ​ออก​กำลัง​กาย​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ใน​การ​ป้องกัน​โรค​กระดูก​พรุน. ใน​วัย​เด็ก​และ​วัย​หนุ่ม​สาว การ​ออก​กำลัง​กาย​ช่วย​เพิ่ม​มวล​กระดูก และ​ใน​วัย​ชรา​มัน​ช่วย​ป้องกัน​การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มี​การ​แนะ​นำ​ให้​ออก​กำลัง​กาย​ที่​เน้น​การ​ยก​น้ำหนัก​และ​แรง​ต้าน ซึ่ง​กล้ามเนื้อ​ต้อง​ฝืน​แรง​โน้มถ่วง​หรือ​แรง​อื่น ๆ โดย​ไม่​กด​กระดูก​และ​ข้อ​ต่อ​มาก​เกิน​ไป. การ​เดิน, การ​ขึ้น​บันได, และ​กระทั่ง​การ​เต้น​รำ​เป็น​การ​ออก​กำลัง​กาย​ที่​ทำ​ได้​ไม่​ยาก​แต่​มี​ประสิทธิภาพ. *

แน่นอน การ​ป้องกัน​ช่วย​ได้​มาก​ใน​การ​สู้​กับ​ภัย​เงียบ​นี้. ดัง​ที่​เรา​เห็น​แล้ว นี่​อาจ​รวม​ถึง​การ​ปรับ​การ​กิน​และ​รูป​แบบ​ชีวิต​เพื่อ​รักษา​มวล​กระดูก​และ​เพิ่ม​ความ​แข็งแรง​ของ​กระดูก. จริง​อยู่ คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​มี​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​เอา​แต่​นั่ง ๆ นอน ๆ อาจ​เปลี่ยน​แปลง​ได้​ยาก. แต่​คน​ที่​พยายาม​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ได้​ประโยชน์​มาก​มาย​จริง ๆ! อย่าง​หนึ่ง​คือ พวก​เขา​จะ​ไม่​ต้อง​เป็น​หนึ่ง​ใน​หลาย​ล้าน​คน​ทั่ว​โลก​ที่​ทรมาน​ด้วย​โรค​กระดูก​พรุน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 16 การ​ออก​กำลัง​กาย​อย่าง​หักโหม​ถึง​ขั้น​ที่​ประจำ​เดือน​ของ​ผู้​หญิง​ขาด​ไป อาจ​นำ​ไป​สู่​ภาวะ​กระดูก​เปราะ​บาง​เพราะ​ขาด​เอสโทรเจน. มี​การ​แนะ​นำ​ให้​ผู้​หญิง​อายุ 65 ปี​ขึ้น​ไป​ตรวจ​ความ​หนา​แน่น​ของ​กระดูก​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​มี​การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก​หรือ​ไม่ และ​อาการ​รุนแรง​เพียง​ใด. ถ้า​มี​การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก​มาก อาจ​ต้อง​ใช้​ยา​เพื่อ​ป้องกัน​และ​รักษา​โรค​กระดูก​พรุน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ควร​พิจารณา​ทั้ง​ความ​เสี่ยง​และ​ประโยชน์​ก่อน​จะ​เริ่ม​การ​รักษา.

[คำ​โปรย​หน้า 21]

การ​ป้องกัน​อาจ​รวม​ถึง​การ​ปรับ​การ​กิน​และ​รูป​แบบ​ชีวิต​เพื่อ​รักษา​มวล​กระดูก​และ​เพิ่ม​ความ​แข็งแรง​ของ​กระดูก

[กรอบ/ภาพ​หน้า 19]

โรค​กระดูก​พรุน​เป็น​ภาวะ​ที่​กระดูก​โปร่ง​บาง​และ​มี​ความ​แข็งแรง​ลด​น้อย​ลง ทำ​ให้​กระดูก​เปราะ​และ​แตก​หัก​ง่าย. โรค​นี้​จะ​วินิจฉัย​ได้​โดย​การ​ถ่าย​ภาพ​รังสี​ระดับ​ต่ำ ซึ่ง​จะ​วัด​ความ​หนา​แน่น​ของ​แร่​ธาตุ​ใน​กระดูก.

[ภาพ]

กระดูก​ที่​แข็งแรง

กระดูก​พรุน

[ที่​มา​ภาพ]

© BSIP/Photo Researchers Inc.

[ภาพ​หน้า 20]

การ​ออก​กำลัง​กาย​ที่​เน้น​การ​ยก​น้ำหนัก​และ​แรง​ต้าน​ช่วย​ป้องกัน​การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก

[ภาพ​หน้า 20]

อัลมอนด์​และ​ผลิตภัณฑ์​จาก​นม​เป็น​แหล่ง​ที่​อุดม​ด้วย​แคลเซียม