วิธีประหยัดเมื่อมีรายได้น้อย
วิธีประหยัดเมื่อมีรายได้น้อย
การอยู่อย่างเรียบง่ายเมื่อรายได้ลดลงต้องวางแผนให้รอบคอบ. พระเยซูทรงย้ำถึงความจำเป็นสำหรับเรื่องนี้. พระองค์ตรัสถามว่า “มีใครในพวกเจ้าไหมที่ต้องการสร้างหอคอยแล้วจะไม่นั่งลงคำนวณค่าใช้จ่ายก่อน เพื่อดูว่าตนมีพอจะสร้างให้เสร็จหรือไม่?” (ลูกา 14:28, 29) อาศัยหลักการนี้ คุณสามารถ “คำนวณค่าใช้จ่าย” โดยการทำงบประมาณเพื่อจะไม่ใช้จ่ายเกินตัว. จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? ลองทำอย่างนี้สิ:
เมื่อคุณกลับบ้านพร้อมกับเงินที่หาได้ ให้แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปัจจุบันหรือสำหรับวันข้างหน้า. (ดูกรอบ หน้า 8) เมื่อคุณตั้งงบค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว คุณก็จะรู้ว่าเงินของคุณหมดไปกับอะไรและได้ใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหนสำหรับเรื่องเบ็ดเตล็ดที่ไม่สำคัญ. เมื่อคุณตั้งงบไว้เช่นนั้น คุณก็พอจะกำหนดได้ว่าจะลดค่าใช้จ่ายตรงไหน.
เพื่อจะทำงบประมาณที่ใช้ได้สำหรับคุณ ลองใช้คำแนะนำต่อไปนี้.
ฉลาดซื้อ
เมื่อราอูลตกงาน เบอร์ทา ภรรยาของเขาเปลี่ยนวิธีจับจ่ายซื้อของ. เธอบอกว่า “ดิฉันมองหาคูปองส่วนลดและรายการซื้อหนึ่งแถมหนึ่งของร้านค้า.” ต่อไปนี้เป็นข้อแนะบางอย่าง:
• วางแผนทำอาหารประจำสัปดาห์โดยอาศัยเครื่องปรุงที่ขายลดราคา.
• ซื้อส่วนผสมแต่ละอย่างมาทำเอง แทนที่จะซื้ออาหารสำเร็จรูป.
• ซื้อของมาตุนไว้เมื่อลดราคาและเมื่อถึงฤดูกาลของมัน.
• ซื้อของทีละมาก ๆ แต่ระวังไม่ให้มากเกินไปจนเน่าเสีย.
• ลดการใช้จ่ายค่าเสื้อผ้าโดยซื้อเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดีที่ร้านขายของใช้แล้ว.
• เดินทางไปซื้อของในย่านที่ราคาถูกกว่า ถ้าจะประหยัดได้.
• ลดจำนวนครั้งที่ไปซื้อของ. *
เขียนลงบนกระดาษ
เฟรดกล่าวว่า “เราต้องทำงบประมาณ ดังนั้นผมจึงจดบันทึกรายจ่ายทันทีที่เราต้องจ่าย และต้องมีเงินอยู่ในมือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับทั้งเดือน.” อาเดเล ภรรยาของเขาเสริมว่า “ดิฉันรู้ว่ามีเงินเท่าไรจริง ๆ ที่จะใช้ได้เมื่อไปจ่ายตลาด. บางครั้ง เมื่อดิฉันเห็นว่าจำเป็นต้องซื้อของให้ลูกหรือซื้อของใช้ในบ้าน ดิฉันจะดูเงินที่มีอยู่และคิดในใจว่า ‘ฉันมีเงินไม่พอ เราต้องรอเดือนหน้า.’ การมีบันทึกเป็นเรื่องสำคัญมาก!”
คิดก่อนซื้อ
ทำเป็นนิสัยที่จะถามตัวเองว่า ‘ฉันจำเป็นต้องมีสิ่งนี้จริง ๆ หรือ? ของเก่านั้นใช้ไม่ได้แล้วจริง ๆ ไหม หรือฉันแค่อยากได้ของใหม่?’ ถ้าคุณจะไม่ค่อยได้ใช้ของนั้น การเช่ามาใช้จะเพียงพอไหม? หรือถ้าคุณคิดว่าต้องใช้บ่อย การซื้อของมือสอง ในสภาพดีก็ใช้ได้ไหม?
แม้ว่ามาตรการข้างต้นดูเหมือนไม่สู้สำคัญ แต่เมื่อรวมแล้วก็จะประหยัดได้มาก! จุดสำคัญคือ ถ้าคุณสร้างนิสัยการประหยัดเมื่อใช้จ่ายสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ คุณก็จะประหยัดเช่นเดียวกันเมื่อต้องใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่.
ฉลาดกินฉลาดใช้
เพื่อจะประหยัดรายจ่ายสำหรับสิ่งที่ไม่จำเป็น จงใช้ความคิดริเริ่ม. ตัวอย่างเช่น อาเดเลเล่าว่า “เรามีรถยนต์สองคันแต่ขายไปคันหนึ่งแล้วก็ใช้รถร่วมกัน. เพื่อประหยัดน้ำมัน เราวางแผนทำธุระหลาย ๆ อย่างในการเดินทางแต่ละเที่ยว. เราลดให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น.” ต่อไปนี้เป็นข้อแนะบางอย่างที่จะช่วยคุณฉลาดกินฉลาดใช้:
• ปลูกผักสวนครัวเอง.
• ทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตในการบำรุงรักษาเครื่องใช้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งาน.
• เปลี่ยนเสื้อผ้าดี ๆ ที่ใช้ใส่ออกนอกบ้านทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน ซึ่งจะทำให้เสื้อผ้าดูใหม่ได้นานขึ้น.
อย่าปลีกตัว!
หลายคนที่ตกงานกลายเป็นคนเก็บตัวและชอบอยู่ต่างหาก. แต่เฟรดไม่ได้เป็นอย่างนั้น! เขาได้กำลังใจจากครอบครัว และลูก ๆ ที่โตแล้ว. เขาพูดว่า “เราเรียนรู้ที่จะแบ่งปันให้กันและกัน และการทำอย่างนี้ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น. เราทุกคนต่างก็สำนึกว่า ‘เราจะฟันฝ่าไปด้วยกัน.’”
เฟรดได้กำลังจากเพื่อนคริสเตียนซึ่งพบกันเป็นประจำที่หอประชุมของพยานพระยะโฮวา. เขาพูดอย่างนี้ “พอจบการประชุม ผมได้รับกำลังใจทุกครั้ง. ทุกคนกรุณาและเห็นอกเห็นใจผม. เพราะการช่วยเหลือและปลอบโยนของพวกเขา เราจึงตระหนักว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง.”—โยฮัน 13:35
ประโยชน์ของความเชื่อ
การตกงานทำให้เหยื่อที่ขมขื่นหลายล้านคนคิดว่าถูกนายจ้างหักหลัง. ราอูลซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ เศร้าใจอย่างมากจากการที่ต้องสูญเสียงานอย่างไม่คาดหมายถึงสองครั้ง ครั้งแรกที่บ้านเกิดในเปรู แล้วก็ในนครนิวยอร์ก. หลังจากถูกให้ออกจากงานเป็นครั้งที่สอง ราอูลก็สรุปว่า “ในโลกปัจจุบัน ไม่มีอะไรเลยที่มั่นคง.” เป็นเวลาหลายเดือน เขาหางานทำไม่ได้. อะไรช่วยเขาให้รับมือได้. เขาก็กล่าวว่า “ผมได้สร้างมิตรภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าและตระหนักว่าเพื่อจะมีความมั่นคงที่แท้จริง ผมต้องวางใจในพระองค์.”
ราอูลเป็นพยานพระยะโฮวา และการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยเขาพัฒนาความเชื่อที่เข้มแข็งในพระบิดาฝ่ายสวรรค์ที่ทรงใฝ่พระทัย ผู้ซึ่งสัญญาว่า “เราจะไม่มีวันละทิ้งเจ้าและไม่มีวันทอดทิ้งเจ้า.” (ฮีบรู 13:5) ตอนนั้นสภาพการณ์ไม่ง่ายเสียทีเดียว. เขาบอกว่า “เราอธิษฐานเสมอเพื่อจะมีสิ่งจำเป็นพื้นฐาน และเราเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งที่พระเจ้าจัดเตรียมให้.” เบอร์ทา ภรรยาของราอูล พูดเสริมว่า “บางครั้ง ดิฉันรู้สึกกังวลใจว่าราอูลจะหางานได้หรือเปล่า. แต่เราเห็นแล้วว่าพระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานโดยจัดหาสิ่งจำเป็นให้เราทุกวัน. อีกนัยหนึ่ง แม้เราไม่ได้มีมาก เหมือนเมื่อก่อน แต่ชีวิตเราก็เรียบง่ายขึ้นมาก.”
เนื่องจากเฟรดเป็นพยานพระยะโฮวา การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจึงส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีที่เขารับมือกับสถานการณ์นี้. เขาบอกว่า “บางครั้งเรามองหาความมั่นคงในหน้าที่การงาน, ในตำแหน่ง, หรือบัญชีธนาคาร. แต่ผมได้มารู้ว่าความมั่นคงที่เราสามารถมีได้ย่อมมาจากพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้น และเฉพาะมิตรภาพกับพระองค์ที่ยังความมั่นคงที่แท้จริง.” *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 การศึกษารายหนึ่งสรุปว่าเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่ซื้อหามานั้นไม่ได้มีแผนจะซื้อ.
^ วรรค 30 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเงิน โปรดดูหอสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นวารสารที่ออกคู่กัน ฉบับ 1 สิงหาคม 2009 หน้า 10-12.
[คำโปรยหน้า 9]
“เราอธิษฐานเสมอเพื่อจะมีสิ่งจำเป็นพื้นฐาน และเราเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งที่พระเจ้าจัดเตรียมให้”
[กรอบ/แผนภาพหน้า 8]
วิธีจัดทำงบประมาณ
(1) เขียนรายจ่ายหลัก ๆ ประจำเดือน. เก็บบันทึกตลอดหนึ่งเดือนว่าคุณใช้จ่ายเท่าไรไปกับค่าอาหาร, ค่าบ้าน (ค่าเช่าหรือเงินค่าผ่อนบ้าน), ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์, และอื่น ๆ. สำหรับค่าใช้จ่ายประจำปี ให้หารด้วย 12 เพื่อจะรู้ว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายเท่าไร.
(2) แยกรายจ่ายออกเป็นประเภท เช่น อาหาร, ที่อยู่อาศัย, ยานพาหนะและค่าเดินทาง, และอื่น ๆ.
(3) คำนวณว่าต้องใช้เงินออมมากเท่าไรไปกับค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทในเดือนหนึ่ง ๆ. สำหรับค่าใช้จ่ายประจำปี คุณต้อง “คำนวณ” ว่าแต่ละเดือนต้องกันเงินไว้เท่าไร.
(4) เขียนรายได้สุทธิของทุกคนในครอบครัวรวมกัน. หักลบค่าต่าง ๆ เช่น ภาษี. นำยอดที่ได้ไปเทียบกับรายจ่าย.
(5) ในแต่ละเดือน กันเงินจำนวนหนึ่งให้พอสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท. ถ้าใช้เงินสด วิธีง่าย ๆ คือทำซองใส่เงินสำหรับแต่ละประเภทและเขียนชื่อไว้หน้าซอง. แล้วคอยใส่เงินไว้เป็นประจำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแต่ละอย่าง.
คำเตือน: ถ้าคุณใช้บัตรเครดิต จงใช้อย่างระมัดระวัง! งบประมาณของหลายคนมีอันต้องล้มเหลวเพราะการล่อใจให้ ‘ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง.’
[ตาราง]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
รายได้สุทธิประจำเดือน
เงินเดือนสุทธิ ․․․․․บาท รายรับอื่น ๆ ․․․․․บาท
เงินเดือนสุทธิของ
คนอื่น ๆ ในครอบครัว ․․․․․บาท รวมรายได้สุทธิ
․․․․․บาท
รายจ่ายประจำเดือน รายจ่ายประจำเดือน
ที่ตั้งงบประมาณไว้ ที่จ่ายจริง
․․․․․บาท ค่าเช่าและค่าผ่อนบ้าน ․․․․․บาท
․․․․․บาท ค่าประกันและภาษี ․․․․․บาท
․․․․․บาท ค่าสาธารณูปโภค ․․․․․บาท
․․․․․บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ ․․․․․บาท
․․․․․บาท ความบันเทิงและท่องเที่ยว ․․․․․บาท
․․․․․บาท ค่าโทรศัพท์ ․․․․․บาท
․․․․․บาท ค่าอาหาร ․․․․․บาท
․․․․․บาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ․․․․․บาท
รวมยอดงบประมาณที่ตั้งไว้ รวมยอดจ่ายจริง
․․․․․บาท ․․․․․บาท
เปรียบเทียบรายได้และรายจ่าย
รายได้สุทธิประจำเดือน ․․․․․บาท
ลบ- ยอดคงเหลือ
รายจ่ายประจำเดือน ․․․․․บาท ․․․․․บาท