ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉันจะทำอย่างไรเพื่อเข้ากันได้กับพี่ ๆ น้อง ๆ?

ฉันจะทำอย่างไรเพื่อเข้ากันได้กับพี่ ๆ น้อง ๆ?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า

ฉัน​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​เข้า​กัน​ได้​กับ​พี่ ๆ น้อง ๆ?

คุณ​คิด​ว่า​สัมพันธภาพ​ระหว่าง​คุณ​กับ​พี่ ๆ น้อง ๆ แต่​ละ​คน​เป็น​อย่าง​ไร?

․․․․․ เป็น​เพื่อน​ที่​ดี​ที่​สุด

․․․․․ ส่วน​ใหญ่​พอ​เข้า​กัน​ได้

․․․․․ ต้อง​ทน​ซึ่ง​กัน​และ​กัน

․․․․․ ทะเลาะ​กัน​เสมอ

พี่ ๆ น้อง ๆ บาง​คน​สนิทสนม​กัน​มาก. ยก​ตัว​อย่าง เฟลิเซีย วัย 19 ปี​พูด​ว่า “อีรีนา น้อง​สาว​อายุ 16 ปี เป็น​เพื่อน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​ฉัน.” * และ​คาร์ลี อายุ 17 ปี​พูด​ถึง​เอริก พี่​ชาย​วัย 20 ปี​ดัง​นี้: “เรา​เข้า​กัน​ได้​สุด​ยอด. เรา​ไม่​เคย​ทะเลาะ​กัน​เลย.”

ใน​ทาง​กลับ​กัน สัมพันธภาพ​ของ​พี่ ๆ น้อง ๆ หลาย​คน​อาจ​คล้าย​กับ​กรณี​ของ​ลอเรน​และ​มาร์ลา. ลอเรน​พูด​ว่า “เรา​ทะเลาะ​กัน​ทุก​เรื่อง ไม่​ว่า​เรื่อง​นั้น ๆ ไร้​สาระ​เพียง​ใด.” หรือ​บาง​ที​คุณ​อาจ​รู้สึก​อย่าง​ที่​แอลิส​อายุ 12 ปี​ได้​พูด​ถึง​เดนนิส​พี่​ชาย​ของ​เธอ​วัย 14 ปี​ว่า “เขา​ทำ​ให้​หนู​โมโห! เขา​เปิด​ประตู​พรวด​พราด​เข้า​มา​ใน​ห้อง​หนู​และ​หยิบ​ของ​ไป​โดย​ไม่​ขอ. เดนนิส​ไม่​รู้​จัก​โต​สัก​ที!”

คุณ​มี​พี่​หรือ​น้อง​ซึ่ง​คอย​กวน​โมโห​อยู่​เรื่อย​ไหม? จริง​อยู่ พ่อ​แม่​ของ​คุณ​มี​ความ​รับผิดชอบ​ที่​จะ​รักษา​กฎ​ระเบียบ​ภาย​ใน​ครอบครัว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ช้า​ก็​เร็ว คุณ​เอง​จำเป็น​ต้อง​เรียน​รู้​ที่​จะ​อยู่​กับ​ผู้​อื่น. คุณ​สามารถ​เรียน​รู้​เรื่อง​นี้​ได้​ตั้ง​แต่​อยู่​ที่​บ้าน.

ลอง​นึก​ถึง​เรื่อง​การ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​คุณ​และ​พี่ ๆ น้อง ๆ. คุณ​ทะเลาะ​โต้​เถียง​เรื่อง​อะไร​มาก​ที่​สุด? ตรวจ​ดู​รายการ​ต่อ​ไป​นี้​และ​กา​เครื่องหมาย ✔ ลง​ใน​ช่อง​ที่​ตรง​กับ​คุณ​หรือ​เขียน​สภาพการณ์​ซึ่ง​ทำ​ให้​คุณ​โมโห!

▫ ข้าวของ​ส่วน​ตัว. พี่​หรือ​น้อง​ของ​ฉัน​หยิบ​ของ​ไป​โดย​ไม่​ขอ.

▫ บุคลิกภาพ​ไม่​ตรง​กัน. พี่ ๆ น้อง ๆ ของ​ฉัน​เห็น​แก่​ตัว​หรือ​ไม่​เกรง​ใจ หรือ​เป็น​คน​เจ้า​กี้​เจ้า​การ.

▫ ความ​เป็น​ส่วน​ตัว. พี่ ๆ น้อง ๆ เข้า​ห้อง​ฉัน​โดย​ไม่​เคาะ​ประตู หรือ​อ่าน​อีเมล​หรือ​ข้อ​ความ​โดย​ไม่​ขอ​อนุญาต​จาก​ฉัน​ก่อน.

▫ เรื่อง​อื่น. ․․․․․

ถ้า​พี่ ๆ น้อง ๆ ยัง​คง​กวน​ใจ​คุณ​อยู่​เรื่อย ๆ เช่น สั่ง​คุณ​ทำ​โน่น​ทำ​นี่​หรือ​รุกล้ำ​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​ของ​คุณ ที่​จะ​ไม่​ขุ่นเคือง​เสีย​เลย​ก็​อาจ​ยาก. แต่​สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ดัง​นี้: “ด้วย​ว่า​เมื่อ​กวน​น้ำ​นม​ก็​ได้​เนย; เมื่อ​กวน​จมูก​ก็​ได้​เลือด​ออก​มา; เมื่อ​กวน​โทโส​ก็​ได้​การ​ทะเลาะ​วิวาท.” (สุภาษิต 30:33) ถ้า​คุณ​ยัง​ถือ​โกรธ นั่น​อาจ​ยัง​ผล​ให้​คุณ​ระเบิด​อารมณ์​เช่น​เดียว​กับ​การ​กวน​จมูก​ก็​ได้​เลือด. แล้ว​ปัญหา​ก็​จะ​รุนแรง​ยิ่ง​ขึ้น. (สุภาษิต 26:21) คุณ​สามารถ​ป้องกัน​ความ​ขุ่นเคือง​ไม่​ให้​กลาย​เป็น​การ​ทะเลาะ​โต้​เถียง​กัน​ได้​โดย​วิธี​ใด? ประการ​แรก​คือ​รู้​ประเด็น​ปัญหา​ที่​แท้​จริง.

เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​หรือ​สาเหตุ​ของ​ปัญหา

ปัญหา​ระหว่าง​พี่ ๆ น้อง ๆ เปรียบ​เหมือน​สิว​บน​ใบ​หน้า. สิว​ที่​ปรากฏ​ภาย​นอก​อาจ​ดู​ไม่​สวย แต่​สาเหตุ​คือ​การ​ติด​เชื้อ​ที่​อยู่​ข้าง​ใน. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เจ็บ​แค้น​ระหว่าง​พี่ ๆ น้อง ๆ มัก​จะ​บ่ง​บอก​ถึง​ปัญหา​ที่​อยู่​ลึก​ลง​ไป.

คุณ​อาจ​รักษา​สิว​ด้วย​การ​บีบ​หัว​สิว. แต่​ก็​เป็น​เพียง​การ​จัด​การ​กับ​อาการ​ภาย​นอก และ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​รอย​แผล​เป็น​หรือ​กลาย​เป็น​แผล​ติด​เชื้อ​รุนแรง. การ​รักษา​ที่​ดี​กว่า​คือ​รักษา​อาการ​ติด​เชื้อ​และ​ด้วย​วิธี​นี้​ก็​จะ​ป้องกัน​การ​เกิด​สิว​มาก​ขึ้น. การ​มี​ปัญหา​กับ​พี่ ๆ น้อง ๆ ก็​เหมือน​กัน. จง​รู้​จัก​ที่​จะ​ระบุ​สาเหตุ​ให้​ชัดเจน แล้ว​คุณ​จะ​ไม่​มอง​แค่​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​เท่า​นั้น แต่​จะ​เข้า​ถึง​สาเหตุ​ของ​ปัญหา​นั้น ๆ. นอก​จาก​นั้น คุณ​จะ​สามารถ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ของ​กษัตริย์​โซโลมอน​ผู้​ชาญ​ฉลาด​ซึ่ง​เขียน​ไว้​ว่า “สติ​ปัญญา​ย่อม​ทำ​ให้​คน​ไม่​โกรธ​เร็ว.”—สุภาษิต 19:11

ตัว​อย่าง​เช่น แอลิส​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น​เคย​พูด​เกี่ยว​กับ​เดนนิส​พี่​ชาย​ของ​เธอ​ว่า “เขา​เปิด​ประตู​พรวด​พราด​เข้า​มา​ใน​ห้อง​หนู​และ​หยิบ​ของ​ไป​โดย​ไม่​ขอ.” นั่น​คือ​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น. แต่​ปัญหา​ที่​แท้​จริง​คือ​อะไร? เรื่อง​นี้​คง​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เคารพ​สิทธิ​ของ​ผู้​อื่น. *

แอลิส​อาจ​จะ​จัด​การ​ปัญหา​นี้​โดย​ห้าม​เดนนิส​ไม่​ให้ เข้า​มา​ใน​ห้อง​ของ​เธอ​หรือ​หยิบ​ของ​ไป​ใช้. แต่​วิธี​นี้​เป็น​เพียง​การ​จัด​การ​กับ​อาการ​ภาย​นอก​เท่า​นั้น​และ​อาจ​นำ​ไป​สู่​ความ​ขัด​แย้ง​เพิ่ม​อีก. แต่​ถ้า​แอลิส​ทำ​ให้​เดนนิส​เชื่อ​ว่า​เขา​ควร​เคารพ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​และ​ทรัพย์​สิน​ของ​เธอ ความ​สัมพันธ์​ของ​พวก​เขา​ก็​คง​จะ​ดี​ขึ้น.

เรียน​รู้​ที่​จะ​แก้​หรือ​หลีก​เลี่ยง​ความ​ขัด​แย้ง

จริง​อยู่ การ​ระบุ​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง​ของ​ปัญหา​ที่​คุณ​มี​กับ​พี่ ๆ น้อง ๆ เป็น​เพียง​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​แก้​ปัญหา. คุณ​อาจ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​แก้​ปัญหา​และ​หลีก​เลี่ยง​การ​ทะเลาะ​ครั้ง​ถัด​ไป? ลอง​ปฏิบัติ​ตาม​หก​ขั้น​ตอน​ต่อ​ไป​นี้.

1. ตก​ลง​กัน​ตั้ง​กฎ​พื้น​ฐาน​บาง​ประการ. กษัตริย์​โซโลมอน​เขียน​ไว้​ดัง​นี้ “แผนการ​ล้มเหลว​เมื่อ​ไม่​มี​การ​พูด​คุย​แบบ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) เพื่อ​ช่วย​เลี่ยง​การ​เผชิญ​หน้า ให้​มอง​กลับ​ไป​ยัง​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​ระบุ​ว่า​เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​คุณ​กับ​พี่ ๆ น้อง ๆ. แล้ว​ให้​คุณ​ทั้ง​สอง​คน​ลอง​ตก​ลง​ตั้ง​กฎ​พื้น​ฐาน​บาง​อย่าง​ซึ่ง​แก้ไข​สาเหตุ​ความ​ขัด​แย้ง​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​คุณ​ทะเลาะ​กัน​เรื่อง​ข้าวของ​ส่วน​ตัว กฎ​ข้อ 1 อาจ​เป็น: “ให้​ขอ​อนุญาต​ทุก​ครั้ง​ก่อน​จะ​เอา​ของ​ของ​อีก​คน​หนึ่ง​ไป.” กฎ​ข้อ 2 อาจ​เป็น: “เคารพ​สิทธิ​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​เมื่อ​เขา​พูด​ว่า ‘ไม่​นะ เธอ​จะ​เอา​ของ​นั้น​ไป​ไม่​ได้.’” เมื่อ​ตั้ง​กฎ​เหล่า​นี้ ให้​นึก​ถึง​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “ด้วย​เหตุ​นั้น สารพัด​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.” (มัดธาย 7:12) ด้วย​วิธี​นี้ คุณ​ก็​จะ​ตั้ง​กฎ​ที่​คุณ​และ​พี่ ๆ น้อง ๆ สามารถ​จะ​ปฏิบัติ​ได้. ครั้น​แล้ว ปรึกษา​พ่อ​แม่​เพื่อ​ความ​แน่​ใจ​ว่า​ท่าน​เห็น​พ้อง​กับ​ข้อ​ตก​ลง​ของ​คุณ.—เอเฟโซส์ 6:1

2. คุณ​เอง​ก็​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม​กฎ. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ถ้า​เป็น​เช่น​นี้ ท่าน​ผู้​สอน​คน​อื่น​ไม่​ได้​สอน​ตน​เอง​หรือ? ท่าน​ผู้​สอน​ว่า ‘อย่า​ขโมย’ ท่าน​เอง​ขโมย​หรือ?” (โรม 2:21) คุณ​จะ​นำ​หลักการ​ข้อ​นี้​ไป​ใช้​อย่าง​ไร? ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​คุณ​อยาก​ให้​พี่ ๆ น้อง ๆ เคารพ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ คุณ​เอง​ก็​ต้อง​เคาะ​ประตู​ก่อน​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​ของ​เขา หรือ​ขอ​อนุญาต​ก่อน​จะ​อ่าน​อีเมล​หรือ​ข้อ​ความ​ที่​ส่ง​มา​ถึง​เขา.

3. อย่า​โกรธ​เร็ว. ทำไม​ข้อ​นี้​เป็น​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี? เพราะ​สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ความ​โกรธ​มี​ประจำ​อยู่​ใน​ทรวง​อก​ของ​คน​โฉด​เขลา.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:9) ถ้า​คุณ​โกรธ​ง่าย ชีวิต​ของ​คุณ​จะ​ไม่​มี​ความ​สุข. จริง​อยู่ พี่ ๆ น้อง ๆ ของ​คุณ​จะ​พูด​หรือ​ทำ​บาง​อย่าง​ให้​คุณ​ขัด​เคือง. แต่​ถาม​ตัว​เอง ‘ฉัน​ล่ะ​เคย​ทำ​แบบ​เดียว​กัน​นี้​กับ​พี่​หรือ​น้อง​ไหม?’ (มัดธาย 7:1-5) เจนนี​พูด​ว่า “ตอน​อายุ 13 ปี ฉัน​คิด​ว่า​ความ​เห็น​ของ​ตัว​เอง​สำคัญ​ที่​สุด​และ​ต้อง มี​คน​ฟัง. ตอน​นี้​น้อง​ของ​ฉัน​ก็​กำลัง​อยู่​ใน​ช่วง​ที่​มี​ความ​คิด​แบบ​เดียว​กัน. ดัง​นั้น ฉัน​จึง​พยายาม​จะ​ไม่​โมโห​กับ​เรื่อง​ที่​เธอ​พูด.”

4. ให้​อภัย​แล้ว​ลืม​เสีย. ปัญหา​ร้ายแรง​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​พูด​คุย​กัน​และ​จัด​การ​แก้. แต่​คุณ​จำเป็น​ต้อง​เรียก​น้อง​มา​ชี้​แจง​ข้อ​ผิด​พลาด​ทุก​เรื่อง​ที่​เขา​ทำ​ไป​เช่น​นั้น​ไหม? พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​พอ​พระทัย​เมื่อ​คุณ​เต็ม​ใจ​จะ “ไม่​ถือ​โทษ.” (สุภาษิต 19:11) แอลิสัน วัย 19 ปี กล่าว​ว่า “ฉัน​กับ​เรเชล น้อง​สาว มัก​จะ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​เรา​ได้. เรา​ทั้ง​สอง​คน​พร้อม​จะ​ขอ​โทษ​และ​อธิบาย​สิ่ง​ที่​เรา​คิด​ว่า​เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​ขัด​แย้ง. บาง​ครั้ง​ฉัน​จะ​นอน​คิด​เรื่อง​นั้น​ก่อน​นำ​ขึ้น​มา​พูด. บ่อย​ครั้ง เช้า​วัน​ถัด​มา​ก็​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​ให้​อภัย​และ​ลืม​เรื่อง​นั้น​ไป และ​ฉัน​ไม่​ต้อง​นำ​เรื่อง​นั้น​ขึ้น​มา​พูด​ด้วย​ซ้ำ.”

5. ขอ​ให้​พ่อ​แม่​เข้า​มา​ไกล่เกลี่ย. ถ้า​คุณ​และ​พี่ ๆ น้อง ๆ ไม่​สามารถ​แก้ไข​ปัญหา​สำคัญ พ่อ​แม่​ของ​คุณ​ก็​ช่วย​คุณ​สร้าง​สันติ​ได้. (โรม 14:19) กระนั้น จำ​ไว้​ว่า​ความ​สามารถ​ที่​จะ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​โดย​ไม่​ต้อง​ให้​พ่อ​แม่​มา​ไกล่เกลี่ย​เปรียบ​เหมือน​เครื่องวัด​ระยะ​ทาง––แสดง​ว่า​คุณ​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว.

6. เห็น​ค่า​คุณลักษณะ​ของ​พี่​หรือ​น้อง. พี่​หรือ​น้อง​ของ​คุณ​คง​จะ​มี​คุณลักษณะ​ดี ๆ หลาย​อย่าง​ที่​คุณ​ชอบ. ให้​เขียน​คุณลักษณะ​ที่​คุณ​ชอบ​หนึ่ง​อย่าง​ของ​พี่​หรือ​น้อง​แต่​ละ​คน.

ชื่อ สิ่ง​ที่​ฉัน​ชอบ

․․․․․ ․․․․․

แทน​การ​นึก​ถึง​แต่​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​พี่ ๆ น้อง ๆ ทำไม​ไม่​หา​โอกาส​บอก​ให้​เขา​รู้​ถึง​สิ่ง​ที่​คุณ​นิยม​ชม​ชอบ​ใน​ตัว​เขา?—บทเพลง​สรรเสริญ 130:3; สุภาษิต 15:23

เรื่อง​จริง​ของ​ชีวิต: เมื่อ​คุณ​ออก​จาก​บ้าน หลาย​ครั้ง​คุณ​ถูก​ห้อม​ล้อม​โดย​ผู้​คน​ที่​สร้าง​ความ​รำคาญ​ใจ เช่น​เพื่อน​ร่วม​งาน​และ​คน​อื่น ๆ ที่​ไม่​มี​มารยาท, ไม่​เกรง​ใจ​ใคร, และ​เห็น​แก่​ตัว. บ้าน​เป็น​แหล่ง​ที่​จะ​เรียน​รู้​วิธี​จัด​การ​อย่าง​สงบ​สุข​กับ​ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นั้น. ถ้า​คุณ​มี​พี่​หรือ​น้อง​ที่​เข้า​กัน​ไม่​ค่อย​ได้ ก็​จง​มอง​เขา​ใน​แง่​ดี. พี่​หรือ​น้อง​คน​นั้น​กำลัง​ช่วย​คุณ​พัฒนา​คุณลักษณะ​ที่​มี​ค่า​มาก.

คัมภีร์​ไบเบิล​ยอม​รับ​ว่า​พี่​หรือ​น้อง​อาจ​ไม่​ใช่​เพื่อน​สนิท​ของ​คุณ​เสมอ​ไป. (สุภาษิต 18:24) แต่​คุณ​สามารถ​เสริม​มิตรภาพ​กับ​พี่ ๆ น้อง ๆ ได้​ถ้า​คุณ “ทน​กัน​และ​กัน​เรื่อย​ไป” แม้​ว่า​พวก​เขา​จะ​ทำ​ให้​คุณ “มี​เหตุ​จะ​บ่น​ว่า.” (โกโลซาย 3:13) ถ้า​คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น​พี่ ๆ น้อง ๆ ก็​จะ​ไม่​ทำ​ให้​คุณ​เกิด​โมโห. และ​คุณ ก็​อาจ​ไม่​ทำ​ให้​พวก​เขา โมโห​เช่น​กัน!

ถ้า​ต้องการ​อ่าน​บทความ​ชุด “หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า” เพิ่ม​เติม ให้​ดาวน์​โหลด​ตื่นเถิด! ฉบับ​อื่น ๆ จาก​เว็บไซต์ www.pr418.com

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 บาง​ชื่อ​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 20 ถ้า​ต้องการ​คำ​แนะ​นำ​เพิ่ม​เติม โปรด​ดู​ กรอบ​ข้าง​ล่าง

ข้อ​ชวน​คิด

• ทำไม​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​พิจารณา​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​และ​สาเหตุ​ของ​ปัญหา?

• จาก​หก​ขั้น​ตอน​ข้าง​ต้น ข้อ​ไหน​ที่​คุณ​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​ปรุง​มาก​ที่​สุด?

[กรอบ​หน้า 27]

 ระบุ​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง

คุณ​ต้องการ​ฝึกฝน​ทักษะ​การ​ระบุ​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง​ระหว่าง​พี่ ๆ น้อง ๆ ไหม? ถ้า​ต้องการ เชิญ​อ่าน​อุปมา​โวหาร​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​บุตร​ที่​ออก​จาก​บ้าน​และ​ผลาญ​ทรัพย์​มรดก​ของ​ตน.—ลูกา 15:11-32

ลอง​พิจารณา​ให้​ดี​ถึง​คำ​พูด​ของ​พี่​ชาย​เมื่อ​น้อง​ชาย​กลับ​มา​บ้าน. แล้ว​ตอบ​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้.

อะไร​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ซึ่ง​กระตุ้น​พี่​ชาย​ให้​พูด​เช่น​นั้น?

คุณ​คิด​ว่า​อะไร​เป็น​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง?

บิดา​พยายาม​แก้​ปัญหา​นั้น​อย่าง​ไร?

พี่​ชาย​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​แก้​ปัญหา?

ตอน​นี้​คิด​ถึง​ความ​ขัด​แย้ง​ที่​คุณ​เพิ่ง​มี​กับ​พี่​หรือ​น้อง. แล้ว​เขียน​คำ​ตอบ​ถัด​จาก​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้

อะไร​ทำ​ให้​เกิด​เหตุ​การณ์​นั้น?

คุณ​คิด​ว่า​อะไร​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง?

คุณ​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​อาจ​ตก​ลง​จะ​วาง​กฎ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​แก้​ปัญหา​และ​ป้องกัน​การ​ขัด​แย้ง​ครั้ง​ต่อ​ไป?

[กรอบ/ภาพ​หน้า 28, 29]

สิ่ง​ที่​คน​รุ่น​เดียว​กับ​คุณ​พูด

“ดิฉัน​ต้องการ​เป็น​เพื่อน​กับ​น้อง ๆ ตลอด​ชีวิต ดัง​นั้น ดิฉัน​น่า​จะ​เริ่ม​เป็น​เพื่อน​กับ​พวก​เธอ​เสีย​แต่​ตอน​นี้.”

“เรา​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ร่วม​กัน​เป็น​ครอบครัว และ​การ​ทำ​เช่น​นั้น​ช่วย​ให้​เรา​ปรองดอง​กัน. ดู​เหมือน​เรา​ไม่​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​ที่​เคย.”

“ใน​บาง​เรื่อง​เรา​ต่าง​กัน​อย่าง​สิ้นเชิง. ถึง​กระนั้น ไม่​มี​ใคร​จะ​เหมือน​น้อง​สาว​ของ​ฉัน. ฉัน​รัก​เธอ​มาก!”

“ถ้า​ฉัน​ไม่​มี​น้อง ๆ ก็​คง​จะ​ไม่​มี​ความ​ทรง​จำ​ที่​น่า​ชื่น​ใจ​เหลือ​อยู่​เลย. สำหรับ​คน​ที่​มี​พี่​หรือ​น้อง ฉัน​ขอ​บอก​ว่า ‘จง​เห็น​ค่า​พวก​เขา!’”

[ภาพ]

ทีอา

เบียงกา

ซาแมนทา

มาริลีน

[ภาพ​หน้า 27]

ปัญหา​ที่​เกิด​ขึ้น​ระหว่าง​พี่ ๆ น้อง ๆ เปรียบ​เหมือน​สิว—ที่​จะ​รักษา​สิว​คุณ​จำเป็น​ต้อง​รักษา​ที่​สาเหตุ ไม่​ใช่​แค่​อาการ​ภาย​นอก