ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้หมายถึงอะไร?

การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้หมายถึงอะไร?

ทัศนะ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล

การ​หัน​แก้ม​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ให้​หมาย​ถึง​อะไร?

ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ที่​มี​ชื่อเสียง พระ​เยซู​คริสต์​ตรัส​ว่า “อย่า​ตอบ​โต้​คน​ชั่ว​ด้วย​การ​ชั่ว แต่​ผู้​ใด​ตบ​แก้ม​ขวา​ของ​เจ้า จง​หัน​แก้ม​ซ้าย​ให้​เขา​ด้วย.”—มัดธาย 5:39

พระองค์​หมาย​ความ​อย่าง​ไร? พระองค์​สนับสนุน​คริสเตียน​ไม่​ให้​ป้องกัน​ตัว​เอง​เลย​อย่าง​นั้น​ไหม? คริสเตียน​ควร​อด​ทน​โดย​ไม่​ปริปาก​และ​ไม่​แสวง​หา​การ​คุ้มครอง​ทาง​กฎหมาย​ไหม?

สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​หมาย​ถึง

เพื่อ​จะ​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​หมาย​ถึง เรา​ต้อง​พิจารณา​ท้อง​เรื่อง รวม​ทั้ง​คิด​ถึง​ผู้​ที่​ฟัง​พระองค์​ด้วย. ก่อน​ที่​พระ​เยซู​จะ​ให้​คำ​แนะ​นำ​ดัง​กล่าว พระองค์​ยก​ข้อ​ความ​ที่​ผู้​ฟัง​รู้​ดี​อยู่​แล้ว​จาก​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​มา​กล่าว​ดัง​นี้: “เจ้า​ทั้ง​หลาย​เคย​ได้​ยิน​คำ​ที่​มี​กล่าว​ไว้​ว่า ‘ตา​ต่อ​ตา​และ​ฟัน​ต่อ​ฟัน.’ ”—มัดธาย 5:38

ข้อ​ความ​ที่​พระ​เยซู​อ้าง​ถึง​นั้น​อยู่​ที่​เอ็กโซโด 21:24 และ​เลวีติโก 24:20. น่า​สังเกต​ว่า ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​นั้น จะ​ลง​โทษ​แบบ “ตา​ต่อ​ตา” อย่าง​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​สอง​ข้อ​นี้​ได้​ก็​เฉพาะ​หลัง​จาก​ที่​ผู้​ทำ​ผิด​ได้​มา​ยืน​ให้​การ​ต่อ​หน้า​ปุโรหิต​และ​ผู้​พิพากษา​ซึ่ง​จะ​พิจารณา​สภาพการณ์​และ​เจตนา​ของ​การ​ทำ​ผิด.—พระ​บัญญัติ 19:15-21

ใน​เวลา​ต่อ​มา ชาว​ยิว​ได้​บิดเบือน​การ​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​นี้. อรรถาธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 19 โดย​แอดัม คลาร์ก กล่าว​ดัง​นี้: “ดู​เหมือน​ว่า​ชาว​ยิว​ได้​ใช้​กฎหมาย​ข้อ​นี้ [ตา​ต่อ​ตา​และ​ฟัน​ต่อ​ฟัน] เป็น​เหตุ​อัน​ควร​ให้​ผูก​ใจ​เจ็บ​เป็น​การ​ส่วน​ตัว และ​ทำ​สิ่ง​ที่​เกิน​เลย​อื่น ๆ เนื่อง​จาก​ความ​อาฆาต​แค้น. บ่อย​ครั้ง​นั่น​เป็น​การ​แก้แค้น​อย่าง​รุนแรง​ที่​สุด และ​ร้าย​ยิ่ง​กว่า​สิ่ง​ที่​ตน​เคย​ถูก​กระทำ.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​คัมภีร์​ไม่​สนับสนุน​การ​แก้แค้น​ด้วย​ตัว​เอง.

คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​เกี่ยว​กับ ‘การ​หัน​แก้ม​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ให้’ นั้น​สะท้อน​ถึง​เจตนารมณ์​ที่​แท้​จริง​ของ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​ที่​ให้​แก่​ชาว​อิสราเอล. พระ​เยซู​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​หาก​สาวก​ของ​พระองค์​ถูก​ตบ​ที่​แก้ม​ข้าง​หนึ่ง พวก​เขา​ควร​พยายาม​ลุก​ขึ้น​มา​และ​หัน​แก้ม​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ให้​เขา​ตบ​อีก. ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล เช่น​เดียว​กับ​สมัย​นี้ การ​ตบ​หน้า​ไม่​ได้​ทำ​เพื่อ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย แต่​เป็น​การ​สบประมาท​เพื่อ​ยั่ว​ยุ​ให้​เกิด​โทโส​และ​การ​เผชิญ​หน้า​กัน.

ฉะนั้น ดู​เหมือน​พระ​เยซู​หมาย​ความ​ว่า​ถ้า​คน​หนึ่ง​พยายาม​ยั่ว​ยุ​อีก​คน​หนึ่ง​ให้​ออก​มา​เผชิญ​หน้า​กัน​ด้วย​การ​ตบ​หน้า​จริง ๆ หรือ​ด้วย​คำ​พูด​เหน็บ​แนม​อย่าง​เจ็บ​แสบ คน​ที่​ถูก​ตบ​ควร​เลี่ยง​การ​แก้​เผ็ด. และ​เขา​ก็​ควร​หลีก​เลี่ยง​วงจร​อัน​เลว​ร้าย​ใน​การ​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​การ​ชั่ว.—โรม 12:17

คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​คล้าย​กับ​ถ้อย​คำ​ของ​กษัตริย์​โซโลมอน​มาก​ที่​ว่า “อย่า​พูด​ว่า, ‘เขา​ทำ​แก่​ข้า​ฯ อย่าง​ไร, ข้า​ฯ ก็​จะ​ทำ​แก่​เขา​อย่าง​นั้น: ข้า​ฯ จะ​ทดแทน​ให้​ตาม​ที่​เขา​ได้​ทำ​แก่​ข้า​ฯ.’” (สุภาษิต 24:29) สาวก​ของ​พระ​เยซู​จะ​หัน​แก้ม​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ให้​ใน​ความ​หมาย​ที่​ว่า​ไม่​ยอม​ให้​คน​อื่น​กดดัน​เขา​ให้ “ทะเลาะ​วิวาท.”—2 ติโมเธียว 2:24

การ​ป้องกัน​ตัว​เอง​ล่ะ?

การ​หัน​แก้ม​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​คริสเตียน​จะ​ไม่​ป้องกัน​ตัว​เอง​จาก​ผู้​ประทุษร้าย. พระ​เยซู​ไม่​ได้​บอก​ว่า​เรา​ไม่​ควร​ป้องกัน​ตัว​เอง แต่​บอก​ว่า​เรา​ไม่​ควร​เป็น​ฝ่าย​เริ่ม​ทำ​ร้าย​เขา​ก่อน และ​เรา​ไม่​ควร​ยอม​ให้​ตัว​เอง​ถูก​ยั่ว​ยุ​จน​ต้อง​ลง​มือ​แก้แค้น. แม้​เป็น​สิ่ง​ที่​ดี​หาก​จะ​ถอย​ออก​มา​เมื่อ​เป็น​ไป​ได้​เพื่อ​เลี่ยง​การ​ต่อ​สู้ แต่​ก็​สม​ควร​จะ​ป้องกัน​ตัว​เอง​และ​ขอ​การ​ช่วยเหลือ​จาก​ตำรวจ​ถ้า​เรา​ตก​เป็น​เหยื่อ​อาชญากรรม.

สาวก​รุ่น​แรก​ของ​พระ​เยซู​ใช้​หลักการ​เดียว​กัน​เมื่อ​ปก​ป้อง​สิทธิ​ทาง​กฎหมาย​ของ​ตน​ตาม​ความ​เหมาะ​สม. ยก​ตัว​อย่าง อัครสาวก​เปาโล​ใช้​ประโยชน์​จาก​กฎหมาย​บ้าน​เมือง​ใน​สมัย​นั้น​เพื่อ​ปก​ป้อง​สิทธิ​ของ​ท่าน​ใน​การ​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​เหล่า​สาวก​ออก​ไป​ประกาศ. (มัดธาย 28:19, 20) ใน​ระหว่าง​เดิน​ทาง​ประกาศ​ใน​เมือง​ฟิลิปปอย เปาโล​กับ​ซีลัส​เพื่อน​มิชชันนารี​ถูก​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง​จับ​กุม​และ​ถูก​กล่าวหา​ว่า​ละเมิด​กฎหมาย.

แล้ว​พวก​เจ้าหน้าที่​ได้​เฆี่ยน​บุคคล​ทั้ง​สอง​ต่อ​หน้า​ประชาชน​และ​จับ​เข้า​คุก​โดย​ไม่​มี​การ​พิจารณา​คดี. เมื่อ​เปาโล​มี​โอกาส ท่าน​จึง​ได้​เรียก​ร้อง​สิทธิ​ฐานะ​เป็น​พลเมือง​โรมัน. ครั้น​ได้​รู้​สถานะ​ของ​เปาโล พวก​เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง​เกิด​กลัว​ผล​ที่​จะ​ตาม จึง​ได้​ขอร้อง​เปาโล​กับ​ซีลัส​ให้​ออก​ไป​โดย​ไม่​สร้าง​ปัญหา. ดัง​นั้น เปาโล​ได้​วาง​แบบ​แผน​เอา​ไว้​โดย “ปก​ป้อง​ข่าว​ดี​และ​ทำ​ให้​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เป็น​เรื่อง​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย.”—กิจการ 16:19-24, 35-40; ฟิลิปปอย 1:7

เช่น​เดียว​กัน​กับ​เปาโล พยาน​พระ​ยะโฮวา​รู้สึก​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ต่อ​สู้​ทาง​กฎหมาย​ใน​ศาล​เพื่อ​คุ้มครอง​กิจกรรม​ฝ่าย​คริสเตียน​ของ​พวก​เขา. ข้อ​นี้​เป็น​จริง​แม้​ใน​ประเทศ​ซึ่ง​ปกติ​แล้ว​ให้​เสรีภาพ​แก่​ประชาชน​ใน​การ​นับถือ​ศาสนา. ใน​เรื่อง​อาชญากรรม​และ​ความ​ปลอด​ภัย​ส่วน​บุคคล​ก็​เช่น​กัน ไม่​มี​การ​คาด​หมาย​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ต้อง​หัน​แก้ม​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ให้ หรือ​ยอม​รับ​การ​ทำ​ร้าย​โดย​ไม่​ปก​ป้อง​ตัว​เอง. พวก​เขา​ลง​มือ​ทำ​บาง​อย่าง​เพื่อ​ป้องกัน​ตัว​เอง.

ด้วย​เหตุ​นี้ ใน​ฐานะ​คริสเตียน เหมาะ​สม​แล้ว​ที่​พยาน​ฯ จะ​ยืน​ยัน​สิทธิ​ทาง​กฎหมาย แม้​พวก​เขา​จะ​รู้​ว่า​บ่อย​ครั้ง​การ​กระทำ​ดัง​กล่าว​จะ​เกิด​ผล​ใน​ขอบ​เขต​จำกัด. ดัง​นั้น เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู พวก​เขา​ปล่อย​เรื่อง​นี้​ไว้​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระเจ้า เพราะ​มั่น​ใจ​ว่า​พระองค์​จะ​กระทำ​ด้วย​ความ​รู้​ที่​ครบ​ถ้วน​เกี่ยว​กับ​ข้อ​เท็จ​จริง​ต่าง ๆ และ​ถ้า​พระองค์​จะ​ทรง​ลง​มือ​สนอง​โทษ​ใด ๆ ก็​จะ​เป็น​ไป​ตาม​ความ​ยุติธรรม​ที่​สมบูรณ์​แบบ. (มัดธาย 26:51-53; ยูดา 9) คริสเตียน​แท้​จด​จำ​อยู่​เสมอ​ว่า​การ​แก้แค้น​เป็น​ธุระ​ของ​พระ​ยะโฮวา.—โรม 12:17-19

คุณ​เคย​สงสัย​ไหม?

• คริสเตียน​ควร​ละ​เว้น​การ​กระทำ​อะไร​บ้าง?—โรม 12:17

• คัมภีร์​ไบเบิล​ห้าม​ใช้​มาตรการ​ทาง​กฎหมาย​เพื่อ​ปกป้อง​ตัว​เอง​ไหม?—ฟิลิปปอย 1:7

• พระ​เยซู​มี​ความ​มั่น​ใจ​เรื่อง​ใด​ใน​พระ​บิดา?—มัดธาย 26:51-53