ยูร์ต—บ้านเคลื่อนที่แห่งเอเชียกลาง
ยูร์ต—บ้านเคลื่อนที่แห่งเอเชียกลาง
อะไรเอ่ย นุ่ม ๆ กลม ๆ อุ่นในหน้าหนาว แต่เย็นในหน้าร้อน? สำหรับชนเผ่าเร่ร่อนในบางภูมิภาคของเอเชียกลาง คำตอบคือยูร์ตไงล่ะ! บ้านแบบดั้งเดิมเหล่านี้เคยพบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่ที่ราบในมองโกเลียและคาซัคสถานไปจนถึงเทือกเขาและหุบเขาในคีร์กิซสถาน.
ยูร์ตมีลักษณะคล้ายกระโจมกลม ๆ และมีกกสานเป็นลวดลายบุตามผนัง. ผนังด้านนอกเป็นสักหลาดทำจากขนแกะ. ยูร์ตมีน้ำหนักเบาและประกอบง่าย แต่ก็แข็งแรงและอยู่สบายทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว. ชาวคีร์กิซเรียกยูร์ตว่าบ้านสีเทา; ชาวคาซัคเรียกว่าบ้านสักหลาด; ส่วนชาวมองโกลเรียกว่าเกอร์ หมายถึง “บ้าน.”
ยูร์ตอาจมีสีน้ำตาลปนเทาหรือสีขาวสว่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสีขนแกะที่นำมาใช้. ชาวคีร์กิซและชาวคาซัคมักประดับบ้านด้วยขนแกะย้อมสีสวยสดซึ่งทอเป็นลายเขาแกะ. ในอดีต ผ้าห่มที่สวยงามและสักหลาดปูพื้นเป็นเครื่องแสดงถึงฐานะการเงินและฐานะทางสังคมของครอบครัว.
ชิ้นส่วนสำคัญของยูร์ตคือวงแหวนกลาง ซึ่งเสาหลังคาทุกต้นจะยึดติดกับวงแหวนกลางนี้. วงแหวนกลางที่แข็งและหนักมากช่วยให้ยูร์ตตั้งมั่นคง. แผ่นสักหลาดที่คลุมวงแหวนนี้สามารถตลบเปิดเพื่อระบายอากาศ หรือปิดเมื่ออากาศไม่ดีก็ได้. ยามค่ำคืนที่อากาศปลอดโปร่ง ครอบครัวอาจเปิดแผ่นสักหลาดและชมท้องฟ้าที่กระจ่างด้วยแสงดาวผ่านทางช่องหลังคา.
เหมาะมากกับชีวิตเร่ร่อน
ปัจจุบันยังมีคนบางกลุ่มใช้ชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อนอยู่ในแถบชนบทของประเทศคาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, และมองโกเลีย. ในหนังสือชื่อยูร์ต—การอาศัยในบ้านทรงกลม (ภาษาอังกฤษ) เบกกี เคเมอรี เล่าว่ายังคงมีการใช้อูฐเคลื่อนย้ายยูร์ตในมองโกเลีย: “เขาจะบรรทุกโครงบ้านไว้บนหลังอูฐตัวหนึ่งโดยแบ่งน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้าง. เขาจะเอาวงแหวนหลังคาขึ้นเป็นชิ้นสุดท้าย เพราะมันสวมเข้าพอดีกับหนอกอูฐ. ส่วนผ้าสักหลาดจะบรรทุกอยู่บนหลังอูฐอีกตัวหนึ่ง. ถ้าไม่มีอูฐ พวกคนเลี้ยงสัตว์จะบรรทุกยูร์ตไว้บนรถแล้วใช้จามรีหรือม้าลาก หรือไม่ก็ขนย้ายยูร์ตไปในสถานที่แห่งใหม่โดยใช้รถบรรทุกที่ผลิตในรัสเซีย.”
ยูร์ตแบบมองโกเลียมีเสาตรงและหลังคาแบนกว่า ซึ่งช่วยต้านทานลมแรงและป้องกันฟ้าผ่าในที่โล่ง. ยูร์ตในคีร์กิซสถานและคาซัคสถานมียอดสูงกว่าและค่อนข้างกลม. ตามปกติ ทางเข้าจะหันไปทางดวงอาทิตย์ ซึ่งช่วยให้แสงแดดส่องถึงข้างในได้. ส่วนภายใน จะมีพรมสักหลาดและผ้าห่มที่มีลวดลายสดใสพับวางซ้อนกันบนหีบไม้ตรงข้ามกับทางเข้า. ตามธรรมเนียม แขกคนสำคัญหรือผู้ชายอาวุโสที่สุดในครอบครัวจะนั่งอยู่หน้าหีบและกองผ้าที่มีสีสันสวยงามนี้.
ถัดจากทางเข้ายูร์ตไปทางขวาเป็นที่สำหรับพวกผู้หญิง. เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับทำอาหาร, ทำความสะอาด, เย็บผ้า, และทอสักหลาดจะเก็บไว้ที่นี่. ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นที่สำหรับผู้ชาย. อานม้า, แส้ม้า, และเครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ สำหรับการล่าสัตว์และเลี้ยงสัตว์จะเก็บไว้ที่นี่.
ยูร์ตอยู่รอดผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
วิถีชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1917. ตลอดทั่วภูมิภาคเอเชียกลาง รัฐบาลรัสเซียได้สร้างโรงเรียน, โรงพยาบาล, และถนนหนทาง ซึ่งทำให้ผู้คนมีแนวโน้มจะลงหลักปักฐานอยู่เป็นที่.
เมื่อเวลาผ่านไป ชนพื้นเมืองหลายกลุ่มได้เลิกวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนเพื่ออาศัยอยู่ตามหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ. กระนั้น บางครั้งคนเลี้ยงสัตว์ยังคงใช้ยูร์ตในฤดูร้อนเมื่อออกไปเลี้ยงแกะ, โค, และม้าในไร่ขนาดใหญ่ที่มีเจ้าของร่วมกัน.
มักซัต ชายชาวคีร์กิซในวัยเกือบ 40 ปีเล่าให้ฟังว่า “ตอนเป็นวัยรุ่น ผมช่วยพ่อเลี้ยงฝูงสัตว์ที่ท่านดูแล. พอถึงเดือนกรกฎาคม เมื่อหิมะละลายและสามารถเดินผ่านช่องเขาได้ เราจะต้อนฝูงสัตว์ขึ้นไปเลี้ยงในทุ่งหญ้าบนเขาสูง.
“เราตั้งยูร์ตข้างลำธารบนภูเขา เราจึงมีน้ำใช้ทำอาหารและซักล้างอย่างเต็มที่. เราอยู่ที่นั่นจนกระทั่งอากาศเริ่มหนาวช่วงต้นเดือนตุลาคม.” ดังนั้น จึงยังคงมีการใช้ยูร์ตอยู่ในสังคมสมัยใหม่.
ยูร์ตยุคใหม่
ในที่ต่าง ๆ เช่น คีร์กิซสถาน จะพบเห็นยูร์ตได้ทั่วไปตามข้างถนน. มีการใช้ยูร์ตเป็นร้านค้าหรือร้านกาแฟ ซึ่งลูกค้าจะลิ้มรสอาหารประจำถิ่นได้. ลูกค้ายังได้สัมผัสรูปแบบชีวิตดั้งเดิมของชาวคีร์กิซโดยพักค้างคืนในยูร์ตบนเทือกเขาของคีร์กิซสถาน หรือริมทะเลสาบอิสซิกคุล ที่ใสสะอาด.
นอกจากนี้ ยูร์ตยังถูกใช้ในพิธีศพตามธรรมเนียมของเอเชียกลางอีกด้วย. มักซัตอธิบายว่า “ในคีร์กิซสถาน จะมีการตั้งศพผู้ตายไว้ในยูร์ต แล้วครอบครัวกับเพื่อน ๆ จะเข้ามาแสดงความโศกเศร้าไว้อาลัยให้กับคนที่เขารัก.”
ระยะหลังนี้ มีการใช้ยูร์ตในประเทศแถบตะวันตกด้วย. บางคนส่งเสริมการใช้ยูร์ตเนื่องจากใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า. แต่ยูร์ตรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่เหมือนกับยูร์ตที่สร้างสมัยก่อน. มีการใช้วัสดุที่ทันสมัย และมักจะสร้างให้คงทนถาวร.
แม้จะไม่ทราบแน่ว่ายูร์ตมีต้นตอมาจากไหน แต่ประโยชน์ของมันนั้นเห็นได้ชัด. ที่มาของยูร์ตอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อนแห่งเอเชียกลาง และเป็นหลักฐานที่ยั่งยืนแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของกลุ่มชนที่ทรหดและปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ได้.
[ภาพหน้า 17]
ยูร์ตที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบอิสซิกคุลที่ขึ้นชื่อในคีร์กิซสถาน